จะแถแถกแหลกราญอย่างไร ได้เห็นกันทั่วว่าตะแบงเลี่ยงผิดไปอย่างด้านๆ
รัฐบาล คสช.๒ ของประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะสืบทอดอำนาจรัฐประหาร ก็ยังดันทุรังต่อไปไม่ใส่ใจเทพยดาฟ้าดิน
จนผู้คนชักเริ่มสงสัยแล้วว่า หรือฟ้าดินจะเป็นใจ
กรณี ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.หัวคะแนนพรรคพลังประชารัฐ
และรัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรฯ ถูกตราหน้าโดยหนังสือพิมพ์ออสเตรเลียว่าโกหกต่อสาธารณะชน
เรื่องเคยต้องคดีที่นครซิดนี่ย์ว่าแท้จริงเขาถูกจำคุก ๔ ปี
ในความผิดฐานจัดการนำเข้าเฮโรอิน ๓.๒ กิโล และขนถ่ายไปสู่ลูกค้า
แม้หลักฐานรายละเอียดจากเอกสารสำนวนคดีที่ ‘ซิดนี่ย์มอร์นิ่งโพสต์’ นำมาเปิดโปงจะรัดตัวธรรมนัสเพียงใด
ก็ยังไม่มีการขยับให้ข้อเท็จจริงกระจ่างจนสามารถชี้ยันได้ว่า
คำแก้ตัวทั้งจากธรรมนัสและประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้มีอุปการคุณของเขา ยังฟังไม่ขึ้นกระทั่งวันนี้
จนมีบางคนเปรยว่า ขนาดกรณีนายกรัฐมนตรีถวายสัตย์ไม่ครบตามระเบียบรัฐธรรมนูญยังไถสีข้างกันไปได้
นับประสาอะไรกับรอยด่างของรัฐมนตรีช่วยว่าการคนหนึ่ง จะลากถูลู่ถูกังกันไปไม่ได้
มิใยนักวิชาการสายซ่าหริ่มแนะยื่นศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้รู้แล้วรู้รอดไป
เจษฎ์ โทณวณิก
อดีตเคยเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
ตั้งข้อสังเกตุว่าเรื่องของธรรมนัสนี่มีสองประเด็นจะต้องหาคำตอบ คือประการแรก
เขาเคยติดคุกที่ออสเตรเลียจริงหรือไม่ ข้อนี้น่าจะถามว่าเขาติดคุก ‘จริงแค่ไหน’ มากกว่า ๘ เดือนคดีมโนสาเร่ หรือว่า ๔
ปีคดีร้ายแรงกันแน่
ในเมื่อบทความของซิดนี่ย์มอร์นิ่งโพสต์อ้างข้อมูลที่ได้มาจากเอกสารสำนวนคดีของศาล
สิ่งที่เจษฎ์แนะให้รัฐบาลไทยทำเรื่องขอข้อมูลหรือสำเนาเอกสารเหล่านั้นโดยตรงจากศาลออสเตรเลียเป็นทางออกที่ควรทำ
จะหวังให้หนังสือพิมพ์นำมาตีแผ่โจ่งแจ้งคงไม่ได้ คงมีข้อจำกัดในการเผยแพร่เอกสารตัวจริงอยู่
อีกประเด็นที่เจษฎ์ชี้
ว่าการเป็นผู้กระทำผิดติดคุกคดียาเสพติดในต่างประเทศ
เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามในการเป็น ส.ส. (ตั้งแต่ขั้นตอนการลงสมัครมาเลย) และรัฐมนตรีหรือไม่
แม้นว่านักกฎหมายอื่นๆ ต่างก็ให้ความเห็นกันเกร่อว่าใช่แน่ ความผิดย่อมติดอยู่กับตัว
ไม่ใช่เปลี่ยนที่แล้วมลทินจะหายไป
เจษฎ์บอกว่าถ้าไม่ยื่นเรื่องให้
กกต.ชงส่งศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน ก็ให้ ส.ส.ฝ่ายค้านร่วมกันเสนอประธานสภา
ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสิ
แต่ว่าช้าก่อน
ศาลรัฐธรรมนูญของไทยนี่มีทั้งประวัติและท่าทางปัจจุบัน
ทั้งเอื้อและให้ท้ายรัฐบาลทหาร ที่แปลงร่างมาเป็นรัฐบาลสืบทอดอำนาจรัฐประหาร แบบเดียวกับ
‘อียิปต์โมเดล’ อย่างไรอย่างนั้น
ดูแต่คดีที่ (ผ่านทาง) ผู้ตรวจการแผ่นดินและอดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ
ยื่นกันไว้สิ “ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ไม่รับคำร้อง” จากนายภาณุพงศ์ ชูรักษ์
และนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทั้งคู่ อ้างว่า พรป.วิธีพิจารณา ๒๕๖๑ ไม่ยอมให้ทำ
ศาลยกมาตรา ๔๖ ขึ้นมาตีตก “ต้องเป็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพอันเกิดจากการกระทำของหน่วยงานของรัฐ
เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานซึ่งใช้อำนาจรัฐ” จึงจะทำได้ มิหนำซ้ำ ‘วรรคสาม’ ของมาตรานี้ยังชี้ว่า
“การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ เป็นการกระทำทางการเมือง
(Political Issue) ของคณะรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหาร
ในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์...ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่อาจรับคำร้องไว้พิจารณาได้”
หนักเข้าไปอีก ศาลอิง ‘พระราชดำรัส’ เมื่อ ๑๖ กรกฎา
ที่ประยุทธ์เอาใส่กรอบมาทำพิธี (วันที่ ๒๗ สิงหา) อ้างว่าได้กระทำการตามประราชประสงค์ครบถ้วนแล้ว
จะขาดตกบกพร่องอย่างไรไม่สำคัญ ศาลบอกว่า “การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ดังกล่าวจึงไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด”
ศาลรัฐธรรมนูญคล้องจองตามครรลอง
คสช.อย่างนั้น ถ้าคิดให้ดีนี่เป็นชั้นเชิงแยบยลที่จะเอาศาลรัฐธรรมนูญมาฟอกตัวให้แก่ธรรมนัส
เท่านั้นไม่พอยังจะเป็นการนำศาลรัฐธรรมนูญมาฟอก (ผง) ขาวให้รัฐบาลไทย (และ/หรือเลยเถิดไปถึงจิตสำนึกทางอนารยธรรมความเป็นไทยๆ
ด้วย)
ว่าประเทศนี้ ชนชาตินี้ กระทำความผิดอาญาโดยมาตรฐานสากลในการค้ายาเสพติด
ไม่เป็นไร เป็นใหญ่เป็นโตยกย่องเชิดชูกันได้ ขอให้ ‘รักชาติ’
เหลือหลายยิ่งนักเท่านั้น