ดูเหมือนว่าตอนนี้ใครๆ อยากแก้รัฐธรรมนูญกันเกือบจะถ้วนหน้า
โดยเฉพาะเมื่อ ‘ลูกแม่ถ้วน’ ออกมาเล่นด้วยคน ประธานสภาแจ้งว่า “ผมเป็นหนึ่งในคนที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้”
แหม ลุงมาบอกช้าไปสามปี
อย่างว่าละ มาช้าดีกว่าไม่มา อย่างน้อยๆ
อุตส่าห์พูดตามจริง ถึงสิ่งที่ผู้ร่าง “ประกาศว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแก้คอร์รัปชั่น
แต่จริงๆ มันไม่ใช่...รับมาจากต่างประเทศมาก แต่เจ้าของเมื่อมาเห็นก็บอกว่าปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว”
ชวน หลีกภัย ‘กรีด’ ถึงทีมร่าง รธน.ของ มีชัย ฤชุพันธุ์
เรื่องที่เอา ‘เยอรมันโมเดล’ มาย่อยซอยพรรคการเมืองให้เป็นพรรคเล็กพรรคน้อยจำนวนมาก
(แล้วคำนวณคะแนนพิศดาร แจกที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อให้ไปโหวตเอานายกฯ
จากคณะรัฐประหาร)
“มีไม่กี่เสียงก็ได้เป็นส.ส.” ลูกแม่ถ้วนว่า
“แต่ได้ยกเลิกไปแล้ว ส่วนเรามีพรรครัฐบาล ๑๕-๑๖ พรรค
และฝ่ายค้าน ๗ พรรค ไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ที่ได้เห็นมากนัก” อาจเป็นเพราะพรรค ปชป.ของท่านเสนอให้อดีตนายกฯ
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้าไปเป็นกรรมาธิการวิสามัญแก้ รธน.
ทั้งนี้หลังจากที่พรรคอนาคตใหม่ส่งหัวหน้า
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เข้าไปเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พรบ.งบประมาณ ที่ประธานสภาฯ
เห็นด้วย (มี สิระ เจนจาคะ พรรค พปชร. ดึงดันค้านอย่างผิดๆ อยู่คนเดียว)
ไม่แต่เพียงส่งอภิสิทธิ์ไปเป็นกรรมาธิการเท่านั้น
ในเกมการเมือง ‘ฝ่าย (แบ่ง) เค้ก’ ปชป.มุ่งยึดหัวหาดกำกับควบคุมกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้
ด้วยการเสนอให้อดีตหัวหน้าพรรค ปชป.เข้าชิงตำแหน่งประธาน กมธ. นั่นเลย
ในเมื่อเห็นว่าประชาชนตระหนักมากแล้ว
นี่เป็น รธน.ของ คสช.แท้ๆ ที่ ‘ฝ่ายค้าน’ (เพื่อไทยและอนาคตใหม่)
โหมมาแต่อ้อนแต่ออก ต้องแก้ไขแน่ๆ แล้วยังมี ‘ฝ่ายค้อม’
ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย โดย โคทม อารียา และ อนุสรณ์ ธรรมใจ
จัดแถลง เมื่อปลายเดือนที่แล้ว
มีการลงนาม ๑๖ เครือข่าย พร้อมประกาศหลักการ
‘อ้อมๆ’ สี่ข้อ
เช่นต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม ต้องได้ฉันทามติเสียก่อน ต้องให้ประชาธิปไตยเข้มแข็ง
แต่ยังไม่เจาะจงลงไปว่าจะแก้ตรงไหน แก้อย่างไร ต่างกับ ‘ฝ่ายคุ้ย’
กลุ่มของ ‘ฟอร์ด เส้นทางสีแดง’
นั่นเป็นกลุ่มนักกิจกรรมที่มักจัดชุมนุมดึงคนที่เห็นชอบออกมาร่วมและสนับสนุน
บางครั้งจึงแวะข้างทางไปบ้างเพื่อรณรงค์ตามสถานการณ์เฉพาะหน้า แต่ก็ลงเอยในเป้าหมายว่าเอารัฐธรรมนูญ
๖๐ ออกไปก่อน แล้วนำ รธน.๔๐ มาใช้แทนไปพลาง
