วันศุกร์, สิงหาคม 30, 2567

“ทำไมคนปัตตานีแต่งตัวเท่จัง”



Pattani Decoded เทศกาลชวนถอดรหัส ‘ความเท่’ ของแฟชั่นคน ‘ปัตตานี’

THE OPENER
29 AUG 2024

ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพเหตุการณ์ระเบิดและความสูญเสียจากเหตุการณ์รุนแรงที่ปรากฏในหน้าข่าวสารตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมาได้สร้างภาพจำที่คนจำนวนไม่น้อยมีต่อปัตตานี 1 ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าเป็นพื้นที่ของความขัดแย้งและการคุมเข้มด้านความมั่นคง นี่เป็นภาพจำที่บดบังแง่มุมความเป็นพื้นที่แห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีพลวัตทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับทั้งส่วนกลางและเพื่อนบ้านในภูมิภาค ตลอดจนผู้คนในท้องถิ่นที่มีวิถีชีวิตที่เต็มไปด้วยสีสันและพยายามปรับตัว ต่อรองกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

เพราะมองเห็นต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในปัตตานี ทำให้กลุ่ม ‘มลายูลิฟวิ่ง’ (Melayu Living) กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทำงานสร้างสรรค์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พยายามถอดรหัสที่มีมาของความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของปัตตานีและนำเสนอมันต่อสายตาของคนทั้งในและต่างถิ่น นี่ทำให้พวกเขาอยู่เบื้องหลังการจัดงาน ‘Pattani Decoded’ เทศกาลงานดีไซน์ที่รวมงานสร้างสรรค์และภูมิปัญญา หยิบเอาสิ่งที่พวกเขามองว่า “ดีโคตร” ของปัตตานีขึ้นมาอวดไปพร้อมกับชวนทำความเข้าใจถึงตัวตน อัตลักษณ์ และเป็นแพลตฟอร์มในการชวนคุยถึงอนาคตของปัตตานี

‘Pattani Decoded’ ที่กำลังดำเนินอยู่จนถึงวันที่ 1 กันยายนนี้ เป็นงาน ‘Pattani Decoded’ ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้ว โดยปีนี้มาในธีม “Unparalleled” ที่ชวนทุกคนมาร่วมกันถอดรหัสคนปัตตานีผ่านรสนิยมการแต่งกายที่จัดจ้านตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

The Opener พูดคุยกับ ‘ฮาดีย์ หะมิดง’ และ ‘บศกร บือนา’ จากกลุ่ม Melayu Living ที่อยู่เบื้องหลังงาน Pattani Decoded โดยพวกเขาบอกว่าจุดเริ่มต้นของงานธีมงานปีนี้เกิดจากการตั้งข้อสังเกตง่ายๆ ว่า “ทำไมคนปัตตานีแต่งตัวเท่จัง” ซึ่งทำให้พวกเขาพยายามค้นหาคำตอบผ่านงาน Pattani Decoded ครั้งนี้ และหวังว่างานนี้จะเป็นโอกาสให้ทั้งคนปัตตานีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมองเห็นต้นทุนทางวัฒนธรรม “ดีโคตร” ที่มีอยู่ และมองถึงโอกาสในการเดินหน้าเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่ออนาคตของคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ได้

หลายวัฒนธรรมหลอมรวมเป็น “ความเท่”
ตั้งแต่เสื้อผ้าวินเทจ รองเท้าหนัง ไปจนถึงเสื้อวงดนตรีหายาก สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องแต่งกายที่พบเห็นคนปัตตานีสวมใส่กันเป็นปกติ และยิ่งได้เห็นภาพถ่ายของคนในปัตตานียุคก่อน หรือการได้เจอแฟชั่นไอเทมหายากในบ้านของคนที่อยู่ในชุมชนห่างจากเขตเมืองไปไกลก็ยิ่งทำให้สมาชิกกลุ่ม Melayu Living ที่ทำงานสร้างสรรค์รู้สึกทึ่ง และอยากค้นหาคำตอบถึงที่มาที่ไปของความมีสไตล์นี้ของคนปัตตานี

