วันจันทร์, กันยายน 30, 2562

เรื่องของ เจริญชัย นักรณรงค์ 112 “โพสต์เฟซบุ๊กมาห้าปีกว่าแล้ว ไม่เคยโดนจับเลย” แต่ถูกปรับทัศนะคติที่แม้ทหารก็รู้ว่า เปลี่ยนไม่ได้





Attitude adjusted?: เจริญชัย นักรณรงค์ 112 กับการปรับทัศนคติที่แม้ทหารก็รู้ว่า เป็นไปไม่ได้


29 กันยายน 2019
Freedom ILaw


“โพสต์เฟซบุ๊กมาห้าปีกว่าแล้ว ไม่เคยโดนจับเลย”


เป็นคำกล่าวของเจริญชัย แซ่ตั้ง ชายร่างเล็กวัย 60 ปีผู้รณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 หรือข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ เขาโพสต์ข้อความนี้ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว เพียงวันเดียวทหารก็บุกเข้ามาค้นบ้านพักและควบคุมตัวเขาไปคุมขังที่มทบ.11 เป็นเวลาเจ็ดวัน ชื่อของ เจริญชัย เป็นที่คุ้นหูในฐานะผู้ที่ใช้พื้นที่ออนไลน์รณรงค์ให้ข้อมูลหลากหลายประเด็น ตั้งแต่เรื่องที่หนักๆ ที่เขายืนหยัดมาโดยตลอด คือ การยกเลิกมาตรา 112 ประเด็นที่เขาเป็นตัวตั้งตัวตีล่ารายชื่อเพื่อยกเลิกมาตราดังกล่าวตั้งแต่ปี 2554 หรือ การต่อต้านเผด็จการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุครัฐบาล คสช. ไปจนถึงประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพที่เขาใช้ตัวเองเป็นแล็บทดลองและเสนอผลการทดลองที่เขาคิดว่า ถ้าหากทำตามแล้วจะส่งผลดีต่อสุขภาพให้เพื่อนบนโลกออนไลน์รับรู้ด้วย

การเคลื่อนไหวบนเฟซบุ๊กของเจริญชัยมีลักษณะโดดเด่น เขามักจะทำภาพที่โพสต์ขึ้นมาเอง เป็นภาพที่มีสีสันสดใสหลากสี มีข้อความมากมายอัดอยู่ในภาพ การโพสต์แต่ละครั้งของเจริญชัยมีคนกดไลค์และกดแชร์ไม่มากนัก บนประวัติส่วนตัวที่เจริญชัยเขียนไว้บอกสาธารณะ ระบุงานที่ตัวเองทำ คือ ผู้อุทิศตนรณรงค์ยกเลิก มาตรา 112

อย่างที่กล่าวไป ประเด็นหลักที่เจริญชัยถูกควบคุมตัวครั้งนี้ ก็คือ เรื่องสถาบันกษัตริย์ ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วทหารและกระบวนการปรับทัศนคติ 7 วันไม่สามารถเปลี่ยนใจของเขาได้เลย


Day 1# บันทึกซักถามบางตอนเขียนแบบจะใส่ความผมให้ผิดมาตรา 112 และ116


วันที่ 1 กรกฎาคม 2560 เวลาเช้าตรู่ ประมาณ 6.00 น. ขณะที่เจริญชัยกำลังนอนหลับอยู่ภายในห้องนอน ทหารผลักประตูเข้ามาในห้องนอนของเขาโดยไม่แจ้งว่า การบุกค้นครั้งนี้อาศัยอำนาจใด จากนั้นทหารตรวจค้นอุปกรณ์อิเลกทรอนิคส์และยึดไปจำนวน 11 รายการได้แก่ 1.เครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค 2.โทรศัพท์มือถือ 3.ฮาร์ดดิสต์ประมาณ 10 ตัว บางตัวเสียแล้ว 4.เคสคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ 5.แฟลชไดร์ฟ 6.กล้องถ่ายรูป 7.สมุดบัญชีเงินฝาก 8.เอกสารต่างๆ เช่น ฎีกายกเลิกม.112 หนังสือร้องเรียนธนาคารกสิกรไทย สติ๊กเกอร์ล้มรัฐธรรมนูญทหาร ล้มเผด็จการคมช. ภาพพิมพ์สี 1 แผ่น 9.สมุดโน้ตส่วนตัว 10.แทปเล็ต 11.ซีดีและดีวีดี

