กานดา นาคน้อย
25 มกราคม 2560
เมื่อวันที่
21 มกราคมที่ผ่านมา
ผู้หญิงกว่า 1 ล้านคนได้ออกมาแสดงพลังด้วย“ขบวนของผู้หญิง” (Women’s
March) ในกรุงวอชิงตันดีซีพร้อมกับผู้หญิงอีกหลายล้านคนตามเมืองต่างๆทั่วสหรัฐฯและทั่วโลก เพื่อแสดงให้ประธานาธิบดีทรัมป์เห็นว่าเขาต้องคิดหนักถ้าอยากผลักดันนโยบายที่จำกัดสิทธิสตรี
บรรดาชาย(และหญิง)ที่สนับสนุนทรัมป์และอยากผลักดันนโยบายที่จำกัดสิทธิสตรีก็ต้องคิดหนักด้วย
อย่าคิดว่าชนะเลือกตั้งแล้วจะทำอะไรก็ได้
1. ชายเป็นใหญ่
ความเข้าใจผิดในกลุ่มคนไทยที่อยากได้ประชาธิปไตยบางกลุ่มว่าขบวนของผู้หญิงเหมือนกปปส.เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจ ฉันคิดว่า"ขบวนของผู้หญิง"ไม่โดนจริตคนไทยกลุ่มนี้เพราะค่านิยม "ชายเป็นใหญ่"แต่เขาอาจไม่รู้ตัว
บางคนอาจรู้ตัวแต่ไม่คิดว่าค่านิยมนี้เป็นปัญหาต่อพัฒนาการระบอบประชาธิปไตย
แม้ว่าคนกลุ่มนี้นิยมอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ซึ่งเป็นนายกฯหญิงคนแรกของไทย ความนิยมอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์มาจากอัตลักษณ์ความเป็นน้องสาวอดีตนายกฯทักษิณที่ตนนิยมอยู่แล้ว บ้างก็นิยมอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ที่สวยและยิ้มหวานไม่พูดมากไม่พูดจาหยาบคาย
โดยรวมนายกฯยิ่งลักษณ์มีบุคลิกนางเอกละครที่กระทรวงวัฒนธรรมเห็นดีเห็นงามให้เป็นแม่พิมพ์ทางทีวีมาหลายทศวรรษ ความนิยมอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ไม่ได้สร้างความไว้วางใจกิจกรรมการเมืองที่นำโดยผู้หญิงที่ขัดกับภาพพจน์ผู้หญิงในใจ ค่านิยมดังกล่าวมาจากการเลี้ยงดูและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการส่งเสริมโดยกระทรวงวัฒนธรรมผ่านวรรณกรรม
ละคร และภาพยนตร์
ค่านิยมดังกล่าวทำให้คนกลุ่มนี้ไม่พยายามทำความเข้าใจว่าอะไรทำให้ผู้หญิงกว่า 1 ล้านคนพร้อมใจกันมาแสดงพลัง ณ เมืองหลวงในจุดเดียวกันที่ประธานาธิบดีทรัมป์เพิ่งทำพิธีสาบานตนไปในวันก่อน การนัดกันให้คนจำนวน 1 ล้านคนมาจากทั่วสารทิศในวันเวลาเดียวกันนั้นเป็นเรื่องง่ายหรือ? ถ้าง่ายแล้วกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยไทยก่อนรัฐประหารทำได้ไหม? หรือว่ายากก็เลยสรุปลวกๆว่าผู้หญิง 1 ล้านฟูมฟายเกินเหตุ?
