วันพุธ, สิงหาคม 28, 2567

อ่านแล้วแค้น - เรื่องเล่าชายชุดดำ ปริศนาปี ’53 และชะตากรรมของกิตติศักดิ์


The101.world
17 hours ago
·
ชายคนนี้คือตัวละคร ‘ชายชุดดำ’ ผู้ก่อความรุนแรงปี 2553 ในเรื่องเล่าของฝ่ายรัฐมา 10 ปี เขาติดคุกอยู่ 8 ปี 2 เดือน ถูกกล่าวหา 8 คดี ในตอนนี้ทุกคดีถูกยกฟ้อง เหลือเพียงอุทธรณ์ 1 คดี
.
เรื่องชายชุดดำยังคงเป็นปริศนา เรื่องความเป็นธรรมของคนเสื้อแดงที่ถูกฆ่าก็ยังหาคำตอบไม่ได้
.
“เขาต้องการคำเดียวเลยครับ คือให้ผมบอกว่า ‘ผมเป็นคนฆ่าพันเอกร่มเกล้า (ธุวธรรม)’ แค่นี้เลย” อ้วน-กิตติศักดิ์ สุ่มศรี คือคนขับรถตู้ที่ถูกทหารลักพาตัวเข้าค่ายทหารหลังการรัฐประหาร
.
อ่านทั้งหมดได้ที่: https://www.the101.world/mystery-of-the-2010-black-shirts/
.
หลังทหารพากิตติศักดิ์ไปทรมานในค่าย ตำรวจก็เตรียมอุปกรณ์แถลงข่าวไว้พร้อมสรรพ ชุดสีดำ หมวกไอ้โม่งสีดำ ผ้าแดงสำหรับผูกแขน อาวุธสงครามที่ตำรวจหามาเอง และบทพูดที่เจ้าหน้าที่เขียนและช่วยซักซ้อมให้ ทั้งหมดนี้ถูกใช้ประกอบจินตนาการให้ผู้ก่อเหตุเป็นกลุ่มติดอาวุธโหดเหี้ยมของเสื้อแดง
.
หลังแถลงข่าวพวกเขาถูกพาตัวไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ มีตำรวจคอยกำกับบทว่าจะให้ใครยืนตรงไหนและต้องทำท่าอย่างไรบ้าง
.
“เขาบอกว่า ‘เอาเหอะ พวกมึงก็ทำๆ ไป ถ้าไม่ทำเดี๋ยวกูจะเอาไปในค่ายทหารอีก’ แล้วเขาก็บอกว่ามึงต้องพูดอย่างนี้ๆ พวกผมก็ต้องยอมทำตาม เพราะในค่ายทหารโหดร้ายมาก” กิตติศักดิ์บอก
.
การตามหาความจริงในกระบวนการยุติธรรมหลังจากนี้ไม่ใช่เรื่องจำเป็น เมื่อการแสดงนี้บรรลุเป้าหมายการยืนยันการมีอยู่ของชายชุดดำว่าเป็นกลุ่มติดอาวุธของเสื้อแดง สอดรับกับเรื่องเล่าของ ศอฉ. ว่าการใช้ความรุนแรงในการปราบเสื้อแดงเป็นความชอบธรรม
.
กิตติศักดิ์กลายเป็นตัวละครสำคัญในเรื่องเล่าชายชุดดำของภาครัฐ หลังเข้าเรือนจำคดีของเขาก็งอกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คล้ายเป็นจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายที่ช่วยเพิ่มความสมจริงให้เรื่องเล่าที่ไม่สมบูรณ์ โดยที่พยานฝ่ายโจทก์คือทหารและตำรวจที่เวียนกันมาให้การ มีการยื่นฟ้องซ้ำเรื่องเดิมๆ หลายคดี จนชีวิตในเรือนจำของเขาทอดยาวออกไป
.
“ลูกผมบอกว่าให้สู้ ผมไม่ได้ทำแล้วจะรับสารภาพทำไม ผมสูญเสียอะไรไปหลายอย่าง วันนี้ผมกล้าพูดกับทุกคนเลยว่าผมเคยติดคุกมา แต่ยกฟ้องหมด ผมไม่ผิด”
.
เรื่อง: วจนา วรรลยางกูร
ภาพถ่าย: เมธิชัย เตียวนะ
.....

