วันอังคาร, สิงหาคม 20, 2567

134 คณาจารย์นิติฯ ร่อนแถลงการณ์ ไม่เห็นด้วย คำวินิจฉัย คดียุบก้าวไกล-เศรษฐาพ้นนายกฯ


The Politics ข่าวบ้าน การเมือง
8 hours ago
·
แถลงการณ์กรณีการยุบพรรคก้าวไกลและกรณีความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง

ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคในการมีส่วนร่วมทางการเมืองเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 (“คำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล”) รวมถึงมีการและวินิจฉัยให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 (“คำวินิจฉัยปลดนายกฯ) นั้น เนื่องจากเป็นผู้ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์นั้น คณาจารย์และนักกฎหมายซึ่งมีรายชื่อท้ายแถลงการณ์นี้ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทั้งสองคดี ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับใช้กฎหมายและการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่สอดคล้องกับลหลักการพื้นฐานแห่งกฎหมายและเห็นว่าคำวินิจฉัยทั้งสองมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดปัญหาอย่างร้ายแรงต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหลายประการ ดังจะกล่าวต่อไปนี้

ประการแรก ศาลรัฐธรรมนูญตีความขยายเขตอำนาจของตัวเองและตีความบทบัญญัติของกฎหมายให้มีขอบเขตการบังคับใช้ที่กว้างขวางจนไม่มีขอบเขตที่ชัดเจนเพื่อยุบพรรคและตัดสิทธินายกรัฐมนตรี ซึ่งขัดต่อหลักการพื้นฐานแห่งกฎหมายที่การใช้การตีความกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของบุคคลจะต้องตีความอย่างแคบและด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล ทั้งที่มีแนวทางในการตีความการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาชาธิปไตยอย่างชัดเจนและเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่ศาลกลับตีความขยายความให้รวมถึง การเสนอนโยบายของพรรคการเมืองและการเสนอแก้ไขกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ ในคำวินิจฉัยปลดนายกฯ ศาลตีความการกระทำที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษณ์์ และการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้รวมถึงการขาดความระมัดระวังในการเสนอชื่อบุคคลที่ศาลเชื่อว่าน่าจะมีปัญหาในเรื่องคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี โดยศาลอ้างอิงความคิดเห็นของสาธารณชนเพื่อสนับสนุนความเชื่อดังกล่าว ทั้งที่ไม่เคยมีการพิสูจน์การขาดคุณสมบัติของบุคคลดังกล่าวภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด

ประการที่สอง คำวินิจฉัยทั้งสองคดีเป็นผลของการดำเนินการกระบวนพิจารณาที่ไม่สอดคล้องกับหลักการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (due process) โดยศาลอ้างอำนาจตามกฎหมายในการกำหนดกระบวนพิจารณาตามที่เห็นสมควรเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่เพียงพอในการตัดสินคดี การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลจึงเกิดความไม่แน่นอนทั้งต่อการเตรียมการต่อสู้คดีของผู้ที่ถูกกล่าวหาและการติดตามความคืบหน้าของสาธารณชน ทั้ง ๆ ที่ตามหลักการพื้นฐานของกฎหมายนั้น กระบวนพิจารณาคดีที่จะนำไปสู่การจำกัดสิทธิผู้ที่ถูกต้องกล่าวหาจะต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้นำเสนอพยานหลักฐานเพื่อต่อสู้คดีอย่างเต็มที่และเป็นธรรม พยานหลักฐานบางส่วนที่ศาลรับในคดีล้มล้างการปกครองซึ่งมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 และถูกอ้างอิงในคดียุบพรรคก้าวไกลในเวลาต่อมา เช่น พยานหลักฐานจากหน่วยงานความมั่นคง เป็นพยานหลักฐานที่ศาลรับฟังโดยไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ถามค้านหรือโต้แย้ง ภายใต้หลักการพื้นฐานแห่งกฎหมาย คำวินิจฉัยที่เป็นผลจากกระบวนพิจารณาคดีที่ไม่ชอบย่อมเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ประการที่สาม การที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความขยายเขตอำนาจของตนเองให้เข้าไปตรวจสอบการกระทำทางนิติบัญญัติและการกระทำทางรัฐบาล เกินไปกว่าที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจและไม่สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานของกฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นการทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจและเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อกลไกคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติและการบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหารเกิดความไม่แน่นอนและไม่เป็นอิสระ
 
