น่านสิ “มันกลายเป็นว่า เออ ประเทศเรานี้ แหม มันรวมทุกอย่างเลยเหรอ...
ทำไมประเทศไทยมันอยู่ทุกอัน ถูกมั้ย หลายคดีนะ เรื่องการทุจริต เรื่องการติดสินบน มีประเทศไทยติดอยู่ทุกอันน่ะ”
(จาก Voice TV21 “เมื่อนายกฯ ต้องตอบเรื่อง ‘รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา’ ขโมยภาพที่ญี่ปุ่น และไทยติดอันดับคอรัปชั่น”)
ทั่นบอกว่า “ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน” แต่หลายๆ ต่อหลายๆ คนเขาเข้าใจนะ เลขาธิการ ปปช. ของทั่นก็ดูเหมือนจะเริ่มเข้าใจว่าไอ้การโกงนี่มันไม่ได้เป็นแต่พวกโน้นฝ่ายเดียวนะ มันเป็นโรคเรื้อรังของสังคมที่จะต้องแก้ไขด้วยความรู้สึกรู้สา อย่าเอาแต่โทษแม้วอย่างเดียว
อย่างเช่นองค์การโปร่งใสนานาชาติ หรือ Transparency International ที่ประกาศค่าดัชนีการรับรู้เข้าใจเรื่องคอรัปชั่นของประเทศไทยไปอยู่อันดับ ๑๐๑ จากทั้งหมด ๑๗๖ ประเทศ เพราะไทยได้คะแนนเพียง ๓๕ จาก ๑๐๐
เขาอธิบายเหตุผลอย่างเข้าใจแจ่มแจ้งว่า “มันเกี่ยวโยงกันระหว่างการรับรู้เรื่องคอรัปชั่นกับความวุ่นวายทางการเมือง รัฐบาลกดขี่ ขาดการตรวจสอบอย่างอิสระ และการเสื่อมทรามลงในด้านสิทธิ ทำให้ความเชื่อมั่นสาธารณะเซาะกร่อนลงไป”
มิหนำซ้า “รัฐธรรมนูญใหม่ ทั้งที่เจาะเน้นนักหนาในเรื่องคอรัปชั่น แต่ก็สอดไส้อำนาจของคณะทหารและการปกครองที่ตรวจสอบไม่ได้เอาไว้ ขัดขวางการกลับสู่การปกครองประชาธิปไตยโดยพลเรือนไม่ให้เกิดขึ้นได้
การถกเถียงอย่างเสรีต่อรัฐธรรมนูญเป็นไปไม่ได้ การรณรงค์คัดค้านถูกห้าม ผู้คนนับสิบๆ ถูกควบคุมตัว คณะทหารฮุนต้ายังห้ามไม่ให้ทำการจับตาเฝ้ามองการทำประชามติ เช่นนี้ชัดแจ้งว่าขาดการตรวจสอบอย่างอิสระและการถกเถียงอย่างทะลุปรุโปร่ง”
(http://www.transparency.org/…/asia_pacific_fighting_corrupt…)
อีกอย่าง กรณีผู้บัญชาการตำรวจนครบาลรับส่วยค่าตำแหน่ง ‘ที่ปรึกษา’ บริษัทผลิตเบียร์เดือนละ ๕ หมื่นบาทมาตั้งแต่ปี ๕๘ เป็นข่าวอื้อฉาวเสียจนผู้ตรวจการแผ่นดินสั่ง (เมื่อวันก่อน) ให้ชี้แจงภายใน ๗ วัน
มาวานนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมี action บ้าง รองโฆษกออกมาแถลงนึกว่าจะได้สาระ ที่ไหนได้ ทั่นคัดเรือเบี่ยงเลี่ยงเกือบคว่ำ
พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง บอกว่า “เป็นเรื่องส่วนบุคคล ยืนยันว่าตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายตำรวจสามารถดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาบริษัทเอกชนได้
กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องของผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ที่จะชี้แจงและพิจารณาตัวเองว่า การเป็นที่ปรึกษาบริษัทผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขัดจริยธรรมหรือไม่”
(http://prachatai.org/journal/2017/01/69778)
มีแต่ประเทศนี้ ไตแลนเดียนี่แหละที่ conflict of interests ไม่ผิดทั้งจริยธรรมและระเบียบราชการ ถ้าผู้กระทำผิดเป็น ผบช.น. หรือ น.น.ย. (น้องนายกฯ)
ใครเป็นข้าราชการระดับสูง แอบไปทำระยำตำบอนไว้ที่ไหน นึกว่าปลอดตาผู้คน แต่ยุคอินเตอร์เน็ตนี่กำแพงมีหู ประตูมีตา พอเรื่องแดงฉ่าขึ้นมาก็หาทางเบี่ยง เลี่ยง แก้ กันชุลมุน
เช่นเรื่องรองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาขโมยภาพประดับห้องในโรงแรมญี่ปุ่น ทั่นอธิบดี ‘his immediate boss’ ออกมาปัดสวะให้พ้นตัวทันที
“มั่นใจว่าเรื่องดังกล่าวไม่น่าจะกระทบความเชื่อมั่นต่อข้าราชการของไทยในการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ เพราะเรื่องดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย”
(http://www.matichon.co.th/news/439844)
ไม่แต่เท่านั้น มีการพยายามแถให้ผู้กระทำผิด ‘ป่วย’ เป็นโรคจิตประเภท ‘ขี้ขโมย’ ด้วยละ
นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์และโฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้ความเห็นว่า “โรคกลุ่มนี้เรียกว่า โรคคลีฟโทมาเนีย (Kleptomania) เป็นกลุ่มที่มีปัญหาการยับยั้งพฤติกรรมการขโมย
โดยชีวิตประจำวันแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่งที่ต้องการของบางอย่าง จะมีความรู้สึกขัดกันขึ้นมา อยากได้มากถึงมากที่สุด แม้ของเหล่านี้อาจไม่ได้มีมูลค่ามากพอ”
ถึงกระนั้นคุณหมอทั่นพูดในหลักการ “หากเป็นในกลุ่มผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ อาจมีภาวะทางสมองเสื่อม ซึ่งอาจมาจากความผิดปกติของสารในสมองได้ ซึ่งสาเหตุก็ยังไม่ทราบแน่ชัด”
(http://www.matichon.co.th/news/440211)
นั่นละ ก่อนจะไปถึงการวินิจฉัยความป่วยจิตเภท ดูกันที่ข้อเท็จจริงก่อน การถอดรูปที่เขาติดแสดงไว้บนผนังโรงแรมถึงสามรูปนี่มีความตั้งใจและอยากได้แน่ๆ ภาษาปะกิตเขาเรียก ‘premeditated’ ส่วนมูลค่าราคาสองหมื่นเยน ถึงไม่มากสำหรับระดับรองอธิบดี ก็ใช้ซื้อราเมนกินได้หลายชามเชียวละ