วันศุกร์, สิงหาคม 30, 2567

กางข้อเสนอพรรคประชาชนถึงรัฐบาล แก้ปัญหาน้ำท่วมทั้งระบบ

.....


พรรคประชาชน - People's Party
7 hours ago
·
[ กางข้อเสนอพรรคประชาชนถึงรัฐบาล แก้ปัญหาน้ำท่วมทั้งระบบ ]
.
จากสถานการณ์น้ำท่วมในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้สร้างความเดือดร้อนต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในหลายจังหวัด คิดเป็นพื้นที่กว่า 470,000 ไร่ โดยยังต้องเฝ้าระวังฝนที่อาจตกหนักเพิ่มขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง ในเดือนกันยายนและตุลาคมที่จะมาถึง รวมถึงมวลน้ำที่ไหลลงพื้นที่ปลายน้ำในภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางและตอนล่าง
พรรคประชาชนจึงมีข้อเสนอถึงรัฐบาล ทั้งระยะเฉพาะหน้าและระยะยาว เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมทั้งระบบ แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ การเฝ้าระวัง-เตือนภัย การเผชิญเหตุ และการฟื้นฟูเยียวยา
.
.
ส่วนที่ 1 เฝ้าระวัง-เตือนภัย
.
1. เพิ่มระบบเตือนภัยที่ต้นน้ำ และ ลำน้ำสาขาย่อย
.
ปัญหา/สถานการณ์ปัจจุบัน: รูปแบบของฝนในช่วงหลังเปลี่ยนไป เป็นฝนตกหนักมากในช่วงเวลาสั้นๆ (เช่น 1-3 วัน) กลายเป็นว่า ฝนที่ตกหนักภายใน 24-48 ชั่วโมง ก็เกิดน้ำท่วมได้แล้ว โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ตามร่องเขาหรือหุบเขา เช่น ลุ่มน้ำอิง จังหวัดพะเยาและเชียงราย, ลุ่มน้ำยม จังหวัดแพร่และสุโขทัย, ลุ่มน้ำน่าน จังหวัดน่าน เป็นต้น เพราะฉะนั้น ระบบการเตือนภัยที่แม่นยำจึงสำคัญมาก แต่ช่วงที่ผ่านมา ระบบโทรมาตรบางแห่งชำรุดเสียหายและขาดการซ่อมบำรุง
.
ข้อเสนอพรรคประชาชน:
(1) เพิ่มสถานีโทรมาตรวัดน้ำฝนบนพื้นที่ต้นน้ำ เพื่อสามารถคำนวณมวลน้ำและช่วงเวลาในแต่ละจุด (หรือแต่ละร่อง/หุบเขา) ได้แม่นยำมากขึ้น โดยตอนนี้ยังมีน้อย เนื่องจากระบบโทรมาตรปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ต้องไปตรวจวัดเอง จึงมักตั้งในพื้นที่ราบ ซึ่งเตือนภัยได้ช้าและแม่นยำน้อยกว่า
(2) เพิ่มสถานีโทรมาตรวัดระดับน้ำท่า เพื่อเฝ้าระวังปริมาณและระดับน้ำท่าตามลำน้ำสาขาย่อย เช่น ลุ่มน้ำอิง จ.พะเยา มีลุ่มน้ำย่อยจำนวนมาก เคยมีการวางระบบจำนวนสถานีโทรมาตรถึง 18 สถานี
.
2. ฟื้นฟูระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ
.
ปัญหา/สถานการณ์ปัจจุบัน: ตัวอย่างลุ่มน้ำอิงของ จ. พะเยา เป็นลุ่มน้ำพิเศษที่มีระบบพื้นที่ชุ่มน้ำไว้รองรับน้ำหลากถึง 17 แห่ง (กว๊านพะเยาเป็นหนึ่งในนั้น) แต่ระยะหลังพื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านี้ตื้นเขินหรือถูกบุกรุก ทำให้ความสามารถในการรับน้ำลดลง
.