“ด้วยความที่เป็นคนในพื้นที่อยู่แล้วก็เลยมองว่าจากที่สัมผัสมา และจากที่ทำ Pattani Decoded มาในหลายๆ งานก็มองว่าคนมลายูในพื้นที่เหมือนเป็นคนมีสไตล์ อาจจะในสไตล์ที่หลากหลาย บางคนก็ทันสมัยแบบเรียกได้ว่ามาจากอนาคตเลยก็ได้ บางทีย้อนมองภาพเก่าๆ ก็รู้สึกว่าเฮ้ย ได้ยังไงเนี่ย แต่งตัวกันขนาดนี้ คือแบบมันสุดยอดเลย รู้จักอีกหลายๆ คนที่บ้านอาจจะอยู่ในชุมชนที่แบบว่าลึกมากๆ แต่เขามีไอเทมที่สุดยอด ซึ่งพอได้เริ่มงาน Pattani Decoded มันทำให้เราเองก็ได้เปิดมุมมองตัวเอง ได้เจอคนในพื้นที่ว่ามีคนแบบนี้อยู่ด้วยหรอ มีความรู้สึกว่าทุกคนเท่ค่ะ มีสไตล์เป็นของตัวเอง อาจจะไม่ได้ตามใคร ไม่ได้ตามยุคตามสมัย แต่มีความเป็นตัวของตัวเอง ทั้งในยุคของตัวเองหรือแบบว่าย้อนยุคไป” บศกรกล่าว



โดยเมื่อลงมือศึกษาและถอดรหัสที่มาของแฟชั่นมีสไตล์เหล่านี้ ฮาดีย์บอกว่าการที่คนปัตตานีได้สัมผัสกับวัฒนธรรมและประสบการณ์หลากหลาย จากทั้งภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และทำเลที่ตั้งของปัตตานีที่ทำให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกได้ง่าย และการมีผู้คนหลากหลายวัฒนธรรมทั้งมลายู ไทย จีน และมีทั้งชาวมุสลิมและพุทธอยู่ในพื้นที่ เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดรสนิยมการแต่งตัวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของคนปัตตานีมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวด


“เราสังเกตมาตลอดว่าคนปัตตานี อาจจะพูดเข้าข้างตัวเอง มันอยู่ในพื้นที่ผสมที่หลายวัฒนธรรมาเจอกันที่นี่ โลกมุสลิม โลกมลายู โลกของความเป็นไทย มันมาเจอกันที่นี่ สิ่งเหล่านี้มันส่งผลต่อวัฒนธรรมการแต่งกาย สิ่งที่เรารับมาแน่ๆ เช่นเรามองย้อนกลับไปเราก็จะพบว่าคนสัก 80-90 ปีที่แล้วใส่โสร่งคู่กับสูท แล้วก็ใส่หมวกซอเกาะห์สีดำ หมวกนี่หมวกออตโตมันแน่ๆ แล้วก็ถูกนำมาที่ย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เสื้อสูทนี่งานฝรั่งแน่ๆ ครับ ไม่ใช่งานเอเชียแน่ๆ แล้วโสร่งมาจากวัฒนธรรมร่วมของคนทั้งอุษาคเนย์ คนทางนี้ใส่ผ้าถุง ใช้โสร่งเป็นเรื่องปกติ”



“ทีนี้เขาใส่แล้วก็เท่มาก แต่ว่าประเด็นคือทำไมจู่ๆ ถึงใส่ แสดงว่าเขาก็ต้องรู้จักหลายสิ่งหลายอย่าง มีประสบการณ์กับหลายสิ่งหลายอย่าง หรือบางคนก็ใส่กระทั่งเข็มขัดที่มาจากเมกกะเข้าไปอีกที่มาจากซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเข็มขัดทองเหลืองที่เขาร้อยๆ แบบคนสมัยก่อนใส่ ซึ่งที่มามัน 4-5 ที่มาเลยอ่ะมาอยู่ในคนหนึ่งคน เราก็รู้สึกว่าคนที่นี่ก็ขยัน พิถีพิถันในการแต่งกายแน่ๆ แต่ว่าในความพิถีพิถันมาจากความที่ว่า แน่นอนอ่ะครับร้อยปีที่แล้วอังกฤษมาจ่ออยู่ที่มาลายา โอเคเขามาหาดีบุก มาทำอุตสาหกรรมที่นี่ก็จริง แต่สิ่งที่มันมาพร้อมกับตรงนั้นคือเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา แล้วพื้นที่ตรงนี้มันเป็นพื้นที่มุสลิมอ่ะ มันเชื่อมโยงกับโลกมุสลิมในตะวันออกกลาง ในตุรกีอยู่แล้ว มุสลิมในอุษาคเนย์อยู่แล้ว แล้วที่นี่มันมีความสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องยาวนานกับกรุงเทพฯ มาตลอด มันก็มีอิทธิพลจากหลายสิ่งหลายอย่างที่ถูกนำเข้ามาจากส่วนกลาง แล้วมันก็มาผสมกันอยู่ที่นี่” ฮาดีย์กล่าว

