วันศุกร์, มกราคม 27, 2560

10 เรื่องที่ควรรู้ ผูกขาดเบียร์แล้วไง?




ที่มา FB


Land Watch THAI จับตาปัญหาที่ดิน


10 เรื่องที่เราควรรู้เกี่ยวกับผูกขาดเบียร์ : ความเหลื่อมล้ำทางการค้ากับการกระจุกตัวของความมั่งคั่งในที่ดินไทย

อ่านข่าวหนุ่มนิติศาสตร์ต้มเบียร์อยู่ที่บ้านแล้วถูกจับด้วยข้อหาเบียร์เถื่อน แอดมินก็เลยเกิดความสงสัยว่าเบียร์ที่ไม่เถื่อนอย่างช้าง สิงห์ ลีโอ ไฮเนเก้น ซึ่งเป็นเบียร์ที่ครอบครองส่วนแบ่งรายใหญ่ในการตลาดน้ำอำพันสีทองฟองขาวจนถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ผูกขาดตลาด

ตามตัวเลขที่มีการแชร์ๆกัน ในปี 2559 ที่ผ่านมาบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่(สิงห์ลีโอ) มีส่วนแบ่งการตลาดเกือบ 60 % ทิ้งห่างเบียร์ช้างที่มีบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ผลิต ซึ่งมีสวนแบ่งทางการตลาดเพียง 38-39 %

คือสรุปแล้วคนไทยเราดื่มเบียร์กันแค่ไม่กี่ยี่ห้อนี้ละครับ แล้วเขาก็ฟาดเงินจากฤทธิ์เมาของพวกเราไปราวปีละแสนกว่าล้านบาททุกปี

แต่สิ่งที่แอดมินสนใจ นอกจากเรื่องเบียร์แล้ว ผมอยากรู้ว่าเขายังทำธุรกิจอะไรอีกบ้าง หรือมันมีเรื่องอื่นๆที่เราน่าจะรู้จักเขาในฐานะผู้ผลิตเบียร์ให้เราดื่มด่ำอย่างไม่ค่อยจะมีทางเลือก วันนี้ผมเลยขอรวบรวม 10 เรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องผูกขาดเบียร์แล้วไง ?

1.เบียร์สิงห์และลีโอนั้นอยู่ภายใต้บริษัทเดียวกันคือบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ ที่มีตระกูลภิรมย์ภักดีเป็นเจ้าของ โดยที่บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ก่อตั้งด้วยทุนจดทะเบียน 600,000 บาท ในเนื้อที่ 9 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาย่านบางกระบือ

ผลิตเบียร์ออกมาขายเป็นครั้งแรกในเดือนมิถุนายน 2477 ค้นหาในเกร็ดประวัติศาสตร์ ยังพบว่า พระยาภิรมย์ภักดีก็ได้นำเอาเบียร์สดใส่ถังไปเปิดให้ผู้คนดื่มฟรีในงานสโมสรคณะราษฎร

การเกิดขึ้นของโรงงานผลิตเบียร์แห่งนี้ นับเป็นการขยายลักษณะของธุรกิจจากที่เคยจำกัดอยู่แต่การพาณิชย์และบริการไปสู่การอุตสาหกรรม ถือได้ว่าเป็นพัฒนาการที่ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่งของสังคมธุรกิจยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ในช่วงแรกบุญรอด ทำเบียร์ออกมาหลายยี่ห้อ ที่มีรสชาติต่าง ได้แก่ตราสิงห์ ตราว่าว ตราหมี และตรานางระบำ ซึ่งเป็นยี่ห้อ ปรากฏว่าเบียร์ตราสิงห์ได้รับความนิยมมากที่สุด บุญรอดฯ จึงค่อย ๆ หยุดการผลิตยี่ห้ออื่นไปทีละตัว จนเหลือแต่เบียร์สิงห์เพียงตราเดียว

2. ต่อมาในปี 2541 การเข้ามาตีตลาดของเบียร์ช้างซึ่งจำหน่ายในราคที่ถูกกว่าเบียร์สิงห์ ทำให้บุญรอดระดมนักการตลาดฝีมือทองมาประชุมหารือกันในทีสุดก็ได้ถือกำเนิดเบียร์ลีโอ เบียร์ใหม่ล่าสุดออกสู่ตลาดในเดือนมิถุนายน จนในที่สุดลีโอกลายเป็นเบียร์ที่มียอดขายอันดับ 1 อีกครั้ง

