“สุดท้ายต้องบอกลูก จะมาหายไปดื้อ ๆ ไม่ได้”คุยกับ “อาย กันต์ฤทัย” ก่อนเข้าเรือนจำ: ความในใจของ ‘แม่’ คนหนึ่งที่ต้องโทษ ‘112’
28/08/2567
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ในวัย 33 ปี ของชีวิต “อาย” กันต์ฤทัย คล้ายอ่อน ผ่านชีวิตมามากมาย ทั้งในเรื่องการงานและครอบครัว จนวันหนึ่งหวนมาเจอเรื่องทางการเมืองที่ทำให้แม่ค้าชุดชั้นในต้องออกมาเคลื่อนไหว เพียงเพราะต้องการความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิม มากกว่านั้น การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ กลายเป็นหนึ่งในเหตุผลของคนที่ทนไม่ไหวกับสภาวะการเมืองในประเทศ จนนำมาสู่การถกเถียงเรียกร้องมากมาย
ในฐานะแนวหน้าผู้คอยปะทะกับตำรวจควบคุมฝูงชน แล้ววันหนึ่งก็โพสต์เรื่องราวทางการเมือง อันเป็นเหตุนำมาสู่การถูกดำเนินคดีมาตรา ‘112’ กระทั่งสิ่ง ๆ นั้นนำพาให้เธอต้องคำพิพากษาจำคุกรวม 12 ปี ที่ยังรอคอยอิสรภาพผ่านสิทธิการประกันตัวในชั้นอุทธรณ์
ถึงที่สุดสำหรับอาย ไม่ว่าชีวิตจะผ่านพ้นความแข็งแกร่งหรือเปราะบางมากน้อยแค่ไหน การที่เป็นคนรักและเป็นแม่ที่ดีคนหนึ่งก็เป็นชีวิตที่เธอปรารถนา ยิ่งในห้วงเวลาต้องถูกคุมขังในเรือนจำ เธอมักย้ำในการพูดคุยก่อนสูญเสียอิสรภาพว่า “ทุกอย่างต้องยอมรับความจริง และเป็นไปตามเวลา”
.
เป็นคนทั่วไปที่อยากให้สถาบันกษัตริย์ลงมาอยู่ใต้กฎหมายเหมือนกัน
ชีวิตแต่หนหลัง อายเติบโตในย่านแหล่งอุตสาหกรรมของ จ.ปทุมธานี ในครอบครัวที่พ่อประกอบอาชีพขับรถนำเที่ยวให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนแม่เป็นแม่บ้าน จากชีวิตราบเรียบอบอุ่นสามัญ อายเผชิญจุดเปลี่ยนเมื่อตอน ม.3 ที่พ่อกับแม่แยกทางกัน แล้วสุดท้ายต่างมีครอบครัวใหม่ อายเลยตัดสินใจอยู่ปทุมธานีต่อ ที่หลายครั้งต้องไปอาศัยอยู่บ้านเพื่อน จนด้วยปัญหาทางครอบครัวในห้วงนั้นทำให้การเรียนของเธอต้องชะงักลง
กระทั่งเข้าเรียนชั้น ม.3 ใหม่อีกรอบในโรงเรียนใหม่ย่านลำลูกกาจนจบชั้น ม.ต้น จึงเริ่มหางานทำ โดยย้ายไปอยู่ย่านรามอินทรากับญาติ งานแรกที่ทำขณะอายุได้ราว 16 ปี คือเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ของสวนสนุกดรีมเวิลด์ ค่าแรงขั้นต่ำขณะนั้นอยู่ที่ 169 บาท ทำหน้าที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนไปหลายตำแหน่ง บางครั้งเป็นพนักงานเครื่องเล่น บางครั้งก็เป็นพนักงานขายตั๋ว
