วันศุกร์, สิงหาคม 30, 2567

“คู่แค้นแสนรัก” ความขัดแย้งจาก รุ่นพ่อ สู่ รุ่นอา ถูกทำให้จบลงในรุ่นลูก



“คู่แค้นแสนรัก” ย้อน 2 ทศวรรษการต่อสู้ พรรคทักษิณ-ประชาธิปัตย์ ก่อนร่วมรัฐบาล “แพทองธาร 1”

หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
28 สิงหาคม 2024

การจัดตั้งรัฐบาล “แพทองธาร” คล้ายส่งผลให้เกิดการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพรรคคู่แข่งทางการเมืองให้อ่อนแอลง ในจำนวนนี้คือพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่รบพุ่งกับ “ระบอบทักษิณ” มายาวนานกว่า 2 ทศวรรษ ทว่าวันนี้ได้รับเทียบเชิญจากพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลที่มีบุตรสาวของ ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

จุดเปลี่ยนในความสัมพันธ์ระหว่าง เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ เกิดขึ้นหลังจาก เศรษฐา ทวีสิน ตกเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 14 ส.ค.

จากนั้น “ผู้มีบารมีสูงสุด” ของพรรค พท. ได้เดินเกมเร็ว-ชิงล็อกเสียงพรรคร่วมรัฐบาลเดิมเอาไว้ได้ นำไปสู่การปิดดีลจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ภายในเย็นวันเดียวกัน-ภายในบ้านจันทร์ส่องหล้าของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และบิดาของ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรค พท.

แม้วันนั้นแกนนำพรรคสีฟ้าไม่ได้รับเชิญให้ร่วมวงหารือ เนื่องจากไม่ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล “เศรษฐา” แต่ 2 สัปดาห์ผ่านไป เทียบเชิญให้เข้าร่วมรัฐบาลก็ส่งตรงถึง เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรค ปชป.

“พรรคเพื่อไทยเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์มีบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ และมีอุดมการณ์ที่จะทำงานร่วมกันได้ จึงขอเรียนเชิญพรรคประชาธิปัตย์ได้เข้าร่วมรัฐบาล...” หนังสือขอเชิญร่วมรัฐบาล ลงวันที่ 27 ส.ค. ระบุตอนหนึ่ง และย้ำให้ส่งรายชื่อบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีผ่านทางเลขาธิการพรรค พท. โดยด่วน



พรรค ปชป. นัดประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) 38 คน ร่วมกับ สส. 25 คน ในวันที่ 29 ส.ค. เพื่อขอมติเข้าร่วมรัฐบาล “แพทองธาร 1” ซึ่งในการผ่านความเห็นชอบต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งขององค์ประชุม หรือ 27 จาก 53 เสียงขึ้นไป

ภาพที่สังคมภายนอกมองเห็นพรรคการเมืองเก่าแก่ ณ วันนี้ คือ “พรรคแตก” ออกเป็น 2 ขั้วความคิด ระหว่างกลุ่ม “ขั้วอำนาจใหม่” นำโดย เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรค กับ เดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรค ที่ต้องการนำ 21 สส. เข้าร่วมรัฐบาล ขณะที่กลุ่ม “ขั้วอำนาจเดิม” ประกอบด้วย 3 อดีตหัวหน้าพรรคซึ่งเป็น สส.บัญชีรายชื่อ - ชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ - และ สรรเพชร บุญญามณี สส.สงขลา ต้องการรักษาสถานะฝ่ายค้านเอาไว้

20 ปีแห่งการต่อสู้ระหว่าง พรรคสีฟ้า VS พรรคสีแดง

ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา พรรคสีฟ้า กับ พรรคสีแดง แข่งขัน-ขับเคี่ยวกันมายาวนานตั้งแต่สมัยเป็นพรรคไทยรักไทย (ทรท.) พรรคพลังประชาชน (พปช.) และมาถึงพรรค พท. ต่อสู้กันมาทุกสนาม ทั้งในสนามเลือกตั้ง-รัฐสภา-บนท้องถนน