1) คำวินิจฉัยในคดีทั้งสองแสดงให้เห็นถึงปัญหาในการใช้และตีความกฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีทั้งสอง ปรากฏการใช้นิติวิธีในการตีความกฎหมายที่ผิดหลงอยู่เป็นจำนวนมาก อย่างน้อยที่สุด การตีความให้การกระทำทางนิติบัญญัติมีลักษณะเดียวกับการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การยอมรับการตีความให้พรรคการเมืองสามารถถูกยุบได้และกรรมการบริหารพรรคสามารถถูกตัดสิทธิทางการเมืองได้ โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบพยานหลักฐานเพิ่มติม รวมถึงการตีความบทกฎหมายที่ไม่มีความชัดเจนดังเช่น “การมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” อย่างกว้างขวาง จนนำไปสู่การจำกัดสิทธิในทางการเมืองของบุคคล ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ขัดหรือแย้งต่อนิติวิธีในทางกฎหมาย และหลักการพื้นฐานทางนิติศาสตร์ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ การยุบพรรคก้าวไกล โดยอ้างเหตุผลของการปกป้องการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น ยังแสดงให้เห็นถึงการปรับใช้เครื่องมือทางกฎหมายที่ผิดพลาดของศาลรัฐธรรมนูญ การยุบพรรคการเมืองและการตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคนั้นไม่เพียงแต่จะทำให้กรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรคได้รับความเสียหาย แต่บรรดาประชาชนทั้งหลายผู้สนับสนุนพรรคการเมืองนั้นล้วนแต่ได้รับความเสียหายไปด้วย ดังนั้น โดยทั่วไปแล้วการยุบพรรคการเมืองย่อมเป็นวิถีทางสุดท้ายที่ควรกระทำเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยหากพิจารณากรณีที่เป็นต้นเรื่องแห่งการยุบพรรคก้าวไกลแล้ว จะพบว่าการเสนอร่างกฎหมายนั้นมีกลไกที่คอยควบคุมตรวจสอบอยู่อีกเป็นจำนวนมาก จึงไม่มความจำเป็นใดเลยที่จะต้องยุบพรรคการเมือง ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงขัดหรือแย้งต่อหลักการนี้อย่างสิ้นเชิง

2) คำวินิจฉัยในคดีทั้งสองแสดงให้เห็นถึงการไม่เคารพหลักการแบ่งแยกอำนาจ และการขยายอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวางเพื่อควบคุมตรวจสอบองค์กรทางการเมืองอื่น

ในคดีของพรรคก้าวไกล ได้อาศัยการตีความกฎหมายอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการตีความในลักษณะที่ว่าการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นการกระทำที่ล้มล้างการปกครองโดยตรง หรือเป็นการกระทำที่ใกล้ชิดต่อผลเป็นอย่างยิ่งจึงจะถือว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง แต่ลำพังการใช้สิทธิในการเสนอร่างกฎหมาย การประกันตัวผู้ต้องหา หรือการรณรงค์ใด ๆ เกี่ยวกับการแก้ไขความในมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งสามารถกระทำได้ตามกฎหมาย ล้วนแล้วแต่เป็นการล้มล้างการปกครองได้ทั้งสิ้น ผลที่ตามมาในกรณีนี้ นั่นคือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเสนอร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกล ทั้ง ๆ ที่ร่างนั้นยังไม่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภา และไม่มีผู้ใดทราบว่าร่างนั้นจะผ่านการพิจารณาออกมาในรูปแบบใด เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นการแทรกแซงการใช้อำนาจนิติบัญญัติ และโดยเนื้อแท้แล้วกรณีดังกล่าวมีขั้นตอนในการควบคุมตรวจสอบอีกเป็นจำนวนมากอย่างชัดแจ้ง
 
ส่วนคดีการสั่งให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องด้วยไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์นั้น ก็แสดงให้เห็นถึงอันตรายในการดำรงอยู่ของบทบัญญัติที่คลุมเครือและสามารถตีความได้หลากหลาย ดังเช่น “มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” ที่สามารถตีความได้อย่างหลากหลาย มีความเป็นอัตตะวิสัย สูง และอาจหาข้อยุติที่ยอมรับร่วมกันไม่ได้ ว่ามีแนวโน้มที่จะถูกใช้เพื่อเปิดช่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปก้าวล่วงองค์กรผู้ใช้อำนาจบริหารในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี และเป็นกระบวนการที่มีการตรวจสอบและถ่วงดุลโดยกลไกของรัฐสภารองรับไว้อยู่แล้วเช่นกัน กรณีนี้จึงเป็นอีกครั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญอาศัยการตีความตัวบทกฎหมายเพื่อขยายขอบเขตอำนาจของตนในลักษณะที่ละเมิดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรกระทำ และยังเป็นกรณีที่แสดงให้เห็นถึงอันตรายของการนำเอาสิ่งซึ่งไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ว่ามีความหมายอย่างไรดังเช่น “ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” มาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และผูกโยงสิ่งนี้เข้ากับคุณสมบัติของการดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย
 
3) คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีทั้งสองก่อให้เกิดผลเสียต่อระบอบประชาธิปไตยและทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อระบบกฎหมายอย่างรุนแรง