ดังนั้น สำหรับ Pattani Decoded 2024 ในธีม “Unparalleled” ฮาดีย์บอกว่าสิ่งที่พวกเขาได้พยายามถอดรหัสคือ “สภาวการณ์” เพราะนี่เป็นความพยายามทำความเข้าใจกับรสนิยมของผู้คนในปัตตานีที่สะท้อนผ่านเครื่องแต่งกายว่ามันมีที่มาที่ไปที่สัมพันธ์กับความหลากหลายทางวัฒนธรรมในพื้นที่และการที่คนในท้องถิ่นปัตตานีรับเอาวัฒนธรรมที่แตกต่างเข้ามาและต่อรองกับวัฒนธรรมของตัวเองอย่างไร



“ไอ้ความเท่ของเราเนี่ย มันไม่ใช่อยู่ๆ คนมีความสามารถที่จะเลือกว่ามิกซ์อันนนี้แมตช์อันนี้แล้วเท่ากับอันนี้ แต่มันเป็นทักษะที่ถูกถ่ายทอดขึ้นมาเพราะเราเจอกับหลายวัฒนธรรม เราคุ้นเคยกับการอยู่กับหลายๆ วัฒนธรรมตลอดเวลา อันนี้ก็เลยเป็นธีมปีนี้คำว่า Unparalleled (ไร้เทียมทาน) จริงๆ เราก็พูดถึงความเป็น Parallel (เส้นคู่ขนาน) ที่เราต้องเจอกันตลอดเวลา โอเคเรามีความเป็นมลายูมุสลิมแน่ๆ ในขณะที่อีกอันเราก็โตขึ้นมากับความเป็นไทยอ่ะ เรามีความเป็นตะวันตกแน่ๆ เพราะว่ามันรับผ่านสื่อและสังคมอะไรก็ว่าไป และความเป็นสมัยใหม่ แต่เราก็มีความเป็นมุสลิมที่มันเชื่อมโยงกับโลกตะวันออกกลาง มันอยู่ที่บนเส้นที่เราเป็นอะไร เราผสมกันนี่แหละ แล้วเราคิดว่าพอมันอยู่ที่ปัตตานีซึ่งมันเป็นชายแดนระหว่างหลายๆ อารยธรรมแบบนี้ พอมันผสมมันพยายามที่จะทำให้มันอยู่ได้ ผสมจนมันกลายเป็นตัวเอง เราว่ามันโคตรเจ๋งนะครับ มันโคตรเท่เลย” ฮาดีย์กล่าว

‘เสื้อผ้ามือสอง’ การค้าที่เชื่อมโยงปัตตานียุคใหม่กับโลกภายนอก
หากลองเสิร์ชหาสถานที่เที่ยวในปัตตานีจะเห็นได้ว่ามีหลายเว็บไซต์เลยทีเดียวที่แนะนำว่าไม่ควรพลาดก็คือการเดินตลาดนัดมือสองที่มีอยู่หลายแห่ง โดยฮาดีย์และบศกรบอกว่าที่ตลาดนัดเหล่านี้มีของมือสองมาขายหลากหลายรูปแบบ แต่สินค้าหลักๆ ก็คือเสื้อผ้า

ฮาดีย์บอกว่าการค้าเสื้อผ้ามือสองของคนปัตตานีเกิดขึ้นมานานหลายทศวรรษแล้ว โดยย้อนกลับไปช่วง 40-50 ปีก่อน ที่คนจากชุมชนบางปู อำเภอยะหริ่งของปัตตานีไปทำงานในรัฐเคดาห์ของมาเลเซียและได้ไปหาซื้อเสื้อผ้ามือสองจากที่นั่นมาใส่ และก็พบว่าเสื้อผ้ามือสองที่เจอนอกจากถูกแล้วยังมีคุณภาพดี หลายชิ้นเป็นงานจากโลกตะวันตก เมื่อค้นหาไปเรื่อยๆ ก็ไปพบเสื้อผ้ามือสองที่ถูกโละมาจากประเทศในโลกตะวันตกเป็นกระสอบที่เมืองโกตาบารู ซึ่งถูกส่งเข้ามายังสิงคโปร์และส่งต่อกันมาเรื่อยๆ จึงได้เริ่มนำกลับมาขายที่ปัตตานี รวมถึงยังนำขึ้นไปขายที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ยุคของตลาดนัดสนามหลวง