2. หมวกแมวเหมียวสีชมพู
“ขบวนของผู้หญิง”ใช้ “หมวกแมวเหมียวสีชมพู” (Pussyhat) เป็นสัญลักษณ์
หมวกนี้เป็นหมวกไหมพรมสีชมพูมีหูแมวสองข้าง ใครไม่ใส่หมวกมาก็ไม่เป็นไรแต่สนับสนุนให้ใส่เพราะทำให้เห็นชัดเจนเป็นกลุ่มก้อนและถ่ายรูปออกมาดูมีพลัง สีชมพูเป็นสีสัญลักษณ์เพศหญิงในสังคมอเมริกัน
ส่วนคำว่า“แมวเหมียว”นั้นนำมาใช้เพื่อล้อเลียนทรัมป์
ช่วงหาเสียงมีคลิปวีดีโอหลุดออกมาว่าทรัมป์พูดโอ้อวดเรื่องเพศกับพิธีกรชายคนหนึ่งตอนไม่ออกอากาศแต่มีคนแอบบันทึกไว้ เขาโอ้อวดว่าล่วงละเมิดหญิงสาวในอดีตอย่างภาคภูมิใจ ประโยคเด็ดคือประโยคที่ทรัมป์พูดว่า “Grab them by the pussy. You
can do anything.” แปลเป็นไทยว่า “จับพวกเธอที่...เลย
ทำอะไรก็ได้” ฉันจำเป็นต้องเซ็นเซอร์คำแปลของคำว่า pussy
ด้วย...เพื่อให้บทความนี้ผ่านมาตรฐานกระทรวงวัฒนธรรมไทยเพราะสะกดด้วย
“ห”และ“สระอี” คำว่า pussy เป็นศัพท์แสลงไม่สุภาพ
แต่ออกเสียงเหมือนสองพยางค์แรกของคำว่า pussycat ซึ่งแปลว่าแมวเหมียวและไม่ใช่ศัพท์ไม่สุภาพ
ฝ่ายศิลป์ของ“ขบวนของผู้หญิง”จึงประดิษฐ์คำว่า pussyhat
ให้คล้องจองกับคำว่า pussycat และผลิตหมวกแมวเหมียวสีชมพูมาใช้เป็นสัญลักษณ์และล้อเลียนทรัมป์ด้วย
3.
โดนัลด์ ทรัมป์เหยียดเพศอย่างไร?
นอกจากกรณี“คลิปโอ้อวดจับ...”แล้ว ทรัมป์พูดจาเหยียดเพศไว้มากมายหลายโอกาสโดยเฉพาะในที่สาธารณะ ก่อนอธิบายประเด็นเหยียดเพศขออธิบายกติกาการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯก่อนเพื่อให้เห็นว่าทรัมป์ใช้วิธีการหาเสียงอย่างไร
ผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯไม่ได้ขึ้นอยู่กับเสียงส่วนใหญ่ของผู้ลงคะแนนเสียงทั่วประเทศ แต่ขึ้นอยู่กับเสียงส่วนใหญ่ภายในมลรัฐ
ผู้สมัครที่ได้รับเสียงส่วนใหญ่ในมลรัฐฯจะได้โควต้าเสียงของทั้งมลรัฐเลย เมื่อนับโควค้าเสียงรวมกันหลายมลรัฐแล้วถ้าได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของโค้วต้าเสียงรวมทุกมลรัฐก็ได้เป็นผู้ชนะ
ดังนั้นมูลค่าเสียงต่อคนในแต่ละมลรัฐไม่เท่ากัน ทรัมป์เข้าใจจุดนี้ดีเพราะเขาเชี่ยวชาญด้านการตลาด เขาจึงเน้นตีตลาดหาเสียงในมลรัฐที่มูลค่าเสียงต่อคนสูง
กล่าวคือ“มลรัฐแดง” (Red state) ซึ่งเป็นฐานเสียงพรรครีพับลิกันเพื่อให้ตนได้เป็นตัวแทนพรรครีพับลิกัน และ“มลรัฐแกว่ง” (Swing state) ซึ่งไม่ใช่ฐานเสียงของพรรคไหนชัดเจน
เขาไม่แยแส“มลรัฐน้ำเงิน”(Blue state)ซึ่งเป็นฐานเสียงพรรคเดโมแครตติดต่อกันหลายทศวรรษ
ทรัมป์หาเสียงด้วยการกระตุ้นความโกรธของคนขาวที่ตกงานและคน(ทั้งขาวและไม่ขาว)ที่ไม่มีประกันสุขภาพจนมีโครงการประกันสุขภาพของประธานาธิบดีโอบามาหรือ“โอบามาแคร์”
เขาอาสายกเลิก“โอบามาแคร์”และทำโครงการใหม่ที่ราคาถูกกว่า
ส่วนประเด็นการตกงานเขาอธิบายว่าสาเหตุคือผู้อพยพ สนธิสัญญาการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ที่ทำร่วมกับแคนาดาและเม็กซิโก