ในคดีทั้งสอประการสุดท้าย คำวินิจฉัยทั้งสองคดีของศาลรัฐธรรมนูญลดทอนความเชื่อมั่นศรัทธาที่ประชาชนชาวไทยและต่างชาติมีต่อระบบกฎหมายและการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทยอย่างรุนแรง ง ศาลรัฐธรรมนูญตีความบทบัญญัติแห่งกฎหมายเพื่อขยายอำนาจของตนเองอย่างกว้างขวาง การขยายอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้ ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง อย่างน้อยที่สุด เราจะพบได้ไม่ยากนักว่าในคดีทั้งสองนี้ หลักการแบ่งแยกอำนาจอันเป็นรากฐานประการหนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยถูกละเมิด รวมถึงนิติวิธีในการตีความกฎหมายที่บิดพลิ้วไปจนถึงขนาดที่ทำให้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลในทางการเมืองสามารถถูกละเมิดได้โดยง่าย บรรดาผลเสียทั้งหลายเหล่านี้ ในแง่หนึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้พิทักษ์หลักการทางรัฐธรรมนูญ แต่กลายมาเป็นผู้กำกับดูแลและควบคุมระบบการเมือง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญในฐานะผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญควรจะกระทำ เพราะเป็นสิ่งที่บ่อนทำลายรากฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

และในอีกแง่หนึ่งการละเมิดหลักการคำวินิจฉัยที่มีผลให้พรรคการเมืองที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุดต้องสิ้นสุดลงและมีผลให้นายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะการตีความกฎหมายและวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ไม่เป็นไปตามหลักการของกฎหมายย่อมทั้งหลายเหล่านี้ทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่มีต่อระบบกฎหมายและระบบการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างรุนแรง สังคมไทยได้เป็นประจักษ์พยานของและก่อให้เกิดความรู้สึกหดหู่และสิ้นหวังจากการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการประหัตประหารทางการเมือง ทำลายคู่ต่อสู้ในทางการเมือง เราสามารถพบเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนโดยทั่วไปว่าการตัดสินคดีของศาลรัฐธรรมนูญดูจะมีผลลัพธ์ที่คาดหวังไว้อยู่แล้ว แล้วจึงค่อยหาแนวทางในการปรับหลักกฎหมายให้เข้ากับผลลัพธ์ดังกล่าวการที่ประชาชนทั่วไปสามารถทำนายผลคดีได้อย่างแม่นยำ และเห็นได้ว่าเป็นการตัดสินคดีที่เป็นเพียงเกมการเมือง ไม่ใช่การตัดสินคดีอันเป็นกระบวนการทางกฎหมายโดยเห็นว่าไม่ได้การตัดสินคดีเป็นกระบวนการทางกฎหมาย แต่เป็นเพียงเกมการเมือง ทัศนคติเช่นนี้เป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่าสังคมและประชาชนขาดความเชื่อมั่นศรัทธาที่มีต่อระบบกฎหมายและระบบการเมืองอย่างรุนแรง สังคมที่ประชาชนขาดความเชื่อมั่นศรัทธาต่อระบบกฎหมายและระบบการเมืองย่อมไม่ สิ่งเหล่านี้ทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อระบบกฎหมายอย่างรุนแรง ระบบกฎหมายที่อาศัยเฉพาะแต่อำนาจแต่ขาดซึ่งความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนย่อมไม่อาจดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและในท้ายที่สุดแล้วจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาหรือข้อขัดแย้งทางสังคมและการเมืองใด ๆ ได้เลย

คณาจารย์นิติศาสตร์และนักกฎหมายดังมีรายนามแนบท้ายนี้ ขอยืนยันถึงความไม่เห็นด้วยต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรคก้าวไกล และการวินิจฉัยให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรี และต้องการชี้ให้สังคมไทยได้เห็นว่าการใช้และตีความกฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญผิดหลักการทางนิติวิธีที่ได้รับการยอมรับซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของวิชานิติศาสตร์ ดังได้แสดงเหตุผลไว้แล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้สังคมไทยได้ถกเถียงในประเด็นดังกล่าวบนพื้นฐานของเหตุและผลอย่างจริงจัง รวมถึงการถกเถียงในประเด็นเรื่องการปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญในอนาคตต่อไปด้วย

ด้วยความเชื่อมั่นในนิติรัฐ ประชาธิปไตย และอำนาจสูงสุดของประชาชน

รายนามคณาจารย์นิติศาสตร์และนักกฎหมาย 134 คน อาทิ
 
กมลนัยน์ ชลประทิน สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
กรกนก วัฒนภูมิ กรรภิรมย์ โกมลารชุน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กฤษณ์พชร โสมณวัตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง เขมภัทร ทฤษฎิคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ชาคริต สิทธิเวช คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล ณรงค์เดช สรุโฆษิต คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณัฏฐพร รอดเจริญ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พัชร์ นิยมศิลป คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พันธุ์ทิพย์ สายสุนทร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฯลฯ