วันเสาร์, สิงหาคม 31, 2567

รำลึกถึงบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย 30 สิงหาคม #วันผู้สูญหายสากล

.....




10/06/2567
 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

วันที่ 10 มิ.ย. 2567 เวลา 13.00 – 15.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีการจัดงานแถลงข่าวและมอบรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีการบังคับสูญหายบุคคลที่พำนักอาศัยในประเทศเพื่อนบ้านให้ สมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ผู้แทนของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

เวลา 13.00 น. ที่ห้องเสวนาชั้น 6 ครอบครัวของผู้ถูกบังคับสูญหาย, ตัวแทนจากองค์กรสิทธิมนุษยชนและภาคประชาสังคม, ตัวแทนจากสถานทูต, นักวิชาการ และตัวแทนจากหน่วยงานรัฐ เดินทางมาเข้าร่วมการแถลงข่าวในวันนี้

ผู้ลี้ภัยทางการเมืองใน สปป.ลาว, กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งถูกบังคับให้สูญหายและเสียชีวิตไประหว่างปี 2560 – 2564 จำนวน 9 ราย ตามรายงานฉบับดังกล่าว ได้แก่ อิทธิพล สุขแป้น, วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ, สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์, ชัชชาญ บุปผาวัลย์ (เสียชีวิต), ไกรเดช ลือเลิศ (เสียชีวิต), ชูชีพ ชีวะสุทธิ์, กฤษณะ ทัพไทย, สยาม ธีรวุฒิ และ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

ก่อนหน้านี้เว็บไซต์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ 22/2567 จากข้อร้องเรียนขอให้ตรวจสอบการบังคับสูญหายบุคคลที่พำนักอาศัยในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อขอลี้ภัยทางการเมืองทั้ง 9 ราย ซึ่งคณะกรรมการสิทธิฯ ได้มีความเห็นว่ากรณีนี้น่าเชื่อว่าเป็นการบังคับบุคคลให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศคุ้มครองบุคคลจากการถูกบังคับสูญหาย และยังเห็นว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการอย่างเพียงพอในการติดตามตัวผู้กระทำผิด ดำเนินการให้ทราบชะตากรรมของผู้ถูกบังคับสูญหาย และเยียวยาครอบครัว ถือเป็นการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

รายงานฉบับดังกล่าวลงวันที่ 20 ก.พ. 2567 ผู้ร้องได้ยื่นหนังสือร้องเรียนนายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ผ่านกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงวันที่ 23 ส.ค. 2564 ในประเด็นที่ผู้ลี้ภัยทางการเมืองในประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนาม ถูกบังคับสูญหาย 9 ราย ซึ่งต่อมาพบเป็นศพ 3 ราย (และศพได้หายไป 1 ราย) อยู่ในสภาพถูกทำร้ายอย่างทารุณ แต่ไม่มีความคืบหน้าในการสืบสวนและติดตามหาตัวผู้กระทำผิด

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ได้ตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาการดำเนินงานของรัฐต่อการแก้ไขปัญหาการบังคับให้สูญหาย และเสียชีวิตของคนไทยที่พำนักในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อขอลี้ภัยทางการเมือง เป็นผู้ตรวจสอบด้วยการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์สถานการณ์เกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
.

รายงานวิเคราะห์ข้อเท็จจริงผู้สูญหาย – ผลกระทบต่อญาติ – การดำเนินการของหน่วยงานรัฐ

รายงานการตรวจสอบได้ไล่เรียงข้อเท็จจริงต่าง ๆ โดยสรุป ไล่ตั้งแต่บริบททางการเมืองหลังรัฐประหาร 2557 ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีการออกคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว และผู้ที่ฝ่าฝืนจะถือเป็นความผิด โดยมีรายชื่อของบุคคลทั้ง 9 อยู่ในคำสั่งฉบับต่าง ๆ จากนั้นได้ไล่เรียงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบุคคลที่สูญหาย ทั้งในเชิงประวัติการทำกิจกรรมและเคลื่อนไหวทางการเมือง และเหตุการณ์ที่พบว่าสูญหายไป หรือพบเป็นศพ รวมทั้งการร้องเรียนของญาติต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลังเกิดเหตุ โดยรายงานที่เผยแพร่ได้เซนเซอร์ที่เป็นชื่อบุคคลต่าง ๆ ไว้

