วันอาทิตย์, กันยายน 29, 2562

"ถ้าเราไม่กล้าหาญพอ เราอาจไม่มีวันเป็น Greta Thunberg ถ้ามีคนกล้าเช่นเธอ เราจำเป็นต้องปกป้องเธอ เราต้องปกป้องสิทธิเสรีภาพของการกระทำของเธอ"



จากกรณี Greta Thunberg มีประเด็นที่อยากเขียนถึงครับคือ Asperger’s (โรค) / Anger (โกรธ) / Aggression (ก้าวร้าว) / Activist (กิจกรรมทางสังคม)

ในยุคที่คนส่วนใหญ่ใช้อินเตอร์เนตเป็นแล้ว เราควรจะเข้าใจถูกและเลิกพูดมั่วๆในปัญหาสุขภาพจิต อาทิเช่น ไบโพล่าร์ ที่ทุกวันนี้ยังคงมีคนนำมาใช้เรียกคนเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย , คนกลับกลอก , คนพูดอย่างทำอย่าง ฯลฯ ซึ่งผิด❌

ไบโพล่าร์ไม่ใช่นิสัย ดังนั้นคนนิสัยไม่ดีก็ด่านิสัยไม่ดี คนกลับกลอกก็ด่าว่ากลับกลอก 😠 ไม่ใช่แซวว่าไบโพล่าร์

อย่าทำให้คนที่ป่วยด้วยโรคไบโพล่าร์ต้องรู้สึกแย่มากไปกว่าอาการที่เป็นอยู่ ด้วยมุกตลกหรือการเรียกโรคนี้แบบเหมารวม

โรคไบโพล่าร์ คือ โรคที่มีเกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์สองขั้ว ไม่ใช่ ‘นิสัย’ และไม่ใช่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย

=========
Asperger’s
=========

เช่นเดียวกับ Asperger’s ซึ่งก็เป็นโรคที่มีปัญหาในด้านพัฒนาการแบบหนึ่งแต่ไม่ใช่ปัญญาอ่อน ไม่ใช่เอ๋อ ไม่เกี่ยวกับโง่หรือฉลาด

Asperger’s อาจจะมีปัญหาสมาธิสั้นหรือไม่มีสมาธิสั้นก็ได้ มันคนละเรื่องกัน

Asperger’s มีสติปัญญาปกติก็ได้หรืออัจฉริยะก็ได้ ใครอยาก defend ก็ไม่ต้องอวยว่าเป็นโรคนี้คืออัจฉริยะ เพราะไม่ใช่ว่า Asperger’s จะต้องเป็นอัจฉริยะเสมอไป

เดิม Asperger’s จัดอยู่ในกลุ่มอาการโรคแบบออทิสติกประเภทหนึ่ง (autism spectrum) และในเกณฑ์ล่าสุดของสมาคมจิตแพทย์อเมริกันก็เลิกใช้คำนี้แล้วไปรวมอยู่ใน Autistic Spectrum Disorder

หลักๆคือเป็นโรคทางพัฒนาการที่มีลักษณะสำคัญสองอย่างคือด้านทักษะและปฏิสัมพันธ์สังคมที่บกพร่อง และด้านความสนใจที่จำกัดในบางเรื่องซ้ำๆ

===

Greta Thunberg 👩วัยรุ่นสวีเดนอายุ 16 ปีที่กำลังโด่งดังจากการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมแล้วล่าสุดในที่ประชุม UN ที่นิวยอร์ค เธอขึ้นกล่าวปราศรัยที่สร้างกระแสไปทั่วโลก

เธอเคยประกาศต่อสาธารณะอยู่แล้วว่าเธอเคยได้รับการวินิจฉัยเป็น Asperger’s และ สมาธิสั้น

หลายคนจึงมองว่าการแสดงออกของเธอเป็นเพราะความเป็นเด็กหรือเพราะโรค เป็นการลดทอนคุณค่าใน 'สิ่งที่เธอพูด'

