วันอังคาร, มกราคม 31, 2560
คดี ‘ชายชุดดำ ปี 53’ ศาลสั่งจำคุก 10 ปี 2 จำเลย อีก 3 ยกฟ้องแต่สั่งขังระหว่างอุทธรณ์
คดี ‘ชายชุดดำ ปี 53’ ศาลสั่งจำคุก 10 ปี 2 จำเลย อีก 3 ยกฟ้องแต่สั่งขังระหว่างอุทธรณ์
Tue, 2017-01-31 18:05
ที่มา ประชาไท
คดีประวัติศาสตร์ “ชายชุดดำ” ถูกฟ้องข้อหาครอบครองและพกพาอาวุธสงคราม จำคุก 10 ปี 2 คน อีก 3 ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยแต่ให้ขังระหว่างอุทธรณ์ 1 ในนั้นเป็นแม่ค้าขายไข่เจียว จำเลยทั้ง 5 ถูกจับหลัง รปห.57-เคยร้องเรียนถูกซ้อม ติดคุกมาแล้ว 2 ปีกว่า ด้าน ‘ศรีวราห์’ ดีใจศาลลงโทษ แสดงว่ามีชายชุดดำจริง ‘วิญญัติ’ โต้คดีนี้สร้างความชอบธรรมให้ ศอฉ. พร้อมตั้งคำถามความน่าเชื่อถือของพยาน
31 ม.ค.2560 ที่ห้อง 801 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดี “ชายชุดดำ” ซึ่งมีจำเลย 5 คนหนึ่งในนั้นเป็นผู้หญิง ทั้งหมดถูกแจ้งข้อหาร่วมกันมีอาวุธ เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตและพกพาอาวุธไปในที่ชุมชน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ระหว่างปฏิบัติการ “ขอคืนพื้นที่” ของ ศอฉ. หรือที่เรียกกันว่า การสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ซึ่งในวันดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตเป็นประชาชน 21 ราย เป็นทหารที่ปฏิบัติการ 5 นาย หนึ่งในนั้นคือ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม (ยศขณะนั้น) ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามฟ้อง จำคุกคนละ 10 ปี ส่วนจำเลยที่ 3,4,5 นั้นยังมีเหตุแห่งความสงสัยจึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง แต่ให้ขังระหว่างอุทธรณ์ ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษาญาติผู้ต้องขังทั้ง 5 พากันร่ำไห้ ขณะที่ทนายจำเลยเตรียมยื่นอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1-2 และเตรียมทางช่องทางยื่นประกันตัวจำเลยที่ 3-5 ซึ่งทนายระบุน่าจะต้องใช้หลักทรัพย์ค่อนข้างสูงแต่ครอบครัวจำเลยล้วนมีฐานะยากจน
ทั้งนี้ จำเลยทั้งห้าได้แก่
จำเลยที่ 1 นายกิตติศักดิ์ สุ่มศรี หรืออ้วน อายุ 47 ปี อาชีพ รับจ้าง (ขับรถตู้วิน)
จำเลยที่ 2 นายปรีชา อยู่เย็น หรือไก่เตี้ย อายุ 27 ปี อาชีพ รับจ้าง
จำเลยที่ 3 นายรณฤทธิ์ สุวิชา หรือนะ อายุ 35 ปี อาชีพ รับจ้าง
จำเลยที่ 4 นายชำนาญ ภาคีฉาย หรือเล็ก อายุ 47 ปี อาชีพ รับจ้าง
จำเลยที่ 5 นายปุณิกา ชูศรี หรืออร อายุ 41 ปี อาชีพรับจ้าง (แม่ค้าขายข้าวแกง)
ผู้ต้องหาระบุถูกซ้อมให้รับสารภาพ
จำเลย 5 ถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย.2557 โดยถูกทยอยจับกุมไล่เลี่ยกันแล้วนำไปควบคุมตัวในค่ายทหารหลายวัน ก่อนที่ทหารจะนำตัวส่งตำรวจเพื่อให้แจ้งข้อกล่าวหา จากนั้นถูกคุมขังในเรือนจำเรื่อยมาจนปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 2 ปี 4 เดือน ระหว่างพิจารณาคดีเคยยื่นประกันตัววางหลักทรัพย์คนละ 5 แสนบาท 3 ครั้งแต่ศาลปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่าคดีมีอัตราโทษสูง หากปล่อยชั่วคราวเกรงว่าจะหลบหนี ก่อนหน้าจะมีการสืบพยาน ทนายจำเลยได้เคยร้องขอความเป็นธรรมต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และพนักงานอัยการโดยระบุว่า จำเลยถูกซ้อมทรมานภายในค่ายทหารเพื่อให้รับสารภาพ (อ่านที่นี่)
