วันพุธ, มีนาคม 15, 2560

จะเอาให้ได้!!! ประยุทธ์-วิษณุ ประสานเสียง สั่งลุยเก็บภาษี “หุ้นชิน” จากทักษิณ!!! "นพดล" ยืนยัน ซื้อ-ขายหุ้นชิน ไม่ต้องเสียภาษี




จะเอาให้ได้!!! ประยุทธ์-วิษณุ ประสานเสียง สั่งลุยเก็บภาษี “หุ้นชิน” จากทักษิณ!!!


BY SARA BAD ON MARCH 15, 2017
ที่มา ISPACE Thailand

ดูเหมือนว่าหากเป็นกรณีของบุคคลบางคนแล้ว มาตรฐานการทำงานของรัฐบาลคสช. และองค์กรอิสระจะเข้มข้น เข้มแข็ง และหาทุกวิถีทางเพื่อดำเนินการให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ยิ่งต้องเข้มข้น และถือว่าปล่อยผ่านไม่ได้จริงๆ





ในห้วงอาทิตย์ที่ผ่านมาชื่อของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กลับมาอยู่ในกระแสข่าวหลักของการเมืองไทยอีกครั้ง โดยครั้งนี้เป็นเรื่องของการเก็บภาษีจากการขายหุ้นบริษัทชิน คอร์ปฯ ซึ่งมีการประเมินจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ว่าต้องมีการเรียกเก็บเงินภาษีจำนวนสูงถึง 16,000 ล้านบาท แต่หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงอย่างกรมสรรพากรกลับออกมาระบุชัดเจนว่าการซื้อขาย “หุ้นชิน” นั้น ซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ และการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของไทยนั้น มีข้อกฎหมายที่ชัดเจนว่าไม่ต้องเสียภาษี ทำให้ไม่สามารถเก็บภาษีได้

แม้กรมสรรพากร รวมถึงปลัดกระทรวงการคลังจะออกมาระบุตรงกัน ว่ากรณีนี้ไม่สามารถเก็บภาษีได้ และไม่สามารถขยายอายุความภาษีได้อย่างแน่นอน แต่เรื่องดังกล่าวก็ดูจะไม่จบง่ายจากท่าทีของนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ที่ออกมาพูดหลังจากการแถลงของกรมสรรพากร และปลัดกระทรวงการคลังแทบจะทันที ว่ากรณีการเก็บภาษี “หุ้นชิน” นั้นจะหยุดไม่ได้ พร้อมทั้งสั่งการให้กรมสรรพากรไปดูว่าจะสามารถทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน





ล่าสุดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ก็ออกมาพูดถึงเรื่องการเก็บภาษี “หุ้นชิน” ว่าได้มีการประชุมร่วมกันของฝ่ายกฎหมาย เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยมีข้อยุติว่าให้ใช้กฎหมายปกติดำเนินการ

“กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากรจะดำเนินการเรียกภาษี จะได้หรือไม่ต้องไปเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ทุกฝ่ายมีโอกาสโต้แย้งในชั้นศาล ซึ่งต้องดูความเป็นมาของศาลที่ผ่านมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นศาลฎีกา เพราะหลายอย่างมีความซับซ้อน มีการวางแผนแยบยลถ่ายเงินหลายทอด สังคมก็เชื่ออย่างนั้น ผมพยายามแกะมาสัปดาห์กว่าๆ แล้ว จนได้ข้อยุติดังกล่าว การที่จะให้ผมมาสั่งโน้นสั่งนี้ บางอย่างผมก็สั่งไม่ได้ เป็นเรื่องของฝ่ายกฎหมายไปพิจารณามา สรุปกรมสรรพากรต้องดำเนินการเรียกเก็บภาษี ถ้าไม่ได้ก็ไปอุทธรณ์ว่ากันไปตามกฎหมาย ซึ่งต้องทันเวลาก่อนวันที่ 31 มีนาคมนี้ด้วย” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว





โดยพล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่าการดำเนินเรื่องทั้งหมด เนื่องจากสตง.ได้ตั้งข้อสังเกตมา รัฐบาลจะไม่ทำอะไรเลย เดี๋ยวก็จะเป็นปัญหาตามมาอีก