พอโตขึ้นเธอเริ่มเปลี่ยนงาน เป็นพนักงานเสิร์ฟของร้านอาหารในสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ ทำอยู่ 1 ปี ก่อนจะไปขายเนื้อหมูกับครอบครัวของเพื่อนสมัย ม.ต้น กระทั่งปีต่อมาไปทำงานโรงงาน อันเป็นช่วงเวลาได้เจอกับแฟนคนปัจจุบัน ในวัยยี่สิบต้น ๆ ที่วันหนึ่งอายได้ตั้งครรภ์ “เราก็บอกเขาตรง ๆ ว่าท้องนะ เราจะเอาออกเพราะไม่พร้อม เขาก็บอกว่าไม่พร้อมเหมือนกัน เลยไปปรึกษาทางพ่อแม่ฝ่ายชาย พวกเขาเป็นคนรักเด็กจึงบอกไม่ให้เอาออก จะเลี้ยงเอง กระทั่งเกิดเป็นการแต่งงานขึ้นมา”
เมื่อคลอดลูกอายก็ออกจากงานที่โรงงาน กระทั่งลูกโตได้ระยะหนึ่งก็เริ่มกลับมาทำงานเป็นแม่ค้าขายชุดชั้นในตามตลาดนัด จากความขยันทำงาน เพียง 2 ปี ก็เธอสามารถตั้งตัวได้และกลายเป็นเสาหลักของบ้านตั้งแต่นั้น เริ่มมีเงินเก็บ ออกรถเป็นของตัวเอง รายได้ดีอยู่หลายปี กระทั่งมาสะดุดลงตอนสถานการณ์โควิด-19 ที่ตลาดเริ่มปิด เป็นช่วงเดียวกับพ่อของแฟนที่เปรียบได้กับพ่อจริง ๆ เริ่มล้มป่วยเป็นลิ้นหัวใจรั่ว อายจึงพยายามดูแล พาไปหาหมอ พาไปตรวจ “ช่วงนั้นเราเริ่มมีสภาวะเป็นซึมเศร้า ส่วนหนึ่งเพราะสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจที่ดิ่งลง”
กระทั่งช่วงปี 2564 เริ่มมีการชุมนุมทางการเมือง เป็นช่วงหลังจากพ่อของแฟนเสียชีวิต “เราก็ไม่ต้องดูแลใครแล้ว ส่วนลูกก็เป็นย่าเขาดูแล เราก็รั้นในความที่เป็นเสาหลักของบ้าน จะไปไหนก็ได้ ก็ขอแฟนประมาณว่า ขอไปเหอะ แฟนก็ไม่ได้ว่า เพราะเข้าใจว่าไปไล่ประยุทธ์”
จากการไปร่วมชุมนุมครั้งแรกที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เธอสะดุดตรงข้อเรียกร้องที่ 3 ที่ได้ฟังจากการปราศรัย ที่บอกให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และเริ่มสนใจข้อเรียกร้องนี้มากกว่าข้ออื่น ๆ “พูดภาษาบ้าน ๆ คืออยากให้ท่านลงมาอยู่ใต้กฎหมายเหมือน ๆ กับเรา”
หลังฟังการปราศรัย ความทรงจำของเธอย้อนไปเห็นภาพข่าวที่มีคนโดนอุ้มหายจากประเทศเพื่อนบ้าน ก่อนพบเป็นศพโดยมีปูนยัดท้อง จึงเริ่มหาข้อมูลในเหตุรุนแรงที่เจ้าหน้าที่รัฐทำกับประชาชน เช่น กรณี บิลลี่ พอละจี หรือ ต้าร์ วันเฉลิม
ตั้งแต่นั้นอายเริ่มติดตามการเมืองมากขึ้น ช่องทางหลัก ๆ เป็นเพจของกลุ่ม REDEM ช่วงนั้นหากมีการนัดชุมนุมวันไหน วันนั้นเธอก็จะเก็บร้านเร็วเป็นพิเศษ “เป้าหมายแรก รู้สึกแค่ว่าอยากไปเติมคนให้ที่ชุมนุม อย่างน้อยเราคือหนึ่งคนที่เข้าไปเติมให้มันเยอะขึ้น ไม่ได้ชวนใคร ก็ไปของเราคนเดียว”
.
คดีทางความคิด สามารถทำร้ายคนได้อย่างนั้นหรือ?