ในสนามเลือกตั้ง

ในสนามเลือกตั้งทั้ง 6 ครั้ง พลพรรคแม่พระธรณีบีบมวยผมไม่เคยเอาชนะ “พรรคทักษิณ” ได้แม้สักครั้งเดียว
  • 2544 พรรค ทรท. ภายใต้การนำของ ทักษิณ ชินวัตร ลงสนามเลือกตั้งครั้งแรก ก่อนชนะเลือกตั้งด้วยยอด สส. 248 เสียง ขณะที่พรรค ปชป. ภายใต้การนำของ ชวน หลีกภัย ตกที่นั่งพรรคอันดับ 2 ด้วยยอด สส. 128 ที่นั่ง
  • 2548 พรรค ทรท. ภายใต้การนำของ ทักษิณ ชนะเลือกตั้งถล่มทลาย 377 เสียง และจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ส่วนพรรค ปชป. ภายใต้การนำของ บัญญัติ บรรทัดฐาน กลายเป็น “พรรคต่ำร้อย” เหลือ สส. 96 คน
  • 2550 พรรค พปช. ภายใต้การนำของ สมัคร สุนทรเวช ชนะเลือกตั้งด้วยยอด สส. 233 เสียง ส่วนพรรค ปชป. ภายใต้การนำของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นพรรคอันดับ 2 แต่มี สส. เพิ่มขึ้นเป็น 164 คน
  • 2554 พรรค พท. ที่ชู ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ หญิง ชนะเลือกตั้งด้วยยอด สส. 265 เสียง ส่วนพรรค ปชป. ภายใต้การนำของ อภิสิทธิ์ ยังเป็นพรรคอันดับ 2 ด้วยยอด สส. 159 เสียง
  • 2562 พรรค พท. ชนะเลือกตั้งด้วยยอด สส. 136 เสียง พรรค ปชป. ตกที่นั่ง “พรรคครึ่งร้อย” เหลือ สส. เพียง 52 เสียง ทำให้ อภิสิทธิ์ ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้นำพรรคทันทีที่ทราบผลการเลือกตั้ง ทว่าสถานะไกลห่างจากพรรคคู่แข่ง-คู่แค้นทุกที เมื่อกลายเป็นพรรคอันดับ 4 ของสภา
  • 2566 พรรค พท. แพ้การเลือกตั้งเป็นครั้งแรกให้กับพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ด้วยยอด สส. 141 ต่อ 151 เสียง ขณะที่พรรค ปชป. ภายใต้การนำของ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ตกต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์พรรค เหลือ สส. เพียง “เสี้ยวร้อย” หรือ 25 เสียงเท่านั้น หล่นลงไปเป็นพรรคอันดับ 6 ของสภา



ในรัฐสภา

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทักษิณกับพวก มีความสามารถในการปรับตัวตามกติกาใหม่ ไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2540 2550 หรือ 2560 พวกเขามองเห็นช่องทางชิงความได้เปรียบทางการเมืองเสมอ

ทักษิณ ก้าวขึ้นเป็นนายกฯ คนที่ 23 ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งออกแบบมาด้วยเจตนารมณ์ในการสร้างพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง พยายามให้การเมืองมี “2 ขั้ว” ทว่าหัวหน้าพรรค ทรท. ทำได้ยิ่งกว่านั้น ด้วยการเปิดฉาก “ดูด” นักการเมืองต่างสังกัดเข้ามาร่วมชายคาไทยรักไทย ซึ่งมีทั้งดูดรายบุคคล มาเป็นกลุ่ม และเหมายกพรรค ไม่เว้นกระทั่ง สส. ประชาธิปัตย์ ที่นายกฯ ชาวเหนืออย่าง ทักษิณ คาดหวังให้เป็น “แม่ทัพ” ช่วยปักธงในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งพรรค ทรท. ไม่มีผู้แทนราษฎรแม้แต่คนเดียว

ถาวร เสนเนียม สส.สงขลา พรรค ปชป. (ในขณะนั้น) เรียกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 2544-2548 ว่า "ซื้อยกเข่ง เซ้งยกพรรค"

ก่อนรัฐบาล “ทักษิณ 1” ครบวาระ ปรากฏว่า พรรค ทรท. รวมรวม สส. ไว้ในสังกัดราว 350 คน ก่อนกลับเข้าสภาด้วยยอด สส. 377 เสียง

นักวิชาการและผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองเห็นตรงกันว่า "ปฏิบัติการดูด สส.” เป็นไปเพื่อเสริมความแข็งแกร่งในสภา และจงใจหลบเลี่ยงกลไกตรวจสอบถ่วงดุลของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งมีแกนนำพรรคฝ่ายค้านอย่างประชาธิปัตย์เป็นหัวหอกหลัก เพื่อให้ผู้นำรัฐบาลรอดพ้นจากการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจซึ่งต้องอาศัยเสียง 2 ใน 5 ของสภา หรือ 200 เสียงขึ้นไป กลายเป็นที่มาของวาทกรรม "เผด็จการรัฐสภา"