เรื่องเล่าชายชุดดำ ปริศนาปี ’53 และชะตากรรมของกิตติศักดิ์



วจนา วรรลยางกูร 
27 Aug 2024
101 World

1

เช้ามืดของวันที่ 27 มิถุนายน 2567 เขาออกจากบ้านย่านชานเมืองกรุงเทพฯ ไปช่วยภรรยาเตรียมข้าวของสำหรับเปิดร้านขายอาหารตามสั่งที่หน่วยงานราชการแห่งหนึ่งในละแวกเดียวกัน

วันนี้เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญในชีวิต แต่เขาไม่ได้ทำอะไรให้พิเศษกว่าทุกวัน ชายผิวดำแดงในอายุห้าสิบกว่า สวมเสื้อโปโลสีน้ำเงินห้อยพระเครื่องรอบคอ หลังประกันตัวออกจากคุกมาหนึ่งปีครึ่งเขาก็กลับมาใช้ชีวิตแบบเดิม ตื่นเช้ามาช่วยภรรยาเตรียมของทำอาหาร แล้วขับรถตู้ไปที่วินรับผู้โดยสารเดินทางเข้าเมือง

เช่นเดียวกับวันนี้ หลังจัดร้านเรียบร้อยเขาก็ขับรถตู้ไปรอรับผู้โดยสาร ทั้งที่ในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าเขาต้องขึ้นศาลในฐานะจำเลยเพื่อฟังคำตัดสินคดี ช่องว่างเวลาอันน้อยนิดหากขับรถรับผู้โดยสารได้สักเที่ยวก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย

อ้วน–กิตติศักดิ์ สุ่มศรี ใช้ชีวิตในเรือนจำอยู่ 8 ปี 2 เดือน ก่อนได้รับการประกันตัวออกมาโดยที่ยังมีคดีค้างอยู่ แม้จะกลับมาทำงานได้ดังเดิมแต่ก็ยังต้องขึ้นโรงขึ้นศาลเป็นระยะ

“วันนี้คดีที่ 7 หรือ 8 ผมก็ไม่แน่ใจ มันเยอะเกินไป” กิตติศักดิ์บอกพร้อมหัวเราะขื่น เขาไม่แน่ใจอย่างที่พูดจริงๆ เพราะตั้งแต่ถูกจับเข้าคุกเขาก็ถูกแจ้งข้อหาอีรุงตุงนัง หลายข้อหามาจากเรื่องเดียวกันทั้งที่ไม่น่าทำได้ แต่การแยกฟ้องซ้ำๆ แบบนี้ก็ทำให้เขามีคดีเยอะจนติดคุกอยู่นานทั้งที่ไม่มีคำพิพากษา

คดีที่เขาต้องไปฟังคำพิพากษาวันนี้คือข้อหา ‘ก่อการร้าย’ เป็นคดีสุดท้ายที่เขาถูกกล่าวหาในฐานะ ‘ชายชุดดำ’ ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553


2

กิตติศักดิ์เป็นคนนครสวรรค์ เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2535 เริ่มต้นที่อาชีพขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างแล้วจึงออกรถตู้มาขับรถรับจ้าง เขาและเพื่อนๆ รวมตัวกันตั้งวินรถตู้ย่านชานเมืองในยุคที่มีมาเฟียเรียกเก็บส่วยรายเดือน พอรัฐบาลทักษิณปราบผู้มีอิทธิพล กิตติศักดิ์และเพื่อนๆ คนขับรถตู้จึงได้ประโยชน์ไปด้วย

หลังเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ได้ไม่นาน ภรรยาของเขาก็พาลูกสองคนย้ายตามมาเมืองหลวงด้วย สบโอกาสคนรู้จักชักชวนให้ไปขายอาหารตามสั่งในหน่วยงานราชการแถวบ้าน ภรรยาของกิตติศักดิ์จึงเปิดร้านอาหารเล็กๆ ในโรงอาหารช่วยหาเลี้ยงครอบครัวอีกหนึ่งแรงจนลูกโต

กิตติศักดิ์ชื่นชอบพรรคไทยรักไทยตั้งแต่มีนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค แต่เหตุการณ์ที่ทำให้เขาสนใจการเมืองมากขึ้นคือกรณี ‘สงกรานต์เลือด’ ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะสลายการชุมนุมที่แยกดินแดงในเดือนเมษายน 2552 ด้วยกำลังทหารและกระสุนจริง

“ผมเห็นความไม่ยุติธรรม ทำไมต้องยิงกันขนาดนั้น จากนั้นมาผมก็ไปม็อบตลอด มีคนรู้จักถามผมว่า ‘เฮ้ยไอ้น้อง เอ็งได้ค่าจ้างวันละเท่าไรวะ ได้ 700 ใช่ไหม’ ผมบอก ‘ถ้ารู้ว่าใครจ่ายก็พาผมไปหน่อยดิ ถ้าได้เงินผมก็ไม่เอาหรอก ผมให้พี่ไปเลย’” เขาเล่า