“...วันนั้นตอนที่มาก็บุกตรงมาที่ห้องนอนเลย ไม่ได้บอกว่า จะเข้ามาค้นด้วยอำนาจอะไร ตอนที่มาค้น เจ้าหน้าที่ค้นละเอียดทุกตู้ ทุกซอกทุกมุม แหวน สร้อยทอง พระเครื่องของผมก็เอาออกมาดู แต่ไม่ได้มีอะไรสูญหายไป ไม่มีอะไรเลย ตอนมาก็เดินมาเฉยๆ เลย เดินดุ่มเข้ามา คว้านู่น คว้านี่ แต่ผมเห็นว่าเป็นทหารเลยไม่พูดอะไร ไม่ได้ใช้กำลัง เขาไม่ได้คุยอะไรด้วย ไม่มีเอกสารอะไรทั้งนั้น...”

ระหว่างที่ตรวจกำลังค่อยๆ ตรวจยึด ก็นำบัตรประชาชนของเขาไปถ่ายคู่กับสิ่งของด้วย จากนั้นจึงนำสิ่งของที่ยึดได้ทั้งหมดเรียงบนพื้นและถ่ายรูปเป็นหลักฐาน ทหารสั่งให้เจริญชัยเตรียมเสื้อผ้าไปสักสองสามชุดเผื่อว่าจะต้องไปอยู่ที่มทบ.11 หลายวัน เขาจึงเตรียมเสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัวไปด้วย ต่อมาทหารติดต่อให้ตำรวจยศใหญ่สองคนที่ประจำการอยู่ที่สน.บุคคโล สน.พื้นที่รับผิดชอบ ให้มาลงบันทึกประจำวันสิ่งของที่ยึดไว้ทั้งหมด จนเมื่อเวลาประมาณ 8.00 น. ตำรวจเดินทางมาถึง ได้จับมือกับเจริญชัยและกล่าวว่า “เจริญชัยใช่ไหม ยินดีที่ได้รู้จัก” และควบคุมตัวเขาไปที่สน.บุคคโล จังหวะที่เจริญชัยถูกคุมตัวออกมาขึ้นรถนั้นเขาเห็นว่า มีทหารในเครื่องแบบประมาณหกเจ็ดคนรออยู่ที่หน้าบ้านด้วย


รถยนต์ที่นั่งไปเป็นรถเก๋งธรรมดามีทหารสองคนนั่งด้านหน้า และอีกหนึ่งคนนั่งด้านข้างขวาของเขา เมื่อไปถึงสน.บุคคโล ตำรวจเพียงแค่ลงบันทึกประจำวัน ไม่ได้ตั้งข้อกล่าวหาใดๆ จากนั้นทหารจึงควบคุมตัวเจริญชัยจากสน.บุคคโลไปส่งที่มทบ.11 ระหว่างทางทหารก็ชวนคุยเรื่องชีวิตส่วนตัวและการงานของเขาไม่ให้เครียด พอขับเข้ามาในมทบ.11 ทหารบอกกับเขาให้นำเสื้อขึ้นมาปิดตาก่อน โดยให้เหตุผลว่า "เป็นธรรมเนียมของทหาร"

