เรื่องราวจากห้องพิจารณาคดี "ไผ่ ดาวดิน"
Sat, 2017-01-21 21:18
ที่มา ประชาไท
กฤษฎางค์ นุตจรัส
21 มกราคม 2560
เมื่อวานนี้ (20 มค. 60) ผมกับเพื่อนทนายความไปที่ศาลจังหวัดขอนแก่นเพื่อว่าความให้กับ "ไผ่ ดาวดิน"
ไผ่ถูกกล่าวหาจากทหารว่า เขากระทำผิดตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา กรณีนำบทความของบีบีซีไทยไปแสดงในเฟสบุ๊คของตัวเอง
เมื่อวานเป็นวันที่ศาลนัดไต่สวนคำร้องของตำรวจที่ขอขังไผ่ไว้ในคุกอีก 12 วัน หลังจากที่ขังมาแล้วตั้งแต่ 22 ธค. ปีที่แล้ว
เมื่อวานนี้มีประชาชนผู้สนใจเข้าฟังการพิจารณาคดีจนเต็มห้องพิจารณาคดีที่ 2 มีทั้งอาจารย์ นักศึกษา เพื่อนฝูง และญาติมิตรของไผ่จำนวนมาก
เมื่อถึงเวลาผู้พิพากษาสาวท่านหนึ่งได้ขึ้นบัลลังก์พร้อมกับประกาศว่าจะพิจารณาคดีนี้แบบลับ ๆ ไม่เปิดเผย และจะห้ามมิให้คนอื่น ๆ เข้าฟังนอกจากไผ่ พ่อแม่ไผ่ และทนายความ
ทุกคนในห้องพิจารณา (นอกจากผู้พิพากษาสาวท่านนั้น) ต่างตกตะลึง งุนงง และไม่เข้าใจว่าทำไมจึงไม่ให้ประชาชนฟังการพิจารณาคดีนี้ (ว่ะ) หลังจากหายตกตะลึงแล้วผมและเพื่อนทนายความช่วยกันแถลงกับผู้พิพากษาท่านนั้นว่า วันนี้เป็นแค่การไต่สวนตำรวจว่าทำไมต้องขังไผ่ไว้อีก 12 วัน มีเหตุผลอย่างไร เพราะถ้าศาลเห็นว่าไม่จำเป็นต้องขังไผ่ไว้ ไผ่ก็จะได้ออกมาเรียนหนังสือตามปรกติ
นอกจากผมแล้ว ไผ่กับพ่อของไผ่ต่างลุกขึ้นชี้แจงแถลงว่า เขายอมรับการพิจารณาคดีในอำนาจของศาลแต่ต้องพิจารณาคดีโดยเปิดเผยต่อสาธารณชนเท่านั้น
ไผ่ถามถึงเหตุผลว่า ทำไมศาลจึงต้องสั่งให้พิจารณาคดีลับ ไม่ยอมให้ประชาชนเพื่อนฝูงและญาติมิตรของเขาเข้าฟังด้วย มันขัดต่อหลักกฎหมายมิใช่หรือ
เท่าที่ผมได้ยินการตอบโต้ระหว่างไผ่กับผู้พิพากษาสาวท่านนั้น ผมเองรับว่าไม่ได้ยินเหตุผลอะไรจากผู้พิพากษานอกจากระบุว่า คดีนี้เป็นคดีความมั่นคง
สุดท้ายหลังจากไปปรึกษาหารือ (กับใครก็ไม่รู้) ท่านผู้พิพากษาได้กลับมาและแจ้งยืนยันว่า ท่านตกลงยืนยันให้การพิจารณาคดีนี้เป็นการพิจารณาคดีลับ ขอให้ประชาชนญาติมิตรเพื่อนฝูงของไผ่ออกไปจากห้องพิจารณา ให้เหลือแต่ไผ่ พ่อ และทนายความ
ผมจำได้ว่า ทันทีที่ผู้พิพากษาสั่งเสร็จ ผมสบตากับไผ่สาบานได้ว่าผมเห็นแววตาที่ยิ้มเย้ยหยัน ผมยอมรับว่าในเวลานั้นผมละอายใจต่อไผ่และอับอายความเป็นจริงที่ผมมีส่วนยืนอยู่ในห้องพิจารณาคดีนี้
ผมจำได้ว่า ไผ่ยืนขึ้นและกล่าวกับผู้พิพากษาอย่างที่ผมเห็นว่า ทรนงองอาจอย่างยิ่งที่สุด ไผ่พูดด้วยเสียงราบเรียบอย่างอารมณ์ดีชนิดที่เป็นนิสัยของเขาว่า เมื่อท่านไม่ให้คนอื่นฟังการพิจารณาคดีนี้เขาก็ไม่ประสงค์ให้ทนายของเขาอยู่ในห้องพิจารณาคดีด้วย เขาเชิญให้ทนายออกไปเขาจะว่าความต่อสู้เองเพราะเขาไม่เคยได้รับสิทธิอะไรอยู่แล้ว จึงขอสละสิทธิที่จะมีทนายความในวันนี้ด้วย
ผมมองไผ่และผู้พิพากษาที่สบตากันอยู่ ในวินาทีนั้นผมเห็นชัดว่า ใครเป็นผู้ต้องหาใครเป็นผู้พิพากษากันแน่
คนอื่น ๆ และทนายความของไผ่เดินออกจากห้องพิจารณาคดี ก่อนออกจากห้อง ผมกอดไผ่และบอกขอโทษเขา และเราทิ้งไผ่กับพ่อให้ต่อสู้เพื่อความถูกต้องด้วยตัวเองในห้องพิจารณาคดีที่ 2 ของศาลจังหวัดขอนแก่นตามลำพัง ผมไม่ทราบว่าหลังจากนั้นในห้องพิจารณาคดีเกิดอะไรขึ้น
น้องทนายที่ไปด้วย ถามผมว่าผมขอโทษไผ่ทำไม ตอบตรง ๆ ผมก็ไม่รู้ว่าผมขอโทษไผ่ทำไม แต่ผมบอกน้องทนายที่ถามผมว่าพี่ขอโทษไผ่แทนกระบวนการยุติธรรมว่ะ
หลังการต่อสู้อย่างเดียวดายในห้องพิจารณาคดี
ไผ่ถูกสั่งขังต่อไปอีก 12 วัน
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน Facebook Krisadang-Pawadee Nutcharus
ooo
รู้จัก 'ไผ่ ดาวดิน' นักสิทธิชุมชนของชาวอีสาน
https://www.youtube.com/watch?v=c3WpTr3cKCQ
SHTV
Published on Jan 21, 2017
VoiceTV21 @Voice_TV
.....
