วันพุธ, มีนาคม 08, 2560

เจ๋งไหมล่ะ เศรษฐกิจดันหยุดโต รีดเลือด ‘e-ปูว์’ (คดีจำนำข้าว) ไม่ได้ทันใจ หันไปขอดเกล็ด ‘i-แม้ว’ (คดีหุ้นชินคอร์ป) แทน





เจ๋งไหมล่ะ รีดเลือด ‘e-ปูว์’ (คดีจำนำข้าว) ไม่ได้ทันใจ หันไปขอดเกล็ด ‘i-แม้ว’ (คดีหุ้นชินคอร์ป) แทน

“นายกรัฐมนตรี กำชับ ก.คลัง-สรรพากร หารือเรียกเก็บภาษี ๑.๖ หมื่นล้านบาท จาก 'ทักษิณ' ขายหุ้นชินคอร์ป” จากข่าวว้อยซ์ทีวี

“หัวหน้า คสช. กล่าวถึงคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร พิจารณาแนวทางเรียกเก็บภาษีเงินได้จาก ดร.ทักษิณ ชินวัตร กรณีขายหุ้นชินคอร์ปให้กับเทมาเส็ก ปี ๒๕๔๙”

อย่างนี้จะหาว่ารัฐบาลพวกทหารยึดอำนาจดีแต่จับจ่ายซื้อรถถัง-เรือมุดน้ำ ไม่มีปัญญาหาเงินเข้าคลัง ไม่ได้แล้วมั้ง

“ที่ประชุมได้พิจารณาถึงแนวทางของข้อกฎหมายตามมาตรา ๑๙ ประมวลรัษฎากร ที่จะสามารถวางแนวทางในการขยายเวลาอายุความจากบุคคล ที่ต้องเรียกภาษีภายใน ๕ ปี ออกไปเป็น ๑๐ ปี ตามมาตรา ๓ อัฎฐ (๒)

แต่ก็ยังไปไม่ได้คืบ “ได้ข้อสรุปว่าไม่อาจขยายเวลาต่อไปได้ เนื่องจากเจตนารมย์ของประมวลกฎหมายฉบับนี้ กำหนดจะต้องมีการออกหมายเรียกให้เสร็จสิ้นภายในเวลา ๕ ปี”

นายประภาส คงเอียด รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร อธิบาย

http://news.voicetv.co.th/thailand/468165.html





อ๊ะ อย่าเพิ่งหมดหวัง ยังมีคนดีขนหน้าแข้งของ คสช. ชี้ทางเบี่ยงให้

ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีไอเดียบรรเจิด บอกว่าอย่าไปพิจารณาประเด็นมาตรา ๑๙ เพราะมันขยายเวลาไม่ได้ ต้องหันไปใช้มาตรา ๖๑ แทนถึงจะเด็ดจริง

“เป็นกฎหมายสำคัญสรรพากร เป็นอาวุธ เป็นไม้เด็ดเลย” นายพิศิษฐ์ ลีลาวัชโรภาส แย้มกลเม็ดผ่านสปริงนิวส์ ว่ามาตรานี้ให้อำนาจกรมสรรพากร “ประเมินเรียกเก็บ” ดังนั้น “กรมสรรพากรก็ประเมินเรียกเก็บไป...แล้วคนที่มีหน้าที่เสียภาษีก็ต้องมาชี้แจงเอง”

เสร็จแล้วกลายเป็นเล่น ‘มอญซ่อนผ้า’ เอาตุ๊กตาซ่อนไปซ่อนมาข้างหลัง ระหว่าง คสช. เจ้านายกระทรวงการคลัง (สรรพากร) ลิ่วล้อ และองค์กรอิสระ (สตง.) ขนหน้าแข้ง

“สตง. เพียงแต่มาตรวจสอบว่าหน่วยงานจัดเก็บนั้นจัดเก็บได้ถูกต้องหรือไม่ ขณะนี้เรายืนยันแจ้งเตือนไปแล้วว่า ยังจัดเก็บไม่ครบถ้วน

กรมสรรพากรไปอ้างโน่นอ้างนี่ บอกว่าหมดอายุเวลาแล้ว แต่เราบอกว่ายังไม่หมดนะ มาตรา ๖๑ ยังทำได้ภายใน ๑๐ ปี ก็ทำไปตามหน้าที่ครับ”

(http://www.springnews.co.th/th/2017/03/29635/)