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯฝ่ายกฎหมาย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการเรียกเก็บภาษี “หุ้นชิน” ว่าเรื่องนี้ยังไม่แน่ชัดว่าใครผิด ใครถูก ขณะนี้มี 2 ความเห็น ถ้ายึดความเห็นที่หนึ่งของกรมสรรพากรคือเรียกไม่ได้ และอีกความเห็นของสตง.คือ สามารถเรียกเก็บได้ เมื่อยังไม่รู้ว่าใครถูก ผิด ก็ต้องไปทำให้ได้รับความชัดเจน คือประเมิน ให้ความเป็นธรรม และสามารถอุทธรณ์ จากนั้นถ้าไม่มีการจ่าย รัฐก็ต้องไปฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลาง ซึ่งเมื่อถ้าตัดสินแล้วไม่พอใจก็ยังไปอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรได้ และการดำเนินการเป็นไปตามกระบวนการประเมินภาษีปกติทุกอย่าง





นายวิษณุ กล่าวต่อไปว่าเรื่องนี้ไม่มีการขยายเวลา ไม่มีการขยายอายุความ ไม่มีการใช้มาตรา 44 ใช้ประมวลรัษฎากรปกติทุกอย่าง ซึ่งเวลาที่เหลือ 16วัน ก็ไม่ยากอะไร เมื่อยื่นประเมินแล้ว อายุความก็หยุด ทั้งนี้นายวิษณุกล่าวถึงการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรที่ไม่ได้เรียกเก็บภาษีก่อนหน้านี้ว่า ปลัดกระทรวงการคลังได้มีการตั้งกรรมการสอบตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคม โดยเป็นการสอบวินัย ถ้าพบว่าผิดก็ดำเนินการตามกฎหมาย





น่าสนใจว่าเมื่อทั้งพล.อ.ประยุทธ์ และนายวิษณุ ต่างระบุตรงกันว่าเรื่องการเก็บภาษี “หุ้นชิน” จะไม่มีการขยายอายุความ ไม่ใช้มาตรา 44 แต่ใช้ประมวลรัษฎากรปกติ เรื่องการเก็บภาษี “หุ้นชิน” ก็ควรจะจบไปอย่างที่กรมสรรพากรระบุ เพราะมีกฎหมายที่ชัดเจนระบุไว้อยู่แล้ว ในกฎกระทรวงการคลังฉบับที่ 126(พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (23) เงินได้จากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแต่ไม่รวมถึงเงินได้จากการขายหลักทรัพย์ที่เป็นหุ้นกู้หรือพันธบัตร (แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 187 (พ.ศ. 2534)

ซึ่งแปลความกันง่ายๆว่า เมื่อการซื้อขาย “หุ้นชิน” เกิดขึ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯก็ได้รับการยกเว้นภาษีนั่นเอง และไม่ใช่แค่กรณีการซื้อขาย “หุ้นชิน” เท่านั้น แต่หมายถึงการซื้อขายหุ้นทุกประเภทในตลาดหลักทรัพย์ ยกเว้นหุ้นกู้หรือพันธบัตรนั่นเอง

แม้สตง. จะมีการอ้างว่าสามารถเก็บภาษีได้ แต่ก็ไม่ได้มีข้อกฎหมายอะไรมารองรับ เมื่อเป็นเช่นนี้ คำถามคือแล้วทำไมรัฐบาล จึงพยายามเหลือเกินที่จะหาช่องทางประเมินภาษี “หุ้นชิน” ให้ได้???





ในขณะที่การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์จำนวนหลายครั้ง ก็มีมูลค่าที่สูง ไม่แตกต่างจากการขาย “หุ้นชิน” แต่กรณีการซื้อขายเหล่านั้น กลับไม่มีการประเมินภาษี ไม่มีนายกฯ ไม่มีรัฐมนตรี ไม่มีสตง.มาสั่งให้ประเมินภาษีแต่อย่างใด ราวกับว่าทุกฝ่าย ทราบดีถึงข้อกฎหมายที่มีการยกเว้นการเก็บภาษีการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์

ซึ่งผิดกับกรณี “หุ้นชิน” ที่รัฐบาล และองค์กรอิสระต่างพยายามค้นหาช่องทางทางกฎหมาย เพื่อประเมิน และเรียกเก็บภาษีอย่างเอาเป็นเอาตาย หรือที่ต้องช่วยกันคิดหาช่องทางกฎหมาย เพื่อเก็บภาษี “หุ้นชิน” ให้ได้ เพราะ “หุ้นชิน” เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ!!??