เมื่อเข้าไปภายในค่าย มทบ.11 ทหารก็พาตัวไปที่ห้องหนึ่ง มีโต๊ะตัวใหญ่พร้อมเจ้าหน้าที่สิบคนนั่งรออยู่ ทหารให้กรอกแบบฟอร์มทำประวัติ และให้ลงชื่อกำกับไว้ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังขอบัตรประชาชนและกระเป๋าเงินของเขา โดยนับจำนวนเงินให้ดูว่า มีทั้งหมดเท่าไหร่และยึดไว้ พอบันทึกข้อมูลเสร็จจึงควบคุมตัวเจริญชัยไปในห้องพัก บริเวณที่เขาถูกคุมขังไว้นั้น เป็นห้องขนาดใหญ่และแบ่งเป็นห้องย่อยด้วยบอร์ดกั้น ห้องด้านซ้ายมีสองห้องและด้านขวาสามห้อง แต่ละห้องมีขนาดประมาณ 3x3 เมตร ภายในห้องมีเตียงฟูกมีโต๊ะยาวประมาณ 60x180 ซม. และเก้าอี้สามตัว ไว้ให้เจ้าหน้าที่มานั่งซักถาม เมื่อเดินออกไปจะมีโต๊ะประชุมที่ใช้ในการซักถามเจริญชัยอีกที่หนึ่ง และมีประตูผ่านไปยังห้องน้ำ บริเวณนั้นมีทหารเฝ้าอยู่และตั้งโต๊ะวางอาหารของพวกเขาไว้ เจริญชัยเล่าด้วยว่า ห้องดังกล่าวมีกระจกมองเห็นข้างนอกได้ โดยช่วงเช้าเขาจะเปิดม่านออกไปดูทหารมาฝึกที่สนามด้านล่าง แต่มีอยู่วันหนึ่งเป็นการแข่งขันกีฬา เขาเปิดดูตามปกติ แต่ปรากฏว่า มีทหารมาบอกให้ปิดม่าน เพราะ "นายเขาสั่งมาไม่ให้ดู”

ภายในห้องยังมีตะกร้า ขัน ยาสีฟัน สบู่ ผ้าเช็ดตัวและชุดเสื้อยืดคอกลมสีน้ำเงินเข้ม เมื่อไปถึงห้องทหารก็บอกให้เปลี่ยนชุดเลยและนำชุดที่เจริญชัยเตรียมไว้ไปเก็บ พอเวลาประมาณ 10.00 น. จึงเอาโจ๊กมาให้ทาน จากนั้นมีเจ้าหน้าที่หญิงหนึ่งคน และชายหนึ่งคนมาเริ่มสอบถาม ผู้ชายเป็นคนถามและผู้หญิงมีหน้าที่พิมพ์ข้อมูลตามที่เจริญชัยตอบ เมื่อพิมพ์เสร็จแล้วนำมาให้เจริญชัยดู พบว่า ข้อมูลบางตอนไม่ตรงและมีลักษณะใส่ความเขาด้วย


“...บางตอนเขียนแบบจะใส่ความผมให้ผิดมาตรา 112 และ 116 อ่านเจอตรงไหนไม่พอใจ ผมจะขีดทิ้ง กระดาษใบนั้นด้านล่างเขียนว่าจะไม่เอาผิดเขาด้วย ผมไม่ยอมเซ็นเลย เขาเลยเอาไปแก้ใหม่...”

การพูดคุยจบลงที่เจ้าหน้าที่นำข้อมูลที่พิมพ์ไปแก้ไขและให้เจริญชัยไปทานอาหารกลางวัน โดยมีทหารมาชวนคุยเรื่องทั่วไปในลักษณะมาหาข้อมูลเช่นว่า ทำไมถึงต่อต้านรัฐบาลทหาร เป็นต้น แต่ละครั้งที่มาใช้เวลาประมาณ 10-30 นาที วันแรกมีเจ้าหน้าที่มาพูดคุยอีกครั้งหนึ่งในช่วงเย็นและนำภาพเฟซบุ๊กของเจริญชัยมาให้เซ็นยอมรับว่า เขาโพสต์ข้อความเหล่านั้นจริง รวม 21 หน้า ลักษณะของเอกสารเป็นการถ่ายภาพจากภาพหน้าจอเฟซบุ๊กและวางเรียงในหน้ากระดาษเอสี่ ก่อนจะให้พักผ่อนในเวลาประมาณ 22.00 น.