ทักษิณ ชินวัตร ได้รับเสียงโหวตอย่างท่วมท้นกลางสภาให้กลับมาเป็นนายกฯ สมัยที่ 2 เมื่อ มี.ค. 2548 หลังนำพรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายถึง 377 เสียง

บนท้องถนน

เมื่อข้ามไปดูการต่อสู้บนท้องถนน ทั้ง 2 พรรคการเมืองต่างมีมวลชนสนับสนุน และเคยออกมาชุมนุมใหญ่เพื่อโค่นล้ม “คู่แข่ง-คู่แค้นทางการเมือง”

ชาวประชาธิปัตย์มีส่วนสำคัญยิ่งที่ทำให้รัฐบาล “ทักษิณและเครือข่าย” ต้องร่วงหล่นจากอำนาจ 2 ครั้ง

ท่ามกลางการชุมนุมขับไล่รัฐบาล “ทักษิณ 2” ของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ในปี 2548-2549 และการชุมนุมของ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น (กปปส.) ซึ่งมี 9 สส. ปชป. นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรค ปชป. เป็นแกนนำหลักใน “ปฏิบัติการเป่านกหวีด” ขับไล่รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” ในปี 2556-2557 นายกฯ ชินวัตร ทั้งผู้พี่-ผู้น้อง เลือกใช้วิธียุบสภาด้วยความหวังว่าจะนำตัวเองออกจากวิกฤตการเมือง

ทว่าการณ์หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เมื่อพรรคอันดับ 2 ของสภาอย่างประชาธิปัตย์ประกาศ “คว่ำบาตรการเลือกตั้ง” งดผู้สมัคร สส. ในการเลือกตั้งปี 2549 และ 2557 สุดท้ายความขัดแย้งบนท้องถนนจึงไม่ได้จบลงที่คูหาเลือกตั้ง แต่จบลงด้วยรัฐประหารทั้ง 2 ครั้ง

ส่วนในช่วงรัฐบาล “อภิสิทธิ์” มีการชุมนุมของกลุ่มเรียกตัวเองว่า แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งจบลงด้วยโศกนาฏกรรมใจกลางกรุงเทพฯ จากการสลายการชุมนุมเมื่อ เม.ย.-พ.ค. 2553 ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 98 ศพ

ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่เมื่อ 10 เม.ย. 2553

เมื่อ เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ จะจับมือกันเป็นรัฐบาลในวันนี้ จึงน่าสนใจว่าคนเสื้อแดงรู้สึกอย่างไร

ก่อแก้ว พิกุลทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. และอดีตแกนนำ นปช. กล่าวยอมรับว่า คนเสื้อแดงจำนวนมากยังติดใจกับคำว่าพรรค ปชป. ซึ่งผู้บริหารในยุคปัจจุบัน คือ เฉลิมชัยและคณะ ไม่ได้เป็นกลุ่มคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในช่วงปี 2553 เป็นคนละทีมกับที่ออกคำสั่งใช้กำลังสลายการชุมนุมด้วยความโหดเหี้ยม ต่า ปชป. ผลัดใบแล้ว

อดีตแกนนำ นปช. บอกด้วยว่า เท่าที่ได้สัมผัสหัวหน้าและเลขาธิการพรรค ปชป. มีมุมมองต่อการเมืองที่ดี เป็นการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในเชิงบวก ไม่ฝักใฝ่ทหาร ไม่ฝักใฝ่อำนาจนอกระบบ “ส่วนตัวผมไม่ติดใจเลย แต่ถ้าเป็นบุคคลที่เคยเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปี 2553 และเข้ามาเป็นรัฐมนตรี อย่างนี้คงไม่เห็นด้วย”

เขาคาดหวังว่า การเข้ามาร่วมรัฐบาลของพรรค ปชป. จะทำให้บรรยากาศการเมืองดีขึ้น ช่วยลดความขัดแย้ง ลดความอคติในใจของคนเสื้อแดงด้วย

1 ปีที่รอคอยของ ปชป.

