วันอังคาร, สิงหาคม 20, 2567

สมชาย ปรีชาศิลปกุล ชวนทำความเข้าใจ ‘ตุลาการธิปไตย’ ผ่านแนวคิดของแรน เฮิร์ชล์ ในสภาวะที่ตุลาการแผ่ขยายอำนาจเหนือสถาบันการเมืองอื่น จนทำให้ประชาชนรู้สึกว่าการเลือกตั้งและผู้แทนประชาชนเป็นเรื่องไร้ความหมาย



ตุลาการธิปไตยในอุ้งมือชนชั้นนำ

18 Aug 2024
1O1 World

ตุลาการธิปไตย (juristocracy) เป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากแนวความคิดระบอบรัฐธรรมนูญใหม่ (the new constitutionalism) ที่แพร่กระจายตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 ประเทศจำนวนมากปรับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญให้มีการรับรองสิทธิเสรีภาพพร้อมกับการยอมรับอำนาจตรวจสอบโดยตุลาการ อันส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายอำนาจสำคัญจากสถาบันการเมืองในระบบตัวแทนไปสู่สถาบันตุลาการ ซึ่งจะกลายเป็นสถาบันที่ทวีความสำคัญในการชี้ขาดปัญหาทางการเมือง

คำอธิบายในแวดวงวิชาการที่ศึกษาประเด็นการเมืองและรัฐธรรมนูญในระยะแรก ได้มีการให้ความหมายต่อการขยายอำนาจตรวจสอบโดยตุลาการว่าเป็นภาพสะท้อนถึงความก้าวหน้าในการควบคุมตรวจสอบอำนาจของรัฐ หรือที่ถูกเข้าใจกันอย่างกว้างขวางในถ้อยคำว่า ‘ตุลาการภิวัตน์’ (judicial activism) แต่ต่อมาในภายหลังมีการทำความเข้าใจในแง่มุมที่แตกต่างออกไป

ศาสตราจารย์แรน เฮิร์ชล์ (Ran Hirschl) แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตรอนโต คือคนหนึ่งที่มีความเห็นว่าแนวทางการอธิบายที่มุ่งเน้นในแง่มุมเชิงก้าวหน้าของฝ่ายตุลาการยังมีข้อจำกัดเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่ได้วางอยู่บนการศึกษาเปรียบเทียบและการทำความเข้าใจต่อปัจจัยทางการเมืองที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการละเลยกลุ่มชนชั้นนำในท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลง จึงอาจทำให้ไม่สามารถเข้าใจถึงสถานะและบทบาทอันแท้จริงของอำนาจตุลาการที่เปลี่ยนรูปโฉมไป

โดยงานของเฮิร์ชล์เรื่อง Towards Juristocracy: The origins and consequences of the new constitutionalism (Cambridge, Massachusetts, and London: Harvard University Press, 2007) นับเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่จะช่วยทำให้เข้าใจถึงการเกิดขึ้นและบทบาทของอำนาจตุลาการได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

เฮิร์ชล์วิเคราะห์รัฐธรรมนูญและอำนาจตุลาการใน 4 ประเทศ (อิสราเอล แคนาดา นิวซีแลนด์ และแอฟริกาใต้) และเสนอว่าแม้จะเห็นการปรับเปลี่ยนทางรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการเพิ่มอำนาจให้กับตุลาการผ่านอำนาจตรวจสอบได้กลับกลายเป็นยุทธวิธีของชนชั้นนำในการปกป้องหรือรักษาสถานะดั้งเดิมของตนเองไว้จากแรงกดดันทางการเมือง ด้วยการสนับสนุนจากฝ่ายตุลาการที่มีผลประโยชน์และอุดมการณ์ร่วมกัน

แนวทางการวิเคราะห์เช่นนี้จะช่วยให้เกิดความตระหนักว่าการปฏิรูป (หรือปฏิวัติ) ที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญอาจจะปกปิดประเด็นสำคัญในรัฐธรรมนูญไว้ ความเปลี่ยนแปลงในประเด็นเรื่องสิทธิอาจไม่ได้สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในสังคมการเมืองมากไปกว่าการเป็นเครื่องมือในการปกป้องโครงสร้างสังคมการเมืองที่ดำรงอยู่ก่อนหน้าหรือในขณะนั้น[1]

ทั้งนี้ เขาเสนอแนวทางการวิเคราะห์ ‘การธำรงอำนาจนำ’ (hegemonic preservation approach) ไว้อย่างน่าสนใจ