ในส่วนถัดมา รายงานยังได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบต่อญาติหรือครอบครัวของผู้สูญหายหรือเสียชีวิตดังกล่าว ทั้งด้านความมั่นคงในชีวิต ด้านจิตใจ และด้านเศรษฐกิจ โดยระบุว่าญาติผู้สูญหายบางรายก็ถึงกับถอดใจ ไม่ดำเนินการติดตามคดีต่อ เนื่องจากขาดความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม และการคุ้มครองความปลอดภัยของพลเมืองไทย ทั้งยังปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐเดินทางมาพบญาติหรือครอบครัวอยู่เป็นระยะ สร้างความกดดันและหวาดระแวงต่อญาติและครอบครัวมาโดยตลอด

นอกจากนั้นยังมีผลกระทบด้านจิตใจ ทำให้ญาติบางกรณีถึงกับล้มป่วย บางคนก็ยังมีความคาดหวังว่าผู้สูญหายอาจยังมีชีวิต และจะปรากฏตัวเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ส่วนผลกระทบด้านเศรษฐกิจ พบว่าการชดเชยเยียวยาความเสียหาย ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ยังไม่ครอบคลุมเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ทำให้ญาติและครอบครัวไม่ได้รับการชดเชยเยียวยา

ในส่วนถัดมา รายงานระบุถึงการดำเนินการในส่วนของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยปัญหาสำคัญที่หน่วยงานรัฐระบุกับ กสม. คือเหตุการณ์การบังคับสูญหายและเสียชีวิตเกิดขึ้นในต่างประเทศ ทำให้การสืบสวนภายใต้กฎหมายไทยไม่สามารถทำได้เต็มที่ กระทรวงการต่างประเทศจึงเป็นผู้ประสานงานระหว่างหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมของไทยกับหน่วยงานต่างประเทศ รวมทั้งข้อมูลข้อเท็จจริงก็ไม่เพียงพอที่จะระบุผู้กระทำผิด แม้แต่กรณีลักพาตัวในกัมพูชา แม้จะมีภาพถ่ายผู้ต้องสงสัยและมีพยานบุคคลเห็นเหตุการณ์ แต่ทั้งหน่วยงานของไทยและกัมพูชาก็ยังไม่สามารถระบุตัวผู้ก่อเหตุได้อย่างเฉพาะเจาะจง
.

กสม. สรุปความเห็นน่าเชื่อว่าเป็นการบังคับสูญหายโดยรัฐ รูปแบบที่เกิดขึ้นยากที่เอกชนจะทำได้

ในส่วนถัดมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้สรุปความเห็นและข้อพิจารณาจากข้อเท็จจริงดังกล่าว โดยในเรื่องประเด็นว่าการหายตัวไปของบุคคลทั้งเก้า เป็นกรณีถูกบังคับให้สูญหายหรือไม่นั้น

กสม. พิจารณาเห็นว่า แม้กรณีทั้งหมดจะยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานชัดแจ้งว่าผู้ลงมือก่อเหตุเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ แต่เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของบุคคลทั้งเก้า ทั้งก่อนและหลังเดินทางออกจากประเทศไทย ขณะที่พำนักในประเทศเพื่อนบ้านก็ยังมีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในเชิงลบต่อรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร หรือสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐเห็นว่าส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ

รวมถึงเมื่อพิจารณารูปแบบในการจับกุมหรือลักพาตัวบุคคลทั้ง 9 ราย พบว่ามีรูปแบบเดียวกัน มีการดำเนินการอย่างรัดกุม และไม่ปรากฏพยานหลักฐาน ลักษณะการดำเนินการเช่นนี้ยากที่เอกชนจะกระทำได้ เว้นแต่จะเป็นองค์กรเครือข่ายอาชญากรรม ซึ่งจากข้อมูลไม่ปรากฏว่าผู้สูญหายมีข้อพิพาทหรือข้อขัดแย้งกับองค์กรเช่นว่านั้น ประกอบกับที่ผ่านมา หน่วยงานของรัฐในประเทศไทยพยายามติดตามตัวบุคคลดังกล่าวมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากเมื่อปี 2558 มีการสั่งการผ่านคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ที่สำนักนายกรัฐมตรีแต่งตั้งขึ้น ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเร่งรัดในการนำตัวมาดำเนินคดีให้ได้ จึงน่าเชื่อได้ว่าการสูญหายหรือเสียชีวิตของบุคคลตามคำร้อง เชื่อมโยงกับการแสดงความคิดเห็นและการถูกออกหมายจับในเรื่องข้างต้น และอาจเป็นชนวนให้เกิดการบังคับสูญหายและเสียชีวิตต่อบุคคลทั้ง 9 รายได้

หลังปรากฏข้อมูลว่าทั้ง 9 สูญหายหรือเสียชีวิต รัฐบาลของประเทศที่บุคคลดังกล่าวเข้าไปพำนึก รวมถึงรัฐบาลไทย ต่างปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสูญหายและเสียชีวิตดังกล่าว และมิได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนอย่างรวดเร็วและเพียงพอ เพื่อให้ทราบชะตากรรมของบุคคลที่สูญหาย หรือนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมาย

กสม. ยังอ้างอิงถึงหนังสือของคณะผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ รวม 7 หน่วยงาน ที่มีถึงรัฐบาลไทย เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2563 ให้ความเห็นในประเด็นการบังคับสูญหายนักกิจกรรมทางการเมืองและผู้เห็นต่างจากรัฐบาล ที่ลี้ภัยในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งรวมถึงนักกิจกรรมชาวไทย 6 คน ซึ่งคณะผู้เชี่ยวชาญฯ เห็นว่าเป็นรูปแบบการบังคับให้สูญหายในลักษณะที่มีการใช้กำลังบังคับโดยมีวัตถุประสงค์ต่อเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย ไม่ได้ประสงค์ต่อทรัพย์สิน ผู้กระทำมีความเชี่ยวชาญซึ่งถูกฝึกฝนมาโดยเฉพาะ มีการวางแผนทำงานแบบแบ่งหน้าที่กันทำเป็นขบวนการและไม่ทิ้งร่องรอยเพื่อให้สืบสวนถึงตัวการ โดยผู้สูญหายมีจุดเกาะเกี่ยวที่เชื่อมโยงกัน คือเป็นกลุ่มที่มีความเห็นต่างกับฝ่ายรัฐบาล ทำให้เชื่อได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐของประเทศไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของบุคคลเหล่านั้น รูปแบบการบังคับสูญหายยังแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลในประเทศแถบภูมิภาคนี้ โดยมีการประสานงาน การช่วยเหลือกันระหว่างรัฐ หรือการยอมให้มีการลักพาตัวเหนือพรมแดนของตน

จากข้อมูลทั้งหมด กสม. จึงสรุปความเห็นว่าการหายตัวไปของบุคคลทั้ง 9 ราย และต่อมาพบศพ 2 รายนั้น น่าเชื่อได้ว่ามีแนวโน้มเป็นการบังคับบุคคลให้สูญหายตามความหมายที่ระบุไว้ในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ และผลของการบังคับให้สูญหายนี้ กระทบต่อสาระสำคัญของสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคลทั้ง 9 ราย ตามที่รัฐธรรมนูญไทย และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองได้รับรองและคุ้มครองไว้ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
.

กสม. เห็นว่าหน่วยงานรัฐละเลยการติดตามหาตัวผู้กระทำผิด – การชดเชยเยียวยาญาติ

ในสองประเด็นถัดมา กสม. พิจารณาในเรื่องว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมีการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีการสืบสวนสอบสวนและติดตามหาตัวผู้กระทำความผิด รวมทั้งดำเนินการเพื่อให้ทราบชะตากรรมของบุคคลที่ถูกบังคับสูญหาย และการชดเชยเยียวยาต่อญาติของผู้ถูกบังคับสูญหาย หรือไม่