บทบาทในการไปร่วมชุมนุมในม็อบ REDEM ที่ถูกสลายการชุมนุมบ่อยครั้ง อายเล่าว่า ถ้าไปคนเดียวก็จะคอยช่วยคนที่โดนแก๊สน้ำตา พยายามแบกน้ำที่เหลือไว้ ถ้ามีใครเป็นอะไรก็จะวิ่งเข้าไปดู แต่พอเริ่มรู้จักกลุ่มเพื่อนก็ทำอะไรได้มากขึ้น ใครโดนจับก็วางแผนจะไปช่วย หรือหากอยู่ด้านหน้าที่ปะทะกับตำรวจควบคุมฝูงชน ก็จะช่วยกันดันโล่ตำรวจ “บางทีเราโกรธ เช่นเวลาเราเห็นคนอื่นโดนกระทำ ก็พรวดไปด้านหน้า พยายามช่วยเขาก่อน แต่ละครั้งที่ปะทะก็โดนกันเยอะ มีฟกช้ำซะส่วนใหญ่”
ตั้งแต่ไปร่วมชุมนุมอายมีประสบการณ์โดนจับอยู่ 2 ครั้ง ที่ท้องสนามราษฎร์ (สนามหลวง) และการชุมนุมกับกลุ่มทะลุแก๊สที่ดินแดง แต่ละครั้งเธอพยายามปกป้องสิทธิของตัวและของผู้ชุมนุมคนอื่น ๆ โดยเฉพาะการเป็นปากเป็นเสียงไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐทำความรุนแรงกับผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัว
ในมุมมองของอาย ไม่ว่าการชุมนุมทางการเมืองจะมีข้อเรียกร้องเป็นประเด็นใดบ้าง แต่ที่เลี่ยงไม่ได้คือการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ “เรารู้อยู่แล้วว่าสถาบันฯ ย่อมมีส่วนในการเมืองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การรัฐประหารครั้งหนึ่ง ต้องมีการรับรองจากสถาบันฯ เราเลยตั้งคำถามว่า ถ้าบอกว่าสถาบันกษัตริย์ทำเพื่อประชาชน แล้วเซ็นลงนามรับรองการรัฐประหารทำไม การลงนามเท่ากับเป็นการยอมรับการรัฐประหาร”
การเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ และโพสต์ถึงเรื่องราวเหล่านั้น เป็นเหตุให้อายถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 เมื่อช่วงต้นปี 2566 ในวันที่รับทราบข้อกล่าวหา ตำรวจระบุพฤติการณ์คดีที่เกี่ยวกับการโพสต์ข้อความและรูปภาพ รวม 8 โพสต์ โดยกล่าวหาว่า เป็นข้อมูลที่บิดเบือนให้ร้ายสถาบันกษัตริย์ ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศของรัชกาลที่ 10
กระทั่งถูกฟ้อง ที่ต่อมาในชั้นศาล อายให้การรับสารภาพก่อนการสืบพยาน และในวันที่ 27 ส.ค. 2567 ศาลอาญาพิพากษาจำคุกรวม 8 ปี 48 เดือน หรือประมาณ 12 ปี
อายเคยกล่าวถึงความรุนแรงของมาตรา 112 ที่อาจส่งผลต่อเธอไว้ว่า ทำให้ไม่มีอิสรภาพ เธออาจไม่ได้อยู่ดูแลลูกในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ
กับมาตรา 112 ถ้าจะไม่ให้ยกเลิก “ในมุมมองส่วนตัวเรา มาตรา 112 ต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งเรายังคงตั้งคำถามว่า มันเป็นอาญาตรงไหน คดีทางการเมือง คดีทางความคิด มันสามารถทำร้ายคนได้อย่างนั้นหรือ”
.