โดยการค้าเสื้อผ้ามือสองสร้างรายได้ให้กับคนปัตตานีในหลายรูปแบบ ไม่เพียงพ่อค้าที่ขนเสื้อผ้ากระสอบเข้ามาเทขาย แต่ยังรวมถึงคนคัด คนซัก คนรีด คนห่อ และยังรวมถึงคนทุนน้อยแต่ “ตาถึง” ที่ไปหยิบเอาเสื้อผ้ามือสองที่เป็นของหายาก ซึ่งแขวนขายอยู่ตามราวในราคาถูกๆ ตัวละหลักสิบ แต่สามารถนำไปขายต่อได้ในราคาหลักพันหลักหมื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการขายทางช่องทางออนไลน์เติบโตในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

สำหรับผู้จัดงาน Pattani Decoded พวกเขามองว่า ทั้งความนิยมในการสวมใส่และการค้าเสื้อผ้ามือสองของคนปัตตานีสะท้อนให้เห็นว่า คนที่นี่มีประเด็นที่เกี่ยวโยงกับเรื่องเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายมายาวนาน โดยเรื่องราวของเสื้อผ้ามือสองก็ได้ถูกหยิบมาเล่าในงาน Pattani Decoded 2024 ด้วย โดยที่โรงแรมแพลเล็สได้มีการจัดนิทรรศการ Baju Guni ที่จะใช้ห้องเก่าแก่ 6 ห้องของโรงแรมจัดแสดงเสื้อผ้ามือสองที่จัดเป็นของหายากที่ถูกคัดสรรมาจากคนในวงการเสื้อผ้ามือสอง 6 เจ้า บางตัวมีมูลค่าถึงหลักแสน และบางตัวก็ไม่อาจประเมินค่าได้ด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับที่มาของเสื้อผ้าตัวนั้น
 


ฮาดีย์บอกว่า ถึงที่สุดแล้วการเล่าเรื่องราวของเสื้อผ้ามือสองกับคนปัตตานี มันคือการพยายามถอดรหัสรสนิยมในการเลือกสรรเครื่องแต่งกายของคนที่นี่ เป็นรสนิยมที่ไม่ได้อยู่ๆ ก็เกิดขึ้น แต่มันมาจากการมีปฏิสัมพันธ์กับวัฒนธรรมต่างๆ จากโลกภายนอกปัตตานีด้วย
“สิ่งนี้แหละครับที่เราอยากจะเล่า คือว่าคนที่นี่มันมีประเด็นกับเสื้อผ้า หนึ่งคือแน่นอนพยายามที่จะรักษาอัตลักษณ์ตัวเองอย่างแข็งแรงแน่ๆ กับสองคือก็รู้จักที่จะแต่งตัว แม้ทรัพยากรตัวเองจะจำกัด แต่ก็พยายามที่จะหาจะมาหยิบใส่ให้กับตัวเอง ซึ่งมันก็บอกว่าคนที่นี่มีรสนิยม ซึ่งสิ่งนี้แหละเรากำลังถอดรหัสอยู่ ว่าเอ๊ะ มันเกิดอะไรขึ้นนะในอุษาคเนย์ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในโลกมลายู เมื่อย้อนกลับไปร้อยกว่าปีมันเกิดอะไรขึ้นที่นี่เหรอ เราถึงมีความเข้าใจในเรื่องความเป็นไปในเรื่องของแฟชั่น ในเรื่องของเทรนด์”

“งานตัว Unparalleled รอบนี้ที่ไม่ได้แปลว่าเราเก็ทเรื่องเสื้อผ้าทั้งหมด แต่มันเริ่มจากสมมติฐานเราเลยว่า คนปัตตานีมันเท่ว่ะ ดูยังไงมันก็เท่ เอ๊ะมันเท่ได้ไงวะ แล้วมันเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไรบ้าง แล้วก็ไปทำการบ้านมาแล้วพบว่าเสื้อผ้ามือสองมันก็จัดจ้านนะ เสื้อในเชิงอัตลักษณ์เราก็ใช่ย่อย ย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์มันไม่ใช่ว่าจู่ๆ ลอยมา แต่มันมาจากการผสมๆ อะไรแบบนี้ ดังนั้นสำหรับพวกเรา Pattani Decoded คือ กระบวนการ (process) ที่เราเองก็พยายามทำความเข้าใจเรื่องของพวกเรา และก็นำเสนอมันออกมาเป็นนิทรรศการดีไซน์แบบนี้ แล้วก็ชวนคนมาคุยกัน” ฮาดีย์กล่าว

