บีบีซีไทยนำบทความวิชาการของ ร.อ.ธรรมนัส มาเปรียบเทียบกับวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท สาขาการตลาด ของ ดร. ยานนิกา นีมาน (Jannica Nyman) ผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮังเกน (Hanken School of Economics ) ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ พบว่า มีข้อความเหมือนกันอย่างน้อย 14 จุด โดยส่วนใหญ่เป็นการลอกผลงานทบทวนวรรณกรรม (literature review) ชนิดคำต่อคำ
บทความดังกล่าวของ ร.อ. ธรรมนัสมีชื่อว่า "รูปแบบของการพัฒนาประสิทธิภาพท้องถิ่น รวมทั้งการส่งเสริมภาพลักษณ์และอัตลักษณ์เพื่อสร้างและเพิ่มมูลค่า: กรณีศึกษาจังหวัดพะเยา" ( The Forms of the Local Performance Development and Promotion with Image and Identity in Order to Increase the Value Added and Value Creation: A Case Study of Phayao Province ) มีเนื้อหารวม 12 หน้า ได้ลงตีพิมพ์ใน "วารสารการวิจัยทางวิทยาศาสตร์แห่งยุโรป" (European Journal of Scientific Research - EJSR) เมื่อเดือนพ.ค. ปี 2014
เมื่อ 23 ก.ย. ดร. ยานนิกา ได้ตอบบีบีซีไทยผ่านทางอีเมลว่า "ดิฉันนึกว่านี่เป็นเรื่องเอามาล้อกันเล่น จนกระทั่งฉันได้อ่านข่าวในซิดนีย์ มอร์นิง เฮรัลด์"
เธอยืนยันว่า งานวิจัยดังกล่าวเป็นวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทด้านการตลาดที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮังเกน (Hanken School of Economics) และรู้สึกว่า เนื้อหาในส่วนของการทบทวนวรรณกรรมในบทความวิชาการของ ร.อ. ธรรมนัส "มีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก" กับเนื้อหาในวิทยานิพนธ์ของเธอ
"ฉันไม่รู้มาก่อนว่าวิทยานิพนธ์ของฉันถูกลอกเลียน" เธอเปิดเผยกับบีบีซีไทยผ่านทางอีเมล
อย่างไรก็ตาม สถาบันวิชาการต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งฐานข้อมูลวารสารวิชาการนานาชาติ ไม่รับรองคุณภาพของวารสาร EJSR ทั้งยังชี้ว่าเข้าข่าย "วารสารนักล่าเหยื่อ" (predatory journal) ซึ่งเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อแลกกับการเผยแพร่ผลงานด้วย
บทความของ ร.อ. ธรรมนัสระบุชื่อผู้ร่วมประพันธ์ 5 ราย ซึ่งปรากฏชื่อของ ร.อ. ธรรมนัส เป็นชื่อแรก แต่กลับมีเนื้อหาที่ตรงกับข้อความทบทวนวรรณกรรมในวิทยานิพนธ์และบทความของผู้เขียนชาวต่างประเทศหลายคน โดยส่วนใหญ่มาจากวิทยานิพนธ์เรื่อง "การสร้างอัตลักษณ์องค์กรที่เป็นเอกภาพในกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ ถือเป็นเรื่องสำคัญหรือควรมีความสำคัญหรือไม่: มุมมองด้านการจัดการ" (Building a Coherent Corporate Identity in Startups - Is it or should it be Important?: A Managerial perspective) ของ ดร.นีมาน
อ่านบทความเต็มที่