หลุดได้ง้ายง่าย
คดีประยุทธ์เป็นเจ้าหน้าที่รัฐต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญที่จะรับตำแหน่งนายกฯ
ศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นดองกับ คสช. (ในเมื่อแต่ละคนถ้าไม่ตั้งมากับมือก็ต่ออายุให้ยาว)
บอกว่าอ้างกฎหมายข้อไหนก็ไม่ผิด เพราะเขาเป็นผู้ยึดอำนาจ
ศาลรัฐธรรมนูญไทยนี่เป็นเป็นองค์กรทางกฎหมายที่วิเศษสุดในโลก
วินิจฉัยรองรับอำนาจเบ็ดเสร็จเผด็จการเท่านั้นไม่พอ
ออกกฎเหล็กห้ามวิจารณ์คำตัดสินทุกอย่าง ตั้งแต่เดือนหน้าใครหือโดนเอาตาย
เมื่อ ๑๗ กันยา ราชกิจจาฯ
เผยแพร่ข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญ ลงนามโดยประธาน นุรักษ์ มาประณีต มีด้วยกัน ๑๐
ข้อ ซึ่ง “iLaw กล่าวว่าสิ่งน่าสนใจอยู่ในข้อที่
๑๐” ซึ่ง “ห้ามบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายตามคำสั่งศาล หรือวิจารณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของศาลโดยไม่สุจริต...”
เป็นการเขียนย้อนรอยข้อกฎหมายคล้ายคลึงกันที่มีอยู่แล้วใน
พรป.ศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๘ อันทำให้ผลกระทบแตกต่างจนแทบจะเป็นตรงข้าม
ในเมื่อมาตรา ๓๘ ระบุว่า “การวิจารณ์คําสั่งหรือคําวินิจฉัยคดี ที่กระทําโดยสุจริต...ไม่มีความผิดฐานละเมิดอํานาจศาล”
นั่นคือราชกิจจานุเบกษา
ที่จะมีผลบังคับในวันที่ ๑๗ ตุลาคมเป็นต้นไปนี้ ห้ามเด็ดขาดโดยไม่มีข้อยกเว้น
ขณะที่มาตรา ๓๘ เป็นข้อยกเว้น อีกทั้งผู้มีอำนาจที่จะบอกว่าใครวิจารณ์ศาลโดยสุจริตหรือไม่สุจริต
ก็คือศาลนั้นเองอีกน่ะแหละ
นั่นโดยไม่ต้องคำนึงถึงของตายอย่างการ “ใช้ถ้อยคําหรือมีความหมายหยาบคายเสียดสี
หรืออาฆาตมาดร้าย” ต่อศาล ย่อมผิดเต็มประตูอยู่แล้ว ในเมื่อ
พรป.วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญให้อำนาจประธานเป็นผู้ออกข้อกำหนดในเรื่องนี้ทั้งหมด
ดังนั้น
ประชาชนจะได้เห็นคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่เอื้อประโยชน์ ไม่เอาผิดแก่หัวหน้าและกับคนสำคัญในรัฐบาล
คสช.๒ บ่อยขึ้น แม้จะแย้งหรือเลี่ยงความจริงไปอย่างทะแม่งๆ ดังการตัดสินคดีที่
ส.ส.พรรคฝ่ายค้านรวม ๑๑๐ คน ยื่นฟ้องเรื่องคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรี
นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว พรรคเพื่อไทย
ฝ่ายค้านอ้างรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ว่านายกฯ ต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีลักษณะต้องห้ามในความเป็น
‘เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ’ ทั้งนี้โดยความเชื่อมโยงจากมาตรา ๑๗๐ วรรค ๑(๔) ไปยังมาตรา ๑๖๐ และมาตรา
๙๘(๑๕)
แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับวินิจฉัยว่า
ฐานะของประยุทธ์คือ “หัวหน้าคณะรักษาความความสงบแห่งชาติ
เป็นผลสืบเนื่องมาจากการยึดอำนาจ และเป็นตำแหน่งที่ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์
ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ”
“ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา หรือการกำกับดูแลของรัฐ
หรือหน่วยงานรัฐใด” อีกทั้งตำแหน่งนี้ “ไม่ได้รับการแต่งตั้งโดยกฎหมาย ไม่มีกฎหมายกำหนดกระบวนวิธีการได้มา...”
ซ้ำยัง “มีอำนาจหน้าที่เป็นการเฉพาะชั่วคราว ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง”
จึงถือว่า “ไม่มีสถานะ ตำแหน่งหน้าที่
หรือลักษณะงานทำนองเดียวกันกับพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ
หรือรัฐวิสาหกิจ และไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ด้วย ฉะนั้นให้ประยุทธ์เป็นนายกฯ
ต่อไปได้
จะเห็นว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่เพียงย้อนรอยตัวกฎหมายที่ให้อำนาจนั้นเองแล้ว
ยังย้อนแย้งกับหลักเหตุผลในความเป็นจริงอย่างดึงดัน (หากคำของ อจ.โกวิทย์ วงศ์สุรวัฒน์
มาใช้ก็ได้ว่า ‘ด้านๆ’)
ดังที่อาจารย์รัฐศาสตร์ มธ. สรุปย่อไว้ว่า
“ใช้อำนาจรัฐแต่ไม่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ?
ไม่ได้รับการแต่งตั้งโดย กม.แต่ออก กม.และบังคับใช้ กม.กับหน่วยงานรัฐ
เอกชน และปชช.?, ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐตาม กม.แต่รับเงินเดือนจากภาษีของ
ปชช.?” ประจักษ์ ก้องกีรติ เขียนบนทวิตเตอร์
ร้ายที่สุดตรงที่มีอำนาจแค่ ‘ชั่วคราว’ แต่อยู่ยาวนานถึง ๕ ปี ยาวกว่ารัฐบาลปกติ
(ที่เป็นผลจากการเลือกตั้ง) ทุกรัฐบาลในประวัติศาสตร์ของไทย อีกด้วย