‘ศรีวราห์’ ยินดีศาลลงโทษ เครื่องยืนยัน “ชายชุดดำมีจริง”
ด้าน พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า รู้สึกดีใจที่ศาลพิพากษาจำคุกจำเลย 1-2 เพราะทำให้สังคมเห็นว่าชายชุดดำมีจริง พนักงานสอบสวนทำงานเหนื่อย มีผลประโยชน์ต่อประเทศชาติ ไม่ได้ทำตามใบสั่งใคร คดีนี้จะทำให้คดีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด มีน้ำหนักในการพิพากษาต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เท่าที่ตรวจสอบได้พบว่าคดีนี้เป็นเดียวที่มีการจับกุมและดำเนินคดีผู้ต้องหาจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมวันที่ 10 เมษา เรียกกันว่า “คดีชายชุดดำ” (ไม่นับคดีที่เกี่ยวเนื่องอีก 1 คดีซึ่งศาลยกฟ้อง) โดยอัยการฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 จำเลยทั้งห้ากับพวกที่ยังหลบหนี และพวกที่ถึงแก่ความตายไปแล้ว ได้บังอาจร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน โดยร่วมกันพาอาวุธ เครื่องกระสุน และวัตถุระเบิด ที่สามารถใช้ยิงทำอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินให้เกิดความเสียหายได้ คือ เครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 , ปืนเอ็ม 16 ,ปืนเอชเค 33 หรือปืนอาก้า ซึ่งนายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ไปตามบริเวณแยกคอกวัว ถนนตะนาว, ถนนประชาธิปไตย แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร ซึ่งเป็นเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุจำเป็น เร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ ทั้งในเวลาเกิดเหตุมีการชุมนุมกันของประชาชนจำนวนมาก
ทนายโต้รองผบ.ตร. มี “ชายชุดดำ” จะได้รองรับความชอบธรรมปฏิบัติการของ ศอฉ.?
วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความจำเลย จากสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องการได้มาซึ่งพยานหลักฐานในคดีนี้ โดยเฉพาะการสอบสวนซึ่งไม่ได้เริ่มจากการสอบสวนที่เป็นการทำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งผู้จับตัวและนำมาสอบสวนเป็นทหาร ที่ใช้อำนาจพิเศษจาก คสช.ซึ่งข้อเท็จจริงยุติว่า ทหารใช้อำนาจคุมตัวจำเลยทั้ง 5 สอบปากคำที่ค่ายทหาร แม้การสอบสวนจะมีตำรวจบางนายร่วมด้วยก็ตาม ผู้ต้องหาทั้ง 5 ในขณะนั้นให้ข้อมูลที่สำคัญว่าพวกเขาถูกบังคับ ขู่เข็ญ ในระหว่างสอบสวนในค่ายทหาร และต่อมาได้มีการขอความเป็นธรรมต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และพนักงานอัยการด้วย จึงเป็นประเด็นของความชอบด้วยคำรับสารภาพที่เป็นปฐมเหตุของการตั้งรูปคดีนี้ นอกจากนี้การสอบสวนที่มีการบันทึกภาพและเสียงไว้นั้นก็เป็นการสอบสวนภายหลังจากที่มีการสอบสวนจากทหารแล้ว โดยการบันทึกไว้นั้นมีพนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้าร่วม มิใช่ดีเอสไอ ทั้งที่คดีเช่นนี้เป็นคดีพิเศษตั้งแต่ปี 2553 แต่กลายเป็นตำรวจชุดที่ตั้งขึ้นพิเศษโดย ผบ.ตร.หลังจากการยึดอำนาจปี 2557