เมื่อ นปช. ปักหลักการชุมนุมในปี 2553 กิตติศักดิ์จึงเข้าร่วมในฐานะคนเสื้อแดงคนหนึ่ง เขามักไปม็อบกับภรรยาในวันศุกร์และวันเสาร์ ทั้งสองคนชอบฟังการปราศรัยของณัฐวุฒิ ใสยเกื้อและจตุพร พรหมพันธุ์ อยู่รอฟังยาวถึงห้าทุ่ม-เที่ยงคืนจึงกลับ ส่วนวันอาทิตย์จะไม่ไปม็อบเพราะต้องเข้านอนเร็วเพื่อเตรียมเปิดร้านวันจันทร์

เดือนเมษายน 2553 ระหว่างการชุมนุมเสื้อแดง รัฐบาลประกาศวันหยุดยาวช่วงสงกรานต์ เขากับภรรยาจึงตั้งใจซื้อเสื้อและหมวกที่มีสัญลักษณ์ นปช. จากม็อบไปฝากญาติที่ต่างจังหวัด กิตติศักดิ์เล่าว่าวันที่ 10 เมษายน 2553 เขาและภรรยาออกจากบ้านตอนเที่ยงเพื่อไปม็อบที่ถนนราชดำเนิน เมื่อไปถึงก็พบว่าทหารปิดพื้นที่แล้ว

“ตอนนั้นเขาประกาศเป็นวันหยุดยาว เราจะกลับบ้านที่ต่างจังหวัดกันเลยตั้งใจซื้อเสื้อผ้าไปฝากคนที่บ้าน เขาอยากได้เสื้อแดง-หมวกแดง ปรากฏว่าไปถึงแถวแยก จปร. แล้วเข้าไม่ได้ ผมก็จอดรถไว้ข้างทางแล้วเดินเข้าไปดู แต่ทหารไม่ให้เข้าไปในม็อบแล้ว ใครก็เข้าไปไม่ได้ช่วงนั้น เขาสลายการชุมนุม ผมก็กลับมาบอกแฟนว่าเข้าไปไม่ได้แล้ว กลับบ้านเหอะ”

กิตติศักดิ์เล่าว่าวันนั้นเขากลับมาที่บ้านเพื่อรอลูกหลานออกเดินทางไปบ้านญาติที่ลำปางพร้อมกันตอนหกโมงเย็น ระหว่างนั้นก็ฟังข่าวการสลายการชุมนุม “ผมฟังวิทยุคลื่นเสื้อแดง เขาบอกว่ามีการสลายการชุมนุม เห็นในทีวีด้วย คนที่บ้านยังโทรมาถามเลยว่าผมอยู่ม็อบหรือเปล่า ผมก็บอกว่าไม่อยู่ จะกลับบ้าน (ต่างจังหวัด) แล้ว”

ในวันที่ 10 เมษายน รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะสั่งการ ศอฉ. ให้สลายการชุมนุมบริเวณแยกผ่านฟ้าตั้งแต่เวลา 13.30 น. โดยใช้ทหารมากกว่า 70 กองร้อย มีการใช้กระสุนจริง จนที่สุดทำให้มีผู้เสียชีวิต 27 คน เป็นทหาร 5 คน พลเรือน 21 คน และนักข่าวต่างประเทศ 1 คน (ทหารทั้ง 5 คนเสียชีวิตจากระเบิดหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาในเวลากลางคืน, พลเรือน 3 คนเสียชีวิตจากกระสุนจริงและแก๊สน้ำตาในการปะทะช่วงกลางวัน, พลเรือนและนักข่าวต่างประเทศรวม 19 คนเสียชีวิตจากกระสุนจริงในการปะทะช่วงกลางคืน)[1]

เหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน เป็นจุดเริ่มต้นความรุนแรงในการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงที่ต่อเนื่องมาถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 94 คน เป็นฝ่ายประชาชน 84 คน เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจ 10 คน (ตัวเลขจาก ศปช.)

รัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่เคยรับผิดชอบต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยอ้างว่าฝ่ายผู้ชุมนุมมีกองกำลังติดอาวุธและผู้ก่อความรุนแรงคือชายชุดดำ ทั้งที่ในเวลาต่อมามีการพิสูจน์ในกระบวนการยุติธรรมว่าประชาชนหลายรายเสียชีวิตจากการถูกยิงโดยเจ้าหน้าที่ด้วยกระสุนจริงและมีหลักฐานการปรากฏตัวของชายชุดดำเฉพาะวันที่ 10 เมษายนที่แยกคอกวัว

เหตุการณ์วันที่ 10 เมษายนนั้นมีคนพบชายสวมใส่ชุดสีดำพร้อมปืนอาก้าที่แยกคอกวัวในเวลา 20.24 น. แต่ก่อนหน้านั้นในวันเดียวกันมีประชาชนถูกยิงเสียชีวิตตั้งแต่ก่อนการปรากฏตัวของชายชุดดำแล้ว หลักฐานในวันดังกล่าวปรากฏคลิปเหตุการณ์ชายใส่ชุดสีดำยิงโต้ตอบจากฝั่งผู้ชุมนุมไปทางฝั่งทหาร โดยมีพยานบอกว่าเมื่อชายชุดดําปรากฏตัวที่แยกคอกวัวก็ไม่มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตอีกเลย



ภาพชายยิงโต้ตอบทหารจากวิดีโอที่ถ่ายในเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553



3

ช่วงสี่ปีหลังเหตุการณ์ปี 2553 กิตติศักดิ์ใช้ชีวิตตามปกติ อยู่บ้านหลังเดิม ขับรถตู้ที่วินเดิม มาช่วยภรรยาขายอาหารที่หน่วยงานราชการแห่งเดิม ระหว่างนั้นในสังคมมีการเคลื่อนไหวพยายามเอาผิดผู้สั่งการและเจ้าหน้าที่ที่ฆ่าประชาชน แต่ประตูสู่ความเป็นธรรมก็ถูกไล่ปิดตายมาเรื่อยๆ

ปี 2557 เกิดรัฐประหาร โดยทหารที่ยึดอำนาจนั้นเคยเป็นส่วนหนึ่งของ ศอฉ. ที่ทำให้ประชาชนเสียชีวิต ไม่กี่เดือนต่อมากิตติศักดิ์ถูกจับกุม เขาถูกลักพาตัวไปต่อหน้าลูกสาวในหน่วยงานราชการที่ทำงานอยู่

“ตอนนั้นผมขับรถให้หน่วยงานราชการ วันนั้นลูกสาวเรียกให้กลับบ้าน พอผมเดินลงมาเจอรถสองคัน มีผู้ชายเดินเข้ามาถามผมว่า ‘เฮ้ย! อ้วนเปล่าวะ’ ผมตอบ ‘ครับ’ ผมถูกลากขึ้นรถ ปิดตา ตบปาก ทำร้ายร่างกาย เอาถุงมาคลุมหัว คนบนรถเรียกนามแฝงกันว่า ‘เอ-บี’ ตอนแรกผมไม่รู้ว่าพวกเขาเป็นใคร ไม่มีหมายเรียก ไม่บอกว่าเราผิดอะไร เขาพานั่งรถไปทางขรุขระ ผมก็คิดว่าถูกเอาไปฆ่าแน่เลย”

กิตติศักดิ์มารู้เอาในวันต่อมาว่ากลุ่มคนที่ลักพาตัวและทำร้ายร่างกายคือทหาร เขาถูกคุมตัวที่กองพันทหารสื่อสารที่ 1 ถนนนางลิ้นจี่ ถูกขัง ใส่กุญแจมือ ถูกรุมทำร้ายร่างกาย ใช้ปืนจ่อหัว และจับทรมานโดยกลุ่มชายชาตรีที่ควรทำหน้าที่ปกป้องประชาชน

ระหว่างที่กิตติศักดิ์อยู่ในค่ายทหารไม่สามารถติดต่อครอบครัวหรือทนายได้ ทางครอบครัวของเขาก็ไปแจ้งความ ทหารจึงโทรมาข่มขู่ให้ถอนแจ้งความ ต่อมาทหารแอบอ้างว่าเป็นช่างซ่อมกล้องวงจรปิดเข้าไปที่หน่วยงานที่จับกิตติศักดิ์มา เมื่อไม่มีกล้องเสียเจ้าหน้าที่จึงให้กลับไป หลังจากนั้นทหารจึงอ้างว่ารถหายจะมาขอดูกล้องวงจรปิด แต่ไม่มีหลักฐานว่ารถหายจริงจึงไม่ได้ดูกล้อง ครั้งสุดท้ายทหารจึงแจ้งว่ามาจาก คสช. และนำฮาร์ดดิสก์กล้องวงจรปิดไป แต่เมื่อส่งคืนมากลับเป็นฮาร์ดดิสก์ตัวใหม่เพื่อไม่ให้กู้ข้อมูลได้