ท่าทีที่เราเห็นไม่ใช่ ‘โรค’ ของเธอ
ท่าทีและจุดยืนที่เราเห็นคือ ‘ตัวเธอ’
ถ้าเธอโกรธหรือหากจะมองว่าเธอแรงเกินไปนั่นก็คือ 'ตัวเธอ'

เพราะAsperger’s , โรคสมาธิสั้น หรือ คนที่ไม่ได้ป่วย ก็สามารถโกรธและแสดงออกแบบนี้ได้เหมือนกัน

ดังนั้นการจะถกว่า ‘เชื่อในเรื่องโลกร้อน เชื่อในแนวทางต่อสู้’ หรือไม่ ?

มันไม่ใช่เรื่องว่าเด็กหรือผู้ใหญ่พูด (ซึ่งจริงๆแล้วเธอก็ไม่ใช่เด็กด้วย)

ไม่ใช่ว่าป่วยหรือไม่ป่วย

=============
Greta Thunberg
=============

หลายความเห็นว่าท่าทีสีหน้าและวาจาของ Greta Thunberg ที่ UN ดูจะก้าวร้าวเกินไป ทำไมไม่พูดจาดีๆ ,

ประเด็นว่าก้าวร้าว(Aggression) หรือไม่ ? อันนี้เดี๋ยวเราจะพูดกันอีกที แต่เห็นได้ชัดทั้งจากสีหน้าและการพูดคือเธอ 'โกรธ'แน่ๆครับ

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า Greta Thunberg ไม่ได้เริ่มต้นการต่อสู้เพื่อ Climate Change จากการลุกขึ้นต่อว่าผู้ใหญ่แถวบ้านว่า “คุณกล้าดียังไง?”

- เธอเริ่มต้นสนใจเรื่องนี้ตั้งแต่ 8 ขวบ

ตอน8ขวบเธออ่านเจอเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม ต่อมาเธอโน้มน้าวพ่อแม่ด้วยข้อมูลที่เธอเก็บสะสมมาให้เห็นว่าโลกกำลังใกล้วิกฤติอย่างไร

พ่อแม่ของเธอเล่าว่าเธอพยายามใช้เหตุผลมาคุยกับพ่อแม่ มีการโต้แย้งบ้างแต่ก็ไม่ได้มีความรุนแรง จนในที่สุดพ่อแม่ของเธอก็เริ่มเปลี่ยนแปลงจากที่พยายามชักชวนให้เลิกโดดเรียนก็ไม่ต่อต้านการแสดงออกของเธออีก

ต่อมาแม่เธอเลิกขึ้นเครื่องบินเดินทาง พ่อของเธอเปลี่ยนมาเป็น vegetarian

“ลูกผมเอาแต่ฉายสารคดีให้เราดู เราอ่านหนังสือด้วยกัน ก่อนหน้านั้นผมไม่เอะใจอะไรเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมนี้เลย เธอเปลี่ยนเราสองคน และตอนนี้เธอกำลังเปลี่ยนผู้คนอีกมากมาย” – พ่อของGreta เคยให้สัมภาษณ์ไว้

- เมื่อปีที่แล้ว เกรตาอายุ 15 ปี

เธอได้รับแรงบันดาลใจจากการประท้วงของเด็กนักเรียนในอเมริกาที่ออกมาเรื่องการครอบครองอาวุธปืนหลังเหตุกราดยิงในโรงเรียน Greta Thunberg จึงเริ่ม climate strike หยุดเรียนเป็นเวลา 3 สัปดาห์พร้อมถือป้าย Skolstrejk för Klimatet (school strike for climate)ไปนั่งประท้วงที่รัฐสภาสวีเดน ชวนเพื่อนก็ไม่มีใครสนเข้าร่วม

จนวันหนึ่งเมื่อผู้คนให้ความสนใจ เธอเริ่มเข้าร่วมกิจกรรมสังคมที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆจากระดับในประเทศไปจนถึงระดับนานาชาติ