กลายเป็นว่าเจ้านายสั่งงานยากไปหน่อยมั้ง ลิ่วล้อเลี่ยง ขนหน้าแข้งเกี่ยง เลยจะกลายเป็นเรื่องลูกน้องเบาะแว้งกัดกัน

จะให้ดี มีพรายกระซิบให้คู่กรณีแว่บไปอ่านข้อเขียนของ บรรยง พงษ์พานิช อดีตกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจและอดีตกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง ‘ข่าวดีหรือข่าวน่าเป็นห่วงกันแน่’ สักหน่อยน่าจะดี

ที่ว่าบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ๕๖๗ แห่งมีกำไรกว่า ๙ แสนล้านบาทเมื่อปี ๕๙ ที่ผ่านมา ขณะที่ค่าความเหลื่อมล้ำของรายได้ (GINI) อยู่ที่ ๓๙.๒ (ดีที่สุด ๐ แย่ที่สุด ๑๐๐) ประมาณกลางๆ ไม่ดี แต่ก็ไม่เลวนัก หากแต่ปัญหาใหญ่อยู่ที่ “เศรษฐกิจเราดันหยุดโต”





นายบรรยงเล่าว่าเศรษฐกิจไทยเคยโตปีละ ๙ เปอร์เซ็นต์เมื่อ ๓๕ ปีที่แล้ว พอถึงยุคทักษิณและสุรยุทธ์ จุลานนท์เหลือ ๕ เปอร์เซ็นต์ “แต่มา ๘ ปีหลังโตเฉลี่ยไม่ถึง ๓% แถมมีติดลบตั้งสามปี” เขาเรียกลักษณะนี้ว่า “โตต่ำ...

ย่อมทำให้เกิดปัญหาการกระจาย เพราะเศรษฐีกับคนชั้นกลางไม่ยอมโตต่ำไปด้วย คนส่วนใหญ่ที่มีรายได้น้อยและมีโอกาสน้อยย่อมยากที่จะเข้าถึงส่วนแบ่งของการเติบโต”

แล้วมันกระทบไปถึงกรณี ‘จีดีพี’ ซึ่งของไทยมีปีละ ๑๔ ล้านล้านบาท ดังนั้นกำไรของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์กับนอกตลาดอีกหน่อยรวมเป็น ๓ ล้านล้าน จึงเท่ากับ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ที่เหลืออีก ๗๕ เปอร์เซ็นต์กลายเป็นส่วนที่ไม่มีกำไร

โดยที่จีดีพีไทยปีนี้โตแค่ ๓.๒ เปอร์เซ็นต์ (บวกกับเงินเฟ้อและตัวปรับแล้วคงขยับขึ้นไปเป็น ๔ เปอร์เซ็นต์เต็ม) แล้วส่วนน้อย ๒๕ เปอร์เซ็นต์ดันโตเสียอีก ๑๕ เปอร์เซ็นต์ “ส่วนที่เหลือ ๗๕ เปอร์เซ็นต์ จะติดลบถึง ๒ เปอร์เซ็นต์”

(https://www.facebook.com/banyong.pongpanich/posts/656638327872803?pnref=story)

ทั้งหมดนั้นนายบรรยงพยายามเอาตัวเลขข้อมูลซับซ้อนทางธุรกิจการเงินมาอธิบายว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดในบ้านเมืองอยู่ที่ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ เป็นสำคัญกว่าอื่นใด คือมีพวกโชคดีเอาแต่รวย ๑/๔ ส่วนพวกโชคร้าย ๓/๔ ดีแต่จน

“โครงการสานพลังประชารัฐ ที่ดูเหมือนว่าตั้งใจจะช่วยให้ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังตามที่ประกาศตอนให้สัมภาษณ์ทุกครั้ง แต่ผลระยะสั้นมันยังตรงข้ามกันอยู่”

แล้วทำไมยังคิดได้แค่ ‘ขูดเลือดอิปูว์’ กะ ‘ขอดเกล็ดไอแม้ว’ เท่านั้นแหละ ไหงไม่คิดแบ่งผันปันส่วนจากคนรวย ๒๕ เปอร์เซ็นต์กันบ้างล่ะ

ภาษีมรดกคนรวยปีที่แล้วเก็บไม่ได้เลย ปีนี้จะเก็บภาษีบาปเพิ่มค่าต๋งน้ำขมคลายอารมณ์ของคนจนเสียอีก