Reference

http://www.matichon.co.th/news/495292

http://www.matichon.co.th/news/495372

http://www.bbc.com/thai/thailand-39268784?ocid=socialflow_facebook
ooo

"นพดล" ยืนยัน ซื้อ-ขายหุ้นชิน ไม่ต้องเสียภาษี





15 มีนาคม พ.ศ. 2560
ที่มา TV 24


ตามที่ผู้นำในรัฐบาลให้สัมภาษณ์ว่าจะมีการประเมินเรียกเก็บภาษีจาก ดร.ทักษิณ ชินวัตร เกี่ยวกับการขายหุ้นชิน คอร์ป ซึ่งคงหมายถึงหุ้นจำนวน 329.2 ล้านหุ้น ที่รวมขายให้แก่กลุ่มเทมาเส็กในปี 2549 นั้น

นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะที่ปรึกษากฎหมาย ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการประเมินภาษีจากเงินได้ส่วนใด? จากธุรกรรมตอนใด? และจะอาศัยกฎหมายข้อใด? ซึ่งในเบื้องต้นตนเห็นว่า

1. เคยมีคำพิพากษาซึ่งสรุปความตอนหนึ่งได้ว่าหุ้นในชิน คอร์ปจำนวนดังกล่าวที่รวมขายให้กลุ่มเทมาเส็กในปี 2549 นั้น ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ บุคคลอื่นๆเป็นเพียงผู้ถือหุ้นแทน ไม่ใช่เจ้าของหุ้น

2. การขายหุ้นดังกล่าวให้กลุ่มเทมาเส็กได้ขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไม่ได้ขายนอกตลาด

3. ตามกฎหมายไทย เงินได้จากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้นได้รับยกเว้นภาษีตามกฎกระทรวงฉบับที่ 126 ข้อ 23 ที่ออกตามประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งกฎกระทรวงดังกล่าวนี้ใช้มานานแล้ว และใช้บังคับเป็นการทั่วไปกับทุกคน ไม่มีข้อยกเว้น ดังนั้นการขายหุ้นชิน คอร์ปผ่านตลาดหลักทรัพย์ก็อยู่ภายใต้กฎกระทรวงฉบับเดียวกันนี้ ตราบใดที่ไม่มีการแก้ไข

4. นอกจากเงินได้จากการขายหุ้นในตลาดจะได้รับยกเว้นภาษีแล้ว เงินได้จากการขายหุ้นชินคอร์ปและเงินปันผลจากหุ้นประมาณ 46,000 ล้านบาท ถูกยึดตกเป็นของแผ่นดินไปตั้งแต่ 8 ปีที่แล้ว

นายนพดล กล่าวต่อว่า การขายหุ้นชิน คอร์ปเกิดขึ้นมาสิบปีแล้ว ผ่านมาหลายรัฐบาล แม้แต่ท่านรองนายกรัฐมนตรีก็ยังให้สัมภาษณ์ในสื่อต่างๆว่า เรื่องนี้ยังไม่แน่ชัดว่าใครผิดใครถูก เพราะกรมสรรพากร ระบุว่า อาจดำเนินการไม่ได้ ตนเห็นว่าประเด็นในเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องอายุความว่าจะขาดหรือไม่ แต่ประเด็นหลักคือการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ได้รับยกเว้นภาษีตามกฎหมาย ดังนั้นจึงไม่เข้าใจว่าจะมีการประเมินภาษีบนพื้นฐานข้อกฎหมายใด กรมสรรพากรซึ่งเป็นหน่วยงานจัดเก็บภาษีของประเทศเป็นผู้มีความรู้เรื่องกฎหมายภาษีเป็นอย่างดี ตนหวังว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะปฏิบัติหน้าที่โดยชอบและดำเนินการเรื่องนี้ตามกฎหมายและหลักนิติธรรม และยึดหลักความเท่าเทียมเสมอภาคกับทุกคน เชื่อว่า ถ้าทุกฝ่ายทำเช่นนั้น ก็จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับการค้าและการลงทุนในประเทศได้