==========
🔥 Anger (1)
==========

ภาพที่เราเห็นบนเวที UN , เธอไม่ได้สู้กับคนหนึ่งคน

เธอไม่ได้กำลังถกเรื่องนี้กับครู หรือกับพ่อแม่

เธอสู้กับ ‘แนวคิดตรงข้าม’ ซึ่งไม่ใช่ปัจเจกชนคนใดคนหนึ่ง

เธอกำลังสู้กับผู้ใหญ่ในระดับผู้มีอำนาจ สู้กับอำนาจรัฐ สู้กับบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่หลายเจ้าที่จะเดือดร้อนกับนโยบายที่เปลี่ยนไป

สู้กับแนวคิดของผู้นำระดับโลกอย่างประธานาธิบดีอเมริกา

==

สมมติว่าถ้าให้เธอพูดจาอ่อนน้อมสุภาพ 🙏

"กราบเท้าเรียน ‘ลุงทรัมป์ที่เคารพคะ’ หรือ ‘บิ๊กทรัมป์’ เนื่องด้วยประเทศของท่านสร้างปัญหาเรือนกระจกเป็นอันดับสองของโลก หนูขอความกรุณาให้ท่านช่วยกลับไปเซ็นข้อตกลงปารีสซึ่งเป็นกรอบอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องแก้ปัญหาโลกร้อน"

ยากเหลือเกินที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงครับ เพราะทรัมป์ไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว แถมอำนาจนั้นต่างกันราวฟ้ากับก้นเหว

เขาไม่จำเป็นต้องแยแสวัยรุ่นอายุ 16 ปีเลย

==

ดังนั้นความโกรธของGretaไม่ได้จู่ๆพุ่งขึ้นมาแบบไม่มีสาเหตุ

เธอที่ทุ่มเทให้ปัญหานี้หลายปีเจอมาหลายครั้งแล้วว่าไม่ได้การตอบสนองจากผู้ใหญ่

ผู้มีอำนาจไม่ใช่แค่เพิกเฉยแต่กลับปัดความรับผิดชอบแล้วไม่เชื่อเสียด้วยซ้ำว่าเป็นปัญหา

มันจึงเป็น🤜การต่อสู้ปัญหาในรูปแบบที่ใครๆก็อาจเคยเจอ คือ

(1) คุณเดือดร้อนแต่คุณเป็นเพียงฝุ่นหรือคนตัวเล็กๆในปัญหา

(2) ผู้มีอำนาจหรือผู้มีหน้าที่ไม่ตอบสนองคุณ หรือไม่คิดว่าเป็นปัญหา

(3) ปัญหาที่คุณเดือดร้อนไม่สามารถแก้ได้สำเร็จในระดับล่างขึ้นบน เช่น ปลูกฝังจิตสำนึก , ไม่ใช้หลอดพลาสติก ฯลฯ แต่มันต้องเปลี่ยนจากบน(รัฐ)ลงล่าง(ประชาชน)ด้วย เช่น การออกกฎหมาย ฯลฯ

ซึ่งการต่อสู้ในกระบวนการแบบนี้ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงได้ถ้าคุณไม่สามารถสั่นคลอน ‘ผู้มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลง’

===

🔥ความโกรธในการต่อสู้รูปแบบข้างต้นจึงเป็นเชื้อเพลิงสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง

แทบทุกการเปลี่ยนแปลงในสังคมที่ต้องสู้กับผู้มีอำนาจที่ไม่ใยดีประชาชนหรือมีการกดขี่ข่มเหง ล้วนมีความโกรธขับเคลื่อนทั้งนั้น

ดูอย่างเนื้อเพลง Do you hear the people sing? Singing a song of 'angry' men. It is the music of a people who will not be slaves again จาก Les miserables

