วันอาทิตย์, กันยายน 29, 2562

ถึงเวลาสภาเดี่ยว ข้อเสนอ (เนื้อหาสาระ): #ถึงเวลาสภาเดี่ยว




ข้อเสนอ (เนื้อหาสาระ): #ถึงเวลาสภาเดี่ยว

หลักการหนึ่งที่พวกเราหวังว่าทุกคนจะเห็นตรงกันหมดว่าควรจะเป็นคุณค่าพื้นฐานของทุกเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ คือ การที่ประชาชนทุกคนควรมี “หนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียง” เท่าเทียมกันในการกำหนดทิศทางประเทศ
.
ถ้าเราถามว่าเนื้อหาอะไรของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ที่ขัดกับหลักการนี้มากที่สุด คำตอบคงหนีไม่พ้นเรื่องของวุฒิสภา
.
เนื่องจากในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาประชาชนกว่า 38 ล้านคนได้ไปออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. 500 คน แต่กลับกันมีคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร (คสช.) สรรหา ส.ว. 250 คน ที่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. เดิมทีแล้ว อำนาจการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นของ ส.ส. เท่านั้น การให้อำนาจ ส.ว. ร่วมเลือกนายกฯได้นั้นจึงเป็นหนึ่งในความบกพร่องของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่ไม่สอดคล้องกับหลัก “หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง” เท่าเทียมกันตามหลักประชาธิปไตย
.
ปัญหาของ ส.ว. ไทย คือ ความไม่สมดุลระหว่าง “อำนาจ” ที่มากกับ “ที่มา” ที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนเลย จึงมักมีการเสนอ 2 แนวทางเพื่อการแก้ไขปัญหา คือ
(1) การเลือกตั้ง ส.ว. เพื่อให้ “ที่มา” มีความยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น แต่ก็จะเกิดคำถามที่ตามมาว่าจะจัดการเลือกตั้งแบบไหน ให้ผลลัพธ์ที่ได้มาไม่ซ้ำซ้อนกับการเลือกตั้ง ส.ส. หรือ
(2) การลด “อำนาจ” ส.ว. เพื่อให้เป็นเพียง “สภากลั่นกรอง” แต่ก็ยังเจอคำถามว่าต้องทำอย่างไรจึงจะรับประกันความโปร่งใสในกระบวนการสรรหาและความเป็นกลางของ ส.ว.
กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้าขอนำเสนอแนวทางที่
(3) คือการพิจารณาถึงความจำเป็นของการมีอยู่ของ ส.ว. ในระบบรัฐสภาไทย
.
ถึงเวลาต้องพิจารณาถึงอำนาจของ ส.ว.
ถึงเวลาต้องพิจารณาถึงความยึดโยงกับประชาชนของ ส.ว.
ถึงเวลาต้องพิจารณาถึงความจำเป็นของ ส.ว.
ถึงเวลาต้องยกเลิก ส.ว.
#ถึงเวลาสภาเดี่ยว
#รัฐธรรมนูญก้าวหน้า



สภาเดี่ยวคืออะไร ?
.
สภาเดี่ยว (Unicameral Legislature) คือ ระบบรัฐสภาที่มีเพียงสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนเป็นผู้ทำหน้าที่ออกกฎหมายของประเทศ โดยไม่มีวุฒิสภา (ส.ว.) ไม่ว่าจะเป็น ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งหรือ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง
.
สภาคู่ (Bicameral Legislature) คือ ระบบรัฐสภาที่มีสองสภาทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ร่วมกันทำหน้าที่ตรากฎหมายของประเทศ
.
ซึ่งทั่วโลกมีการปกครองทั้ง 2 ลักษณะ
.
บางประเทศไม่มี ส.ว.
บางประเทศมี ส.ว. เนื่องด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์
บางประเทศมี ส.ว. เพื่อเป็นผู้แทนของสาขาอาชีพต่าง ๆ
บางประเทศมี ส.ว. เพื่อเป็นผู้แทนของมลรัฐต่าง ๆ ในประเทศ
บางประเทศมี ส.ว. เพื่อเป็นเครื่องมือการสืบทอดอำนาจ
.
สำหรับประเทศไทยได้เริ่มใช้ระบบสภาเดี่ยว (แต่มี ส.ส. 2 ประเภท) ตั้งแต่ปี 2475 แต่ต่อมาในปี 2489 ได้เปลี่ยนเป็นระบบสภาคู่เพื่อให้ ส.ว. เป็น "สภาที่ปรึกษา" ในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย
.
แต่ตั้งแต่ปี 2490 คณะรัฐประหารใช้ ส.ว. เป็นเครื่องมือสานต่ออุดมการณ์ของคณะรัฐประหาร เพราะคิดว่าพวกตนมีวุฒิภาวะมากกว่าและไม่เชื่อมั่นประชาชน ทำให้เห็นถึงความล้มเหลวของการมีอยู่ของ ส.ว. มาโดยตลอดพัฒนาการทางประชาธิปไตยไทยกว่า 87 ปี
.
วันนี้ประชาชนพร้อมแล้วที่จะแสดงเจตนารมณ์อย่างอิสระเสรีเพื่อกำหนดทิศทางของสังคมและประเทศไทย