Day 2# ถ้าข้อมูลทำขึ้นมาเองผมไม่ยอมรับ แต่เฟซบุ๊กที่ผมโพสต์(คุณ)จะเอามาให้เซ็นกี่หน้า ผมยอมรับทุกหน้า

วันที่สองเวลาประมาณ 6.00 น. ทหารนำอาหารเช้ามาให้ และเป็นธรรมเนียมที่ต้องถ่ายรูปเก็บไว้ทุกครั้ง แต่ไม่มีคนมานั่งคุยด้วย จนกระทั่งช่วงสายเจ้าหน้าที่หญิงที่พิมพ์ข้อมูลในวันแรกนำเอกสารมาให้เจริญชัยดูอีกครั้ง ปรากฏว่า ยังมีข้อมูลที่ผิดพลาดอยู่เช่น การระบุว่า เจริญชัยเคยไปปราศรัยที่สนามหลวง แต่เขาชี้แจงว่า เขาเพียงไปฟังการปราศรัยเท่านั้นไม่เคยเป็นผู้ปราศรัยเองสักครั้งเดียว พูดคุยอยู่สักพักหนึ่งจนเจริญชัยรู้สึกไม่พอใจ จึงขึ้นเสียงใส่เจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ชายมารับเรื่องต่อแทน มาพร้อมกับทหารอีกสี่นายและใช้สายตามองในทางไม่ประสงค์ดีเท่าไหร่นัก

“...เขามองผมแบบประสงค์ร้าย ผมบอกไม่ต้องมามองเลย ไม่มีอะไร มามองแบบนี้ ผมไม่สบายใจ ให้ทั้งสี่คนออกไปผมบอกเลย คำขาด ให้ขีดฆ่าข้อมูลทิ้งหมดเลย ผมไม่ยอมรับ เฟซบุ๊กผมที่โพสต์(คุณ)จะเอามาให้เซ็น ผมยอมรับทุกหน้า ต่อให้มาเป็นร้อยๆใบผมก็จะเซ็น แต่ถ้าข้อมูลทำขึ้นมาเองผมไม่ยอมรับ...”

เจ้าหน้าที่จึงเอาภาพถ่ายจากหน้าเฟซบุ๊กของเจริญชัยมาให้เซ็นเพิ่มเติมอีก 30 หน้า สรุปเนื้อหาที่เจริญชัยเซ็นยอมรับไป เช่น ข้อความเกี่ยววงดนตรีไฟเย็น, โลโก้ที่เขียนว่า ไม่เอาระบอบxxxสั่งฆ่าประชาชน, กระทู้วิดีโอที่ด่าพล.อ.ประยุทธ์ และกระทู้เกี่ยวกับกลอน ก่อนจากไปเจ้าหน้าที่ชายรายนั้นขอให้เจริญชัย “เบาๆ เกี่ยวกับเรื่องระบอบพระมหากษัตริย์” จากนั้นจึงให้นอนพักอยู่ในห้อง จนประมาณ 20.00 น. จึงพาไปพบกับพล.ต.สนธยา ศรีเจริญ และฟังเขาพูดเพียงฝ่ายเดียว และมีตอนหนึ่งเขาถามเจริญชัยว่า “ทำไมถึงเป็นโสด?” และ “เคยเที่ยวกะหรี่ไหม?” เจริญชัยไม่ตอบและบอกว่า เป็นสิทธิของเขา พล.ต.สนธยาก็ไม่พอใจ ทั้งเมื่อเจริญชัยเป็นฝ่ายถามบ้าง เขาก็ไม่ตอบคำถามและลุกออกไป

“...พอผมได้โอกาสพูดบ้าง แค่ถามว่ามีเงื่อนไขอะไรในการปล่อยตัวผม ก็ยุติการเจรจาดื้อๆ แล้วให้ผมออกจากห้องไป ผมขอเข้าห้องน้ำหน่อยก็ว่าผม ไม่ให้เข้า เมื่อผมออกมาที่ห้องผมก็มีลูกน้องท่านมาชวนคุย ผมก็บอกว่า ถ้าเป็นเผด็จการเช่นนี้ผมไม่อยากคุยด้วย เขาเลยว่าจะมีคนอื่นมาเจรจาแทน...”

