วันศุกร์, มกราคม 27, 2560
จากการที่ประเทศไทยถูกลดอันดับในการต่อต้านคอรัปชั่น ชวนอ่านสาเหตุและปัญหา แจงโดย Chaturon Chaisang
"ระบบในการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นที่ไร้หลักเกณฑ์"
จากการที่ประเทศไทยถูกลดอันดับในการต่อต้านคอรัปชั่นนั้น ถ้าศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นกับระบบต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นใน 2-3 มานี้ จะเข้าใจสาเหตุและปัญหาได้ไม่ยาก
ผมจะขอพูดถึงปัญหาในส่วนที่เชื่อมโยงกับประเด็นที่มีการกล่าวถึงในการจัดอันดับดังนี้
1. ระบบองค์กรที่ใช้ในการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ได้ถูกกระทบอย่างรุนแรงจากการกำหนดให้คสช.มีอำนาจเบ็ดเสร็จครอบจักรวาลตามมาตรา 44 จนสามารถพูดได้ว่าองค์กรอิสระนั้น "มีก็เหมือนไม่มี" เพราะคสช.อาจสั่งการองค์กรอิสระอย่างไรก็ได้หรือจะหักล้างการวินิจฉัยขององค์กรอิสระเมื่อใดก็ได้
ระบบใหม่ได้ถูกสร้างขึ้นโดยการตั้งคกก.ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐจัดตั้งศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติขึ้นภายในสำนักงานคกก.ปปท.เรียกโดยย่อว่า ศอตช. มีรมว.ยุติธรรมเป็นประธาน เลขาธิการปปช.เป็นกรรมการ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นกรรมการ รวมองค์กรภาคเอกชนอีก 2 องค์กรเป็นกรรมการ เท่ากับเอากลไกขององค์กรอิสระและเอกชนไปอยู่ใต้การนำของฝ่ายบริหาร
ต่อมามีการแต่งตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ มีหัวหน้าคสช.เป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่กว้างขวางมากและหลังจากนั้นจะเห็นภาพการเรียกปปช. สตง.มาสั่งการ ร่วมประชุมเป็นว่าเล่น
สภาพเหล่านี้ทำให้สามารถสรุปได้ว่าคสช.ได้เปลี่ยนระบบและองค์กรในการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นไปเป็นระบบอื่น ที่ไม่ใช่ระบบที่อาศัยองค์กรอิสระ หรือเรียกได้ว่าไม่มีองค์กรอิสระ อำนาจที่แท้จริงอยู่ที่คสช.และรัฐบาลไปแล้ว
2. ไม่มีระบบถ่วงดุลและตรวจสอบระหว่างอำนาจอธิปไตยตามระบบประชาธิปไตย คสช.มีอำนาจเหนือองค์กรอื่นทั้งปวง องค์กรอย่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นองค์กรที่ตั้งโดยคสช.และไม่เคยทำหน้าที่ในการตรวจสอบคสช.หรือรัฐบาล การใช้คำสั่งของคสช.ตัดสินกรณีต่างๆเป็นข้อยุติโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งศาล
3. ประชาชนและสื่อมวลชนไม่มีเสรีภาพในการหาข้อมูลและแสดงความคิดเห็น การหาข้อมูลถูกขัดขวางและการแสดงความคิดเห็นต่อกรณีการทุจริตของรัฐไม่สามารถทำได้เนื่องจากมักถูกคุกคามหรือถูกจัดการด้วยกฎหมายที่ไม่ชอบธรรม เช่น คำสั่งของคสช.เอง
สภาพดังกล่าวเป็นไปตามคำกล่าวที่ว่า "การมีอำนาจมากๆมักมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การทุจริต และการมีอำนาจเบ็ดเสร็จมักทำให้เกิดการทุจริตอย่างสมบูรณ์"
การจัดอันดับครั้งนี้ได้พูดถึงปัญหาเชิงระบบในการต่อต้านคอรัปชั่นของไทย แต่ไม่ได้บอกว่ามีคอรัปชั่นมากเพียงใด ซึ่งก็เข้าใจได้ไม่ยาก เพราะภายใต้ระบบอย่างปัจจุบัน เราจะยังไม่ทราบได้ว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นมากเพียงใดแน่ เนื่องจากยังไม่มีช่องทางที่สังคมจะสามารถตรวจสอบการทำงานของภาครัฐได้
คงต้องรอให้ถึงเวลาที่น้ำลดเสียก่อน ตอถึงจะผุดให้เห็นครับ
Chaturon Chaisang