ที่มา FB
Jatuporn Prompan - จตุพร พรหมพันธุ์
ข้อเสนอแนะต่อการปรองดองของประเทศไทย
โดย...แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
ลงวันที่ 31 มกราคม 2560
1. ความสำคัญและเหตุผลในการทำการปรองดอง ถ้าไม่ทำการปรองดองจะเกิดอะไรขึ้น?
1.1 การแตกแยกทางความคิด อุดมการณ์ แนวทางการเมือง จะลุกลามบานปลาย ไม่ใช่เพียงสังกัดความคิดระหว่างระบอบประชาธิปไตยแบบสากลอารยประเทศแตกแยกเป็นปฏิปักษ์กับกลุ่มสังกัดความคิดระบอบคณาธิปไตย อำมาตยาธิปไตย และสนับสนุนการทำรัฐประหารเท่านั้น แต่ความเป็นปฏิปักษ์ทางความคิดแนวทางการเมืองจะกลายเป็นการต่อสู้แบบอื่น ๆ ที่จะรุนแรงขึ้น ที่ไม่ใช่การต่อสู้ด้วยหลักการเหตุผล การต่อสู้ทางการเมืองอาจกลายเป็นการต่อสู้ไม่ใช่หนทางสันติวิธี เป็นสงครามกลางเมืองก็ได้
1.2 ฝ่ายที่ได้รับชัยชนะโดยยึดครองอำนาจจากการทำการรัฐประหารและสร้างกติกาใหม่ เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ และออกกฎหมายเพื่อใช้บังคับประชาชน รวมความคือการใช้อำนาจทางการทหารและอำนาจทางเขียนกฎหมายใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่ ก็ไม่สามารถที่จะเดินหน้าประเทศไทยไปตามที่วางไว้ได้ เพราะฝ่ายที่ต้องการประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชน ไม่ใช่คณะบุคคลแต่เป็นคนส่วนใหญ่และดุลอำนาจจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งฝ่ายยึดอำนาจจากประชาชนก็ไม่ได้รับความร่วมมือจากโลกเสรีประชาธิปไตย ส่งผลสะเทือนถึงก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศ กลายเป็นประเทศล้าหลังและล่มสลายทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม
2. เป้าหมายการปรองดอง
2.1 เพื่อให้ประเทศและประชาชนทุกส่วนอยู่ร่วมกันได้โดยปกติสุขแม้จะมีความเห็นต่างกันทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม และสามารถร่วมมือพัฒนาประเทศไทยไปสู่ความสงบสุขและก้าวหน้าเป็นลำดับ
2.2 ให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายใช้หลักการเหตุผลและความเป็นธรรม ความยุติธรรมในการแก้ปัญหาแทนที่จะใช้กำลังความรุนแรง
2.3 ยึดระบอบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนแท้จริง มิใช่เป็นของบุคคลหรือคณะบุคคลใด ๆ ทั้งนี้
เป็นไปตามหลักการของอารยประเทศและอารยชน
3. กระบวนการปรองดอง ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จมากที่สุดคือ
3.1 ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง เต็มใจที่เข้าสู่การปรองดองเพราะตระหนักถึงความเสียหายของประเทศชาติโดยรวมและของทุกฝ่าย รัฐจึงต้องสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมให้ทุกฝ่ายยินดีเข้าสู่การปรองดองและสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมให้แสดงความคิดเห็นได้เต็มที่
3.2 ควรให้องค์กรที่น่าเชื่อถือทั้งในประเทศและระหว่างประเทศร่วมส่วนหรือสังเกตการณ์ในการตั้งคำถาม การตอบคำถามของฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมทั้งฝ่ายข้าราชการทหารและพลเรือนด้วย
3.3 นำเสนอความคิดเห็นที่รวบรวมได้เสนอต่อสาธารณะอย่างตรงไปตรงมา ปราศจากอคติ เพื่อพิสูจน์ความน่าเชื่อถือของผู้ทำการปรองดอง
3.4 ใช้เวทีสาธารณะและประชาชนทั่วไปในการรับฟังความคิดเห็นต่อการปรองดองและกลั่นกรองให้ได้ฉันทามติเพื่อนำไปสู่การปรองดอง
4. แสวงหารากเหง้าความขัดแย้ง และทำความจริงให้ปรากฎ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาให้ตรงจุดและเกิดผลสัมฤทธิ์ในการปรองดอง โดยหาสมุฎฐานโรคได้เพื่อนำไปสู่การเยียวยาที่ได้ผล
รากเหง้าความขัดแย้งในทัศนะของ นปช.
4.1 ความขัดแย้งทางความคิดและอุดมการณ์ทางการเมือง
(4.1.1 การยึดเอาระบอบการเมืองการปกครองแบบไหน? ฝ่ายหนึ่งต้องการระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามแบบสากลที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ขัดแย้งกับอีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เพราะถือว่าให้เป็นประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ที่อำนาจอธิปไตยยังไม่สามารถเป็นของประชาชนได้สมบูรณ์ ยังต้องการให้คณะบุคคลที่เหมาะสมถืออำนาจเอาไว้ไปจนกว่าจะเห็นควร
4.1.2 การถือเอาบุคคลสำคัญยิ่งกว่าระบบและหลักการการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย คือ ถือบุคคล เช่น ดร.ทักษิณ ชินวัตร และคณะเป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองที่จำเป็นต้องทำลายล้างโดยวิธีใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้หลักการประชาธิปไตยและความยุติธรรมแบบนิติรัฐนิติธรรม (Rule of Law)
4.1.3 ชนชั้นนำและชนชั้นกลางจำนวนหนึ่งในสังคมไทยมีแนวความคิดอนุรักษ์นิยมและอำนาจนิยม (ซึ่งยอมรับการทำรัฐประหารและการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคประชาชน) จึงขัดแย้งกับประชาชนที่มีแนวคิดเสรีประชาธิปไตยซึ่งเป็นกระแสโลกมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา และไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารและแก้ปัญหาการเมืองการปกครองที่ไม่ใช่กระบวนการตามระบอบประชาธิปไตย)
4.2 ความขัดแย้งของกลุ่มคนอันเนื่องมาจากผลประโยชน์และอำนาจ
(4.2.1 ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนชั้นนำเดิมและรัฐข้าราชการกับชนชั้นนำใหม่ที่ช่วงชิงอำนาจผ่านกลไกในระบอบประชาธิปไตยและลุกลามไปสู่ผู้สนับสนุนแต่ละฝ่ายดังที่เกิดขึ้นในทศวรรษนี้
4.2.2 ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมด้วยกันเอง อาทิ ระหว่างผู้นำทหารกับชนชั้นนำพลเรือนและพรรคการเมืองอนุรักษ์นิยม ดังเช่นกรณี 14 ตุลา 16
4.2.3 ความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองคณาธิปไตยที่ได้มาจากการทำรัฐประหารขัดแย้งกับผู้ถูกปกครองที่ต้องการระบอบประชาธิปไตย ดังที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
4.2.4 ความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ได้มาจากการเลือกตั้งขัดแย้งกับผู้ถูกปกครองที่สนับสนุนฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่พ่ายแพ้ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ดังที่เกิดขึ้นในรัฐบาลไทยรักไทย, พลังประชาชน, เพื่อไทย
ดังนั้นทุกกลุ่มล้วนเป็นคู่ขัดแย้งในสังคมทั้งสิ้น เพราะสถานการณ์ได้ลุกลามจากชนชั้นนำไปสู่ประชาชนที่สนับสนุนแต่ละฝ่าย รวมทั้งกองทัพและข้าราชการพลเรือนระดับบนทั้งหมด ล้วนเลือกวิถีทางที่ลบล้างอำนาจประชาชนในระบอบประชาธิปไตย จึงสนับสนุนระบอบคณาธิปไตยและอำมาตยาธิปไตยที่รัฐข้าราชการเป็นใหญ่กว่าประชาชน
คู่ขัดแย้งหลักในปัจจุบันจึงเป็นความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองในระบอบคณาธิปไตยคือคณะรัฐประหารเจ้าของอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ผู้สนับสนุน อันได้แก่ชนชั้นนำเดิมและรัฐข้าราชการรวมทั้งพรรคอนุรักษ์นิยม ขัดแย้งกับผู้ถูกปกครองที่ต้องการระบอบประชาธิปไตยอันเป็นทั้งเป้าหมายทางการเมืองการปกครองและกระบวนการทางการเมืองการปกครอง
ความขัดแย้งรองเป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำด้วยกันทั้งในฝ่ายอนุรักษ์นิยมเองและกับฝ่ายพรรคการเมืองจากการเลือกตั้งที่เป็นปฏิปักษ์กับพรรคอนุรักษ์นิยม)
5. การทำความจริงให้ปรากฎ ไม่ใช่เป็นการฟื้นฝอยหาตะเข็บ แต่ต้องเป็นการสร้างเงื่อนไขที่ทำให้การปรองดองสัมฤทธิ์ผล เพราะระหว่างความขัดแย้ง คู่ขัดแย้งได้ใช้การโฆษณาและการทำสงครามข่าวสารเพื่อหวังสร้างความเชื่อในหมู่สาธารณชนและคณะตนให้วาทกรรมต่าง ๆ นำไปสู่ผลในการโจมตีอีกฝ่ายเพื่อให้ได้ชัยชนะ โดยไม่สนใจว่าเป็นความจริงหรือไม่
ข้ออ่อนของ คอป. คือ คณะอนุกรรมการแสวงหาความจริงมีการเสนอข้อมูลที่ไม่ตรงกับความจริง มีลักษณะอคติ ผลการวินิจฉัยคดีต่าง ๆ ได้พิสูจน์ถึงความผิดพลาดของ คอป.
ข้อแนะนำในการทำความจริงให้ปรากฎต้องเริ่ม
5.1 หยุด HATE SPEECH การพูดจากล่าวหาลอย ๆ ที่เป็นการใส่ความเท็จ การใส่ร้ายป้ายสียุยงให้เกลียดชัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากข้าราชการ, สื่อ, พรรคการเมือง และกลุ่มองค์กรประชาชน
5.2 นำเสนอหลักฐานที่เป็นผลการพิจารณาของศาลล่าสุดและการสืบสวนสอบสวนที่มีมาตรฐานมาเผยแพร่โดยคณะกรรมการที่น่าเชื่อถือในหมู่ประชาชน
5.3 การสารภาพความจริงของผู้กระทำต่อผู้เห็นต่าง การสารภาพผิดจะนำไปสู่การปรองดองที่ดีที่สุด
6. ปัญหาความยุติธรรม
6.1 การใช้ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ Restorative Justice
6.2 การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ให้ได้รับการยอมรับจากประชาชนทุกฝ่ายด้วยหลักนิติรัฐ-นิติธรรม Rule of Law อย่างเข้มงวด
6.3 รื้อฟื้นและเยียวยาผู้ถูกดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรม
6.4 ยกเลิกการใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อจัดการกับกลุ่มบางกลุ่มที่เห็นต่างกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมและรัฐข้าราชการ
"นี่เป็นข้อเสนอและข้อสังเกตเบื้องต้น
เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนการปรองดอง
ที่มุ่งให้เกิดผลจริงยิ่งกว่าพิธีกรรม"