เราเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่พนักงานเขตลาดกระบังผู้หนึ่งต้องถูกสั่งพักงาน
จากการที่ไทยอีนิวส์เสนอรายงานการร้องเรียนเรื่อง “ผู้อำนวยการเขตลาดกระบัง
เมาแล้วกร่าง”
เมื่อ ๒๗ กันยายน
มีคำสั่งสำนักงานเขตลาดกระบัง โดยนายวีรภัทร์ พันธุ์หาญ ให้พักราชการนางอัมพร
จันทะมนตรี ตั้งแต่วันที่ ๒๘ กันยายน เป็นต้นไป ในข้อหา “ใส่ความและให้ร้ายผู้อำนวยการเขตต่อบุคคลภายนอก”
คำสั่งที่ ๙๙๙/๒๕๖๒ ดังกล่าวระบุด้วยว่าการกระทำนั้น
อยู่ในข่ายข้อบังคับกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการบริหารทรัพยากรบุคคลของลูกจ้าง ข้อ ๗๗
วรรคแรก อันเป็นความผิดอาญาฐานดูหมิ่นและหมิ่นประมาทผู้อื่น “ไม่รักษาความลับของทางราชการ”
คำสั่งของผู้อำนวยการเขตผู้นี้อ้างด้วยว่า “ทำให้ผู้อำนวยการเขตเกิดความเสียหาย
เสื่อมเสียชื่อเสียง” จึงให้นางอัมพรซึ่งเป็นพนักงาน ‘กวาด’ ในสังกัดฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะของสำนักงานเขตนั้นพักงาน
การนี้ไทยอีนิวส์ได้รับแจ้งจากผู้ใกล้ชิดพนักงานในเขตลาดกระบัง
ว่า “เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยคนนี้ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมากทั้งตนเองและครอบครัว
เนื่องจากน้องเป็นหลักในการหาเลี้ยงครอบครัว ทั้งยังต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในครอบครัวอีกมากมาย”
นางอัมพรเป็นพนักงานคนหนึ่งที่คุยทางไลน์เรื่องการถูกทางเขตเรี่ยไรเงินคนละ
๑๕๐ บาทเพื่อจัดงานเลี้ยงในโอกาสเกษียณอายุราชการของผู้อำนวยการเขต เธอได้ถูกเจ้าหน้าที่เขตยึดเอาโทรศัพท์มือถือส่วนตัวไป
ทั้งที่ไม่ได้ให้ความยินยอม
“ทั้งยังมีการข่มขู่หว่านล้อมจะดำเนินคดีกับพนักงานคนนี้อีกด้วย”
ผู้ที่ร้องเรียนต่อไทยอีนิวส์เล่าเรื่องราวเพิ่มเติมว่า “การกระทำของ ผอ.สนง.เขตฯ
คนนี้เป็นเสมือนผู้ใหญ่รังแกเด็ก
ใช้อำนาจหน้าที่ของตัวเองกดขี่ข่มขืนใจผู้อื่น
ให้ยอมรับการกระทำของตัวเองเป็นเริ่องที่ถูกต้อง ใครที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับตัวเองก็จะถูกข่มขู่ถูกสั่งย้าย
สั่งพักงานอย่างไม่เป็นธรรม”
แม้จะได้มีการทำหนังสือร้องเรียนไปยัง กทม.
กันหลายครั้ง ตลอดสามปีที่ผ่านมา “พร้อมข้อมูลหลักฐานเกือบ ๔๐ ฉบับ ทั้งผู้ร้องก็มีตัวตนติดตามเรื่องมีหนังสือทวงถามตลอดมา
แต่ผู้มีอำนาจใน กทม.ไม่เคยดำเนินการใดๆ”
การกระทำของ
กทม.เยี่ยงนี้เท่ากับปกปิดความผิด และกลบเกลื่อนการกระทำเสื่อมเสียของผู้บริหารระดับสูงในองค์กร
ด้วยการกลั่นแกล้งให้ร้ายต่อผู้ที่เปิดโปงความมิดีมิร้ายในแวดวงราชการ (Whistle-Blower)
ลักษณะเดียวกับที่กำลังเกิดกับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
ในสังคมอเมริกันไม่ว่าผู้นำหรือหัวหน้าในส่วนราชการจะใช้อำนาจบิดเบือนอย่างไร
คนที่เปิดโปงความชั่วร้ายของผู้มีอำนาจจะได้รับการสนับสนุนจากมหาชนและสื่อต่างๆ
ผู้บริหารระดับประเทศเคยต้องลาออกจากตำแหน่งเมื่อปรากฏว่าใช้อำนาจเบียดบังกระทำความผิด
กรณีที่ผู้อำนวยการเขตเมาแล้วไปอาละวาดที่ร้านอาหาร
และมีลูกน้องเที่ยวเรี่ยไรเงินจากพนักงานผู้น้อยมาจัดงานให้ อาจเป็นความลับของ ผอ.
แต่ไม่ใช่ความลับของทางราชการอย่างแน่นอน
และการที่พนักงานผู้มีรายได้น้อยไปแช้ตบ่นทางไลน์ว่าถูกรีดไถ
ก็ไม่ใช่ความผิดอาญาดูหมิ่นใคร
แต่เป็นการทำหน้าที่พลเมืองดีแจ้งเบาะแสของความชั่วร้ายในวงราชการ ดังเช่น ‘Whistle-Blower’
ในสหรัฐ
เมื่อไทยอีนิวส์นำเสนอเรื่องการร้องเรียนนี้ในชั้นต้นนั้น
เราหวังจะทำหน้าที่สื่อสารนำความจริงออกมาตีแผ่ต่อสาธารณชน
จึงยินดีที่จะได้รับการโต้แย้ง แต่ทางผู้อำนวยการเขต และ
กทม.กลับหันไปใช้วิธีข่มขู่ข่มเหงพนักงานชั้นผู้น้องแทนเช่นนี้
ย่อมแสดงชัดเจนว่ามีการกระทำผิดกฎระเบียบแล้วปกปิด
ระบบราชการไทย โดยเฉพาะกรณีนี้คือ กทม.
ต้องการการยกเครื่องแก้ไขและปฏิรูปมากมายมานานนักแล้ว ยังทำไม่ได้เสียทีเพราะคณะรัฐประหาร
คสช.นำคนของตนเข้าไปกดขี่ควบคุม
เราเชื่อว่าเหตุการณ์ชั่วร้ายเช่นที่เกิดในเขตลาดกระบังต้องมีในท้องที่อื่นๆ ด้วย