การต่อสู้มันมีอยู่จริง แต่คำว่า เดียวดายหน้าบัลลังก์ ก็มีอยู่จริง
กับเรื่องราวของผู้ต้องขังทางการเมือง ก่อนหน้านี้อายมีโอกาสได้ไปเยี่ยมเก็ท โสภณ, เวหา และอีกหลาย ๆ คน เธอสัมผัสได้ว่า สิ่งที่คนข้างในอยากได้จากคนภายนอกคงเป็นเรื่องกำลังใจ หรืออย่างเก็ทก็อยากให้คนข้างนอกต่อสู้ต่อไป “แต่จะต่างจากเรานิดหนึ่งที่หากได้อยู่ในนั้น เราจะบอกคนข้างนอกว่า คนข้างนอกต้องต่อสู้นะ แต่เอาเท่าที่ไหว เพราะอายกลัวว่า พวกเขาจะต้องมาเจ็บเหมือนอาย กลัวว่าเขาจะต้องมาตกเก้าอี้เดียวกับอาย”
เธอกล่าวอีกว่า ถ้าคนข้างนอกคิดถึงเรา เราก็รับไว้และดีใจที่เขาคิดถึง แต่ถ้าเขาไม่คิดถึง เราก็ไม่เสียใจ เพราะที่ผ่านมาก็ทำเต็มที่แล้ว เรียกร้องอะไรให้เพื่อนแล้ว “ไม่ใช่ว่าเราเรียกร้องให้เขาแล้ว พอเราโดนจับแบบนี้เขาก็ต้องมาเรียกร้องให้เรา เราไม่ใช่แบบนั้น”
อีกสิ่งที่อายอยากสื่อสารหากเธอได้เข้าเรือนจำคือ โรคประจำตัว หมอระบุว่า เธอเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อนเข้าชุมนุมทางการเมืองแล้ว อายให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมียาที่กินอยู่ประมาณ 5 ตัว เช่น ยากันชัก ยาระงับประสาท ยาควบคุมอารมณ์ ยาต้านเศร้า กินวันละ 12 เม็ด ระหว่างการรักษาอาการยังไม่เคยดีขึ้น จะมีก็แค่ทรงกับทรุด และต้องเข้าพบหมอตามอาการ ถ้าช่วงที่หมอเฝ้าระวังก็จะไปพบหมอ 1 ครั้งต่อ 2 สัปดาห์ “เขากลัวว่าเราจะทำร้ายตัวเอง และกลัวที่สุดเลยคือการคิดสั้น”
อย่างไรก็ตาม อายพยายามคิดบวก เธอเตรียมตัวและคิดเรื่องนี้มาเป็นปี คิดว่าหากต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำก็เป็นการเปลี่ยนสังคม เปลี่ยนที่อยู่ “อายเป็นคนที่ถ้ากินยาแล้วอารมณ์นิ่ง ก็คงจะไปหามุมนิ่ง ๆ เงียบ ๆ อยู่ แต่หากมีใครวุ่นวาย ปั่นประสาท ก็ค่อยว่ากัน ไม่เขาก็อายที่อยู่ไม่ได้ ด้วยความที่ยาก็เป็นตัวกระตุ้นเหมือนกัน”
เพราะฉะนั้นยารักษาโรคประจำตัวคืออันดับหนึ่งของสิ่งที่อยากเอาติดตัวไป ถ้าไม่มียาคิดว่าคงแย่ และเป็นการแย่ที่ไม่รู้ว่าจะไปในทิศทางไหน ใน 3-4 วันแรกที่ยาขาดก็จะแย่ที่ร่างกายก่อน หลังจากนั้นก็คงจะลำบากคนรอบข้าง
อายกล่าวอย่างชัดเจนว่า หากเธอหายไป ก็ไม่ได้กลัวการถูกหลงลืม เพราะทุกวันนี้ก็เหมือนถูกลืมอยู่แล้ว และก็ไม่อยากที่จะให้ทุกคนมามองเธอ ไม่อยากเป็นจุดสนใจ “ไม่ต้องมามองเราว่า เฮ้ย ฉันกำลังจะเข้าคุกนะ ไม่ได้อยากให้ใครมอง”
เมื่อให้มองตัวเองใน 5-10 ปีข้างหน้า อายให้ทัศนะว่า ก็ยังคงอุดมการณ์เหมือนเดิม แต่จะเคลื่อนไหวในรูปแบบอื่น เพราะไม่อยากทำให้คนข้าง ๆ ต้องมารู้สึกเสียใจ “ที่ผ่านมาเรามีบทเรียนเยอะแล้ว การต่อสู้มันมีอยู่จริง แต่คำว่า เดียวดายหน้าบัลลังก์ ก็มีอยู่จริง เลยมองว่าการต่อสู้มีอีกหลายวิธี เพราะฉะนั้นการต่อสู้โดยที่ไม่เจ็บตัวมันยังมีอยู่ ถ้าเรายังมีหวัง เราต้องอยู่ด้วยความหวัง”
.