เฮิร์ชล์เห็นว่า ตราบเท่าที่สถาบันทางการเมืองแบบผู้แทนคงอยู่ภายใต้ระเบียบทางสังคมที่ชนชั้นนำจารีตยังสามารถครองพื้นที่ได้ อำนาจอธิปไตยของรัฐสภาก็จะได้รับการตอกย้ำว่าเป็นหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ขณะที่อำนาจของฝ่ายตุลาการก็จะถูกจำกัดไว้เป็นอย่างมาก แต่เมื่อชนชั้นนำจารีตเริ่มสูญเสียความสามารถในการควบคุมสถาบันการเมืองเหล่านี้ พวกเขาก็จะเริ่มกล่าวถึงปัญหาของ ‘เผด็จการเสียงข้างมาก’ (tyranny of the majority) และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนคำอธิบายต่อบทบาทของฝ่ายตุลาการพร้อมกับการเคลื่อนย้ายอำนาจของการตัดสินใจในนโยบายสำคัญไปให้กับฝ่ายตุลาการ

การเคลื่อนย้ายอำนาจในการตัดสินใจประเด็นปัญหาทางการเมืองหรือศีลธรรมจากพื้นที่ทางการเมืองไปสู่อำนาจทางตุลาการจะมีผลต่อการลดแรงกดดันจากสาธารณะผ่านระบบผู้แทน โดยการเคลื่อนย้ายพื้นที่การตัดสินใจดังกล่าวเป็นที่ยอมรับของผู้ถืออำนาจทางการเมืองด้วยเหตุผลว่า ภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือในความเป็นกลางของตุลาการจะทำให้ไม่ต้องเผชิญความเสี่ยงในลักษณะเดียวกันหากประเด็นข้อขัดแย้งดังกล่าวถูกนำไปพิจารณาในทางการเมือง

ปรากฏการณ์นี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไปพร้อมกับการขยายตัวของระบบการเมืองแบบตัวแทนที่มาพร้อมกับระบบการเลือกตั้งที่เปิดกว้างให้กับผู้คนอย่างเท่าเทียม (universal suffrage) อันแตกต่างไปจากระบบการเลือกตั้งแบบเดิมที่อาจให้ความสำคัญกับการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน เพศ เชื้อชาติ รวมถึงระดับการศึกษา แต่ความตื่นตัวทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นในหมู่ประชาชน ความเปลี่ยนแปลงของประชากรเชิงโครงสร้าง ล้วนแต่มีผลอย่างสำคัญต่อความต้องการตัวแทนของตนในการนำเสนอความต้องการซึ่งอาจมีความหลากหลายเป็นอย่างมาก[2]

ในท่ามกลางความท้าทายดังกล่าวนี้ ชนชั้นนำดั้งเดิมที่ถูกคุกคามมากขึ้นจากระบอบประชาธิปไตยก็ได้เลือกที่จะจำกัดอำนาจในการตัดสินใจนโยบายทางการเมืองของสถาบันที่มาจากการเลือกตั้ง ด้วยการเคลื่อนย้ายอำนาจไปสู่สถาบันที่แยกต่างหากออกไป ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายตุลาการหรือองค์กรที่มีลักษณะทางวิชาชีพเป็นการเฉพาะให้ทำหน้าที่แทน เช่น องค์กรทางด้านการเงินและค้า ธนาคารกลาง องค์กรมหาชนลักษณะต่างๆ

เฮิร์ชล์เสนอว่า เมื่อชนชั้นนำต้องเผชิญกับการโต้แย้งอำนาจนำของกลุ่มตน พวกเขาก็สนับสนุนให้มีการเคลื่อนย้ายอำนาจไปยังฝ่ายตุลาการ ซึ่งจะเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไข 3 ประการ[3] กล่าวคือ หนึ่ง เมื่ออำนาจนำและการควบคุมเหนือการตัดสินใจของพวกเขาถูกท้าทายจากกลุ่มที่เคยเป็นชายขอบ สอง เมื่ออำนาจของฝ่ายตุลาการได้รับการยอมรับในความเที่ยงธรรมและความเป็นกลาง สาม เมื่อฝ่ายตุลาการในสังคมการเมืองนั้นมีแนวโน้มที่สอดคล้องกับอำนาจนำทางการเมือง