เฉลิมชัย ศรีอ่อน ขึ้นทำหน้าที่หัวหน้าพรรค ปชป. คนที่ 9 มาได้ 9 เดือนแล้ว ท่ามกลางกระแสเรียกร้องจากคนในให้เร่ง “ปฏิรูป-กอบกู้-ฟื้นฟูพรรค” เพื่อดิ้นหนีภาวะ “ดำดิ่ง” จากการแพ้เลือกตั้งติดต่อกัน 8 ครั้ง ในรอบ 31 ปี, เหลือผู้แทนฯ เพียง 25 คน, ถูกพรรคอื่นกินส่วนแบ่งในภาคใต้ จนเหลือ สส. ใต้เพียง 17 คน จากทั้งหมด 60 คน, มีคะแนนมหาชน (ป็อบปูลาร์โหวต) ต่ำล้าน ทว่าสังคมยังไม่เห็นรูปธรรมที่ชัดเจนว่าพรรค 78 ปีจะฟื้นศรัทธาอย่างไร

แม้มีคำชม “นักการเมืองฝีปากกล้า” จากประชาธิปัตย์ในระหว่างเปิดอภิปรายรัฐบาล “เศรษฐา” ทั้งเรื่องนโยบาย งบประมาณ อยู่บ้าง แต่นั่นหาใช่สิ่งที่ผู้มีอำนาจในพรรค ปชป. รอคอยตลอดปีที่ผ่านมา

ย้อนไปในช่วงจัดตั้งรัฐบาล “เศรษฐา” เดชอิศม์ ขาวทอง เดินทางไปเกาะฮ่องกง ท่ามกลางกระแสข่าวว่าได้พบปะ-พูดคุยกับ ทักษิณ ชินวัตร ผู้มีอิทธิพลเหนือพรรค พท. สร้างความไม่พอใจให้แก่บรรดา “ปูชนียบุคคล” ในประชาธิปัตย์

ในระหว่างการประชุม สส. ปชป. เมื่อ 3 ส.ค. 2566 ชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค ปชป. ยิงคำถามเรื่องนี้ใส่ เดชอิศม์ ตรง ๆ และได้รับคำชี้แจงว่า “ไปแก้บน และคุณทักษิณเชิญให้เข้าไปพบ”

ด้าน บัญญัติ บรรทัดฐาน รองประธานสภาที่ปรึกษาพรรค ปชป. ตั้งคำถามผ่านสื่อว่า “พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ต่อต้านระบอบทักษิณ ก็มีการพูดคุยกันว่าแนวคิดนี้ยังคงมีอยู่ในตอนนี้หรือไม่”

ร่องรอยความแตกแยกภายในพรรค ปชป. ปรากฏชัดเจนเป็นรูปธรรมผ่านคะแนนโหวตเลือกนายกฯ คนที่ 30 เมื่อ 22 ส.ค. 2566 เมื่อ เดชอิศม์ นำทีม 16 สส. ปชป. ร่วมลงมติ “เห็นชอบ” ให้ เศรษฐา เป็นนายกฯ ทั้งที่มติพรรคคือ “งดออกเสียง”

แม้ชาว ปชป. จะ “ทอดไมตรี” ให้ แต่แกนนำพรรค พท. ก็ยังไม่ดึงเข้าร่วมรัฐบาล “เศรษฐา” กระทั่งมีเหตุให้เปลี่ยนตัวนายกฯ คนใหม่ และเกิดปัญหาภายในพรรค พปชร. ประชาธิปัตย์จึงได้รับการพิจารณาให้เข้ามาเป็นพรรคร่วมฯ รายล่าสุด แม้ที่ผ่านมา ฝ่ายบริหารชุดใหม่ของ ปชป. จะปฏิเสธว่าพรรคของเขาไม่ใช่ “พรรคอะไหล่ทางการเมือง” ก็ตาม


3 อดีตหัวหน้าพรรค ปชป. (จากซ้ายไปขวา) บัญญัติ บรรทัดฐาน, ชวน หลีกภัย, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์

ล่าสุด ชวน หลีกภัย แสดงจุดยืนเมื่อ 27 ส.ค. ว่า ไม่เห็นด้วยกับการนำพรรคเข้าร่วมรัฐบาล โดยให้เหตุผลว่าไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งส่วนตัว แต้ต้องปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน

“ผมเคยรณรงค์ว่าอย่าไปเลือก แล้ววันหนึ่งผมจะกลับลำมาหนุนให้พรรคที่ผมบอกประชาชนว่าอย่าไปเลือก นั่นเท่ากับผมทรยศชาวบ้าน ผมทำไม่ได้หรอก” ชวน กล่าว

“อดีตผ่านมาแล้ว” และ “มีเพียงการให้อภัยกัน”

ในระหว่าง 2 เลขาธิการพรรคพบปะกันวันนี้ (28 ส.ค.) เพื่อส่ง-รับเทียบเชิญเข้าร่วมรัฐบาล “แพทองธาร” ทั้งคู่ต่างออกมาให้เหตุผลว่า “ประเทศชาติต้องเดินหน้าต่อ”

สรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรค พท. กล่าวว่า ภายในพรรค พท. ไม่มีใครคัดค้านการเชิญพรรค ปชป. เข้าร่วมรัฐบาล เพราะเรื่องในอดีตผ่านมาแล้ว และประเทศชาติต้องเดินหน้าต่อ แม้ในอดีต 2 พรรคจะมีการต่อสู้ทางการเมืองกันมา แต่เมื่อมีคนรุ่นใหม่ที่มาบริหารพรรค เรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองก็ส่วนอุดมการณ์ทางการเมือง แต่แนวทางการทำงานมั่นใจว่าไปด้วยกันได้

ส่วนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าทั้ง 2 พรรค “หักหลังประชาชน” ทั้งที่ในอดีตก็พาประชาชนไปชุมนุม บาดเจ็บล้มตาย แต่สุดท้ายกลับมาจับมือกันนั้น เลขาธิการพรรค พท. ชี้แจงว่า อุดมการณ์ทางการเมืองระหว่าง 2 พรรคไม่เหมือนกับในอดีต วันนี้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารพรรค ทั้งหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และสมาชิกพรรคทั้ง 2 พรรค ทุกคนมุ่งหน้าทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และประเทศชาติถอยหลังไปหลายปี จึงถึงเวลาเดินหน้าร่วมกัน สงวนความขัดแย้ง และความไม่เข้าใจกันไว้ข้างหลัง ทั้งนี้ได้มีการพูดคุยกับกลุ่มคนเสื้อแดงแล้ว เห็นตรงกันว่าถ้าเป็นประโยชน์แก่ส่วนร่วม ทุกคนเข้าใจได้

เดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรค ปชป. ยืนยันว่า วันนี้พรรค ปชป. ไม่มีความขัดแย้งใด ๆ ทั้งสิ้น มีแต่ความรัก ความเข้าใจ และการให้อภัยกัน พร้อมขอให้เข้าใจว่าเหตุการณ์เมื่อ 20-30 ปีที่ผ่านมา กับปัจจุบันไม่เหมือนกัน ปัญหาของประเทศและแนวคิดการพัฒนาประเทศ ก็แตกต่างกัน

“ดังนั้นเมื่อมีการพูดคุยได้ รักกัน และเดินหน้าไปด้วยกันได้ ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม” เขากล่าว

ส่วนพรรค ปชป. จะผลักดันนโยบายอะไรเมื่อไปร่วมงานกับรัฐบาล เดชอิศม์ ตอบว่า “อยู่ที่นายกฯ ว่าจะให้กระทรวงใด เราสบายใจที่ได้ร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย เรามีความรักและการให้อภัยซึ่งกันและกัน”


สรวงศ์ เทียนทอง ส่งหนังสือขอเชิญร่วมรัฐบาล ให้แก่ เดชอิศม์ ขาวทอง เมื่อ 28 ส.ค.

ปชป. ร่วมรัฐบาล เมื่อพรรคอันดับ 2 เป็นแกนนำ

เมื่อย้อนดูองค์ประกอบของรัฐบาลที่พรรค ปชป. เข้าร่วมใน 3 ครั้งหลัง จะพบว่า ปชป. มักได้ร่วมวงฝ่ายบริหาร เมื่อพรรคอันดับ 2 เป็นแกนนำจัดดั้งรัฐบาล

พรรคสีฟ้าส่งหัวหน้าพรรคเป็นนายกฯ คนสุดท้ายได้เมื่อ 13 ปีก่อน ภายหลังเดินเกม “พลิกขั้วการเมือง” ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค พปช. ดัน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. ซึ่งเป็นพรรคอันดับ 2 ของสภาในเวลานั้น ขึ้นเป็นนายกฯ คนที่ 27 ได้สำเร็จ (2551-2554) ยัดเยียดสถานะพรรคฝ่ายค้านให้พรรค พท. เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี

แต่นั่นไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่พรรค ปชป. ได้ร่วมวงฝ่ายบริหาร เพราะภายหลังเลือกตั้ง 2566 พวกเขาได้รับเชิญให้เป็นส่วนหนึ่งของในรัฐบาล “ประยุทธ์ 2” ที่มีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งเป็นพรรคอันดับ 2 หลังเลือกตั้ง 2562 เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล (2562-2566)

หลัง “เว้นวรรค” มา 1 ปี ชาวประชาธิปัตย์จะได้หวนกลับไปร่วมโต๊ะ ครม. อีกครั้ง ภายใต้การบริหารจัดการของพรรค พท. โดยมี อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร เป็นนายกฯ (2567)

ความขัดแย้งจาก รุ่นพ่อ สู่ รุ่นอา จึงถูกทำให้จบลงในรุ่นลูก

(https://bbc.in/3Z1oqhK)