วันศุกร์, กันยายน 20, 2562

เกิดแล้ว ครช. รณรงค์ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ‘ฉบับประชาชน’



เกิดแล้วอย่างทางการคณะรณรงค์ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ฉบับประชาชนเรียกตัวเองว่า ครช. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จากการรวมตัวกันของ ๒๘ องค์กรเพื่อประชาธิปไตยแท้จริงครบถ้วน ทั้งภาควิชาการ นิสิตนักศึกษา และภาคประชาชน

ที่ห้องประชุมคณะสังคมวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ อนุสรณ์ อุณโณ ในฐานะผู้ประสานงาน ครช. แถลงว่ามีความจำเป็นต้องทำให้รัฐธรรมนูญของประเทศศักดิ์สิทธิ์ ไม่ถูกฉีกแล้วฉีกอีก หรือผู้มีอำนาจเลือกไม่ปฏิบัติตาม เช่นกรณีนายกฯ ถวายสัตย์ไม่ครบ

ดังนี้ทั้ง ๒๘ องค์กรเห็นพ้องกันว่าจักต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนจริงๆ จากนี้ไปจะรณรงค์ให้เกิดเจตจำนงร่วมกันเห็นความสำคัญในการมีรัฐธรรมนูญที่เป็นมติมหาชน ไม่ใช่ชนิดที่ทำให้เกิด “รัฐสังคมสงเคราะห์ รัฐตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนยิ่งตัวลีบเล็ก” เช่นที่เป็นอยู่นี้

กำหนดเวลาขั้นตอนต่อไปจะเป็นการเสวนาโดย ๖ พรรคการเมือง นอกจากพรรคฝ่ายค้าน เพื่อไทย อนาคตใหม่ และประชาชาติแล้ว ยังมีฝ่ายรัฐบาลอีกสามพรรคคือ พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ และชาติไทยพัฒนา

พร้อมทั้งจะมีการเปิดคำถามสำรวจ “ว่าต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าอยากแก้แก้เรื่องอะไรด้วยวิธีไหน” โดยเจาะจงในหมู่นักศึกษาเป็นหลัก จากนั้นในวันที่ ๑๐ ธันวา จะมีการสรุปผลและเริ่มกิจกรรมขั้นต่อไป

ในชั้นนี้องค์กรต่างๆ ที่เข้าร่วมต่างมีแนวคิดหลายๆ อย่างในการกำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ที่เห็นพ้องกันเกือบเอกฉันท์ก็คือ ควรมีสภาผู้แทนราษฎรสภาเดียว และยกเลิกวุฒิสภา ๒๕๐ คนที่ คสช.ตั้ง อีกทั้งการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญนี้ต้องผ่านการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่

ตัวแทนจาก คนส. เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง สามชาย ศรีสันต์ เอ่ยถึงเรื่องนั้นว่าเพราะรัฐบาลปัจจุบันกล่าวหานักศึกษาประชาชนถูกล่อลวง (คำพูดของ ผบ.ทบ.) ฉะนั้นจะทำการสำรวจความเห็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย ๓๐ แห่งทั่วประเทศ

เพ็นกวินพริษฐ์ ชีวารักษ์ ในฐานะตัวแทน สนท.กล่าวเสริมว่า “นิสิตนักศึกษามีความตื่นตัวมาก ทุกคนรู้ว่าศาลรัฐธรรมนูญคืออะไร ๒๕๐ ส.ว.คืออะไร ทุกคนคงตระหนักในเร็ววันว่า ปัญหาทั้งหมดขมวดอยู่ที่รัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบธรรม”

ตัวแทนสมัชชาคนจนให้ความเห็นอีกส่วนหนึ่งด้วยว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้สร้างการเมืองแบบที่ไม่เห็นหัวคนจน เปิดช่องให้มีการออกกฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพขึ้น จึงยืนยันต้องแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และจะชักนำพรรคการเมืองลงไปรับฟังปัญหาจากรากหญ้า
 
เช่นเดียวกับกลุ่ม ๒๔ มิถุนาประชาธิปไตย โดย สมยศ พฤกษาเกษมสุข เผยว่าได้ปรึกษาใกล้ชิดกับแกนนำเสื้อแดงหรือกลุ่ม นปช.ในแต่ละจังหวัดเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะผลักดันผ่าน ส.ส.ฝ่ายค้าน ในประเด็นหลักๆ ได้แก่

“ให้มีการเลือกตั้ง ครม.โดยตรง ตัด ส.ว.ออกให้เหลือเพียงสภาเดียว...องค์กรอิสระมาจากสภาผู้แทนราษฎร กระจายอำนาจให้เลือกตั้งผู้ว่าทุกจังหวัด ให้มีเขตปกครองพิเศษสำหรับชายแดนภาคใต้ มีการประกันสิทธิการชุมนุม และสุดท้ายล้มล้างผลพวงของการรัฐประหารตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ จนถึงปัจจุบัน”

ด้านกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า โดย พริษฐ์ วัชรสินธุ แจ้งว่าต้องการเห็นระบบสภาเดียว เพราะทั่วโลกเหลืออยู่สองประเทศเท่านั้น เนื่องจากทำให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก “จุดสำคัญคือการออกกฎหมายที่รวดเร็วขึ้น”

ถึงอย่างนั้น ไอติม อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ยินดีที่จะรับ สว.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยหลัก ๑ สิทธิ ๑ เสียง “หรือลดอำนาจที่มาก ลง (ไป)” และไม่ควรจะกังวลว่าจะไม่มีใครคอยถ่วงดุลฝ่ายบริหาร เพราะ “ไม่น่ากังวลเท่า ส.ว.ที่ให้ท้ายฝ่ายบริหารอย่างเต็มที่”