ข้อเสนอพรรคประชาชน: ในระยะยาวจำเป็นต้องฟื้นฟูระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ เช่น การขุดลอก หรือมีอ่างเก็บน้ำเพิ่มเติมเป็นแก้มลิง รวมถึงพัฒนาระบบคลองเชื่อมพื้นที่ชุ่มน้ำและอ่างเก็บน้ำ เพื่อเพิ่มความสามารถในการกักเก็บและจัดการน้ำในช่วงน้ำหลาก และเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งได้ส่วนหนึ่งด้วย
.
3. ปรับปรุงระบบเตือนภัยให้ชัดเจน - พัฒนา Cell Broadcast นำมาใช้งานอย่างเร่งด่วน
.
ปัญหา/สถานการณ์ปัจจุบัน:
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กับ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้แเจ้งเตือนเเละสั่งเฝ้าระวังสถานการณ์จากน้ำป่าไหลหลากเเละดินโคลนถล่มล่วงหน้า ตั้งเเต่วันที่ 21 ส.ค. เเละมีการสั่งเตรียมความพร้อมอุปกรณ์ในส่วนกลาง
.
เเต่หน้างานจริง การเตือนเเบบนี้เป็นเเบบภาพรวม ทำให้หลายพื้นที่เตรียมการเเบบปกติ รับมือเเบบเดิม ทั้งที่ลักษณะภัยแตกต่างจากเดิมมาก (รอบนี้เป็นน้ำป่า-ท่วมฉับพลัน และดินถล่ม) หลายพื้นที่จึงรับมือไม่ทัน (เช่น เชียงราย น่าน ภูเก็ต) เเละบางพื้นที่ไม่มีการเตือนภัยในช่วงเวลาใกล้เกิดเหตุจากหน่วยงานท้องถิ่น/จังหวัด
.
ข้อเสนอพรรคประชาชน:
(1) รัฐบาลต้องปรับปรุงระบบเตือนภัยให้ชัดเจน ดังนี้
- ระบุพื้นที่เฝ้าระวัง/เตือนภัย ต้องเจาะจงถึงระดับตำบล และแนวโน้มของสถานการณ์น้ำ รวมถึงระดับปลอดภัย เพราะน้ำท่วมรอบนี้ ช่วงเเรกเป็นการเตือนเเบบภาพรวมในระดับอำเภอ
- บอกแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนอย่างทันการณ์ โดยเฉพาะการอพยพประชาชนที่ต้องใช้เวลาเตรียมการ และต้องใช้ทรัพยากรทั้งบุคคล อุปกรณ์ และสถานที่พักพิง
- ทบทวนและพัฒนาระบบเตือนภัย ในท้องถิ่นและระหว่างท้องถิ่นตามลุ่มน้ำเดียวกัน ให้เชื่อมต่อกันและใช้งานได้ตลอดเวลา
.
(2) พัฒนา Cell Broadcast นำมาใช้งานอย่างเร่งด่วน
- ประโยชน์ที่สำคัญของ Cell Broadcast คือ (1) Emergency Evacuation ช่วยแจ้งเตือนการอพยพฉุกเฉินได้ โดยอาจแจ้งพร้อมคำแนะนำและสถานที่ปลอดภัยต่างๆ อย่างแม่นยำ (2) แจ้งจุดให้ความช่วยเหลือในภาวะวิกฤต (3) แจ้งเลี่ยงเส้นทางอันตรายที่เสี่ยงกับชีวิต
.
อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่เทคโนโลยีการแจ้งเตือนยังไม่พร้อม ควรใช้วิธีการเตือนภัยแบบดั้งเดิม เช่น การใช้หอเตือนภัยที่มีอยู่ การใช้สัญญาณไซเรน พร้อมการประกาศไปพลางก่อน อย่างน้อยที่สุดต้องเตือนให้คนออกจากบ้านไปยังจุดปลอดภัย
.
.
ส่วนที่ 2 เผชิญเหตุ
.
1. ซ้อมแผนเผชิญเหตุอย่างน้อยปีละครั้ง
.