“เขาจับผมทุ่ม ทำทุกอย่างให้ผมเจ็บ หักนิ้วมือ ใช้ผ้าหุ้มนิ้วแล้วเอาคีมมาบิดให้ปวด ทุกวันนี้ผมยังปวดอยู่ตลอด ตอนเข้าไปเรือนจำผมพยายามบอกเจ้าหน้าที่ว่าโดนซ้อม โดนทรมานมา แต่เจ้าหน้าที่ไม่เคยลงบันทึกอะไรเลย ที่เรือนจำเขาไม่เชื่อว่าทหารจะทำร้ายผมทำไม เขาเข้าข้างกัน”

กิตติศักดิ์ถูกทรมานเพื่อให้พูดว่าเขาเป็นตัวละครสำคัญในเหตุการณ์ 10 เม.ย. 2553 การทรมานอันป่าเถื่อนดำเนินไปเรื่อยๆ จนกว่ากิตติศักดิ์จะยอมแพ้และยอมเป็นแพะรองรับความรุนแรงที่เกิดขึ้น

“เขาต้องการคำเดียวเลยครับ คือให้ผมบอกว่า ‘ผมเป็นคนฆ่าพันเอกร่มเกล้า (ธุวธรรม)’ แค่นี้เลย มึงต้องเป็นคนฆ่าพันเอกร่มเกล้า ท่านศรีวราห์ (รังสิพราหมณกุล) ไปสอบผมก็ถามแค่ว่า ‘เฮ้ย มึงฆ่าร่มเกล้าใช่ไหม’ เขาต้องการแค่นี้ ‘มึงฆ่าพันเอกร่มเกล้าใช่ไหม’ อย่างอื่นไม่สนเลย อยากได้คนที่ฆ่าอย่างเดียว เขาพยายามหาปืนมาเป็นหลักฐาน ซึ่งผมรู้ทีหลังจากทนายที่ทำคดีว่าพันเอกร่มเกล้าเสียชีวิตจากระเบิด”

กิตติศักดิ์ถูกนำตัวไปแถลงข่าวพร้อมผู้ต้องหาคนอื่น เขาเล่าว่าไม่เคยรู้จักกับคนอื่นที่ถูกกล่าวหาว่าอยู่ในขบวนการเดียวกันมาก่อน ตอนหลังเพิ่งจะได้คุยกันในเรือนจำ ตำรวจเตรียมอุปกรณ์แถลงข่าวไว้พร้อมสรรพ ชุดสีดำ หมวกไอ้โม่งสีดำ ผ้าแดงสำหรับผูกแขน อาวุธสงครามที่ตำรวจหามาเอง และบทพูดที่เจ้าหน้าที่เขียนและช่วยซักซ้อมให้ ทั้งหมดนี้ถูกใช้ประกอบจินตนาการให้ผู้ก่อเหตุเป็นกลุ่มติดอาวุธโหดเหี้ยมของเสื้อแดง

หลังแถลงข่าวพวกเขาถูกพาตัวไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ มีตำรวจคอยกำกับบทว่าจะให้ใครยืนตรงไหนและต้องทำท่าอย่างไรบ้าง

“ตอนแถลงข่าวเขาให้เราใส่เสื้อ สวมหมวกไหมพรม และต้องผูกริบบิ้นสีแดง อาวุธปืนเขาก็จัดเตรียมมาให้เรียบร้อย ตอนเห็นปืนผมคิดว่าตัวเองไม่รอดแน่…โอ้โห จัดให้ขนาดนี้เชียวเหรอ ทั้งปืนทั้งระเบิดหยิบมาจากรถตำรวจ เอามากองเต็มไปหมดแล้วให้พวกผมแถลงข่าว ปืนพวกนั้นมันไม่ได้เกี่ยวกับคดีเลยนะ เขาบอกว่า ‘เอาเหอะ พวกมึงก็ทำๆ ไป ถ้าไม่ทำเดี๋ยวกูจะเอาไปในค่ายทหารอีก’ แล้วเขาก็บอกว่ามึงต้องพูดอย่างนี้ๆ พวกผมก็ต้องยอมทำตาม เพราะในค่ายทหารโหดร้ายมาก

“ตอนที่ทหารพาผมไปส่งให้ตำรวจ เขาบอกว่า ‘ถ้ามันไม่ให้ความร่วมมือก็เอาเข้าค่ายไปอีกรอบ’ ผมไปเจอตำรวจไม่ต้องทำอะไรเลยนะ เขาพิมพ์สำนวนแล้วให้ผมเซ็น ผมก็ต้องเซ็น เพราะกลัวถูกทำร้ายร่างกาย ตอนหลังพอเจอทนาย ผมจึงบอกว่าโดนทำร้ายแล้วบังคับให้รับสารภาพ จึงกลับคำให้การ เพราะความจริงกับคำให้การมันขัดกันหมด”

