วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 03, 2562

ถึงครานาเกลือ 'โอย' บ้าง แถมด้วยต่อไป ไทยถูกตราหน้า ประเทศ 'ปั่นค่าเงิน'

โบราณว่า “ยากจนก็กัดก้อนกินเกลือ” สภาพความเป็นอยู่ชาวบ้านในประเทศไทยหลังจาก ๕ ปีกว่าภายใต้ครอบครองของ คสช. ไปทางนั้น แต่อนิจจารัฐบาลเขากลัวว่าเกลือจะไม่พอใช้ เลยปล่อยให้เกลือ อิมพอร์ต จากอินเดียทะลักเข้าไทย

“ชาวนาเกลือเพชรบุรีโอด เกลือสมุทรราคาตก วอนรัฐช่วยหยุดนำเข้าจากอินเดีย” พาดหัวข่าวเมื่อปลายเดือนที่แล้วว่างั้น “ปัญหาความเดือดร้อนของชาวนาเกลือสมุทรในจังหวัดเพชรบุรีขณะนี้คือ...ขายเกลือสมุทรได้ราคาต่ำกว่าต้นทุนการผลิต”

สถิตินำเข้าเกลือจากประเทศอินเดีย ในปี ๒๕๕๗ อยู่ที่มูลค่า ๒๓ ล้านบาท (ลดจากเมื่อปี ๕๕ มูลค่าเกือบ ๙๗ ล้านบาท) ครั้นถึงปี ๕๙ กลางยุค คสช.๑ เกลือนำเข้ามูลค่า ๖๗ ล้านบาทกว่าๆ แต่ถึงปี ๖๑ ตอน คสช.พี้คสุด มูลค่าเกลือนำเข้าถีบขึ้นไปเป็น ๓๓๒ ล้านบาท

ปัจจุบันราคาเกลือเกวียนละ ๑,๒๐๐ บาท ถึง ๑,๓๐๐ บาท แต่ต้นทุนอยู่ที่ ๑,๖๐๐ บาท จะให้อยู่รอดต้องขายได้เกวียนละ ๒ พันบาท ดังนั้นชาวนาเกลือเพชรบุรีจึงร้องขอให้รัฐบาลห้ามนำเข้าเกลือสมุทรจากอินเดียหน่อย

นายชุมพล นิลพันธ์ ประธานกลุ่มเกษตรกรนาเกลือบ้านแหลมบอกว่า แม้ว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาเกลือตกต่ำมาจากการที่ประมงจับกุ้งปลาในทะเลได้น้อย จึงใช้เกลือน้อย แต่เกลือนำเข้าช่วยซ้ำเติม จนเกลือผลิตในประเทศแทบขายไม่ได้


ได้แต่หวังกันว่าต่อไปจะไม่มีเกลือ อาลีบาบา เข้ามาเติมอีก เนื่องเพราะ “เขตฟรีโซน อี-คอมเมิร์ซ ในพื้นที่อีอีซี มีผลบังคับใช้แล้ว ปลดล็อกพิธีการศุลกากร ขยายเวลาเสียภาษีนำสินค้าออกนอกเขตเป็น ๑๔ วัน จากเดิม ๑ วัน ประเดิมรองรับอาลีบาบา”
 
ผู้ผลิตไทยรายหนึ่งบ่นว่า ราชกิจจาฯ “พิธีการศุลกากร เขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ” นี้ “กระตุ้นให้สินค้าจีนหลั่งไหลเข้ามาในไทยมหาศาล มาพักไว้ที่อี-คอมเมิร์ซพ้าร์คของอาลีบาบาซึ่งอยู่ในเขตฟรีเทรดโซน”

สินค้าจีนราคาถูกอยู่แล้ว ไม่เสียภาษีนำเข้าและไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ราคาก็จะถูกลงไปอีก ซึ่งผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะเอสเอ็มอีไม่สามารถแข่งขันได้แน่นอน” นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com กล่าว

ไม่นับการค้ากับจีนที่ขาดดุลต่อเนื่องมาตลอด แม้นว่ามูลค่าการนำเข้าจากจีนลดลงเล็กน้อยในช่วง ๙ เดือนแรกของปี ๒๕๖๒ (ที่ ๑.๑๖ ล้านล้านบาท) ซึ่งภาษาทางการบอกเป็นการ ขยายตัว ที่ ลดลง ๒.๕%” ประเภทเดียวกับ ไม่ถดถอยแต่โตช้า นั่นละ

ส่วนในภาษากิจการธนาคาร เขาใช้คำว่า หดตัวเช่นที่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทยแจ้งไว้ “แนวโน้มธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศ ยังปรับลดอย่างหนักหน่วง...ส่งผลให้ปริมาณการทำธุรกรรมฯ

...หดตัวค่อนข้างมากกว่าช่วง ๒-๓ ปีที่แล้ว” นั่นคือ หด ทั้งแผง “โดยรวมหดตัว ๒.% โดยมูลค่าส่งออกหดตัว ๒.% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมูลค่านำเข้าหดตัว ๓.%” เขาอ้างสาเหตุหลักอยู่ที่เพราะว่า เงินบาท “แข็งค่าขาเดียว”
ทางด้านสำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย แจงบ้างว่าให้จับตาสหรัฐ “จะประกาศรายชื่อประเทศติดบัญชีบิดเบือนค่าเงิน หากไทยหลุดโผหรือปัญหาคลี่คลายคาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเข้าแทรกแซงค่าเงินหลังจากนี้”

ถึงตอนนั้น “อาจจะเห็นเงินบาทกลับขาเป็นอ่อนค่า” ได้ แต่ว่าภาพลักษณ์ขณะนี้ไม่ค่อยดีนัก ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจฯ ธ.ไทยพาณิชย์ เตือนว่า “ไทยอาจเข้าเกณฑ์เป็นผู้แทรกแซงค่าเงิน ๒ จาก ๓ เกณฑ์ตามที่สหรัฐฯ กำหนดแล้ว”

เพราะว่า “ไทยมีแนวโน้มเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกว่า ๖.% ในปีนี้ ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ (กำหนดไว้) ๒%” และ “ธปท.ได้เข้าแทรกแซงค่าเงินบาทต่อเนื่อง เกินกว่า ๖ เดือนในรอบ ๑ ปีย้อนหลัง” ไปแล้วด้วย ทั้งที่ในเกณฑ์ข้อที่ ๓ “ไทยยังไม่เข้าข่าย”

เกณฑ์นี้ระบุว่า สหรัฐไม่ควรที่จะขาดดุลการค้ากับไทยเกินกว่า ๒ หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ปัจจุบันไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐราว ๑.๙ หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว และเป็นไปได้ที่ตัวเลขการเกินดุลจะเพิ่มสูงขึ้น

ดังนั้น จึงมีโอกาสที่สหรัฐฯ จะประกาศให้ไทยอยู่ใน monitoring list หรือเป็น currency manipulator ได้ในระยะข้างหน้า” มากอยู่


ไพร่ฟ้าหน้าใสจึงต้องรอดูว่าหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล คสช.๒ จะแสดงกึ๋นในด้านบริหารเศรษฐกิจมหภาคนี้ต่อไปอย่างไร ก่อนที่กิจการยักษ์ๆ ของเจ้าสัวจะพลอยพังตามหาบเร่รากหญ้าไปด้วย