วันพฤหัสบดี, มีนาคม 09, 2560

รู้ยัง... บัญญัติ 6 ประการ ดัชนีชี้วัด "สลิ่ม" และปรากฏการณ์สื่อสลิ่ม




บัญญัติ 6 ประการ ดัชนีชี้วัด "สลิ่ม" และปรากฏการณ์สื่อสลิ่ม


15 ธันวาคม พ.ศ. 2555
ที่มา มติชนออนไลน์

แมลงวันในไร่ส้ม มติชนสุดสัปดาห์ 14-20 ธันวาคม 2555


การถ่ายทอดสดศึกมวยไทยวอริเออร์ จากมาเก๊า โดยช่อง 11 เมื่อคืนวันที่ 9 ธันวาคม

มีไฮไลต์อยู่ที่ การปรากฏตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก่อนการแข่งขัน

กลายเป็นพาดหัวข่าวดุเดือดของหนังสือพิมพ์รายวันบางฉบับ

เช้าวันที่ 10 ธันวาคม เว็บบอร์ดหลายแห่งหยิบเอามา "แซว"

อาทิ กระทู้ในห้องราชดำเนิน เว็บพันทิป ระบุว่า "สื่อสลิ่ม ดิ้นพล่านนนนนนน"

เรียกคอมเมนต์ตามมายาวเหยียด

หนึ่งในนั้นคือ "...โห นี่สื่อเหรอ ใช้คำที่ขนาดในนี้ยังพิมพ์ไม่ได้เลย ไอ้สื่อค่ายนี้มันช่างมีคุณธรรม จริยธรรม สูงส่งเสียจริงๆ"

"สลิ่ม" เป็นศัพท์การเมืองที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางการเมือง

แปลงมาจาก "ซ่าหริ่ม" อันเป็นชื่อขนมหวานที่มีหลายสี

ในระยะแรกๆ ที่มีการใช้คำนี้ในหนังสือพิมพ์ ฝ่ายพิสูจน์อักษร หรือ "ปรู๊ฟ" จะแก้กลับมาเป็น "ซ่าหริ่ม" จนกระทั่งแพร่หลายมากขึ้น จึงเลิกแก้

ผู้ใช้นาม Faris Yothasamuth เขียนในเฟซบุ๊กของตัวเอง เว็บข่าวประชาไทนำมาเผยแพร่ ในหัวข้อ "อะไรคือสลิ่ม? ว่าด้วยที่มา บริบท ความหมาย และคุณลักษณะเฉพาะ"

มีเนื้อความน่าสนใจ ขอนำเอาสาระบางตอนมาถ่ายทอดดังนี้

ปี 2553 มีคนเสื้อแดงชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ในขณะนั้นยุบสภา

ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านคนเสื้อแดงอย่างหลากหลาย

หนึ่งในนั้นคือการเกิดขึ้นของกลุ่มประชาชนพิทักษ์ชาติ (ไม่แบ่งสี) โดยการนำของ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ขนานนามตนเองว่าเป็น "กลุ่มเสื้อหลากสี"

สร้างปฏิกิริยาโต้กลับจากฝ่ายเสื้อแดงในทางเย้ยหยัน ว่าเป็นแค่การเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนสีเสื้อ ของคนเสื้อเหลืองเก่า ที่ไม่สามารถใช้เสื้อเหลืองในการเคลื่อนไหวอย่างสะดวกใจได้ต่อไป

เนื่องจากการเสื่อมความนิยม ประกอบกับกระดากที่กลุ่มพันธมิตรได้กลายเป็นผู้ต้องหาในคดีสำคัญๆ (แม้ว่าจะรอดพ้นการดำเนินคดีได้อย่างปาฏิหาริย์มาโดยตลอด)

ในทัศนะของคนเสื้อแดง คนเสื้อหลากสีก็คือเสื้อเหลืองจำแลงนั่นเอง เพราะจริงๆ แล้ว ทั้งความคิด พื้นฐานอุดมการณ์ การกระทำ และการแสดงออก เหมือนกับเสื้อเหลืองไม่ต่างกับฝาแฝด