“การที่บางคนบอกว่าต้องมีชายชุดดำในทางคดีและมีการปฏิบัติการจริงในการชุมนุม ทำให้เชื่อว่าน่าจะนำไปเป็นเหตุผลที่ทำให้การใช้กำลังทหารของ ศอฉ.เข้าสลายการชุมนุมเป็นเรื่องที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะมีความพยายามอธิบายเรื่องชายชุดดำให้เป็นกองกำลังติดอาวุธของผู้ชุมนุม และทำให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่เสียชีวิตจำนวนมาก” วิญญัติกล่าว
เปิดคำพิพากษาบางส่วน
ในการอ่านคำพิพากษาศาลบรรยายถึงข้อเท็จจริงพื้นฐานที่รับฟังได้ว่า มีชายสวมหมวกไหมพรมปิดบังใบหน้าเข้าไปในที่เกิดเหตุ และตำรวจได้ยึดปืนจากชายคนหนึ่งที่หลบหนีไปไว้ได้ ระหว่างนั้นมีการยิงปืนและระเบิดทำให้ทหารประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก ต่อมามีผู้แจ้งว่าพบรถฮอนด้าซีวิคจอดทิ้งไว้ที่อพาร์ตเมนต์บ้านริมน้ำ ตรวจพบวัตถุระเบิดและอาวุธปืน นอกจากนี้ยังพบรถตู้สีขาวจอดทิ้งไว้หน้าบริษัทเทเวศประกันภัย ถนนราชดำเนินกลาง ซึ่งมีชื่อของบุคคลหนึ่งเป็นเจ้าของซึ่งบุคคลดังกล่าวได้ให้ นายธนเดช หรือนายไก่ ผู้ต้องหาอีกคนที่ไม่ได้ตัวมาฟ้องในคดีนี้เช่าไปขับรถรับจ้าง ต่อมา พ.อ.วิจารณ์ จดแตง ได้อาศัยกฎอัยการศึกและคำสั่งหัวหน้า คสช.นำตัวจำเลยทั้ง 5 คนมาสอบปากคำและจำเลยทั้ง 5 คนได้ให้ถ้อยคำไว้ เมื่อส่งมอบตัวให้ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาจำเลยทั้ง 5 ให้การรับสารภาพ
ส่วนการวินิจฉัยว่าจำเลยผิดตามฟ้องหรือไม่นั้น ศาลเห็นว่าในส่วนจำเลยที่ 1 นั้นมีพยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารม้าและเป็นพลขับรถฮัมวีนำกำลังพลมาในวันเกิดเหตุ ได้รับคำสั่งให้ถอนกำลังพลในเวลา 21.00 น.ขณะจอดรถบริเวณจุดเกิดเหตุ พบรถตู้สีขาววิ่งสวนมาและชะลอ จำเลยที่ 1 ได้ลดกระจกชะโงกหน้ามาด่าพยาน และพยานเห็นปืนอาก้า ปืนเอ็ม 16 วางอยู่ที่พื้นรถและเบาะหลัง แม้รถจะวิ่งสวนกันใช้เวลาไม่นานยากที่จะจดจำรายละเอียด และพยานก็ไม่ได้รู้จักกับจำเลย แต่เมื่อพิจารณาว่ารถฮัมวีมีพวงมาลัยอยู่ทางซ้าย รถตู้ขณะวิ่งสวนก็ชะลอความเร็ว เป็นไปได้ที่จะทำให้เห็นหน้าชัดเจน นอกจากนี้พยานที่เป็นทหารอาจจะมีความสามารถจดจำเหตุการณ์ เป็นคนช่างสังเกต ประกอบกับพยานโจทก์อีกคนหนึ่งคือ พี่สาวของนายธนเดช ที่มาเบิกความสนับสนุนว่า จำเลยที่ 1 อยู่วินรถตู้เดียวกันกับน้องชาย วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และพวกมีการขนกระเป๋าสีดำยาวขึ้นรถ คืนก่อนเกิดเหตุก็เห็นอาวุธปืนโผล่ออกจากกระเป๋าดังกล่าวด้วย พี่สาวนายธนเดชรู้จักกันดีกับจำเลยที่ 1 ไม่ได้มีส่วนได้เสีย ไม่มีเหตุโกรธเคืองให้ต้องปรักปรำจำเลยที่ 1 หากจะปรักปรำหรือถูกข่มขู่ให้กลัวตามที่จำเลยต่อสู้ พี่สาวนายธนเดชย่อมต้องให้การรวมไปถึงจำเลยคนอื่นๆ ด้วยแต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น เชื่อว่าเป็นการเบิกความตามจริง ตรงไปตรงมา สอดคล้องกับที่พ.อ.วิจารณ์เบิกความว่า จำเลยที่ 1 รับว่าได้ติดต่อวางแผนระดมคนกับนายธนเดชเพื่อไปต่อต้านทหาร และจำเลยที่ 1 ยิงปืนใส่ทหาร ที่จำเลยอ้างว่าทหารข่มขู่จึงรับสารภาพเพราะกลัวจะเกิดอันตราย เมื่อฟังบันทึกเทปคำให้การปกติและพยานทุกคนก็เบิกความสอดคล้องต้องกันจึงไม่น่าเชื่อว่าจะถูกซ้อม นอกจากนี้ข้อต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 เดินทางกลับลำปางในเวลา 20.00 น.ก็ไม่มีพยานยืนยัน
