วันเสาร์, สิงหาคม 31, 2567

คุณกอแก้วไม่น่าลืมข่าวนี้นะ - 'เพื่อไทย' เกียร์ถอย ถอนร่าง กม.ฟื้นคดีสลายแดง


ที่มา ผู้จัดการออนไลน์
16 ก.พ. 2567

ในที่สุดพรรคเพื่อไทยก็ต้องใส่เกียร์ถอย ภายหลังนายชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ประกาศถอนร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเสนอโดยพรรคเพื่อไทย ออกจากระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 16 กุมภาพันธ์

โดยนายชูศักดิ์ ยอมรับว่าเหตุผลที่ตัดสินใจเช่นนี้ เป็นเพราะมีองค์กรอิสระไม่เห็นด้วย

องค์กรอิสระนายชูศักดิ์อ้างถึงนั้น คือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ต้องใช้กฎหมายดังกล่าวโดยตรง แต่ยิ่งไปกว่านั้นแม้แต่ศาลยุติธรรมเองก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน โดยต่างมองเห็นตรงกันว่า ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับอาจกระทบต่อหลักการสำคัญอย่างรุนแรง

รายงานการรับฟังความคิดเห็นของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ปรากฎว่าป.ป.ช.และศาลยุติธรรม ได้แสดงความคิดเห็นคัดค้านชัดเจน โดยเฉพาะในประเด็นที่ร่างกฎหมายดังกล่าวเปิดโอกาสให้ผู้เสีย

หายสามารถยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้โดยตรง

ในประเด็นนี้ ศาลยุติธรรม ระบุว่า "หากปล่อยให้ประชาชนทั่วไปมีอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดีดังกล่าวได้เองย่อมก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในทางคดี หรืออาจมีกรณีที่ฟ้องร้องโดยมีเจตนาเพื่อกลั่นแกล้งหรือไม่สุจริต ทำให้มีคดีความขึ้นสู่การพิจารณาของศาลโดยไม่จำเป็น

ดังนั้น กฎหมายจึงต้องกำหนดให้เฉพาะหน่วยงานหรือผู้มีอำนาจรัฐ ได้แก่ อัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. เท่านั้น ทำหน้าที่กลั่นกรองตรวจสอบ หรือเรียกข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้องเพื่อทราบข้อเท็จจริงและฟ้องร้องคดีแทนรัฐและประชาชนซึ่งถือเป็นผู้เสียหาย”

ขณะที่ คณะกรรมการป.ป.ช. มีความเห็นในทำนองเดียวกันว่า "หากกำหนดให้สิทธิแก่ผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีดังกล่าวได้เอง ผู้เสียหายและผู้กระทำความผิดซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลมากกว่าบุคคลทั่วไปอาจดำเนินคดีอันเป็นความผิดที่รัฐเป็นผู้เสียหายในลักษณะสมยอมได้ เป็นเหตุให้รัฐได้รับความเสียหายและไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวได้อีก เนื่องจากเป็นการดำเนินคดีซ้ำและไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ"

มองเหตุผลในทางการเมืองที่พรรคเพื่อไทยกล้าที่จะเสนอเรื่องนี้และแถมยังให้กฎหมายมีผลย้อนหลังด้วย เป็นเพราะส่วนหนึ่งได้แรงสนับสนุนเล็ก ๆจากพรรคก้าวไกล ซึ่งต่างต้องการให้เกิดรื้อฟื้นคดีการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงผ่านการเปิดทางให้มวลชนเสื้อแดงมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ จากเดิมที่เมื่อปี 2561 คณะกรรมการป.ป.ช.เคยลงมติไม่รื้อฟื้นคดีดังกล่าวไปแล้ว จนเป็นผลให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก รอดพ้นจากทุกข้อกล่าวหา

ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นความพยายามของพรรคเพื่อไทยในการดึงมวลชนแดงกลับมา หลังจากต้องเสียรังวัดไปจากการกลืนน้ำลายมาร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่สนับสนุนคสช. ด้านพรรคก้าวไกลเองก็ไม่อาจที่ปฏิเสธวาระนี้ทิ้งไปได้เช่นกัน เพราะทั้งด้อมส้มและด้อมแดงต่างมีอุดมการณ์ที่ทับซ้อนกันอยู่

อย่างไรก็ตาม การจะผลักดันร่างกฎหมายทั้งสองฉบับให้ผ่านสภาไปได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะต้องใช้เสียงมากถึง 350 เสียง อีกทั้งท่าทีของส.ว.ต่อเรื่องนี้ก็ไม่เห็นด้วยพอสมควร หรือ แม้แต่ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ก็ยังสองจิตสองใจว่าจะตัดสินใจต่อเรื่องนี้อย่างไรดี เพราะไม่อยากเผชิญหน้ากับศาลและองค์กรอิสระ ประกอบกับ มีความเป็นไปได้ที่ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับอาจต้องชี้ขาดกันที่ศาลรัฐธรรมนูญ

ที่สุดแล้วพรรคเพื่อไทยเองก็คงคาดไม่ถึงว่าจะเจอกับกระแสต้านขนาดนี้ และยังไม่กล้าประเมินพลังทางการเมืองส.ว.ต่ำไป ดังนั้น การถอนเรื่องออกมาก่อนน่าจะทำให้คลื่นลมสงบ เพื่อไม่ให้กระทบการต้อนรับนายใหญ่กลับบ้านในเร็วๆ นี้

(https://mgronline.com/crime/detail/9670000014326)