วันเดียวกัน แต่ช่วงเวลาไม่ชัดเจนนัก เจริญชัยได้พบพล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานกฎหมาย คสช. โดยพล.ต.วิจารณ์ ถามเขาว่า ใครคือ กิมเพียว เจริญชัยบอกว่า คือตนเอง เขาจึงบอกว่า ดังใหญ่แล้วนะ ลงข่าวในเว็บไซต์ข่าวประชาไทด้วย เจริญชัยเล่าว่า พล.ต.วิจารณ์มาพูดคุยแบบเป็นมิตรกว่าคนแรก มีช่วงหนึ่งที่พล.ต.วิจารณ์พูดว่า ผมจะเอาผิดคุณก็ได้นะ แต่เจริญชัยตอบกลับว่า ลองดูสิ ผมจะฟ้องกลับ และเจริญชัยได้ขอต่อพล.ต.วิจารณ์ว่า ให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองคดี 112 เช่น สมยศ และประเวศ โดยพล.ต.วิจารณ์ไม่ได้รับปากใดๆ บอกแค่เพียงประเวศเป็นหัวแข็ง


Day3# xxxสั่งฆ่าประชาชนคืออะไร?

เจริญชัยเล่าถึงการอยู่ในมทบ.11 เป็นวันที่สามว่า วันนั้นประมาณ 21.00 น. มีทหารที่เป็นอาจารย์อยู่ที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ามาซักถาม โดยเขาถามถึงรายละเอียดที่อยู่ในภาพถ่ายจากเฟซบุ๊กของเจริญชัย และถามว่า “xxxสั่งฆ่าประชาชน" ที่เขียนนั้นหมายถึงอะไร? เจริญชัยตอบว่า “ผมยืมเขามาใช้ประกอบในบทกลอน” ขอให้ทหารนายนั้นไปถามคนเขียนแทน ระหว่างนั้นมีทหารที่อยู่ในบริเวณนั้นบอกว่า “เดี๋ยวจะเอาข้อความนี้ไปให้ศาลตีความว่ามีความหมายถึงอะไร” เจริญชัยตอบกลับว่า “คุณยังไม่รู้เลยว่าหมายถึงอะไร แล้วคุณบ้าหรือเปล่าที่จะเอาไปให้ศาลตีความ” การพูดคุยใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง


Day 4# เทคนิคตำรวจสอบสวนตอนดึก


เจริญชัยเล่าว่า วันที่สี่ เวลา 18.00 น. ตำรวจเริ่มเข้ามาซักถาม เป็นตำรวจนอกเครื่องแบบสี่นาย โดยมีตำรวจคนหนึ่งทำเป็นขู่จะฟ้องมาตรา 112 ต่อเขา เจริญชัยตอบว่า “ลองฟ้องผมสิ ผมจะฟ้องกลับทันที พวกใต้ดินเขารู้จักผมหมดอ่ะ ถ้าเกิดอะไรขึ้นพวกคุณโดนถล่มยับ” ตำรวจชุดแรกกลับไป และมีตำรวจสืบสวนสองนายเขามาชวนคุยจนเกือบเที่ยงคืน เจริญชัยจึงขอไปอาบน้ำก่อน และเมื่อกลับมาตำรวจอีกสองนาย ก็มาพร้อมกับคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ก เจริญชัยกล่าวปฏิเสธที่จะพูดคุยด้วยและขอตัวนอน แต่ตำรวจยังยืนยันว่า จะซักถามให้ได้ จนสุดท้ายเมื่อเจริญชัยมาให้ความร่วมมือ ตำรวจจึงกลับไป