3. นอกจากธุรกิจเบียร์แล้วบุณรอดยังเป็นผู้จัดจำหน่าย โซดาสิงห์ น้ำดื่มตราสิงห์ เครื่องดื่มบีอิ้ง น้ำแร่เพอร์ร่า เครื่องดื่มซันโว ข้าวสารตราพันดี สาหร่ายทะเล มาชิตะ เฮสโก้ฟู้ด อินดัสทรี นอกจากนั้นยังเป็นพันธมิตรในการช่วยจัดจำหน่าย อิชิตัน และเครื่องดื่มไวต้ามิกซ์

4. ในขณะคู่แข่งอย่างบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ("ไทยเบฟ") ก่อตั้งขึ้นในประเทศไทยในปี 2546 โดยเป็นการควบรวมธุรกิจเบียร์และสุราชั้นนำของไทยที่เป็นของผู้ถือหุ้นและผู้ร่วมทุนรายอื่นๆ เข้ามาเป็นกลุ่มบริษัท ต่อมาในปี 2549 ไทยเบฟได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ("SGX")

ภายหลังจากจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ไทยเบฟได้ขยายขอบเขตธุรกิจจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปสู่ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และอาหาร เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสินค้าเพิ่มประสิทธิผลในช่องทางการกระจายสินค้ารวมถึงกระจายความเสี่ยงของกิจการ

ปัจจุบันไทยเบฟไม่เพียงแต่เป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มชั้นนำในประเทศไทย แต่ยังเป็นผู้ผลิตที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในเอเชียอีกด้วย โดยแบ่งธุรกิจออกเป็น 4 สายธุรกิจ ได้แก่ สุรา เบียร์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหาร

5. อย่างไรก็ดีไทยเบฟ ไม่ได้มีรากเหง้าเป็นความเป็นมาตั้งแต่ปี 2329 ตามที่มีการเขียนไว้ในเว็บไซต์ของบริษัทว่า อุตสาหกรรมสุราของไทยมีกำเนิดมาตั้งแต่ปลายกรุงศรีอยุธยา และได้ถูกจารึกไว้ควบคู่กับตำนานการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะนั้นมันคือ "รากเหง้าของสุราไทยต่างหาก"

มีการสร้างโรงต้มกลั่นสุราแห่งแรกขึ้น ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณปากคลองบางยี่ขัน เพื่อหารายได้เข้าท้องพระคลัง เมื่อ พ.ศ. 2329 หลังสถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานีเพียง 4 ปี ชาวบ้านเรียกชื่อโรงงานแห่งนั้นตามชื่อคลองว่า "โรงงานสุราบางยี่ขัน" ในยุคแรกมีเพียงการต้มกลั่นสุราขาวหรือเหล้าโรง โดยนายอากรจีนเป็นผู้ผลิตจำหน่ายและนำเงินส่งเข้าหลวงตามที่ตกลงกัน

เมื่อสุราแม่โขง ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2484 ในช่วงพัฒนาอุตสาหกรรมสุรา โดยกรมสรรพสามิตผู้รับผิดชอบโรงงานสุราบางยี่ขันในสมัยนั้น

ต่อมาในปี พ.ศ. 2502 รัฐบาลมีนโยบายให้เอกชนเช่าสัมปทานการผลิต และจำหน่ายสุราที่ผลิตจากโรงงานสุราบางยี่ขัน และโรงงานสุราอื่นๆ ของรัฐบาลครั้งละ 10 ปี ในระหว่างนั้นความนิยมสุราแม่โขงได้เพิ่มมากขึ้น รัฐจึงให้สัมปทานใหม่ (พ.ศ.2522-2542) แก่ผู้ประกอบการรายใหม่ และให้สร้างโรงงานสุราใหม่อีกโรงงานหนึ่งที่จังหวัดปทุมธานีเมื่อ พ.ศ.2525