ปัญหา/สถานการณ์ปัจจุบัน: ขาดการซ้อมแผนการเผชิญเหตุอุทกภัยและดินถล่ม ทำให้เมื่อเกิดเหตุจริงจึงช่วยเหลือล่าช้าและระดมทรัพยากรเข้าพื้นที่ไม่ทัน
.
ข้อเสนอพรรคประชาชน: ทำการทบทวนและซ้อมแผนการเผชิญเหตุอุทกภัยและดินถล่มอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
.
2. จัดตั้งศูนย์บัญชาการอย่างรวดเร็ว รวมศูนย์การสื่อสารลดความสับสน
.
ปัญหา/สถานการณ์ปัจจุบัน:
- ไม่มีการตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ (หรือ war room) ขึ้นจริงในบางพื้นที่ ทำให้การปฏิบัติการช่วยเหลือมีความล่าช้าและสับสนตั้งแต่ขั้นตอนของการเตือนภัย
- ไม่ได้มีการเตรียมศูนย์อพยพ/ศูนย์พักพิงไว้ล่วงหน้า ทั้งในแง่สถานที่ อุปกรณ์ และมาตรการที่จำเป็นภายในศูนย์ ทำให้เกิดความสับสนในการปฏิบัติงาน และหลายพื้นที่ประชาชนต้องพักแรมในเต็นท์ชั่วคราวริมถนน
.
ข้อเสนอพรรคประชาชน: จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ทันทีที่มีสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าระวัง เพื่อให้สามารถเตือนภัย จัดเตรียมศูนย์อพยพ และจัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ได้ทันการณ์ และเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย นอกจากนี้ในช่วงประสบภัย การสื่อสารต่างๆ ต้องมาจากศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ และเผยแพร่ผ่านศูนย์ข้อมูลข่าวสารร่วมเพื่อลดความสับสน ช่วยให้ประชาชนเตรียมพร้อมได้อย่างทันท่วงที
.
3. สนับสนุนงบประมาณท้องถิ่นและหน่วยงานในพื้นที่
.
ปัญหา/สถานการณ์ปัจจุบัน: องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานในพื้นที่มีอุปกรณ์ กำลังพล และงบประมาณจำกัด การติดต่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานส่วนกลาง/ภูมิภาคทำได้ล่าช้า ทำให้การช่วยเหลือทำได้ล่าช้าไปด้วย
.
ข้อเสนอพรรคประชาชน: การสนับสนุนงบประมาณให้ท้องถิ่นและหน่วยงานในพื้นที่ ในการยับยั้ง อพยพ เผชิญเหตุ และช่วยเหลือ ต้องสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และครอบคลุมในทุกพื้นที่ที่ประสบภัย
.
.
ส่วนที่ 3 ฟื้นฟู-เยียวยา
.
1. ปรับหลักการจ่ายเงินช่วยเหลือประชาชน
.
ปัญหา/สถานการณ์ปัจจุบัน: การช่วยเหลือมีความล่าช้า โดยมักจะดำเนินการหลังน้ำลดแล้ว และบางครั้งต้องใช้เวลานานกว่าจะได้การช่วยเหลือเยียวยา บางพื้นที่/บางปี/บางครัวเรือนก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ
.
ข้อเสนอพรรคประชาชน: ปรับหลักการจ่ายเงินช่วยเหลือโดยแบ่งเป็น 3 ส่วน
(1) เงินช่วยเหลือทันทีที่ได้รับความเดือดร้อน เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในระหว่างประสบเหตุ เช่น 3,000 บาท/ครัวเรือน/เดือน
(2) เงินช่วยเหลือสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินการศูนย์อพยพ และ/หรือ บริการเสริมอื่นๆ
(3) เงินช่วยเหลือ/เยียวยาค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งกับบ้านเรือน ไร่นา ปศุสัตว์ และอื่นๆ ซึ่งจะประเมินความเสียหายภายหลังน้ำลด
.
2. ปรับเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร
.