รู้จัก 'ไผ่ ดาวดิน' นักสิทธิชุมชนของชาวอีสาน
by นิติธร สุรบัณฑิต
21 มกราคม 2560 เวลา 17:21 น.
ที่มา Voice TV
นานกว่า 4 สัปดาห์แล้วที่ไผ่ ดาวดิน ถูกเพิกถอนสิทธิการประกันตัวเพื่อต่อสู้คดี จากกรณีการแชร์บทความบีบีซีไทย ไผ่ ดาวดิน เป็นที่รู้จักในแวดวงการเมือง จากการชูป้ายต้านรัฐประหาร แต่สำหรับครอบครัว และกลุ่มชาวบ้านที่ต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชน ไผ่ ดาวดินคือลูกที่รัก และแนวร่วมสำคัญของชาวบ้าน
เสียงแคนอีสานยังคงขับกล่อม ผสานทำนองพื้นเมืองอันคุ้นหู มันถูกเป่าโดยชายใหญ่วัยเกษียณ เพื่อคลายความกังวล พร้อมต่อสู้เพื่อลูกชายตนเอง
เขาคือ วิบูลย์ บุญภัทรรักษา บิดาจตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน นักกิจกรรมสิ่งแวดล้อม และล่าสุดกับคดีทางการเมืองและความมั่นคงรวม 5 คดี
ภาพตราตรึงของไผ่จากผู้เป็นพ่อ คือ เด็กน้อยที่เดินทางติดตามเขาลงช่วยชาวบ้าน นี่คือประสบการณ์หล่อหลอมไผ่ เป็นนักกิจกรรมทุกวันนี้
นี่คือกระท่อมฝีมือชาวบ้าน มันถูกสร้างเพื่อไผ่ และครอบครัวระหว่างเริ่มต้นปลูกบ้าน ก่อนที่ไผ่จะเติบโต และย้ายไปเรียนขอนแก่น สิ่งนี้ยังเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ปกป้องสิทธิชุมชนร่วมกัน โดยเฉพาะในยามพื้นที่การเรียกร้องถูกจำกัด
วันนี้ผู้เป็นพ่อ ยังคงทำหน้าที่เดินหน้าสู้คดี พิสูจน์ข้อกล่าวหา วิบูลย์หวังว่า เขาจะเห็นไผ่ บัณฑิตกฎหมายออกมายืนเคียงข้างชาวบ้าน ไม่ต่างจากอดีตที่พ่อ และลูกเคยทำร่วมกัน
นี่คือน้ำสะอาดหลายร้อยลิตรที่พรทิพย์ กักตุน เพื่อดื่ม และใช้ เธอเป็นหนึ่งในชาวบ้าน 700 หลังคาเรือนรอบเหมืองทองทุ่งคำ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ที่ต้องซื้อน้ำนอกหมู่บ้านมาใช้ หลังสาธารณสุขประกาศพบสารตกค้างในน้ำจากเหมืองทอง
เธอยังเดินทางพาเราไปดูร่องรอยความเสียหายที่พึ่งเกิดขึ้น และยังคงอยู่ทุกวันนี้ ภาพโรงแต่งแร่ที่เห็นห่างจากผืนนา และชาวบ้านไม่ถึง 500 เมตร ปฏิเสธไม่ได้ว่าสารตกค้างได้กระจายอยู่เต็มพื้นที่ พวกเขาถูกห้ามให้รับประทานผลผลิตมากมายในพื้นที่
นี่คือร่องรอยการต่อสู้ระหว่างชาวบ้าน และเหมืองทองคำ และภาพเขียนนี้เป็นฝีมือของไผ่ ดาวดิน และเพื่อน ที่ร่วมปกป้องสิทธิชุมชนกับชาวบ้าน พวกเขาลงแรงช่วยคนในพื้นที่ จนประสบความสำเร็จ และนั่นทำให้เขาถูกจับตามาโดยตลอด
การเคลื่อนไหวของไผ่ทำให้ฝ่ายความมั่นคงจับตา พวกเขายืนยันว่า การเคลื่อนไหวกับชาวบ้าน หรือการเมือง ย่อมเป็นสิทธิย่อมกระทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ไม่กระทบสถาบันเบื้องสูง มิเช่นนั้นทหารย่อมยอมรับไม่ได้
บทบาทของไผ่ และชาวบ้านทำให้เหมืองทองแห่งนี้ถูกสั่งปิด การต่อสู้ครั้งนี้จากการร่วมแรงใจ หวังพลิกฟื้นผืนดินให้อุดมสมบูรณ์ดังเดิมอีกครั้ง นี่จึงเป็นหนึ่งสิ่งที่สะท้อนบทบาทของไผ่ ดาวดิน นอกเหนือจากบทบาททางการเมือง