วันอาทิตย์, สิงหาคม 25, 2567

รากเหง้า-ที่มาที่ไปของวาทกรรม "ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง"



.....เมื่อย้อนไปทบทวนรากเหง้า-ที่มาที่ไปของวาทกรรมชุดนี้ จะพบว่า "ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง" คือเนื้อความตอนหนึ่งของพระบรมราโชวาทในหลวง ร.9 ที่พระราชทานไว้ในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ จ.ชลบุรี เมื่อ 11 ธ.ค. 2512

รศ.ดร.ประจักษ์ เชื่อว่า คนที่อ้างถึงการเมืองคนดีอาจมีทั้งที่อ้างไปถึงพระราชดำรัส และอาจไม่รู้และไม่ได้โยงกลับไปที่ตัวพระราชดำรัส

ถ้ากลับไปดูบริบทเราจะยิ่งเห็นชัด พระราชดำรัสนี้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล ถนอม กิตติขจร โดยที่ ถนอม เรียกตัวเองตลอดว่าเป็น “นายกฯ คนดี” เวลาให้คำขวัญวันเด็กจะบอกว่า “จงทำดี จงทำดี จงทำดี” แล้วพยายามสร้างภาพให้เห็นว่าตัวเองเป็นนายกฯ ใจซื่อ มือสะอาด มีคุณธรรม ศีลธรรม ดังนั้นเผด็จการก็มีคุณธรรมได้ เป็น “เผด็จการผู้ทรงธรรม”

“วาทกรรมคนดีปกครองบ้านเมืองมาพร้อมกับบริบทของการเมืองแบบเผด็จการทหาร ดังนั้นศีลธรรมการเมืองแบบไทยไม่ได้สนใจว่าคุณเป็นเผด็จการหรือเปล่า เผด็จการก็เป็นคนดีได้ในความหมายศีลธรรมแบบไทย ๆ”

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์มองว่า วาทกรรมคนดีจะขาดความศักดิ์สิทธิ์ลงไปเรื่อย ๆ เพราะขบวนการหรือกลุ่มที่เอามาใช้เอามาอ้างล้วนเต็มไปด้วยข้อกังขาทั้งสิ้น

“ศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ก็มีที่มายึดโยงกับคณะรัฐประหาร จึงไม่มีทางมองเป็นอื่นนอกจากศีลธรรมเป็นเรื่องของอำนาจ” เขากล่าวทิ้งท้าย

ในคืนสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง 2562 ทรท. เผยแพร่ประกาศสำนักพระราชวัง เมื่อเวลา 22.44 น. วันที่ 23 มี.ค. 2562 ว่า ร.10 โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมราโชวาทของ ร.9 มาเผยแพร่ เพื่อ “เตือนสติ ให้น้อมนำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่”

ปัญหา “จริยธรรม” ที่ตีความโดยรัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้ เศรษฐา พ้นจากเก้าอี้นายกฯ เพราะ “ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” มีเนื้อหาหลายส่วนที่พยายามตีกรอบจริยธรรม-กำหนดบรรทัดฐานใหม่ขึ้นในสังคมการเมือง ทว่าคำอธิบายระหว่างบรรทัดกลับชวนให้เกิดความฉงนสงสัย

บีบีซีไทยขอให้ รศ.ดร.ประจักษ์ ช่วยตีความ และแปลงศัพท์กฎหมาย-การปกครองให้เป็นภาษาที่วิญญูชนพอจะเข้าใจได้ โดยอ้างถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญใน 3 ประเด็นนี้

หนึ่ง ให้คำจำกัดความคำว่า ซื่อสัตย์ และ สุจริต “มิใช่เป็นเพียงเรื่องของการกระทำทุจริตหรือประพฤติโดยมิชอบเท่านั้น แต่ต้องให้เกิดความเชื่อมั่น ศรัทธา เชื่อถือได้ ซึ่งต้องเป็นการทำให้วิญญูชนทั่วไปทราบและยอมรับว่าเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริต หากเห็นว่าไม่เป็นเช่นนั้นย่อมถือได้ว่าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์”

