ขอบคุณภาพจากเฟสบุ๊ค Asia Indigenous Peoples' Pact
เครือข่ายชนเผ่าฯ 14 ประเทศ จี้เร่งหาคนฆ่าบิลลี่มาลงโทษ ขอบคุณดีเอสไอ ช่วยสางคดี
โดย A IMN - 06/09/2019
วันที่ 6 กันยายน 2562 ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีความเคลื่อนไหวของเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองเอเชีย 14 ประเทศ ออกแถลงการณ์ชื่นชมการทำงานของเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ที่ทุ่มเทไขคดีบิลลี่จนเกิดความกระจ่างว่าถูกฆาตรกรรม พร้อมขอให้เจ้าหน้าที่ได้เร่งติดตามตัวคนก่อเหตุมาดำเนินคดีตามกฎหมาย และให้รัฐไทยออกกฎหมายคุ้มครองนักปกป้องสิทธิ์
โดยทางเครือข่ายฯ ระบุว่า ขอสนับสนุนข้อเรียกร้องของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม และภาคประชาสังคมอื่นๆ ที่ได้แถลงออกไปก่อนหน้านี้ พร้อมทั้งมีข้อเรียกร้องเพิ่มเติมอีกบางประการ เช่น ให้รัฐบาลปฏิบัติตามข้อบัญญัติในปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งรัฐบาลไทยได้ร่วมลงนามในปี 2550 ให้เป็นรูปธรรม ซึ่งปฏิญญาฯ ดังกล่าวนี้ ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการอยู่รอดและดำรงชีวิตของชนเผ่าพื้นเมือง พร้อมทั้งเสนอให้รัฐบาลและรัฐสภาเร่งรัดดำเนินการ ในการตรากฎหมายอนุวัติการตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการป้องกันการบังคับบุคคลให้สูญหาย เพื่อให้การคุ้มครองประชาชนและป้องกันไม่ให้เกิดกรณีดังเช่นบิลลี่อีก
นายกิตติศักดิ์ รัตนกระจ่างศรี ประธานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองในไทย ได้ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ป่าแก่งกระจานตั้ง แต่ปี 2554 หลังจากที่ทราบข่าวว่ามีการอพยพชาวกะเหรี่ยงจากบ้านใจแผ่นดิน ลงมาอยู่ที่บ้านโป่งลึก – บางกลอย จนกระทั่ง “บิลลี่” แกนนำคนสำคัญที่ออกมาเรียกร้องสิทธิให้กับชาวบ้านหายตัวไป ในปี 2557 ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน
“จริง ๆ แล้วมันเริ่มมาจากปี 2554 ที่อุทยานไปอพยพชาวบ้านโป่งลึกบางกลอยลงมา ซึ่งเราก็ติดตามมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเมื่อเราทราบข่าวว่าบิลลี่ถูกอุ้มหาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับคดีการอพยพโยกย้ายชาวบ้านลงมา ก็ถือว่าเป็นประเด็นที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง และก็ละเมิดสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองด้วย ซึ่งเราได้พยายามนำเสนอเรื่องราวเพื่อช่วยกันหามาตรการหรือแนวทางในการป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องนี้ขึ้นอีก”
ในขณะที่มูลนิธิผสานความร่วมมือชนเผ่าพื้นเมืองเอเชีย หรือ เอไอพีพี ซึ่งเป็นองค์กรระกับภูมิภาค ก็ได้แสดงจุดยืนสนับสนุนข้อเรียกร้องของเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยด้วย
นาย ลัคปา นูริ เชอร์ปาร์ ผู้ประสานงานแผนกสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า
“เอไอพีพี ในฐานะที่เป็นองค์กรชนเผ่าพื้นเมืองระดับภูมิภาค เราติดตามกรณีของบิลลี่อย่างใกล้ชิด มาตั้งแต่ปี 2557 เราได้จัดกิจกรรมหลายครั้ง ในโอกาสต่าง ๆ เช่นในการประชุมการภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การประชุมภาคประชาสังคมป่าไม้อาเซียน เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงในพื้นที่ ว่าเกิดอะไรขึ้นกับนักปกป้องสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองของเรา”
“จากผลการสืบสวนของดีเอสไอ เป็นที่แน่ชัดว่าบิลลี่ได้ถูกฆาตรกรรม เราขอชื่นชมความพยามยามของดีเอสไอในการทำงาน เพื่อหาสาเหตุของการเสียชีวิต ผมคิดว่าบทบาทและความรับผิดชอบของดีเอสไอยังไม่จบเพียงเท่านี้ และยังต้องทุ่มเทต่อไปเพื่อค้นหาว่าใครต้องรับผิดต่อการตายของบิลลี่”
นายลัคปา กล่าวเสริมว่า ขอเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอและเจ้าหน้าที่ส่วนที่เกี่ยวข้องในการไขคดี เพื่อคืนความยุติธรรมให้กับครอบครัว เหนือสิ่งอื่นใดคือการมีมาตรการปกป้องคุ้มครองไม่ให้เกิดเหตุการเช่นนี้ขึ้นอีกในอนาคต
ภาพ – อาฟู่ บะเชอะ ข่าว – พนม ทะโน