กิตติศักดิ์และเพื่อนร่วมชะตากรรมในคดีเดียวกันถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ สำหรับผู้เขียนบท การตามหาความจริงในกระบวนการยุติธรรมหลังจากนี้ไม่ใช่เรื่องจำเป็น เมื่อการแสดงนี้บรรลุเป้าหมายการยืนยันการมีอยู่ของชายชุดดำว่าเป็นกลุ่มติดอาวุธของเสื้อแดง สอดรับกับเรื่องเล่าของ ศอฉ. ว่าการใช้ความรุนแรงในการปราบเสื้อแดงเป็นความชอบธรรม



ตำรวจจัดแถลงข่าวจับกุมชายชุดดำ กันยายน 2557 (กิตติศักดิ์นั่งซ้ายสุด)



4

ก่อนหน้าที่กิตติศักดิ์จะถูกอุ้มเข้าค่ายทหาร เคยมีตำรวจมาที่วินรถตู้และถามหา ‘ไก่’ คนขับรถตู้ที่วินเดียวกัน หลังตำรวจพบระเบิดในรถเก๋งของไก่ กิตติศักดิ์ไม่คิดว่าเรื่องที่ตำรวจถามถึงนั้นจะเกี่ยวข้องกับเขา หลังจากวันนั้นเขาก็ทำงานที่วินรถตู้เดิมมาเรื่อยๆ แต่สุดท้ายเขาต้องเข้าคุกในฐานะ ‘ชายชุดดำ’ ผู้เข่นฆ่าประชาชนบริสุทธิ์

หลังถูกจับกิตติศักดิ์ยังถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของระเบิดในรถเก๋งคันนั้นด้วย เพราะฝ่ายทหารเชื่อมโยงว่าระเบิดเหล่านั้นถูกนำมาใช้ในปฏิบัติการของชายชุดดำวันที่ 10 เม.ย. 2553

การเข้าคุกในฐานะชายชุดดำส่งผลรุนแรงต่อครอบครัวกิตติศักดิ์ที่ใช้ชีวิตอยู่ภายนอก ทั้งคำดูถูกเกลียดชังและรายได้ที่หายไป

“ภรรยาผมเล่าว่า คนแถวบ้านพูดว่า ‘ไอ้ตระกูลนี้ให้สาบสูญไปเลย’ สังคมมองครอบครัวผมว่าเป็นคนไม่ดี คนแถวร้านอาหารของภรรยาก็ไม่อยากให้เราขายของต่อ ‘ไม่ต้องเลย ไม่ต้องมาขายที่นี่เลย’ ตอนนั้นลูกผมยังเรียนอยู่ทั้งสองคน ก็ต้องเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ลูกมาขับรถตู้แทนผม ช่วยผ่อนบ้านผ่อนรถ ที่ลูกผมรอดมาได้เพราะเขาเก่งนะ

“ทางบ้านพ่อแม่ของผม ชาวบ้านก็มาพูดว่าลูกชายไม่ดี แล้วตอนพ่อผมเสีย ทนายพยายามประกันตัวให้ไปงานศพ แต่เขาก็ไม่ให้ไป ผมเพิ่งรู้ว่าพ่อเสียก็ตอนออกจากเรือนจำมาแล้ว ภรรยากับทนายกลัวผมเครียดถ้ารู้ข่าวแล้วออกไปงานศพไม่ได้”

ไม่ต่างจาก ‘ปรีชา’ ที่ถูกจับในคดีเดียวกัน ปรีชาถูกจับไปตอนลูกยังเล็ก เมื่อภรรยาของเขาต้องเลี้ยงลูกและทำงานแบกรับปัญหาการเงินเพียงลำพัง ทำให้ชีวิตคู่จบลงในที่สุด

กิตติศักดิ์กลายเป็นตัวละครสำคัญในเรื่องเล่าชายชุดดำของภาครัฐ หลังเข้าเรือนจำคดีของเขาก็งอกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คล้ายเป็นจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายที่ช่วยเพิ่มความสมจริงให้เรื่องเล่าที่ไม่สมบูรณ์ โดยที่พยานฝ่ายโจทก์คือทหารและตำรวจที่เวียนกันมาให้การ มีการยื่นฟ้องซ้ำเรื่องเดิมๆ หลายคดี จนชีวิตในเรือนจำของเขาทอดยาวออกไป

พยานสำคัญในคดีชายชุดดำคือ ทหารพลขับรถฮัมวีที่จอดอยู่ในเหตุการณ์ เขาให้การว่าเห็นรถตู้ขับสวนมาและเห็นกิตติศักดิ์อยู่ในรถตู้ อีกทั้งยังเห็นอาวุธปืนที่วางอยู่บนพื้นของรถตู้ โดยยืนยันว่าจำหน้ากิตติศักดิ์ได้แม้ตอนนั้นเป็นเวลากลางคืน มืด และเวลาผ่านมานานแล้วก็ตาม