Day 5-6-7# ไม่ต้องทำความสะอาดห้อง เขาอาจกลับมาอีก


หลังจากที่ปฏิเสธที่จะให้เจ้าหน้าที่ซักถาม ทำให้ในวันที่ห้าและวันที่หกไม่ค่อยมีเจ้าหน้าที่เข้ามาซักถามหรือพูดคุย ต่อมาวันที่ 7 เวลาประมาณ 12.00 น. พล.ต.สนธยา โทรศัพท์เข้ามาคุยบอกว่า เขาสั่งให้ทหารมารับตัวเจริญชัยก่อนเที่ยง แต่ปรากฏว่า เจริญชัยได้กลับในเวลาประมาณ 19.00 น. ก่อนกลับมีนายทหารคนหนึ่งมาแกล้งคุยกับลูกน้องให้เจริญชัยได้ยินในทำนองที่ว่า ห้องของเจริญชัยยังไม่ต้องทำความสะอาด เพราะอาจจะกลับมาอีก และคนที่ดูแลในห้องเป็นทหารยศพันเอกก็บอกอีกว่า จะให้ศาลตีความข้อความที่เจริญชัยโพสต์เพิ่มว่าผิดหรือไม่ ก่อนได้กลับบ้าน ทหารให้เจริญชัยดูวิดีโอเรื่องในหลวง ร.9 เปรียบเทียบกับซุปเปอร์แมน เจริญชัยเล่าว่า ทหารรู้ว่าเปลี่ยนใจเขาไมได้ จึงบอกให้เขาเก็บไปคิดเอง

ก่อนปล่อยตัวทหารยังให้เขาเซ็นเอกสาร โดยมีเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรก่อนได้รับอนุญาต, ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง และหากไม่กระทำตามจะยินยอมให้ระงับธุรกรรมทางการเงินและยินยอมให้ดำเนินคดี แต่เงื่อนไขที่เอกสารระบุมีสามข้อ แต่หัวข้อกลับระบุว่าห้าข้อ เจริญชัยจึงขีดฆ่าคำว่า ห้าข้อออก เนื่องกลัวว่า จะมีการเติมเงื่อนไขในภายหลัง

เวลาประมาณ 16.00 น. แพทย์เข้ามาตรวจร่างกายเจริญชัย บริเวณที่ตรวจ เช่น เปลือกตา แขน หลัง แพทย์บอกกับเจริญชัยว่า เขาแข็งแรงดี ไม่มีปัญหาอะไร จากนั้นให้รับประทานอาหารเย็นและตรวจสอบของที่ยึดมา ต่อมาทหารจึงขับรถมาตัวมาส่งที่บ้านของเขาและคืนโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตให้บนรถ โดยถึงที่บ้านประมาณ 21.00 น.

เจริญชัยเล่าอีกว่า ตลอดเวลาเจ็ดวันที่เขาถูกควบคุมตัวที่ห้องในมทบ. 11 นั้นมีคนถูกควบคุมตัวพร้อมกันอีก 4 คน รวมเป็น 5 คน โดยคนที่อยู่ห้องฝั่งตรงข้ามชอบออกมานั่งหน้าห้อง ส่วนห้องอื่นๆเขาไม่รู้รายละเอียดมากนัก ในวันสุดท้ายที่จะปล่อยตัว เขาทราบมาว่า ทหารที่ดูแลห้องให้คนที่ถูกควบคุมตัวสามจากห้าคนไปคุยกับพล.ต.สนธยา ก่อน เหลือเจริญชัยและผู้ถูกคุมตัวอีกคนหนึ่ง เจริญชัยคาดการณ์ว่า สามคนแรกเป็นทหารที่เข้ามาสืบหรือสร้างสถานการณ์ระหว่างคุมตัว ส่วนอีกคนหนึ่งที่ปล่อยตัวทีหลังนั้นเป็นผู้ที่ถูกจับมาจริง
...

Juleejib Laothanakit อ่านแล้วอึดอัดใจกับทหาร แต่ก้อทึ่งกับใจของคุณเจริญชัยไปพร้อมๆ กันค่ะ