ทั้งสองเสื้อล้วนอยู่ตรงข้ามพรรคเพื่อไทย/คนเสื้อแดง และแสดงออกถึงการต่อต้านทักษิณอย่างมากล้น

รวมถึงมีคติร่วมที่ไม่ค่อยเชื่อประชาธิปไตยในระบบ มักเรียกร้องหารัฐประหาร

การดูแคลนคนเสื้อหลากสีของคนเสื้อแดงได้ถ่ายทอดออกมาผ่าน "สมญานาม" ที่ใช้เรียกเสื้อหลากสี คำคำนั้นก็คือคำว่า "สลิ่ม"

ด้วยเหตุผลว่าสลิ่ม(ซาหริ่ม) เป็นขนมที่มีเส้นหลากหลายสีสัน เป็นการล้อไปกับสภาพเสื้อที่หลากหลายสีของกลุ่มเสื้อหลากสีนั่นเอง

Faris Yothasamuth ระบุว่า เห็นคำนี้ในเฟซบุ๊กของเพื่อนช่วงเดือนเมษายน 2553 แต่ไม่ทราบต้นตอว่าใครเป็นคนคิดคำนี้คนแรก

ในเบื้องแรกใช้ขนานนามให้คนเสื้อหลากสีเป็นการเฉพาะ แต่ในที่สุดแล้ว คำคำนี้ได้กลายเป็นสแลงทางการเมืองที่แพร่หลายมากคำหนึ่ง (อย่างน้อยก็ในหมู่คนเสื้อแดง)

ต่อมานำไปใช้ในบริบทที่กว้างขึ้น จากเดิมเฉพาะกลุ่มการเมืองของคนเสื้อหลากสี ไปสู่การใช้กับใครก็ตามที่มีพฤติกรรมร่วม เข้าข่ายเดียวกับคนเสื้อหลากสี

ผู้เขียน (หมายถึง Faris) เสนอลักษณะเฉพาะ (Characteristic) ของ "สลิ่ม" ดังนี้

1. เกลียดชังทักษิณเป็นล้นพ้น คิดว่าทักษิณคือต้นตอแห่งความเลวร้ายทุกประการของการเมืองไทย

เห็นตัวอย่างได้ชัดเจนจากเว็บบอร์ดอันเป็นที่พักพิงของสลิ่มทั้งหลาย ไม่ว่าจะเกิดประเด็นทางการเมืองอะไร ชื่อของทักษิณมักจะถูกนำเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างเลี่ยงไม่ได้ (แม้ว่าบางกรณีทักษิณจะไม่ได้เกี่ยวข้องเลยก็ตาม)

รวมถึงการสร้างวาทกรรมว่าทักษิณใช้อำนาจเงินเข้าไปซื้อทุกอย่าง จนเสื้อแดงเอาไปล้อเลียนในลักษณะขบขันเสมอๆ เช่นมีเพจในเฟซบุ๊กชื่อ "มั่นใจว่าทักษิณสามารถซื้อทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลนี้ได้"

ความเกลียดทักษิณทำให้สลิ่มรังเกียจทุกสิ่งที่เกี่ยวพันกับทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย นักการเมืองในเครือข่ายทักษิณ ญาติทักษิณ ประชาชนที่ชอบทักษิณ ฯลฯ

2. การดึงสถาบันอันเป็นที่เคารพสักการะ สนับสนุนความคิดของตน ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือวาทะประวัติศาสตร์อันลือลั่นของอ๊อฟ พงศ์พัฒน์ (ที่บางคนขนานนามว่าสลิ่มตัวพ่อ) ที่ว่า "ไม่รักพ่อก็ออกไปจากบ้านของพ่อซะ"