พยานคนเดียวกันนี้เคยไปให้การในคดีการเสียชีวิตของช่างภาพต่างประเทศในเหตุการณ์เดียวกัน แต่ครั้งนั้นกลับให้การว่าจำหน้าคนในรถตู้ไม่ได้และเห็นหน้าไม่ชัดซึ่งเป็นการเบิกความไม่ตรงกัน กิตติศักดิ์เล่าว่าเคยมีการนำพยานคนนี้ไปชี้ตัวในเรือนจำ โดยให้กิตติศักดิ์ไปยืนในกลุ่มเด็กหนุ่ม มองปราดเดียวก็เห็นคนที่ไม่เข้าพวก ซึ่งแน่นอนว่าพยานชี้ตัวกิตติศักดิ์

นอกจากนี้มีการใช้วิดีโอที่บันทึกการสอบสวนในค่ายทหารระหว่างอุ้มหายและทำร้ายร่างกายกิตติศักดิ์มาเป็นหลักฐานด้วย

ส่วนคดีระเบิดในรถเก๋งมีการตรวจลายนิ้วมือและดีเอ็นเอบนหลักฐาน ปรากฏว่าไม่ตรงกับกิตติศักดิ์เลย กระทั่งการตรวจก้นบุหรี่ที่พบ ซึ่งกิตติศักดิ์แปลกใจมาก เพราะเขาไม่สูบบุหรี่และไม่เห็นความเชื่อมโยงที่จะกล่าวหาเขา

“เขาหาคนอื่นไม่ได้แล้วมั้ง อีกใจหนึ่งผมว่าเขาอยากจะปิดคดี มึงเป็นคนฆ่าร่มเกล้านะ คือเอาม้วนเดียวจบไปเลย”

กิตติศักดิ์ติดคุกอยู่ 8 ปี 2 เดือนจนได้รับการประกันตัวออกมาเมื่อปลายปี 2565 เขากลับไปขับรถตู้ที่วินเดิม ใช้ชีวิตแบบเดิม เพียงแต่ต้องเทียวขึ้นศาล คำตัดสินยกฟ้องคดีค่อยๆ ไล่เรียงออกมาทีละคดี แต่ฝ่ายภาครัฐก็พยายามหาช่องมาฟ้องคดีต่อคล้ายไม่มีจุดสิ้นสุด



5

ช่วงสายของวันที่ 27 มิถุนายน 2567 หลังขับรถตู้เที่ยวเช้าเสร็จกิตติศักดิ์ก็นั่งรถไฟฟ้าและต่อรถเมล์มาที่ศาลอาญา รัชดาฯ แม้ขึ้นศาลมาหลายครั้งแต่สีหน้าของเขาก็ปิดความตื่นเต้นไม่มิด วันนี้ที่ศาลมีคนเยอะเป็นพิเศษเพราะมีการอ่านคำพิพากษาคดีกบฏและก่อการร้ายของสุเทพ เทือกสุบรรณ และแกนนำ กปปส. จากการจัดม็อบชัตดาวน์กรุงเทพฯ และขวางเลือกตั้ง นอกจากกองทัพนักข่าวก็มีแฟนคลับ ‘กำนันสุเทพ’ ที่ตามมาให้มอบดอกไม้ให้กำลังใจ

สุเทพคนนี้เองที่เป็น ผอ.ศอฉ. ที่สั่งการปราบประชาชนปี 2553 เขาไม่เคยถูกตัดสินว่ามีความผิด ไม่เคยเข้าเรือนจำเพื่อรับผิดชอบความตายของประชาชน แม้มีหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่ภายใต้ ศอฉ. ฆ่าประชาชนจริง ต่างจากกิตติศักดิ์ คนขับรถตู้หาเช้ากินค่ำที่ถูกโยนเข้าเรือนจำตั้งแต่ยังพิสูจน์อะไรไม่ได้เพื่อให้รับผิดชอบความตายในปี 2553

กิตติศักดิ์เดินแหวกมวลชนของสุเทพและพวกขึ้นบันไดศาลไป ข้างกายเขามีเพียงปรีชา เพื่อนร่วมคดีและทนายกับนายประกัน ปราศจากดอกไม้และความสนใจ