‘Pattani Decoded’ แพลตฟอร์มในการมองหาโอกาสใหม่ของคนปัตตานี
สำหรับผู้จัดงาน Pattani Decoded พวกเขาบอกว่าต้องยอมรับว่าไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์รุนแรง หรือตัวเลข GDP ที่บอกว่าปัตตานีมีสัดส่วนคนยากจนอยู่มากแค่ไหนที่ได้กลายเป็นภาพจำของปัตตานีในสายตาคนนอกจำนวนไม่น้อย เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงและมีอยู่จริงในพื้นที่นี้
แต่พวกเขาก็อยากให้งาน Pattani Decoded ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้วเป็นอีกแพลตฟอร์มที่สะท้อนให้เห็นอีกแง่มุมของปัตตานี นั่นคือการมีต้นทุนทางวัฒนธรรม และหวังว่าจะทำให้เกิดบทสนทนาว่าจะหยิบต้นทุนทางวัฒนธรรมเหล่านี้มาบอกเล่าหรือนำเสนออย่างไร และต้นทุนทางวัฒนธรรมที่นำเสนอด้วยความคิดสร้างสรรค์จะเป็นอีกแพลตฟอร์มที่จะสร้างรายได้ หรือนำพาปัตตานีก้าวข้ามกับดักความยากจน หรือหาโอกาสใหม่ๆ ให้คนรุ่นใหม่ของปัตตานีได้หรือไม่ นั่นคือสิ่งที่พวกเขามองว่างานเทศกาล เช่น Pattani Decoded จะเป็นโอกาสให้เกิดบทสนทนาเหล่านี้ขึ้น

“คือเราก็ไม่อยากจะบอกว่างานเราเลิศที่สุด เพอร์เฟ็กที่สุด แต่ว่าในสถานการณ์แบบนี้ผมว่าเราก็อยากจะชวนคุย ว่าบ้านเราก็มีดีนะ มันมีของดีอ่ะ แต่อยู่ที่เราจะพรีเซนต์ยังไง จะเล่ายังไง ลองวิธีสร้างสรรค์เล่าไหม” ฮาดีย์กล่าว

ขณะเดียวกัน ผู้จัดงานก็ยังมองว่างานเทศกาลดีไซน์เช่น Pattani Decoded จะเป็นการช่วยนำเสนอมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับการนำเสนอเรื่องวัฒนธรรมและงานสร้างสรรค์ของปัตตานีให้กับหน่วยงานภาครัฐที่เข้ามาร่วมกับโปรเจคนี้ด้วย

“นอกเหนือจากกลุ่มเด็กๆ เราก็มองถึงกลุ่มราชการ กลุ่มหน่วยงานต่างๆ ที่เรามองว่าที่ผ่านมาเราก็เจองานอีเวนต์รูปแบบต่างๆ ที่เรามองว่ามีความเป็นรูปแบบเดิมๆ แต่เราก็รู้สึกว่าพอเราทำงาน Pattani Decoded ขึ้นมาในรูปแบบที่มีความแตกต่างจากหน่วยงานราชการ แล้วเขาก็มาร่วมกับเราด้วย อย่างน้อยก็อาจจะเพิ่มมุมมองในด้านแปลกใหม่กว่าเดิม ให้เขาได้รู้สึกว่าเขาอาจจะหยิบไปใช้ในกิจกรรมของเขาได้บ้าง อย่างเช่นมหาวิทยาลัยก็เป็นตัวอย่างที่ค่อนข้างชัดว่าเดิมเขาก็อาจมีกลุ่มคนที่สร้างสรรค์กิจกรรมอยู่ แต่อาจจะเป็นรูปแบบของการเป็นหน่วยงาน พอมีกิจกรรมที่กลุ่มเราสร้างขึ้นก็มีความรู้สึกว่า มันก็เปิดโลกให้เขา แบบนี้มันก็ทำได้นี่นา แบบนี้มันก็รู้สึกว่ามันน่าสนใจอะไรแบบนี้ค่ะ” บศกร กล่าว