สุดท้ายต้องบอกลูก จะมาหายไปดื้อ ๆ ไม่ได้
ก่อนอายจะต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ เธอใช้ชีวิตกับแฟนที่คบกันมานาน 14 ปี แบบไม่เคยจะห่างกัน เธอบอกย้ำถึงความเสมอต้นเสมอปลายในชีวิตคู่ ที่ไม่ใช่แค่แฟนแต่เปรียบเป็นคู่ชีวิต มีลูกชาย 1 คน วัย 12 ปี การที่ครอบครัวต้องมาพบเจอเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะการที่ต้องบอกเล่าถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในชีวิตกับลูก “แฟนเป็นคนบอกว่า ยังไงก็ต้องบอกลูกนะ จะมาหายไปดื้อ ๆ ไม่ได้ ลูกจะสงสัยที่แม่จะมาหายไปแบบนี้ ควรอธิบายกับลูก เพราะว่ามุมหนึ่งของอาย อายเป็นคนที่ใจเย็นมาก ๆ ใช้เหตุผลมาก ๆ อายเลยจะพยายามพูดให้ลูกเข้าใจให้ได้”
อายจึงได้บอกลูกในการสนทนาครั้งหนึ่งว่า “แม่อาจจะไม่ได้อยู่กับลูกจริง ๆ นะ” แล้ววันหนึ่งลูกชายก็พิมพ์ข้อความมา “เราอ่านแล้วก็ร้องไห้ เขาบอกว่า เชื่อว่ายังไงแม่ก็ไม่ติด เขาขอให้แม่ไม่ติด และขอให้เราได้อยู่ด้วยกันเหมือนเดิม นี่คือเด็กอายุ 12 ปี อยู่ ป.6 เด็กผู้ชายที่มีความเข้มแข็งและอ่อนโยน”
ในโทษทัณฑ์ที่อาจจะสูงเกิน 10 ปี อายยอมรับว่า ต้องฝืนทำตัวเข้มแข็ง แต่จริง ๆ ก็ไม่ค่อยโอเค เพราะแม้จะไม่อยากเสียน้ำตาให้กับสิ่งนี้ แต่ทุกครั้งที่กลับมาจากศาลคือร้องไห้ อายฝากถึงลูกว่า “รักลูกมากนะ ไม่อยากให้ลูกต้องเสียใจ แต่ทุกอย่างต้องยอมรับความจริง และเป็นไปตามเวลา ยังไงแม่ก็ยังเป็นแม่ ขออย่างเดียว ขอให้ลูกยังจำสิ่งที่แม่เคยสอนไว้ เราต้องไม่ดูถูกใคร ไม่บูลลี่ใคร เราเป็นคนเท่ากัน”
ส่วนแฟน “อายอยากจะขอโทษเขามากกว่า ด้วยความที่เขาเตือนหลายรอบ เตือนทุกอย่าง อายจะสวนกลับไปว่า ขอให้เคารพการตัดสินใจของอาย เขาก็จะเงียบไป เพราะด้วยความเคารพการตัดสินใจ สุดท้ายด้วยการตัดสินใจของอายก็ลงเอยด้วยการที่ลูกก็ต้องร้องไห้เสียใจ แฟนก็ต้องร้องไห้แต่ก็เก็บน้ำตา สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดในวันนี้คือครอบครัว”
ถึงที่สุดสำหรับผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองอย่างอาย ครอบครัวคือสิ่งที่อยู่เคียงข้างเธอมากที่สุด “แต่ก่อนนี้เรากลับเลือกที่จะไม่มองครอบครัว มัวแต่ไปมองอย่างอื่น เพราะว่าเราดื้อเอง แต่เราก็ไม่ได้เสียดายความดื้อของเรา เราก็ยังภูมิใจในความดื้อของเราอยู่เหมือนกัน จะเสียใจก็แต่ความดื้อนั้น มันทำให้คนที่เรารักต้องเสียน้ำตา”
.
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
“อาย” กันต์ฤทัย ถูกแจ้งข้อหา ม.112 คดีที่ 2 เหตุแกนนำ ศปปส. ไปกล่าวหาจากเฟซบุ๊ก 2 ข้อความ เมื่อปี 65
(https://tlhr2014.com/archives/69459)