ถ้าคุณถูกกดขี่ คุณเป็นทาส แล้วคุณต้องการสู้เพื่ออิสรภาพ การที่คุณคลานไปกราบเท้าเจ้านายนั้นยากที่จะปลดปล่อยตัวเองจากอิสรภาพได้สำเร็จ

หรือต่อให้เจอเจ้านายของคุณยอมปล่อยก็ไม่ได้ช่วยผู้คนอีกจำนวนมาก เพราะเจ้านายคนอื่นๆก็จะเริ่มกลัวการปลดแอก ก็จะพยายามควบคุม กดขี่ ให้หนักขึ้น

🔥การต่อสู้กับอำนาจที่ไม่เห็นหัวหรือไม่ใยดี ย่อมไม่อาจผลักดันด้วยมุกตลกหรือความนอบน้อม

แต่ต้องมีความโกรธที่มากพอช่วยขับเคลื่อน

=======
Anger (2)
=======

ระดับความโกรธของGretaต่อปัญหาโลกร้อนอาจจะมากกว่าวัยรุ่นส่วนใหญ่รวมถึงวัยรุ่นไทย

แต่นั่นไม่ได้หมายถึงว่ามันผิดปกติ

เพราะนอกจากปัจจัยส่วนตัวที่Gretaหมกมุ่นเรื่องโลกร้อนทำให้โฟกัสเรื่องเดียวแล้วโกรธแค่เรื่องนี้มาก ยังเป็นเรื่อง ‘บริบทสังคม’ ด้วย

เช่น 👧👦หากคุณเป็นนักเรียนไทยระดับชาวบ้านถึงชนชั้นกลางในครอบครัวที่ไม่มีสวัสดิการสังคมดีพอ

- ยังไม่ต้องไปถึงปัญหาโลกร้อนแค่อยากสู้ปัญหาน้ำท่วม , รถไฟฟ้าพัง , ฝุ่น PM2.5มาอีกแล้วโว้ยยยย😷 ฯลฯ ก็ปรากฏขึ้นมาในหัวก่อนแล้ว ความโกรธในชีวิตประจำวันกระจายไปหลายเรื่อง , แต่เกรต้าไม่ได้ต้องเจอปัญหาพวกนั้น

- ถ้าครอบครัวยากจน แล้ววันหนึ่งเด็กมัธยมออกมาประท้วงแบบเกรตา ก็อาจทำให้พ่อแม่เครียดเพราะห่วงอนาคตที่ไร้วุฒิการศึกษาในสังคมที่ให้ความสำคัญกับวุฒิอาจจะลำบากไม่มีงานทำ แต่เกรตาอยู่ในคุณภาพชีวิตที่มีสวัสดิการสำหรับประชาชนดีพอที่จะออกไปมีกิจกรรมเหล่านั้นโดยได้รับการสนับสนุนจากพ่อแม่

จึงอย่าแปลกใจที่เราจะเห็นระดับความโกรธของเรื่องนี้ในสังคมไทยหรืออีกหลายๆสังคมน้อยกว่าGreta

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าประเด็นที่เธอยกขึ้นมาเป็นปัญหาเล็ก

ไม่ได้แปลว่าปัญหาของเธอกระทบแค่สวีเดน

เพราะสุดท้ายสภาพอากาศแปรปรวนหรือ PM 2.5 ถ้าลองไล่ๆไปมันก็มาจากเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เธอกำลังต่อสู้อยู่

=========
Aggression
=========

โกรธเป็นคนละเรื่องกับก่อความรุนแรง(violence)
โกรธไม่จำเป็นต้องก้าวร้าว(Aggression)

ถ้ามนุษย์แปรความโกรธได้ถูกทางหรือระบายอย่างเหมาะสม ความรุนแรงก็จะลดน้อยลงด้วยซ้ำ

แต่สังคมที่พยายามเก็บกดความโกรธซึ่งเป็นธรรมชาติมนุษย์ จึงมักสร้างปัญหาปากว่าตาขยิบหรือไม่จริงใจ เกิดภาวะเก็บกดแล้วเสี่ยงไประเบิดความรุนแรงภายหลัง จากความโกรธที่ไม่ถูกระบาย