ทั้งนี้ งาน Pattani Decoded 2024 ในธีม “Unparalleled” จะดำเนินไปจนถึงวันที่ 1 กันยายนนี้ โดยจัดขึ้นใน 4 ย่านของเมืองคือ ถนนปัตตานีภิรมย์ ตลาดเทศวิวัฒน์ ถนนปรีดา และ ชุมชนจะบังติกอ โดยมีนิทรรศการและกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย เช่น
  • ฮิญาบ นิทรรศการที่จะชวนให้ผู้คนสนทนาถึงฮิญาบในแง่มุมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมุมมองของนักเขียน นักสร้างสรรค์ และช่างภาพ
  • Fashion Lab นิทรรศการที่จะทำหน้าที่เป็นห้องทดลอง ปะติดปะต่อเรื่องราว และนำเสนอเบื้องหลังวิธีคิดด้านการแต่งกายของผู้คนในพื้นที่ผ่านมุมมองด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม กระแสสังคม รวมทั้งเทรนด์แฟชั่นในยุคสมัยต่าง ๆ
  • Made in Pattani นิทรรศการที่ Pattani Decoded ร่วมกับสำนักงานส่ง เสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) จัดแสดงผลงานของ 10 ผู้ประกอบการร้านค้าเก่าแก่ในย่านที่ได้ทำงานร่วมกับนักสร้างสรรค์ทั้งในและนอกพื้นที่โดยใช้เครื่องมืองานออกแบบและความคิดสร้างสรรค์มา พัฒนา ต่อยอด บนพื้นฐานของทักษะดั้งเดิมและเอกลักษณ์ของพื้นที่
  • นิทรรศการแสง Pattani Decoded ได้ร่วมกับ ทีม LIGHT IS ออกแบบและจัดแสดงแสงไฟบนอาคารของมัสยิดรายอฟาฏอนี ซึ่งเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์และเป็นศูนย์รวมกิจกรรมทางศาสนาของคนในชุมชนเป็นเวลากว่า 180 ปี การออกแบบได้ขับเน้นให้อาคารมัสยิดแห่งนี้เปล่งประกายในเวลากลางคืนเพื่อสะท้อนถึงรูปแบบสถาปัตยกรรมอันสวยงามและเรื่องราวที่รายล้อมมัสยิดแห่งนี้ตลอด 180 ปีที่ผ่านมา และ
  • Bek Woh กิจกรรมซึ่งมีรากคำมาจากภาษาอังกฤษว่า Big Work อันหมายถึงการจัดกิจกรรมกินเลี้ยงในชุมชนที่ต้องใช้แรงงานของผู้คนเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะงานแต่งงานของสมาชิกในชุมชน และในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เองที่ทุกคนจะได้กินอาหารเมนูพิเศษที่มักจะมีอยู่แค่ในงานแต่งเช่น Gula Besar หรือแกงเนื้อชิ้นใหญ่ที่หาทานยากในช่วงเวลาปกติ เป็นต้น

โดยในฐานะผู้จัดงาน ฮาดีย์ทิ้งท้ายบทสนทนาของเรา ว่าอยากให้ทุกคนได้มากันเพราะ

“จะได้เห็นความเท่ของเมืองปัตตานีและคนปัตตานี จะรู้จักปัตตานีในอีกมุมหนึ่งเลย แล้วก็จะได้บรรยากาศเอ็กซ์คลูซีฟด้วย ความ เอ็กซ์คลูซีฟอย่างที่ผมเชื่อว่าใครมาปัตตานีในช่วง Decoded จะได้สัมผัสความยูนีคของความรู้สึกนี้เป็นพิเศษ คือมันมีโมเมนต์ที่มันมีนิทรรศการดีไซน์ที่ปรากฏอยู่ในย่านเมืองเก่าในที่ที่คนไม่คิดว่ามันจะมี”

และเมื่อบวกกับความพร้อมเป็นมิตรกับผู้มาเยือนของชาวปัตตานี ฮาดีย์บอกว่านี่ก็น่าจะทำให้คนนอกพื้นที่ที่มางานได้เห็นภาพใหม่ และประทับใจกับงานดีไซน์วีคในเมืองที่อาจ “ไม่น่าเชื่อว่าจะมีงานแบบนี้” อย่างปัตตานีด้วย

(https://theopener.co.th/node/2059)