ส่วนกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ซึ่งมีโรงงานสุรา 32 แห่งทั่วประเทศ ได้ทำการปรับปรุงอุตสาหกรรมสุราในสังกัดของตนเอง โดยยกเลิกโรงงานเหล่านั้นทั้งหมดซึ่งมีสภาพเก่าและอยู่ในชุมชน จึงยุบโรงงานสุราดังกล่าว โดยให้เปิดประมูลสัมปทาน และสร้างโรงงานใหม่เพื่อผลิตและจำหน่ายสุราจำนวน 12 โรงงาน ใน 12 เขตพื้นที่

6. สองสิ้นค้าน้ำเมาที่สำคัญของไทยเบฟได้แก่ แสงโสม ขวดแรกถือกำเนิดในปี พ.ศ.2520 ส่วนเบียร์ช้างขวดแรกผลิตเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2537 จากโรงงานผลิตเบียร์ที่อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2538

ความนิยมเบียร์ช้าง ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จึงต้อง ขยายกำลังการผลิตครั้งสำคัญเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น โดยการก่อสร้าง โรงงานเบียร์แห่งใหม่ ขึ้นที่จังหวัดกำแพงเพชร ภายใต้การบริหาร ของ บมจ.เบียร์ไทย (1991)จำกัด ซึ่งต่อมาได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็น บริษัทมหาชนในปี พ.ศ. 2544 ด้วยทุนจดทะเบียน 5,550 ล้านบาท

7. สำหรับเครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์ที่ไทยเบฟผลิตและจัดจำหน่ายได้แก่ เบียร์ช้าง เบียร์อาชา และ เบียร์เฟดเดอร์บรอย สุราแสงโสม หงษ์ทอง มังกรทอง เบลนด์ 285 แม่โขง เมอริเดียน และ คราวน์ 99 น้ำดื่มช้าง โซดาช้าง

กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มในเครือเสริมสุขได้แก่ เครื่องดื่มเอส นํ้าดื่มและโซดาคริสตัล เครื่องดื่มพาวเวอร์พลัส เครื่องดื่มแรงเยอร์ เครื่องดื่มโออิชิ กรีนที เครื่องดื่มลิปตัน ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม F&N เช่น เครื่องดื่ม100พลัส ดำเนินธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นได้แก่ ร้านโออิชิ แกรนด์ ร้านโออิชิ บุฟเฟ่ต์ ภัตตาคารบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่น ร้านโออิชิ ราเมน ร้านชาบูชิ ร้านนิกุยะ ร้านเจแปนนิส บาร์บีคิว บุฟเฟต์ ร้านคาคาชิ เป็นต้น

8. ตระกูล “สิริวัฒนภักดี” ซึ่งเป็นเจ้าของเบียร์ช้าง (ไทยเบฟ) เป็นผู้ถือครองที่จำนวน 630,000 ไร่ ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย โดยที่ดินแปลงใหญ่อยู่ที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ประมาณ 12,000 ไร่ และใน อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา อีกประมาณ 15,000 ไร่ มีทั้งในนามส่วนตัว ครอบครัว และผ่านบริษัทต่าง ๆ

9. ในขณะที่ตระกูลที่ทำเบียร์มาก่อนเก่าอย่าง “ภิรมย์ภักดี” กลับถือครองที่ดิน(เท่าที่เปิดเผย) เพียงไม่กี่หมื่นไร่ (ก็ถือว่าไม่น้อย) โดยมีที่ดินไร่บูญรอด ที่เชียงรายกว่า 8,000 ไร่ และที่ดินเขาใหญ่กว่า 2,500 ไร่

แต่ก็มีบริษัทในเครืออย่าง "สิงห์ เอสเตท" ที่เป็นเจ้าของโรงแรมระดับ 5 ดาว "สันติบุรี บีช รีสอร์ท กอล์ฟ แอนด์ สปา" บนเกาะสมุย มีที่ดินเปล่า 11 ไร่ หัวมุม ถ.เพชรบุรีตัดใหม่-อโศกมนตรี (สถานทูตญี่ปุ่นเดิม) มีโครงการพัฒนาเป็นแบบมิกซ์ยูสรวม 1.44 แสน ตร.ม. มูลค่าก่อสร้าง 6 พันล้าน และมีที่ดิน 2 ไร่ในซอยสุขุมวิท 21 ที่จะพัฒนาเป็นเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์และสำนักงาน

