สองสามวันมานี้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ คสช. เพื่อกระชับพื้นที่ด้านอำนาจตุลาการและราชทัณฑ์ สองเรื่องด้วยกัน
ที่โดยผิวเผินแล้วดูเหมือนอาการขึงขังเอาจริงเอาจังกับการปฏิรูปด้วยตัวบทกฎหมาย แต่แท้จริงน่าจะเป็นเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือในการกำกับทางการเมืองการปกครอง หลังจากที่ คสช. ลงจากหลังเสือไปเดินจูงแทนอยู่ข้างๆ เสียมากกว่า
เรื่องแรกเป็น ‘ก้าวแรก’ “การขับเคลื่อนงานด้านการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองสมานฉันท์” ที่ คสช. เรียกประชุม ปยป. นัดแรก เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม
ที่จริงแล้วเน้นเรื่อง ‘ปรองดอง’ ให้มันดูดีน่ะแหละ ดังที่ทั่นรองฯ ฝ่ายมั่นคง ย้ำนักย้ำหนาให้พวกการเมืองสองฟากสองพรรคปรองดองกันเอง ไม่ใช่กับตะหาน แม้ว่าเหตุร้ายจากพรรคการเมืองด้วยกันแค่เจ็บใจ แต่เหตุบรรลัยจากทหารนั่นเจ็บและตาย
ก่อนอื่นต้องรู้จัก ปยป. กันก่อน ถึงจะชื่อย่อแต่เรื่องยาวทีเดียว เป็นคณะกรรมการ ๑๑ คน มีประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นหัวหน้า และสุวิทย์ เมษินทรีย์ เป็นเลขานุการ ทั้งเป็นคณะที่หัวหน้าประยุทธ์บอกว่า
“คณะกรรมการชุดนี้เป็นชุดที่สำคัญที่สุดสำหรับประเทศไทยในเวลานี้ โดยเป็นคณะที่เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของประเทศในทุกด้าน” ทั้งในเรื่องการปฏิรูปอะไรต่อมิอะไร เรื่องยุทธศาสตร์ ๒๐ ปี และเรื่องปรองดอง กับคนที่ ‘ยอมรับผิด’ (เท่านั้นนะ)
(http://www.matichon.co.th/news/427976)
เนื้อหาประมาณนี้ “กฎหมายหลายฉบับยังไม่มีผลบังคับใช้ ดังนั้นวันนี้จึงอยากให้ปลดล็อกพันธนาการ เหล่านั้น” อาทิ เช่นด้วยแนวทางของกรรมาธิการ สปท. ชุดของนายเสรี สุวรรณภานนท์ ที่ “มีไฮไลต์ คือ ‘การพักโทษ’ ในส่วนคดีความผิดไม่ร้ายแรง...
หากจำเลยยอมรับผิดตามที่ถูกฟ้อง จะเสนอให้ศาลจำหน่ายคดีออกไป แต่ระหว่างนั้น ๕ ปี ห้ามไปก่อปัญหา...ห้ามชุมนุม ปลุกปั่นยุยง สร้างความแตกแยก”
รู้นะว่านิยามของการก่อปัญหา ชุมนุม ปลุกปั่น และทำแตกแยก นี่อยู่ที่การต่อต้าน คัดค้าน คสช. และผู้ครองอำนาจเท่านั้น ถ้าเป็นทำอย่างเดียวกันต่อพวกเห็นต่างหรือพวกนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ถือว่าไม่เข้าข่าย
อีกเรื่องเป็นข้อกฎหมายของการปล่อยตัวชั่วคราว ที่ “ศาลยุติธรรมดีเดย์นำระบบประเมินความเสี่ยงในการปล่อยตัวชั่วคราว” มาใช้ เริ่มทดลอง ๑ กุมภาพันธ์นี้ นำร่อง ๕ ศาล มี “ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลจังหวัดจันทบุรี ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ และศาลจังหวัดเชียงใหม่”
“ใช้เวลาทดลอง ๑-๓ ปี ก่อนพิจารณาขยายไปยังศาลอื่นทั่วประเทศและทดลองกับทุกฐานความผิดซึ่งขยายอัตราโทษมากขึ้นยกเว้นความผิดในคดีอุกฉกรรจ์”
(http://www.nationtv.tv/main/content/social/378531005/)
อันนี้เป็นการให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องมีประกัน “เฉพาะคดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี...แม้อัตราโทษคดีไม่เกิน ๕ ปี จะมีสิทธิได้รับการรอลงอาญาตามกฎหมายอยู่แล้ว”
แต่การทดลองนี้เพื่อเปรียบเทียบดูว่า การปล่อยโดยเงินประกันกับการปล่อยโดยประเมินความเสี่ยง อันไหนหนีมากกว่ากัน แล้วค่อยปรับอีกที
นอกจากนี้ยังจะมีการทดลองนำกำไลควบคุมทางอีเล็คโทรนิคมาทดลองใช้ ๑๐๐ อัน เพื่อเตรียมการสำหรับแผนจัดซื้อ ๑ พันอัน ที่ “จะนำมาใช้กับศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย”
ที่สุดแล้วก็จะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา ‘ชื่อเสีย’ ของกระบวนยุติธรรมไทย ในสายตานานาชาติได้แต่อย่างใด ดังกรณีศาลขอนแก่นปฏิเสธคำร้องขอยกเลิกการถอนประกันนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ‘ไผ่ ดาวดิน’ มาแล้ว ๕ ครั้ง