เห็นว่า เป็นการตีความแบบครอบจักรวาล และใช้คำนามธรรมมาก “เชื่อมั่น ศรัทธา เชื่อถือได้” ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องจริยธรรมโดยตรง แต่เกี่ยวกับภาวะผู้นำ

“สมมติไม่ได้ทำผิดอะไรเลย แต่เป็นนายกฯ ที่มีบุคลิกที่คนไม่เชื่อมั่น ก็กลายเป็นผิดจริยธรรมแล้วหรือ ไม่ต้องพูดถึงนายกฯ หรอก มีหัวหน้าองค์กรมากมายที่ลูกน้องไม่เชื่อมั่น ศรัทธา เชื่อถือ แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่มีจริยธรรม มันคนละเรื่องกัน เขาอาจทำงานไม่ได้เรื่อง ไม่มีภาวะผู้นำ มันเป็นเรื่องความสามารถในการบริหารและความสามารถในการครองใจคน”


ประจักษ์ ก้องกีรติ บอกว่า หากยังฝืนใช้การเมืองศีลธรรมตัดสินคดีต่อไป การเมืองไทยจะไปถึงทางตัน เพราะในโลกสมัยใหม่ การเมืองควรต่อสู้ด้วยนโยบาย ใครบริหารผิดพลาดก็ถูกตัดสินลงโทษทางการเมืองอยู่แล้ว

สอง เอ่ยถึง มาตรฐานวิญญูชน โดยระบุว่า “การที่นายกฯ เสนอแต่งตั้งใครเป็นรัฐมนตรี ไม่ได้อาศัยความไม่ไว้วางใจส่วนตน เพราะ ครม. ต้องได้รับความไว้วางใจจากสภา ซึ่ง ครม. หมายถึงนายกฯ และรัฐมนตรี ต้องได้รับความไว้วางใจจากประชาชนด้วย อันเป็นการเชื่อถือทางความเป็นจริง... รัฐมนตรีต้องน่าเชื่อถือและไว้วางใจจากประชาชนตามมาตรฐานวิญญูชน”

เห็นว่า ถ้าเอาตามมาตรฐานวิญญูชนคือคนทั่ว ๆ ไปที่คิดได้รู้ได้ ถ้ามันชัดเจนขนาดนั้นจริง ทุกคนต้องเห็นประจักษ์ชัดแจ้งเหมือนกันหมด

“มันต้องเป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นไปในทางเดียวกัน หรือเป็นเสียงส่วนใหญ่ของสังคม คน 70 ล้านคน อย่างน้อยผู้ใหญ่ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว อ่านออก เขียนได้ ติดตามข้อมูลข่าวสาร ต้องเห็นตรงกันหมดนะ อันนี้ก็ต้องตั้งคำถามกลับไปว่าคำวินิจฉัยที่อ้างวิญญูชน แต่คนกลับไม่เห็นด้วยกับศาล ทั้งชาวบ้านร้านตลาดทั่วไป นักวิชาการ คนในแวดวงการเมือง เพราะมันอาจไม่ได้ประจักษ์ชัดแจ้งอย่างที่ศาลกล่าวอ้างหรือไม่”

สาม ห้าม “สมคบสมาคมกับผู้มีความประพฤติหรือมีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย” อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯ ขัดมาตรฐานทางจริยธรรมฯ

เห็นว่า ถ้ามีความผิดแล้วเพียงเพราะไปเกี่ยวข้องกับใคร เป็นการตีความไปไกลมาก มันไม่ใช่ความผิดที่คุณก่อเอง แค่มีคนที่คุณไปสัมพันธ์รู้จักเขาผิด คุณก็ผิดไปด้วย ทั้งที่ในหลักกฎหมายไม่ถือเป็นความผิด ตรงนี้ยิ่งชี้ให้เห็นปัญหาในการเอาจริยธรรมมาอยู่ในพรมแดนทางการเมือง และให้อำนาจคณะบุคคลมาตัดสินชี้เป็นชี้ตายด้วยเรื่องจริยธรรมทั้งที่ถกเถียงและตีความต่างกันได้

ที่มา บีบีซีไทย
ส่วนหนึ่งของบทความ