สำหรับเฮิร์ชล์ เขามีความเห็นว่าการยอมรับอำนาจตรวจสอบโดยตุลาการจะไม่ได้ถูกผลักดันด้วยความมุ่งมั่นทางการเมืองเพื่อสร้างความก้าวหน้าในประเด็นเรื่องความยุติธรรมทางสังคมหรือเพื่อยกระดับสิทธิมนุษยชนเพียงอย่างเดียว ในหลายกรณีความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นด้วยความต้องการที่จะปกป้องสถานะดั้งเดิม (status quo) ทางสังคมและการเมืองและปิดทางต่อการท้าทายที่แหลมคมผ่านกระบวนการในระบอบประชาธิปไตย[4]

งานของเฮิร์ชล์ก็ได้แสดงให้เห็นว่าการขยายอำนาจตรวจสอบโดยตุลาการมักจะเป็นผลมาจากการร่วมมือกันของชนชั้นนำ 3 กลุ่มใหญ่ อันประกอบด้วยชนชั้นนำทางการเมืองซึ่งพยายามทำให้การกำหนดนโยบายออกห่างไปจากการเมืองแบบประชาธิปไตย ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจผู้ซึ่งนิยมในระบบตลาดเสรีและไม่พึงพอใจต่อรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย และฝ่ายตุลาการซึ่งพยายามสถาปนาอำนาจในเชิงสัญลักษณ์และเชิงสถาบัน[5]

ดังนั้น แม้ดูราวกับว่าชนชั้นที่ครองอำนาจนำในหลายแห่งจะสนับสนุนต่อกระบวนการของระบอบประชาธิปไตย แต่การปรับเปลี่ยนอำนาจในการสร้างนโยบายจากสถาบันที่มาจากการเลือกตั้งไปยังองค์กรตุลาการหรือองค์กรอิสระในลักษณะอื่นๆ ก็จะเป็นการลดทอนความเสี่ยงที่ชนชั้นนำดั้งเดิมจะต้องเผชิญจากการท้าทายต่ออำนาจนำของตนเอง

เฮิร์ชล์เห็นว่าแนวโน้มในการขยายอำนาจตรวจสอบของตุลาการที่เกิดขึ้นในระดับโลกนั้น หัวใจสำคัญกลับเป็นการพยายามทำให้อำนาจในการตัดสินใจนโยบายมีความเป็นอิสระจากการเมืองในระบอบประชาธิปไตย[6] และทำให้ตุลาการกลายเป็นองค์กรที่มีอำนาจเหนือกว่าสถาบันการเมืองอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหนือกว่าฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร กรณีการยุบพรรคการเมือง การตัดสินให้การเลือกตั้งถูกต้องตามกฎหมาย การจำกัดอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติในการเสนอกฎหมาย การควบคุมฝ่ายบริหารในการกระทำต่างๆ ที่เป็นปัญหาการเมือง ฯลฯ ล้วนเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะที่เรียกว่าตุลาการธิปไตย

การจัดวางสถาบันตุลาการในลักษณะเช่นนี้ย่อมทำให้เกิดคำถามขึ้นว่ายังเป็นรูปแบบที่สอดคล้องกับหลักการของระบอบประชาธิปไตยจริงหรือ เมื่อสถาบันที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนกลับถูก ‘ควบคุม-จำกัด-ทัดทาน’ ไว้โดยอำนาจตุลาการที่เป็นเพียงคนส่วนน้อยและมีความสัมพันธ์อย่างเบาบางกับประชาชน

ตุลาการธิปไตยเป็นปรากฏการณ์ที่แผ่ขยายไปอย่างกว้างขวางในหลายประเทศ กรอบการวิเคราะห์เรื่องการธำรงอำนาจนำจะเป็นแนวคิดที่สร้างความเข้าใจต่อปรากฏการณ์นี้ ทั้งจะช่วยเปิดเผยให้เห็นถึงบทบาทและพลังของชนชั้นนำที่ยังดำรงอยู่ในระบอบประชาธิปไตยภายใต้รูปแบบที่แยบยลและสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น


References↑1 Ran Hirshcl, Towards Juristocracy: The origins and consequences of the new constitutionalism Cambridge, Massachusetts, and London: Harvard University Press, 2007, p. 99
↑2 Ran Hirshcl, p. 216
↑3 Ran Hirshcl, p. 98
↑4 Ran Hirshcl, p. 213 – 214
↑5 Ran Hirshcl, p. 214
↑6 Ran Hirshcl, p. 217

(https://www.the101.world/juristocrazy/)