10. สุดท้ายแม้แต่เอเชียร์ ทีค, พันทิพย์ ประตูน้ำ-บางกะปิ งามวงศ์วาน, ที่ดินเวิ้งนาครเกษม 14 ไร่, หรือสัมปทานสัญญาเช่า 50 ปีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์(ที่คสช.พึ่งขยายให้) ก็เป็นของไทยเบฟ

ในขณะที่เมื่อปี 2558 สิงห์ เอสเตท ของตระกูลสิงห์ลีโอ ได้ซื้อที่ดินทำเลดี 3 แปลง คือ 1.ที่ดินริมถนนรัตนาธิเบศร์ ติดรถไฟฟ้าสายสีม่วง สถานีบางรักใหญ่ ก่อนถึงแยกบางพลู เนื้อที่ 3-4 ไร่ เพิ่งซื้อเมื่อ 6 เดือนก่อน 2.ที่ดินแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง ติดศูนย์การค้าเซ็นทรัล รัตนาธิเบศร์ และ 3.ที่ดินติดสิงห์เบียร์เฮ้าส์ อโศก เกือบ 1 ไร่ ซื้อมาราคาตารางวาละ 7-8 แสนบาท

ผูกขาดเบียร์แล้วไง ?
คงเป็นเรื่องที่แอดมินทำหน้าที่เพียงรวบรวมข้อมูลมาให้อ่านกันเท่านั้น ส่วนคำตอบจะแล้วไง ?

คงอยู่ที่ตัวท่านเองนะครัช แต่ต้องไม่ลืมว่าประเทศของเรามียี่ห้อของเบียร์ให้เลือกดื่มโคตรน้อย ในขณะที่เจ้าของเบียร์แต่ละเจ้า ต่างเป็นผู้ที่ครอบครองธุรกิจและที่ดินเป็นจำนวนมาก

ส่วนผู้บริโภคอย่างเราๆหรือครับ ก็คงทำได้แค่นั่งอ่านข่าวไอ้หนุ่มนิติใจกล้าที่ถูกจับเพียงเพราะต้มเบียร์ดื่มเอง #ผมชอบดื่มเบียร์แต่ประเทศนี้มีเบียร์ให้ดื่มน้อยเกินไป

คุ้นๆมั้ยครับ เราอยากมีบ้าน อยากมีที่ดินเป็นของตัวเอง แต่ประเทศนี้ไม่มีที่ดินเหลือให้เราอีกแล้ว

หมายเหตุมีการแก้ไขข้อมูลในข้อที่ 5 ในเวลา 15.05 27/01/2560
: ซึ่งเกิดจากความผิดพลาดการเรียบเรียงประวัติศาสตร์ของวงการสุราไทย ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของไทยเบฟ

อ้างอิง
ส่วนแบ่งการตลาดเบียร์ 2559 มูลค่ารวม 180,000 ล้านบาท ที่มา https://www.facebook.com/waymagazine/photos/a.374982256455.167538.129528621455/10154125875541456/?type=3&theaterและ http://www.thansettakij.com/2016/12/16/119547
ที่มาการถือครองที่ดินของตระกูลภิรมย์ภักดี http://www.landjustice4thai.org/news.php?id=11 และ https://2baht.com/singha-park-chiang-rai/
บุญรอดบริวเวอรี่ สิงห์ผยองบนฟองเบียร์ http://info.gotomanager.com/news/details.aspx?id=31312
ที่มาการถือครองที่ดินตระกูลสิริวัฒนภักดี http://news.mthai.com/general-news/429869.html
ที่มาธุรกิจในเครือบุญรอด https://www.boonrawd.co.th/singha-corporation/th/singha-food.php
และ https://www.boonrawd.co.th/singha-corporation/th/singha-beverage-bing.php
และ https://www.boonrawd.co.th/singha-corporation/th/singha-partnerships.php
และ http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1398396216
และ http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1432038204
ที่มาข้อมูลเสริมสุข http://www.sermsukplc.com/th/product/detail/lipton
ที่มาข้อมูลธุรกิจในเครือไทยเบฟ http://www.thaibev.com/th08/product.aspx?sublv1gID=11