House Speaker Nancy Pelosi (D-Calif.) makes a highly-anticipated announcement on the impeachment of President Donald Trump. https://t.co/9jWpXahmaN— HuffPost (@HuffPost) September 24, 2019
บ่ายวันนี้ (๒๔ กันยา)
ตามเวลาในฝั่งตะวันตกสหรัฐ ประธานสภาผู้แทน (House of
Representatives) แนนซี่ เปโลซี่ ประกาศอย่างทางการเริ่มไต่สวนความผิด
(Impeachment Inquiry) เพื่อนำไปสู่การปลดประธานาธิบดี ดอแนลด์ ทรั้มพ์
จากการที่ทรั้มพ์โทรศัพท์ถึงประธานาธิบดียูเครนขอให้ดำเนินการสอบสวนความผิดอดีตรองประธานาธิบดี
โจ ไบเด็น ว่าเป็นผู้รู้เห็นกับการได้รับผลประโยชน์ทางธุรกิจติดต่อกับรัฐบาลยูเครนของลูกชาย
ซึ่งถ้าเป็นเรื่องอื้อฉาวขึ้นมา ทรั้มพ์จะได้ประโยชน์ส่วนตัวทางการเมือง
เนื่องจากไบเด็นเป็นคู่แข่งคนสำคัญในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีปีหน้า (ค.ศ.๒๐๒๐)
เปโลซี่อ้างอิงในคำแถลงการณ์ตอนหนึ่งถึงการจัดสร้างรัฐธรรมนูญอเมริกันในปี
๑๗๘๗ ว่าในการประชุมเพื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญ มีคำถามจากมวลชนต่อเบ็นจามิน แฟร้งกลิน
ถึงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า “เราได้อะไรมา สาธารณรัฐหรือสมบูรณาญาสิทธิราช”
แฟร้งกลินตอบว่า “สาธารณรัฐ ถ้าพวกท่านจะรักษาเอาไว้ให้ได้”
“หน้าที่รับผิดชอบของพวกเราจึงต้องรักษารัฐธรรมนูญนี้เอาไว้”
เปโลซี่กล่าวเสริม “กฎหมายสูงสุดระบุให้แต่ละสาขาอำนาจของรัฐบาลต้องเท่าเทียมกัน
มีการตรวจสอบและถ่วงดุล การกระทำของประธานาธิบดีละเมิดรัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรง”
“โดยเฉพาะอย่างยิ่งประธานาธิบดีอ้างว่า
เขาจะทำอย่างไรก็ได้ที่ต้องการ ในเมื่อมาตรา ๒ ของรัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้”
(หมายเหตุ มาตรา ๒ ข้อ ๑ บอกว่าประธานาธิบดีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร และเป้นผู้บังคับใช้กฎหมายของประเทศ
ข้อ ๒ ประธานาธิบดีเป็นผู้บัญชาการฝ่ายทหาร ฯลฯ)
โดยที่ประธานาธิบดียอมรับแล้วว่าได้โทรศัพท์ถึงประธานาธิบดียูเครนจริง
(แม้ทรั้มพ์อ้างไม่เกี่ยวกับการกดดันให้ประจานความผิดแก่โจ ไบเด็น ก็ตาม)
แต่ก่อนโทรศัพท์ทรั้มพ์ได้สั่งยุติการส่งความช่วยเหลือแก่ยูเครนมูลค่า ๔๐๐
ล้านเหรียญอย่างกระทันหัน แสดงถึงการยับยั้งเงินช่วยเหลือเพื่อกดดัน
เรื่องเกี่ยวกับการโทรศัพท์ของทรั้มพ์ถึงยูเครนนี้
เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองสรุปเอกสารไว้พร้อมส่งให้กับสภาคองเกรสนานแล้ว
แต่ถูกหัวหน้าฝ่ายข่าวกรองคนใหม่ที่ทรั้มพ์เพิ่งตั้งดึงเก็บเอาไว้ แต่ข่าวก็เล็ดลอดออกมาจนได้