ส่วนของจำเลยที่ 2 นั้น ศาลอ้างถึงพยานโจทก์ซึ่งเป็นตำรวจ 2 คนที่แฝงตัวอยู่ในที่ชุมนุม ซึ่งเบิกความไว้ว่า การ์ดของผู้ชุมนุมได้จับชายสวมหมวกไหมพรม 2 คน เมื่อเปิดหมวกออกพบเป็นจำเลยที่ 2 จึงถ่ายรูปไว้ ขณะที่อีกคนหนึ่งนั้นหลบหนีไปได้และตำรวจได้ยึดอาวุธของคนนั้นไว้ได้ ศาลเชื่อว่าตำรวจแฝงตัวไปในวันเกิดเหตุจริง จำเลยที่ 2 ก็รับว่าเป็นการ์ดและต่อสู้ว่าวันเกิดเหตุไปรับจ้างเดินสายไฟที่ศูนย์ราชการ แต่ไม่มีพยานบุคคลหรือสัญญาจ้างมายืนยันทั้งที่เป็นเรื่องที่ไม่ยาก จึงเป็นคำเบิกความที่ไม่น่าเชื่อถือ ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 รับสารภาพข้อกล่าวหาเรื่องอาวุธ แต่ปฏิเสธข้อหาสะสมกำลังพลเพื่อก่อการร้าย เห็นชัดเจนว่าเป็นการรับสารภาพโดยสมัครใจ ไม่เช่นนั้นก็ต้องปฏิเสธข้อหานี้ด้วย ส่วนที่สู้ว่าภาพชายชุดดำที่ถูกถอดหมวกไหมพรมออกเป็นภาพตัดต่อนั้น ไม่ปรากฏว่ามีข้อพิรุธหรือข้อบ่งชี้ดังกล่าว จึงเชื่อว่าเป็นภาพจริง
ส่วนจำเลยที่ 3, 4, 5 นั้นมีเพียงบันทึกซักถามและการรับสารภาพในชั้นสอบสวน แม้โจทก์จะมีทหารและพนักงานสอบสวนมาเบิกความแต่บันทึกซักถามดังกล่าวก็เป็นเพียงพยานบอกเล่าและเป็นพยานซัดทอด ซึ่งต้องพิจารณาอย่างระมัดระวัง ต้องมีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีหรือพยานแวดล้อม แต่ไม่ปรากฏพยานปากใดยืนยันว่าจำเลยที่ 3-5 เป็นคนร้าย แม้โจทก์จะนำสืบว่าจำเลยที่ 3-4 มีความเกี่ยวพันเป็นการ์ด จำเลยที่ 5 เข้าไปขายข้าวไข่เจียวในที่ชุมนุม แต่ไม่ได้หมายความว่า จำเลยที่ 3-5 จะครอบครองอาวุธปืน มีเหตุให้สงสัย จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 3-5
พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามฟ้อง ลงโทษในคดีครอบครองอาวุธคนละ 8 ปี คดีพกพาอาวุธคนละ 2 ปี รวมเป็นจำคุกคนละ 10 ปี ส่วนจำเลยที่ 3-5 ยกฟ้อง แต่ให้ขังระหว่างอุทธรณ์
ทนายเปิดประเด็นโต้แย้งความน่าเชื่อถือพยาน
วิญญัติ หนึ่งทีมทนายจำเลยให้สัมภาษณ์ในภายหลังอีกว่า จำเลยทั้ง 5 คนถูกดีเอสไอแจ้งข้อหาเพิ่มเติม คือ ข้อหาก่อการร้าย แต่อัยการไม่สั่งฟ้อง ขณะนี้กำลังรอคำชี้ขาดจากอธิบดีดีเอสไอ
นอกจากนี้ พยานที่ศาลอ้างเพื่อลงโทษจำเลยที่ 1-2 นั้น ปากหนึ่งคือ พี่สาวนายธนเดชหรือไก่ พยานปากนี้เคยให้การในคดีที่เกี่ยวพันกันคือเรื่องอาวุธในรถฮอนด้า ซีวิค ซึ่งศาลยกฟ้องไปแล้ว โดยศาลเห็นว่าพยานปากนี้รับฟังไม่ได้ ให้การในชั้นตำรวจอย่างหนึ่ง ในชั้นศาลอีกอย่างหนึ่ง ขัดแย้งกันในสาระสำคัญ ส่วนพยานที่เป็นทหารม้าที่เป็นพลขับรถฮัมวีที่ระบุว่าจำเลยที่ 1 ลดกระจกลงตะโกนด่าเขานั้นก็เคยเบิกความในการไต่สวนการตายคดีนายฮิโรยูกิ ช่างภาพชาวญี่ปุ่นที่เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ เนื่องจากเป็นผู้ที่อยู่ในที่เกิดเหตุ ในครั้งนั้นเขาเบิกความถึงรถตู้ที่วิ่งสวนมาด้วยเช่นเดียวกัน แต่ยืนยันไม่ได้ว่าเป็นใคร เนื่องจากคนในรถตู้สวมหมวกไหมพรม เห็นแต่ลูกตา และไม่ได้เบิกความว่าเห็นอาวุธบนเบาะรถแต่อย่างใด