====

ส่วนตัวแล้วผมมองว่าGretaโกรธแต่เธอยังไม่ได้ถึงกับ ‘ก้าวร้าว’

ต้องเข้าใจก่อนว่านิยาม ‘ก้าวร้าว’ หลายครั้งมันเป็นอัตวิสัยนะครับ เช่น เวลาโกรธแล้วตาขวางอย่างเดียวกับผู้ใหญ่ในบ้านเรามองว่าตาขวางคือก้าวร้าว แต่ในอีกหลายสังคมไม่สนใจเรื่องตาขวาง

เพราะก้าวร้าวในหลายๆที่คือการใช้วาจาในเชิง hate speech , หยาบคาย , ล่วงละเมิด /การทำลายของ/การทำร้ายคน

ดังนั้น

🤬 ถ้าGretaลุกขึ้นมาพูดบนเวทีว่า "ไอ้เหี้ยทรัมป์มึง , พวกผู้ใหญ่ระยำ พวกมึงกล้ายังไง ฯลฯ" อะไรแบบนี้ ก้าวร้าว

🤬 หรือจู่ๆบนเวที UN ก็ขว้างไมค์แล้วทุ่มโพเดี้ยมใส่ผู้ใหญ่ด้านล่าง อะไรแบบนี้เรียก ก้าวร้าว

แต่ก็เข้าใจได้ว่าหลายคนอาจรับไม่ได้ที่ต้องแรงขนาดนั้น เพราะอัตวิสัยของคนไทยมีความคาดหวังต่อ 'ผู้อาวุโสน้อย' ในอีกแบบ

เพียงแต่คำถามสำคัญคือ

ถ้าเปลี่ยนGretaเป็นทรัมป์หรือลุงแก่ๆที่มีอำนาจซักคน พูดแบบเธอ , ชักสีหน้าแบบเธอหรือจะทุ่มโพเดี้ยมใส่คนฟัง

คุณจะมองว่าพฤติกรรมนั้น ‘ก้าวร้าวหรือไม่’ ?

หรือถ้าคุณยอมรับที่ผู้ใหญ่มีสีหน้ากับคำพูดที่คล้ายGretaได้

เพราะอะไรถึงหงุดหงิดมากกับ Greta

======
Activist
======

เคยเขียนประเด็นนี้แล้วจะไม่ร่ายซ้ำ สนใจอ่านได้ที่นี่จ้า

👧👦เด็กๆไม่ควรยุ่งเรื่องการเมือง ?

https://www.facebook.com/IbehindYou/photos/a.286053878317/10156604684808318/?type=3&theater

เพียงแต่คิดเล่นๆว่า ถ้าคุณสนับสนุนแนวทางการต่อสู้ของ Greta Thunberg (ไม่ได้หมายถึงเรื่องโลกร้อนนะ แต่ในแง่ความกล้าหาญหรือการแสดงออกทางสังคม) แล้วอยากเห็นความกล้าหาญในการแสดงออกหรือต่อสู้กับปัญหาภาคสังคมเรื่องอื่นๆจาก 'เยาวชนไทย'

มันจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย ถ้าคนส่วนใหญ่ยังสนับสนุนให้คนวาดรูปอุลตราแมนไปกราบขอขมาหรือถ้าคนส่วนใหญ่ยังสนับสนุนการกดดันและยับยั้งการทำพานไหว้ครูที่แสดงจุดยืนทางการเมือง ฯลฯ

จริงอยู่ว่ามันเป็นคนละเรื่องกับโลกร้อน ,

แต่มันตั้งอยู่บนหลักการเดียวกันคือ ‘เสรีภาพในการแสดงออก’