(https://www.facebook.com/notes/anurak-jeantawanich/A262/2703637746363697/, https://www.innnews.co.th/politics/news_519631/QQYSnFqU, https://www.thaipost.net/main/detail/49535 และ https://www.khaosod.co.th/politics/news_3032182)
หลักใหญ่ใจความที่ทำให้ ‘ต้องแก้’ รธน.๖๐
คงหนีไม่พ้นสิ่งที่ฝ่ายค้านประโคมมาตลอด ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ ‘สืบทอดอำนาจ’ คณะรัฐประหาร เพราะมีการตอนกิ่งเข้าไปปักไว้หลายอย่าง
นอกจากวุฒิสภา ๒๕๐ คนอยู่ ๕ ปี รอโหวตนายกฯ สมัยหน้าปี ’๖๕
แล้วยังยุทธศาสตร์ชาติ กับการปฎิรูป ๒๐ ปี ที่ตัวใหญ่หัวหน้า
คสช.นั่งแช่อยู่ไม่ยอมขยับ ทั้งที่รูปธรรมในการปฏิรูปมีแต่การเอา
กอ.รมน.เข้าไปคุมเกือบทุกอย่างในวิถีชีวิตของประชาชน
นอกนั้นมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีกมากมาย ที่บ่อนทำลายการเมืองประชาธิปไตยระบบรัฐสภา
หากจะลงรายละเอียดความชั่วร้ายของ รธน.๖๐
บางเรื่องพอเป็นกระสาย ได้จากที่ ‘ไอลอว์’
เผยแพร่ไว้เป็นวิทยาทาน เช่น ประเด็นสิทธิต่างๆ ของประชาชนถูกกระทำ
‘จำบัง’ ย้ายที่ไปอยู่ในหมวดใหม่ที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อ
คสช.โดยเฉพาะ คือหมวด ‘หน้าที่ของรัฐ’
รัฐธรรมนูญ ๖๐ “เขียนเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรมไว้เพียงมาตราเดียว
คือมาตรา ๒๙” นอกนั้นเอาไปใส่ไว้ในมาตรา ๖๘ ที่มีเนื้อหาเรื่องสิทธิเพียง ๑๖
บรรทัด ต่างกับ รธน.๔๐ “เขียนเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรมไว้อย่างละเอียดถึง ๑๔
มาตรา”
ไอลอว์อธิบายว่า เมื่อรัฐธรรมนูญเอาสิทธิของประชาชนไปไว้เป็นหน้าที่ของรัฐ
เป็นการเปิดช่องให้เกิดการ ‘ละเลย’ หรือ ‘หลีกเลี่ยง’
สิทธิเหล่านั้น ยกตัวอย่างสิทธิของผู้ถูกคบคุมตัว “ที่จะพบและปรึกษากับทนายความ”
สิทธิพื้นฐานอันนี้ไม่ได้อยู่ในหมวดสิทธิของประชาชนอย่างเคย
แต่ไปอยู่ที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๗/๑ ที่ในทางปฏิบัติเกิดขึ้นบ่อย โดยเจ้าหน้าที่ทหารอ้าง ‘กม.พิเศษ’ เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึก
“ซึ่งเจ้าหน้าที่มักอ้างว่าไม่ใช่ขั้นตอนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ผู้ที่ถูกควบคุมตัวไม่ใช่ ‘ผู้ต้องหา’ จึงไม่มีสิทธิตามมาตรา ๗/๑ และปฏิเสธไม่ให้ญาติหรือทนายความเข้าเยี่ยม”
เรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นบ่อยในสามจังหวัดติดชายแดนภาคใต้
“ส่วนหนึ่งที่ทหารหลีกเลี่ยงได้เช่นนี้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติคุ้มครองสิทธินี้ไว้โดยตรง
หากรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนเช่นเดียวกับฉบับปี ๒๕๔๐ แล้ว
ก็ย่อมคุ้มครองผู้ถูกควบคุมตัวในทุกระดับทุกพื้นที่...
เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารก็จะไม่สามารถอ้าง ‘กฎหมายพิเศษ’ ให้ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญได้”