ยืนยันแล้วด้วยการวิจัยตามหลักวิชาการด้านกฎหมาย
ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ เป็นปัญหา เนื่องจากวิธีการ ‘จัดสรรปันส่วนผสม’ ก่อให้เกิดความยุ่งยากวุ่นวาย
ขัดแย้งไปทั่ว ทั้งภายในพรรคและระหว่างพรรค
คณะนิติศาสตร์
มธ.เปิดเผยผลงานการวิจัยจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒
ที่ใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม ตามรัฐธรรมนูญฉบับที่ คสช.จัดการร่าง ผ่านทาง ‘กรธ.’ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และ ‘สนช.’ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ตนแต่งตั้ง
พบว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีปัญหา
‘มากที่สุด’ ที่การคำนวณจำนวน ส.ส.ตามมาตรา ๙๑ “สามารถตีความได้มากกว่า ๑ วิธี ซึ่ง
กกต.ไม่มีการประกาศวิธีคำนวณให้ชัดเจนก่อนการเลือกตั้ง ทำให้เกิดความยุ่งยาก
ประชาชนขาดความเชื่อถือ”
ความยุ่งยากประการหนึ่งเกิดจาก “ประชาชนไม่สามารถเลือกผู้สมัครแบบแบ่งเขตกับแบบบัญชีรายชื่อต่างพรรคได้”
แล้วยังเกิดการขัดแย้งภายในพรรคเดียวกันด้วย เนื่องเพราะ “ผู้สมัครแบบแบ่งเขตต้องหาเสียงเหน็ดเหนื่อย
ขณะที่เหมือนหาเสียงให้ ส.ส. บัญชีรายชื่อมากกว่า แล้วแบ่งเขตสอบตก”
อีกทั้งพรรคการเมืองพยายามส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตจำนวนมากเข้าไว้
ไม่จำเป็นว่าจะหวังผลให้ชนะเลือกตั้งเสมอไป เพียงให้ได้คะแนนรวมเฉลี่ยไปให้กับ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ
นอกจากนี้ปัญหาในการเกิด ส.ส.เอื้ออาทร ทำให้เสถียรภาพทางการเมืองไม่แน่วแน่ “มีพรรคที่มี ส.ส.คนเดียวสูงถึง ๑๓ พรรค”
แล้วยังผู้ใช้สิทธิไม่สามารถเลือกผู้สมัครแบ่งเขตกับบัญชีรายชื่อต่างพรรคกันได้
เกิดความขัดข้องไม่รู้จะไปทางไหน หรือ ‘รักพี่เสียดายน้อง’ ซ้ำ “การแบ่งเขตเลือกตั้งเหลือ ๓๕๐ เขตโดยไม่ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นทำให้เกิดความไม่สะดวกในหลายพื้นที่”
ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง เช่น
“การขยายเวลาปิดหีบเลือกตั้งและลดจำนวนกรรมการประจำหน่วย
ทำให้กระบวนการนับคะแนนมีความยุ่งยาก เกิดปัญหามากกว่าประโยชน์” หรือ “การเลือกตั้งล่วงหน้าเกิดความผิดพลาดในการส่งบัตรเลือกตั้ง
ผู้มาใช้สิทธิไม่ตรงเขตของตนเอง
ควรยกเลิกการรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการ” แต่การยกเลิก กกต.จังหวัด
กลับตาลปัตรเพราะ “ตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ไม่มีความเชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายและกฎระเบียบเลือกตั้ง”
ทำให้ผู้ใช้สิทธิไม่ต่ำกว่า
๗๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่เข้าใจระบบที่ทำให้ซับซ้อนมากเรื่อง
อันเป็นเสียงครหามาแต่แรกเริ่มว่า คสช.ต้องการให้พรรคการเมืองอ่อนแอ
กลายเป็นเบี้ยหัวแตก เพื่อที่ คสช.ซึ่งกุมอำนาจพิเศษในการวางยุทธศาสตร์ชาติ
และแต่งตั้งวุฒิสมาชิก สามารถกุมอำนาจต่อไปอีกยาวนาน
อนึ่ง มีเสียงเล็ดลอดออกมาจาก มธ. อีกโสดหนึ่งว่า
“รองศาสตราจารย์หนุ่มแห่งสำนักท่าพระจันทร์ได้เป็นโจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลางขอให้ศาลเพิกถอนข้อกำหนดข้อ
๑๐ และข้อ ๑๑ ในส่วนที่ระบุว่าผู้ใดฝ่าฝืนข้อ ๑๐
ให้ถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ”
ผู้ใช้นาม Thawat Damsa-ard
โพสต์ข้อความบนเฟชบุ๊คว่า “ฟ้องแล้ว” ต่อข้อกำหนดในวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าผู้ใดฝ่าฝืน
“ถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา ๓๙”
ซึ่งเป็นที่วิจารณ์กันมากว่า ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นผู้ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ
ปราศจากการตรวจสอบและถ่วงดุล ผู้ร้องจึงขอให้ศาลปกครองกลาง “ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยเร่งด่วน
ตามข้อ ๔๙/๒ ของระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด”
พร้อมทั้งขอให้ “ศาลปกครองโปรดพิจารณาให้ทุเลาการบังคับข้อ
๑๐ และข้อ ๑๑ ของข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พศ.๒๕๖๒
จนกว่าศาลปกครองจะมีคำพิพากษา” ด้วย
นี้เป็นอีกประเด็นที่ต้องจับตาดูกันต่อไปอย่างใกล้ชิด
ในความพยายามที่จะสกัดกั้น ลดทอนการสืบทอดอำนาจของคณะทหารผู้ยึดอำนาจการปกครองเมื่อ
๕ ปีที่แล้ว ได้เพียงใด