3. โหยหาทหาร อาจเป็นเพราะนับแต่ 19 กันยายน 2549 สถาบันทหารได้แสดงจุดยืนที่ "ไม่เข้าข้าง" รัฐบาลพลเรือนจากฝ่ายทักษิณมาโดยตลอด ทำให้ทหารกลายเป็นพระเอกในใจสลิ่มไปโดยปริยาย

พยายามที่จะเรียกร้องให้ทหารทำรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะคิดง่ายๆ ว่า แค่กำจัดทักษิณและพลพรรคนักการเมืองของเขาออกไปได้ ทุกอย่างก็จะจบ โดยลืมคิดว่ารัฐประหารที่ผ่านมา ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรแม้แต่นิดเดียว

4. ไม่เชื่อมั่นประชาธิปไตยในระบบ เพราะเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยครั้งหลังๆ จบลงด้วยชัยชนะของพรรคเครือข่ายทักษิณ ทำให้สลิ่มหมดหวัง หรือถึงขั้นชิงชังประชาธิปไตยในระบบ สลิ่มจำนวนมากจึงหันไปหาวิธีการพิเศษ

5. ขาดเหตุผลและความรู้ นี่เป็นปัจจัยที่ทำให้สลิ่มถูกปรามาสจากเสื้อแดงมาโดยตลอด เนื่องจากสลิ่มมักขาดเหตุผลที่ดีในการแสดงออก ตัวอย่างที่ชัดเจน ก็คือ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น สลิ่มก็มักใช้เหตุผลว่า "ทักษิณซื้อ...ไปแล้ว"

6. มีความหลงผิดว่าตนเองดีเลิศและสูงส่งกว่าคนอื่น สลิ่มชิงชังทักษิณอย่างถึงที่สุด ดังนั้น เมื่อภาพของคนที่ชื่นชอบทักษิณส่วนใหญ่เป็นคนชนบท-คนชั้นล่าง ทำให้สลิ่มนำภาพรวมดังกล่าวมาเปรียบเทียบ และยกสถานะตนเองในแง่ของชนชั้นและการศึกษาว่าเหนือกว่าอีกฝ่าย

การยกตนนี้ลุกลามไปจนถึงการแสดงออกทางการเมือง สลิ่มจะคิดไปว่าความคิดทางการเมืองในแบบของตนนั้นดีเลิศและสูงส่งกว่าของคนอื่น โดยเฉพาะเสื้อแดง

สหายท่านหนึ่งได้เขียนเสียดสีไว้ว่า สลิ่ม (SLIM) นั้นย่อมาจาก Special League of Intellectual and Morality คือพวกที่คิดเองว่า ตนเองมีมาตรฐานปัญญาและศีลธรรมที่เหนือกว่าชาวบ้าน แต่ความเป็นจริงก็ไม่ได้แสดงให้เราเห็นเช่นนั้นแต่อย่างใด

หลังจากที่วิเคราะห์ได้ระยะหนึ่งก็พอจะสรุปได้ว่า ความเป็นสลิ่มนี้ มีมูลเหตุพื้นฐานจาก Ignorance หรือสภาวะของความไม่รู้/การขาดความรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ต่างจากความโง่เง่า (Stupidity) เพราะความโง่เง่าแสดงถึงศักยภาพทางสมองที่ต่ำ

แต่คนที่มี Ignorance อาจฉลาดปราดเปรื่อง เราจึงเห็นสลิ่มเป็นได้ทั้งหมอ วิศวกร ทนาย อาจารย์มหาวิทยาลัย

แต่ Ignorance เป็นการไม่รู้เพราะเลือกที่จะไม่รู้ เลือกที่จะไม่รู้ เพราะอคติหรือบางสิ่งกำลังบังตา ทำให้ขาดเหตุผลและเกิดความคิดที่ผิดๆ ไปหมด

นั่นคือ "ที่มา" ของ "สลิ่ม" ซึ่งในวงการสื่อ ก็แสดงตัวชัดยิ่งกว่าชัด