===

ถ้าอ่านเสียงตอบรับในการต่อสู้ของ Greta Thunberg จะเห็นว่าคนสวีเดนก็ไม่ได้เห็นด้วยกับเธอทั้งหมด

หรือกระทั่งในระดับโลกก็มีเสียงต่อต้านแนวทางของด้วยมองว่าสุดโต่งไป หรือในแนวคิดฝ่ายขวาจัดก็คัดค้านว่าเด็กควรเรียนหนังสือไม่ใช่มาทำอะไรแบบนี้

แต่ Greta Thunberg ไม่ได้สู้กับ ‘กระแสต้าน’ เพียงลำพัง

- พ่อแม่ของเธอสนับสนุนเธอ

- ผู้ที่มีจุดยืนแบบเธอออกมาแสดงจุดยืนชื่นชมเธอ

- ทรัมป์ต่อต้านแนวคิดแต่ผู้นำประเทศอื่นๆแสดงออกว่าชื่นชม

- บนเวทีระดับโลกมีผู้ใหญ่หลายคนที่อาจพูดไม่เต็มปากว่าเห็นด้วยทั้งหมดแต่ก็ให้เกียรติแล้ว ‘ยินดีรับฟัง’

👫พวกเขาไม่ได้ปล่อยให้เธอสู้อย่างโดดเดี่ยว

===

เราอาจไม่กล้าหาญพอ เราอาจไม่มีวันเป็น Greta Thunberg

แต่ถ้ามีคนกล้าหรือความกล้าหาญปรากฎ เราจำเป็นต้องปกป้องคนนั้น ต้องปกป้องสิทธิเสรีภาพของการกระทำนั้น

มิเช่นนั้นก็จะไม่เหลือความกล้าใดๆในสังคมอีก 😔

เพราะสุดท้ายแล้วก็จะสูญพันธุ์ไปกับมายาคติเดิมๆที่ฝังมานานให้ผู้ใหญ่คอยทำหมันทางความคิดของเยาวชน

ผู้ใหญ่ที่แม้ปากจะบอกว่าอยากให้เด็กไทยคิดนอกกรอบ อยากให้เด็กไทยมีความกล้า แต่พอสิ่งที่เด็กไทยแสดงออกขัดต่อกรอบกับขนบ(หรือเกรตาเป็นคนไทย)ก็จะรีบออกมาบอกว่า

- บางอย่างที่คิดก็ควรรู้ว่าอะไรควรไม่ควร ควรรู้ที่ต่ำที่สูง
- เป็นเด็กเป็นเล็ก ควรสนใจแต่เรื่องเรียนดีกว่ามั้ย
- เสรีภาพมากไปมันไม่ดีหรอก
- เราควรรักษา ‘ความเป็นไทย’ อย่าไปลอกฝรั่งทั้งหมด
- บางอย่างสภาพสังคมเรายังไม่พร้อม อย่าเพิ่งเลย
- อย่าเอาแต่ด่า หาทางแก้ไขด้วย
- แทนที่จะออกมาโวยวาย เรามาช่วยกันทำให้ดีขึ้นดีกว่ามั้ย

ทั้งที่ความคิดคือคนละเรื่องกับ 'การกระทำ' แต่เราทำหมันตั้งแต่ความคิด โดยที่ความคิดนั้นไม่ได้ทำร้ายใคร

ทั้งที่ 'ความพร้อม' ไม่มีวันเกิดได้ถ้ามัวแต่จะรอเรื่องปลูกจิตสำนึกอย่างเดียว

ทั้งที่บทบาท activist หรือประชาชนที่เดือดร้อนไม่ใช่ 'แก้ปัญหา' มันมีผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีอำนาจโดยตรงสำหรับแก้ปัญหา แต่กลับถูกอุดปากไม่ให้ระบายความคับแค้นเพื่อลดกระแสด้วยคำว่า 'ให้หาทางออกด้วย'

=====

ที่มา FB

"ผมอยู่ข้างหลังคุณ