ส.ว. ต้องเป็นแบบไหนถึงจะเรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตย ?
.
หลายคนอาจเข้าใจผิด ว่า ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ประเทศถึงจะเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยได้
.
แต่ความจริงแล้ว หลักการที่ถูกกำหนดโดยมาตรฐานประชาธิปไตยเกี่ยวกับวุฒิสภา คือ “อำนาจ” ต้องเท่ากับ “ที่มา”
.
นั่นหมายความว่า อำนาจของ ส.ว. จะมีมากน้อยเพียงใดต้องสอดคล้องกับที่มาของการเข้าสู่ตำแหน่งของ ส.ว. ว่าประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือก ส.ว. มากน้อยแค่ไหน
.
หาก ส.ว. มีอำนาจมาก ที่มาก็ต้องมีความยึดโยงกับประชาชนมาก
หาก ส.ว. มีที่มาที่มีความยึดโยงกับประชาชนน้อย ก็ต้องมีอำนาจน้อย
.



“ความพิสดาร” หรือ “ความไม่สมดุล” ของ ส.ว. ไทย
.
ประเทศต่างๆที่เป็นประชาธิปไตยอาจมีรูปแบบของวุฒิสภาที่แตกต่างกัน แต่ทุกประเทศที่เป็นประชาธิปไตย จะยึดหลักการ “อำนาจ = ที่มา” สำหรับวุฒิสภา
หาก ส.ว. มีอำนาจมาก ก็ต้องมีความยึดโยงกับประชาชนมาก
หาก ส.ว. มีความยึดโยงกับประชาชนน้อย ก็ต้องมีอำนาจน้อย
.
ส.ว. ของสหราชอาณาจักรมีอำนาจให้คำปรึกษาแก่ร่างกฎหมายต่าง ๆ และชะลอร่างกฎหมายได้สูงสุด 1 ปี โดยรวมแล้วมีอำนาจน้อย เลยไม่จำเป็นต้องมีที่มาที่ความยึดโยงกับประชาชนมาก สังคมจึงยอมรับได้จากการที่สมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งโดยคำนึงถึงความหลากหลายและความเชี่ยวชาญในวิชาชีพต่างๆ (อำนาจ “น้อย” และ ความยึดโยงกับประชาชน “น้อย”)
.
ส.ว. ของสหรัฐอเมริกามาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ใน 50 มลรัฐ มลรัฐละ 2 คน รวมเป็น 100 คน เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้แทนผลประโยชน์ของแต่ละมลรัฐ จึงมีความชอบธรรมที่จะมีอำนาจมาก เช่น การถอดถอนประธานาธิบดี การรับรองผู้ดำรงตำแหน่งศาลสูงสุด และ การริเริ่มกระบวนการตรากฎหมาย (อำนาจ “มาก” และ ความยึดโยงกับประชาชน “มาก”)
.
ความไม่สมดุลของอำนาจและที่มาของ ส.ว. ไทยชุดปัจจุบันคือการได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับการมีอำนาจมากเมื่อเปรียบเทียบกับ ส.ว. ของต่างประเทศ เช่น การเลือกนายกรัฐมนตรี และ การพิจารณากฎหมายปฏิรูปประเทศ ร่วมกับ ส.ส. (อำนาจ “มาก” แต่ ความยึดโยงกับประชาชน “น้อย”)
.



การศึกษากรณีตัวอย่างในต่างประเทศ
.
ดัชนีประชาธิปไตยยังไม่จัดว่าประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม “กึ่งอำนาจนิยม หรือ อำนาจนิยมไฮบริด”
.
ทำอย่างไรประเทศไทยจึงจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศ “ประชาธิปไตย” ?
.
ประเทศไทยต้องมีการพัฒนาโครงสร้างระบบการปกครอง แต่เราควรเปรียบเทียบกับตัวอย่างประเทศประชาธิปไตยที่มีลักษณะคล้ายกับประเทศเรา เช่น
(1) ใช้ระบบรัฐสภา ไม่ใช่ระบบประธานาธิบดี (เราจึงไม่ควรเปรียบเทียบกับ สหรัฐอเมริกา หรือ เกาหลีใต้)
(2) เป็นรัฐเดี่ยว ไม่ใช่เป็นสหพันธรัฐที่มีหลายรัฐ (เราจึงไม่ควรเปรียบเทียบกับ เยอรมัน หรือ อินเดีย)
.
เมื่อใช้เกณฑ์ดังต่อไปนี้ เราจึงเหลือ 31 ประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ปกครองด้วยระบบรัฐสภา และเป็นรัฐเดี่ยว ซึ่งควรใช้มาเปรียบเทียบกับประเทศไทย
.



ประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่เลือกใช้ระบบสภาเดี่ยว
.
ส่วนใหญ่ของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแบบรัฐสภาและเป็นรัฐเดี่ยว (20 จาก 31 ประเทศ) ใช้ระบบสภาเดี่ยว เช่น นิวซีแลนด์ที่ยกเลิก ส.ว. ในปี 1951 และเดนมาร์กที่ยกเลิก ส.ว. ในปี 1953 และในอีกหลายประเทศที่ไม่มี ส.ว. หรือสภาสูงมาตั้งแต่ต้น
.
มีเพียง 7 ประเทศ ที่ใช้ระบบสภาคู่ที่มี ส.ว. มาจากทั้งที่การเลือกตั้งโดยตรงและการเลือกตั้งโดยอ้อม เช่น ไอร์แลนด์ เนเธอแลนด์ ญี่ปุ่น
.
และ มีเพียงแค่ 4 ประเทศเท่านั้นที่มี ส.ว. มาจากการแต่งตั้ง เช่น สหราชอาณาจักร (แต่อำนาจ ส.ว. น้อยกว่าไทยหลายเท่า) และ ตรินิแดดและโตเบโก (ที่มีประชากรเพียง 1.3 ล้านคน)
.



ข้อดีของระบบสภาเดี่ยว ที่ไม่มี ส.ว.
.
(1) ความรวดเร็วในการออกกฎหมาย เพื่อให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลก จะทำให้การผ่านกฎหมายใหม่หรือแก้กฎหมายเก่ามีขั้นตอนและระยะเวลาน้อยลง เพื่อให้การตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและบริบทของโลกที่เปลี่ยนอยู่เสมอเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
.
(2) ประหยัดงบประมาณอย่างน้อย 1,200 ล้านบาทต่อปี จากค่าตอบแทน ค่าเดินทาง เบี้ยเลี้ยง และเงินเดือนผู้ช่วยของ ส.ว. รวมถึงค่าสรรหาคัดสรร ส.ว. ทุก 5 ปี เมื่อครบวาระ
.



ไม่มี ส.ว. ก็ไม่ต้องกังวล (No ส.ว. No Problem)
.
สำหรับสิ่งที่หลายคนกังวลว่าเราจะเสียไปจากการไม่มีวุฒิสภา ทางเรามองว่าเราสามารถเสนอกลไกอื่นที่มาทดแทนบทบาทเก่าของ ส.ว. ได้ ที่อาจมีประสิทธิภาพกว่า
.
ข้อกังวล #1 = “รัฐสภาจะขาดความเชี่ยวชาญของสาขาอาชีพต่างๆ”
เราจะมาทดแทนด้วยการเพิ่มบทบาทสภาวิชาชีพในกระบวนการร่างกฎหมาย เพื่อให้ความเชี่ยวชาญของสาขาอาชีพมีบทบาทตั้งแต่กระบวนการริเริ่มเสนอร่างกฎหมาย ร่างกฎหมายจะได้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ที่เกี่ยวข้องได้อย่างเหมาะสม
.
ข้อกังวล #2 = “ไม่มีใครปกป้องภูมิภาคและไม่มีใครดูแลจังหวัดขนาดเล็ก”
เราจะมาทดแทนด้วยการกระจายอำนาจในทุกจังหวัดให้จัดการตนเองและมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้การบริหารงบประมาณและการแก้ไขปัญหาต่างสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง
.
ข้อกังวล #3 = “ใครจะมาถ่วงดุลอำนาจ ส.ส. และฝ่ายบริหาร?”
เราจะมาทดแทนด้วยการ
(i) ติดอาวุธประชาชนด้วยข้อมูล เปิดระบบ Open Data ในทุกกระบวนการขั้นตอนการพิจารณาร่างกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามตรวจสอบการทำงานของ ส.ส. ได้อย่างครอบคลุม
(ii) เพิ่มสิทธิถอดถอนกฎหมาย ให้ประชาชนมีสิทธิยื่นถอดถอนกฎหมายโดยระบุเหตุผลและความจำเป็นยื่นต่อ ส.ส. ให้พิจารณาและมีการอภิปรายทบทวนกฎหมายต่าง ๆ ที่อาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันในสังคม
(iii) รับประกันความเป็นกลางทางการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ด้วยการให้อำนาจทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเท่าเทียมกันในการสรรหาและคัดค้านกระบวนการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
.
ที่มา FB

รัฐธรรมนูญก้าวหน้า