กสม. พบว่ากรณีผู้ถูกบังคับสูญหายทั้ง 9 ราย มีเพียง 5 รายที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สืบสวนสอบสวน เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสูญหายและเสียชีวิต แต่ไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากเหตุผลสำคัญ 3 ประการ ได้แก้ ข้อมูลข้อเท็จจริงไม่มากเพียงพอที่จะชี้ว่าใครเป็นผู้ลงมือ, การกระทำผิดเกิดขึ้นในต่างประเทศ, ผู้สูญหายเป็นผู้ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน ทำให้รัฐบาลประเทศที่ไปพำนักปฏิเสธไม่รับรู้การเดินทางเข้าออกประเทศของบุคคลเหล่านี้ ทั้งขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยเฉพาะ

แต่ทาง กสม. เห็นว่าแม้สถานที่เกิดเหตุจะอยู่นอกราชอาณาจักร แต่หน่วยงานรัฐย่อมสามารถใช้กลไกประสานความร่วมมือกับประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริง และความคืบหน้าในการสืบสวนจนทราบชะตากรรมของบุคคลที่สูญหายได้ แต่ไม่ปรากฏว่ามีการประสานความร่วมมือดังกล่าว ความล่าช้า และการไร้คำตอบหรือความคืบหน้าของการดำเนินการที่ชัดเจนจากหน่วยงานของรัฐ ทำให้เห็นว่ากฎหมายหรือมาตรการของรัฐในการสืบสวนสอบสวน รวมถึงสนธิสัญญาหรือความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับกรณีเหตุบังคับสูญหายในประเทศเพื่อนบ้าน ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ทำให้ญาติและครอบครัวรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทบต่อสิทธิในการรู้ความจริง (right to know the truth) ที่เกิดขึ้นกับบุคคลที่ถูกบังคับใช้สูญหาย

ในส่วนการชดเชยเยียวยาญาติผู้ถูกบังคับสูญหาย กสม. พบว่ามีเพียงกรณีของผู้ลี้ภัยที่ถูกพบศพที่จังหวัดนครพนมเท่านั้น ที่ได้รับการเยียวยาด้านการเงิน ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ พ.ศ. 2544 โดยมีญาติของผู้ถูกบังคับสูญหายรายอื่นได้ยื่นคำร้องเพื่อขอรับการเยียวยาเช่นกัน แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 คณะอนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ มีมติยกคำขอเนื่องจากไม่ปรากฏชัดว่าบุคคลดังกล่าวเสียชีวิต หรืออาจจะมีอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจหรือไม่ ส่วนการชดเชยเยียวยาด้านอื่นตามมาตรฐานระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ก็ไม่ปรากฏว่าหน่วยงานรัฐได้ดำเนินการเช่นว่านั้นด้วย

กสม. ยังระบุว่าแม้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 จะกำหนดให้ช่วยเหลือและเยียวยาผู้เสียหาย ทั้งด้านการเงินและจิตใจ รวมทั้งฟื้นฟูระยะยาวทางการแพทย์ให้แก่ผู้เสียหาย แต่ปรากฏว่าคณะกรรมการตามกฎหมายฉบับนี้ ยังไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการช่วยเหลือและเยียวยาผู้เสียหาย ทำให้ญาติของผู้เสียหายตามคำร้องนี้ ยังไม่ได้รับการชดเชยเยียวยาดังกล่าว

กสม. จึงสรุปความเห็นว่า หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในประเด็นการสืบสวนสอบสวนและติดตามหาตัวผู้กระทำความผิด ดำเนินการเพื่อให้ทราบชะตากรรมของบุคคลที่ถูกบังคับสูญหาย รวมทั้งมีการละเลยการกระทำหรือมีการดำเนินการที่ล่าช้าเกินสมควร ส่งผลกระทบต่อสิทธิของญาตผู้ถูกบังคับสูญหายที่จะได้รับการชดเชยเยียวยาจากรัฐ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

รวมทั้ง กสม. เห็นควรให้เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งในส่วนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย และคณะรัฐมนตรี
.

ดูรายละเอียดข้อเสนอแนะทั้งหมดของ กสม. ได้ในรายงานฉบับเต็ม
ดูถ่ายทอดสดการแถลงข่าวย้อนหลังได้ในเฟซบุ๊ก The Reporters