วันพุธ, สิงหาคม 28, 2567

ความกร่างของ ตลก.รธน.นายหนึ่ง จุดระบิดสำนึกตื่นรู้ในหมู่พรรคการเมือง ว่าองค์กรนี้มีอำนาจ ‘เกินเลย’ มากไปแล้ว

มันเป็นสะเก็ดไฟที่ไร้กรอบควบคุม ในความกร่างของ ตลก.รธน.นายหนึ่ง ทำให้เกิดการระเบิดของสำนึกตื่นรู้ในหมู่พรรคการเมืองไม่ว่าจะฝักฝ่ายใด ว่าองค์กรตามรัฐธรรมนูญแห่งนั้นมีอำนาจล้นหลามน่าสะพรึงกลัว จนต้องหันหน้าเข้าหากันเพื่อกำกับ

ดังคำของ วิสุทธิ์ ไชยณรุณ วิปรัฐบาลพรรคเพื่อไทย กล่าวไว้ในการเสวนาผ่านรายการ ไทยรัฐนิวส์รูมเมื่อ ๒๗ ส.ค.ว่า “บางครั้งเสียงเดียวทำให้หลุดหลายตำแหน่ง” (เช่น เศรษฐาพ้นนายกฯ ด้วยเสียง ตลก.รธน. ๕-๔) จึงได้ต่อสายคุยกับพรรคประชาชน

วันนี้ (๒๘ สิงหา) การประชุมข้ามขั้วระหว่างพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน จึงเป็นดั่ง เว็ร์คช้อป ในการวางแผนแก้ไขปัญหาอำนาจที่เกินเลย นอกลู่นอกทางนิติรัฐ/นิติธรรม ของศาลรัฐธรรมนูญ อย่างมีนัยยะสำคัญ

สำหรับวิสุทธิ์ผู้ที่เพิ่งผ่านดราม่า ไม่กราบกรณีผิดพลาดข้อเท็จจริงเรื่องการตัดงบประมาณสร้างฝายแกนดินซีเม็นต์ กับ สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.พรรคประชาชน มาหมาดๆ นับว่าเป็นการหักมุม ที่จะเรียกศรัทธากลับมาให้พรรคเพื่อไทยได้

เขาบอกว่าประเด็นเสวนาเรื่องอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินว่านักการเมืองขาดจริยธรรมแล้วสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง รวมทั้งการสั่งยุบพรรค ตัดสิทธิทางการเมืองนับเป็นสิบๆ ปี มัน เกินเลยมากไปจริงๆ ซึ่งหลายพรรคร่วมรัฐบาลก็เห็นด้วย

หลักเกณฑ์ในการสนทนาวันนี้ พริษฐ์ วัชรสินธุ จากพรรคประชาชนเป็นผู้อธิบายให้เห็นเค้าโครง เขาเอ่ยถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ยื่นเข้าสภาไว้แล้วนั้นเป็นหนทางหนึ่ง แต่ว่าตามโร้ดแม๊ปของข้อเสนอนั้น คงเสร็จไม่ทันการเลือกตั้ง ๒๕๗๐

สำหรับพรรคประชาชนจึงมีหนทางคู่ขนานควบไปด้วย คือ การแก้ รธน.รายมาตราในประเด็นที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งก็มีอยู่หลายชุด ชุดหนึ่งซึ่งยื่นเข้าไปแล้วคือการลบล้างผลพวงรัฐประหาร ประกอบด้วยการยกเลิกมาตรา ๒๗๙ และยุทธศาสตร์ชาติฉบับ คสช.

กับหมวดป้องกันรัฐประหาร ทั้งสามฉบับจะเข้าสู่การพิจารณาในวันที่ ๒๕ กันยายน ขณะที่ชุดที่สองเป็นเรื่อง ทบทวนหรือปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ อันเป็นหัวข้อหลักในการพูดคุยระหว่างพรรคประชาชนกับพรรคเพื่อไทย

มีอยู่สองร่าง “เจาะจงไปที่เรื่องอำนาจหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญที่ถูกขยายโดย รธน.๖๐ หรือว่าบางส่วนที่เป็นปัญหามายาวนาน” คือการ ยุบพรรคซึ่งเป็นปัญหามาตั้งแต่ก่อน รธน.๖๐ อันเป็นเงื่อนไขอยู่ใน พรป.พรรคการเมือง

เรื่องนี้เคยมีรายงานของกรรมาธิการพัฒนาการเมือง ที่มีหลายพรรคร่วมจัดทำ ว่าควรจะแก้ พรป.อย่างไร หนึ่งในข้อเสนอคือการทบทวนเงื่อนไขการยุบพรรค แนบท้ายรายงานยังมีร่างแก้ไข พรป.อยู่ ถ้าเห็นพ้องต้องกันก็จะยื่นเป็นร่างกลาง

อีกเรื่องก็คืออำนาจของศาล รธน.และองค์กรอิสระเกี่ยวกับมาตรฐานทางจริยธรรม ซึ่งเพิ่งปรากฏใน รธน.๖๐ ยอมให้มีอำนาจกำหนดจริยธรรมที่ผูกมัดและบังคับใช้กับทุกองค์กร ถึงขั้นไปถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

การจำกัดอำนาจ ตลก.รธน.ที่เคยคิดกันว่ายาก เพราะไม่มีกฎหมายใดเปิดช่องให้ แต่ความเหลิงอำนาจของ ตลก.นั่นเอง นำไปสู่ช่องทางในสภาผู้แทนฯ ตราบเท่าที่สามารถก้าวข้ามฝักฝ่ายทางการเมืองไปเสียก่อน เพื่อผนึกกำลังต่อกรกับมาร

(https://www.youtube.com/live/9ROuU8pESMg)