ปัญหา/สถานการณ์ปัจจุบัน: เกณฑ์การช่วยเหลือ/เยียวยาภาคเกษตรของรัฐบาล ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็น
- อัตราการช่วยเหลือต่ำกว่าต้นทุนการผลิตจริง เช่น ข้าว ช่วยเหลือไร่ละ 1,340 บาท แต่ต้นทุนการผลิตตามที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรระบุอยู่ที่ 4,323 บาท/ไร่ ในปี 2566/67 หรือกรณีสุกร เกณฑ์กำหนดว่าสุกรอายุมากกว่า 30 วันขึ้นไป ช่วยเหลือตัวละ 3,000 บาท แต่ต้นทุนการเลี้ยงสุกรในปี 2566 อยู่ 8,758 บาท/ตัว
- การกำหนดเกณฑ์ขั้นสูงที่ไม่สอดคล้องกับขนาดการผลิตจริงในปัจจุบัน โดยเฉพาะในภาคปศุสัตว์และประมง เช่น โค ไม่เกิน 5 ตัว, สุกร ไม่เกิน 10 ตัว, สัตว์น้ำไม่เกิน 5 ไร่ ซึ่งไม่ใช่ขนาดการผลิตเชิงพาณิชย์อีกแล้วในปัจจุบัน (ตัวอย่างเช่น ขนาดการเลี้ยงสุกรโดยเฉลี่ยของไทยอยู่ที่ 74 ตัว/ฟาร์ม เนื้อที่ฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเลเฉลี่ย 10.2 ไร่/ฟาร์ม)
- ความล่าช้าของการขอรับความช่วยเหลือ โดยปัจจุบันมีขั้นตอนมากถึง 4-7 ขั้นตอน และต้องใช้เวลาประมาณ 80-120 วัน
.
ข้อเสนอพรรคประชาชน: ปรับเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร โดยการ
- กำหนดอัตราค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 80% ของต้นทุนการผลิตของเกษตรกร (เบื้องต้นตามที่เอกสารของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรระบุไว้)
- ปรับเพิ่มเพดานหรือเกณฑ์ขั้นสูงให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เช่น ใช้ค่าเฉลี่ยของขนาดฟาร์มในปัจจุบัน (ตามข้อมูลของสำนักเศรษฐกิจการเกษตร) เป็นเกณฑ์
- ปรับกระบวนการการช่วยเหลือเกษตรกรให้สั้นลง ให้อำนาจการตัดสินใจอยู่ในระดับพื้นที่ (เช่น จังหวัดหรือท้องถิ่น) มากขึ้น ลดขั้นตอนโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทางภูมิศาสตร์มาช่วยในการตรวจสอบและคัดกรอง เพื่อสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาได้เร็วที่สุด
.
3. จัดเตรียมมาตรการทางการเงินเพิ่มเติม
.
ปัญหา/สถานการณ์ปัจจุบัน: เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย อาจมีภาระทางการเงิน รวมภาระหนี้สินที่อาจพอกพูนขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบในระยะยาวแม้น้ำท่วมจบลงแล้ว รัฐบาลจึงควรมีมาตรการให้ความช่วยเหลือนอกเหนือไปจากการพักชำระหนี้อย่างที่เคยเป็นมา
.
ข้อเสนอพรรคประชาชน: จัดเตรียมมาตรการทางการเงินอื่นๆ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้, สินเชื่อปลอดดอกเบี้ยเพื่อการบูรณะ/ฟื้นฟู, ทำโครงการประกันวงเงินสินเชื่อจากเหตุการณ์ภัยพิบัติสำหรับเกษตรกรทั่วประเทศ เพื่อป้องกันมิให้ความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ กลายเป็นความเสียหายทางการเงินสำหรับเกษตรกรในระยะยาว
.
.
น้ำท่วมเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำซาก ในทางหนึ่งสะท้อนว่าการบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมาไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาอีกต่อไป พรรคประชาชนหวังว่ารัฐบาลจะนำข้อเสนอเหล่านี้ไปพิจารณาและเริ่มต้นดำเนินการทันที เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และทำให้ปีต่อๆ ไป ปัญหาน้ำท่วมไม่ใช่แค่เรื่องที่เรารับมือได้ แต่ปัญหาน้ำท่วมต้องเป็นเรื่องที่เราป้องกันได้