จากข้อหาที่อ้างว่าผู้ต้องหาโพสต์เฟชบุ๊ค “เย้ยหยันอำนาจรัฐ” ซึ่ง ผศ.สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นในการเสวนาเรื่อง ‘เมื่อสิทธิการประกันตัวหายไป’ เมื่อวานนี้ (๑๕ มกรา) ชี้ว่าไม่ใช่ฐานความผิด
“เมื่อศาลมีดุลยพินิจ การใช้ดุลพินิจจะต้องมีขอบเขต การใช้ดุลพินิจโดยไม่มีกรอบกฎหมายกำกับไม่สามารถทำได้ ซึ่งในกรณีของไผ่ อาจไม่อยู่ในข้อกฎหมาย จึงมีการตั้งคำถามเกิดขึ้นตามมา และสุดท้ายจะนำไปสู่การตรวจสอบกระบวนการยุติธรรม”
(http://www.prachatai.org/journal/2017/01/69640)
อจ.สาวตรี ยังเขียนเฟชบุ๊คส่วนตัว (ตามเนื้อถ้อยเรียงคำของผู้เขียน) ย้ำความลักลั่นอย่างเผด็จการของกระบวนยุติธรรมไทยด้วยว่า “มันมีคำกล่าวว่า ความอยุติธรรมที่เลวร้ายที่สุดคือความอยุติธรรมที่เกิดจากกฎหมาย
เมื่อฟังจากพ่อไผ่พูดแล้วก็ให้รู้สึกว่า ถ้าเป็นชาวบ้านทั่วไปเขาโดนเอาเปรียบจากกฎหมายเพราะไม่รู้เรื่องอะไรอันนี้ก็เจ็บปวด แต่พอเป็นคนที่รู้เรื่องกฎหมายแล้วเกิดความสิ้นหวังขึ้นมา อันนี้เจ็บปวดยิ่งกว่า”
อนึ่ง ‘พ่อของไผ่’ นายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา หรือ ทนายอู๊ด กล่าวในการเสวนาที่ธรรมศาสตร์ตอนหนึ่ง ถึงท่าที่ของลูกชายในขณะนี้ว่า “ทุกครั้งที่ถูกจับเขาจะยิ้มตลอด เป็นคนยิ้มง่าย ถูกจับก็ยิ้มอดทนเอา
มาถึงตอนนี้ร่างกายจิตใจยังดีอยู่ แต่บางครั้งมันมีช่วงที่ดูเหงาๆ ผมก็ถามเป็นอะไรลูก เขาบอกว่าเริ่มหมดหวังกับกระบวนการยุติธรรมแล้ว...
จะแพ้ จะชนะ เราไม่ว่าอะไร แต่โปรดทำตามกระบวนการทางกฎหมายที่เป็นธรรม”
(http://www.prachatai.org/journal/2017/01/69640)
นี่หรือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปและปรองดองที่ คสช. อ้างนักอ้างหนา ทว่า ผู้โหยหาประชาธิปไตยบางท่านกลับเห็นว่า เป็นการกระชับอำนาจด้วยกฎหมายให้แก่คณะทหาร เมื่อในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ประทับทรงราชย์อย่างเต็มพิกัดแล้วมากกว่า
โดยขณะนี้ คสช. ก็ได้จัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อให้ไปปรับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชามติ แล้วอย่างเรียบร้อยรวดเร็วตามพระราชประสงค์*
จึงมี *พระราชโองการโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญชั่วคราวแก้ไขครั้งที่สอง เรื่องพระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ยามเมื่อทรงประทับอยู่นอกราชอาณาจักร หรือไม่ก็ได้ ออกมา
กับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากพระมหากษัตริย์ “พระราชทานข้อสังเกตุ” ให้เปลี่ยนแปลงใดๆ ก็จะต้องจัดการเปลี่ยนไปตามพระราชประสงค์ภายใน ๓๐ วัน แล้วทูลเกล้าฯ ใหม่ ถ้าไม่ทรงพระราชทานกลับลงมาภายใน ๙๐ วัน หรือไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย ก็ให้รัฐธรรมนูญแก้ไขนั้นตกไป”
(http://www.komchadluek.net/news/politic/256229)
อันนี้เป็นหลักประกันมั่นแม่นว่าพระราชอำนาจ ในหมวดพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญโดดเด่นเป็นราชาธิปไตยกว่าครั้งใดๆ ในระบอบการปกครองนับแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นต้นมา
อีกทั้งยังจะเป็นทางปฏิบัติปรกติแนวใหม่ หรือ New Normal ของระบอบปกครอง ‘ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ ด้วยว่า
ขณะที่พระเจ้าอยู่หัว ‘ทรงราชย์’ ก็ยัง ‘ทรงโบอิ้ง’ เทียวไปเทียวมาที่บาวาเรียบ่อยๆ พร้อมกันไปด้วย ปล่อยให้พวกขุนศึกมูลนายดูแลบ้านเมืองกันได้ หากไม่ใช่อย่างสรวญเกษม ‘เปรม’ ปีรติ ก็ครบครันชั้นเชิงแบบ ‘ประยุทธ์’ ตุ๊ดตู่