เสร็จจากออกทีวีรับโทรศัพท์ขอเงินบริจาคช่วยน้ำท่วมอุบลแล้ว
คณะรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา น่าจะลงพื้นที่ช่วย ระลิน สถิตย์ธนสาร สาวน้อยวัย
๑๒ ปี เก็บขยะพล้าสติกตามลำคลองสักวันก็จะดี
น้อง ‘ลิลลี่’ เด็กไทยสัญชาติอเมริกันคนนี้กำลังจะเป็นที่รู้จักในโลกกว้างด้วยสมยา ‘เกรต้า ธันเบิร์ก แห่งประเทศไทย’ จากกิจกรรมรณรงค์กำจัดขยะวัสดุพล้าสติก
ที่ทำให้ประเทศไทยถูกตราหน้าว่าเป็นต้นเหตุมวลพิษในมหาสมุทร อันดับที่ ๖ ของโลก
ในถิ่นฐานที่ประชากรใช้ถุงพล้าสติกชนิดครั้งเดียวทิ้ง
๘ ถุงต่อคนต่อวัน หรือราวคนละ ๓ พันถุงต่อปี
มากกว่าใครคนหนึ่งในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปถึง ๑๒ เท่า การรณรงค์ของน้องลิลลี่อาจจะยังไม่ดังพอในประเทศไทย
แต่จากคำของ คาคูโกะ นากาตานิ-โยชิดะ
ผู้ประสานงานภาคพื้นเอเซียของหน่วยตรวจตราด้านสารเคมี ของเสีย
และคุณภาพอากาศของสหประชาติ บอกว่าชาวโลกทั้งหลายยากที่จะมองข้ามเด็กคนหนึ่งซึ่งออกมาร้องถามว่า
“ทำไมจึงถมขยะใส่โลกที่เราอยู่อาศัย”
น้องลิลลี่เริ่มการรณรงค์เก็บขยะในที่สาธารณะหลังจากไปเที่ยวชายทะเลกับพ่อแม่ทางใต้ของประเทศไทย
ตอนวัย ๘ ขวบ แล้วเกิดความหวั่นสะพรึงเมื่อได้เห็นเศษพล้าสติกเกลื่อนเต็มชายหาด “หนูกับคุณพ่อคุณแม่ช่วยกันเก็บขยะ
แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้เพราะวันรุ่งขึ้นคนก็ทิ้งกันใหม่เต็มอีก”
ครั้นเมื่อการรณรงค์เรื่องโลกร้อนของเด็กสาวชาวสวีเด็นวัย
๑๖ ปี เป็นที่แซร่ซร้องทั่วโลก จนขณะนี้ เกรต้า ธันเบิร์ก ได้รับเชิญไปปาฐกถาในช่วงการประชุมใหญ่สหประชาชาติ
นครนิวยอร์ค ในวันที่ ๒๐ กันยายนนี้ เป็นความประทับใจทำให้น้องลิลลี่เริ่มการรณรงค์เก็บขยะของเธออย่างเอาจริงเอาจังบ้าง
ขนาดบางครั้งต้องโดดเรียนก็เอา
ด้วยการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากบิดาและมารดา โดยเฉพาะ ‘ซาซี’ ผู้เป็นแม่ เคยเป็นนักกิจกรรมเพื่อภาวะแวดล้อมมาก่อน
เมื่อน้องลิลลี่เขียนจดหมายเหตุถึงสหประชาชาติรณรงค์กำจัดขยะโลก พ่อกับแม่ก็ช่วย
นอกจากออกเดินเก็บขยะตามสวนสาธารณะ และแจวกระดานคลื่นเก็บขวดพล้าสติกตามลำคลองเองแล้ว
น้องลิลลี่ยังเข้าร่วมกิจกรรมกับองค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมอื่นอย่าง ‘แทร้ชส์ฮีโร่’ ด้วย
แม้กระทั่งไปนั่งประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาลกับนักรณรงค์อื่นๆ ก็เคย
ผลงานของน้องลิลลี่ปรากฏให้เห็นไม่น้อยเมื่อเครือเซ็นทรัลเริ่มปฏิบัตินโยบายไม่ยอมแจกถุงพล้าสติกให้ลูกค้าอาทิตย์ละครั้ง
เดือนนี้ผู้ประกอบการ ‘เซเว่นอีเล็ฟเว็น’ ในไทยปาวารณาว่าจะยกเลิกการใช้ถุงพล้าสติกในร้าน ภายในปี ๒๕๖๕
ณัฏฐพงษ์ นิธิอุทัย
ผู้ก่อตั้งบริษัทแปรรูปขยะพล้าสติกเป็นของเล่นกล่าวชื่นชมผลงานของหนูลิลลี่ว่า “น้องเค้าเป็นปากเป็นเสียงให้แก่ยุวชนไทยได้อย่างดี”
ทว่าอุปสรรคของการรณรงค์ในประเทศไทยยังมี เหมือนช้างตัวใหญ่ยืนอยู่ในห้อง
แรงต้านจากบรรษัทเปโตรเคมีในไทยนั้นทรงพลังอย่างยิ่ง
ในเมื่อมูลค่าธุรกิจชนิดนี้เทียบเท่า ๕ เปอร์เซ็นต์จีดีพีของประเทศ แล้วยังการจ้างงานนับพันๆ
“การคัดค้านหรือทัดทานจากอุตสาหกรรมเหล่านี้ ทำให้การเปลี่ยนแปลงใดๆ เป็นไปได้ยาก”