ที่หน้าห้องพิจารณาคดี 809 มีเอกสารแปะแจ้งว่าจะมีการพิจารณาคดี ‘ก่อการร้าย’ กิตติศักดิ์เอื้อมมือไปที่ป้ายเลขห้องที่แขวนเหนือหัว ใช้นิ้ววาดไปตามตัวเลขก่อนเดินเข้าห้องไป

ล็อตเตอรีงวดนั้นไม่ออก 809 แต่เลขนี้ก็นำโชคดีมาสู่กิตติศักดิ์ ผู้พิพากษาอ่านคำสั่งให้จำหน่ายคดีเพราะเป็นการฟ้องซ้ำ แม้เขาและทนายจะคาดผลลัพธ์นี้ไว้แล้วแต่ก็อดตื่นเต้นไม่ได้ คดีนี้เป็นคดีสุดท้ายของกิตติศักดิ์หากเจ้าหน้าที่ไม่เสาะหาคดีมาฟ้องให้เพิ่ม ชีวิตในศาลของเขาเหลืออีกเพียงหนึ่งคดีที่อยู่ในชั้นอุทธรณ์ ซึ่งความหนักแน่นของพยานหลักฐานไม่ต่างจากคดีอื่น

กิตติศักดิ์ในชุดสีน้ำเงินและพระเครื่องรอบคอเดินออกมาจากอาคารศาลฉีกยิ้มกว้าง วันนี้เขาพูดได้เต็มปากว่าข้อกล่าวหาว่าเขาเป็นชายชุดดำนั้นยกฟ้องหมดทุกคดี

“โล่งเลยครับ ดีใจมาก คดีทั้งหมดนี้ใช้หลักฐานจากจุดเดียวแล้วแยกฟ้องหลายคดี ทำให้ผมติดคุก 8-9 ปี ครอบครัวก็โดนคนอื่นดูถูก …แต่ลูกผมบอกว่าให้สู้ ผมไม่ได้ทำแล้วจะรับสารภาพทำไม ผมสูญเสียอะไรไปหลายอย่าง วันนี้ผมกล้าพูดกับทุกคนเลยว่าผมเคยติดคุกมา แต่ยกฟ้องหมด ผมไม่ผิด” กิตติศักดิ์พูดอย่างหนักแน่น

เขาโทรแจ้งข่าวกับครอบครัวให้รู้ว่าความทุกข์ทนตลอดทศวรรษมาถึงปลายทางแล้ว น้ำตาที่ซึมออกมาระหว่างคุยกับครอบครัวนั้นคาดเดาอารมณ์ไม่ถูก ดีใจ เหนื่อย เจ็บใจ เจ็บปวด โกรธ อาจมีมากกว่าหนึ่งคำตอบ หรืออาจถูกต้องทุกคำตอบ

ปรีชาเองก็ดีใจไม่ต่างกัน แต่คำตัดสินวันนี้คงเป็นเพียงเรื่องน่าดีใจเล็กน้อยหากเทียบกับสิ่งที่เขาสูญเสียระหว่างทาง “ตอนตำรวจจับผม นักข่าวมากันเยอะเลย แต่พอศาลบอกว่าผมบริสุทธิ์ ผมไม่เห็นใครสักคน”

การหาความจริงเรื่องชายชุดดำอาจไม่ใช่ความต้องการของภาครัฐ เมื่อเรื่องเล่านี้ทำงานกับสังคมสำเร็จไปแล้วในวันที่ตำรวจป่าวประกาศว่าคนกลุ่มนี้คือชายชุดดำที่ฆ่าประชาชน แล้วปล่อยให้ผู้ต้องหาอย่างกิตติศักดิ์หรือปรีชาพิสูจน์ความจริงอย่างโดดเดี่ยว

ผ่านมาหนึ่งทศวรรษพวกเขาจึงพิสูจน์ได้ว่าไม่มีความผิด แต่คำตอบเรื่องชายชุดดำที่ปรากฏจริงในเหตุการณ์ก็ยังคงเป็นปริศนา

ผ่านมามากกว่าหนึ่งทศวรรษ หลายความตายของคนเสื้อแดงพิสูจน์ได้แล้วว่าฝ่ายใดกระทำ แต่คำตอบว่าจะเอาผิดคนสั่งการและคนลงมืออย่างไรนั้นยังเป็นปริศนา

หรือเป็นปริศนาที่ไขกระจ่างแล้วว่า คำตอบคือไม่มีคำตอบ


ปรีชาและกิตติศักดิ์หลังศาลสั่งจำหน่ายคดีก่อการร้าย (ภาพโดยวจนา วรรลยางกูร)

References↑
1 ข้อมูลจากรายงาน ‘ความจริงเพื่อความยุติธรรม’ โดยศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย. – พ.ค. 53 (ศปช.)