และจีนกดค่าเงินหยวน โดยรวมเขาชี้นำว่าความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในมลรัฐแกว่งเป็นความผิดของ“คนอื่นและสิ่งอื่น” และอาสากำจัด“คนอื่นและสิ่งอื่น”แทน“กลุ่มการเมืองเก่า”ทั้งในพรรคตนและพรรคคู่แข่ง
ประเด็นที่ทรัมป์เสนอนั้นโต้เถียงกันได้อย่างผู้มีอารยะ อาทิ เปรียบเทียบนโยบายของรัฐบาลมลรัฐต่างๆ เปรียบเทียบความแตกต่างด้านทักษะของแรงงานและอุตสาหกรรมในมลรัฐต่างๆ
ประเมินค่าใช้จ่ายที่แรงงานต้องจ่ายเพื่อย้ายไปมลรัฐที่อัตราการว่างงานต่ำ
ฯลฯ แต่ทรัมป์เลือกใช้วาทกรรมเหยียดชาติพันธุ์และเหยียดเพศเพื่อกระตุ้นอารมณ์คนฟัง อาทิ เรียกคนเม็กซิกันว่าอาชญากรข่มขืน
เสนอให้ลงทะเบียนผู้อพยพที่นับถือศาสนาอิสลาม วิจารณ์หน้าตานักการเมืองหญิงจากพรรคเดียวกันที่แข่งขันเป็นตัวแทนพรรค ในอดีตทรัมป์ออกทีวีและพูดจาเหยียดเพศแม้กระทั่งลูกสาวของตนเองทำให้คนวิจารณ์กันจนโฆษกส่วนตัวต้องออกมาแก้ตัวว่าเขาพูดเล่น
[1]
ในฤดูหาเสียงผู้หญิงหลายคนออกมาเปิดเผยว่าเคยโดนทรัมป์ล่วงละเมิดทางเพศ
ทรัมป์ตอบโต้ว่าพวกเธอโกหกเพราะอยากดังและตั้งคำถามว่าทำไมถึงเพิ่งมาเปิดเผย
พวกเธอก็ตอบโต้ว่าเพราะเคยคิดว่าตนเป็นเพียงรายเดียวที่โดนล่วงละเมิดและเพราะคิดว่าทรัมป์ไม่เหมาะสมต่อตำแหน่งประธานาธิบดี และตอบโต้ด้วยการฟ้องร้องทรัมป์ว่าหมิ่นประมาท
4.
การตรวจสอบประธานาธิบดี
เนื่องจากมลรัฐสีน้ำเงินมีมูลค่าเสียงต่อคนต่ำกว่ามลรัฐแดงและมลรัฐแกว่งทรัมป์ก็ได้โควต้าเสียงมลรัฐมากกว่าคู่แข่งแต่ไม่ชนะเสียงส่วนใหญ่ เนื่องจากส่วนเสียงใหญ่ไม่มีผลทางกฎหมายโควต้าเสียงมลรัฐทำให้เขาเป็นประธานาธิบดีโดยชอบธรรม
การที่ทรัมป์ไม่ชนะเสียงส่วนใหญ่มีนัยยะสำคัญ
คือเป็นสัญญาณว่ามีคนจำนวนมากคอยตรวจสอบเขาหลังเลือกตั้งและระหว่างทำหน้าที่ประธานาธิบดี ไม่ใช่ว่าเขาชนะเลือกตั้งแล้วจะทำอะไรก็ได้ กระบวนการตรวจสอบจะดำเนินไปอย่างเข้มข้นและอาจทำให้เขาโดนถอดถอนก่อนครบวาระ
4 ปี และการตรวจสอบเริ่มตั้งแต่ทรัมป์ยังไม่เข้ารับตำแหน่ง
ในวันที่ 13 พฤศจิกายนหลังวันเลือกตั้งเพียง 5 วันรายการ 60
นาที (60 Minutes)ได้เชิญทรัมป์ไปออกทีวี รายการนี้เป็นสารคดีสืบสวนและสัมภาษณ์บุคคลสำคัญจากสารพัดวงการทุกสัปดาห์ (อาทิ ประธานาธิบดี ผู้ว่าฯแบงค์ชาติ ผู้พิพากษาศาลฎีกา นักกีฬา
นักร้อง นักแสดง ฯลฯ) ดำเนินรายการมาตั้งแต่ปีพศ. 2511 และมีผู้ชมจำนวนมาก พิธีกรมีประสบการณ์มากและมีรายได้ปีละหลายล้านเหรียญ พิธีกรรายการนี้กล้าถามประเด็นสำคัญตรงๆและมีอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงนโยบายสาธารณะ
ในวันนั้นพิธีกรถามทรัมป์ประเด็นการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลฎีกาซึ่งตำแหน่งว่างลงเพราะเสียชีวิตไป
1 คน ถามเขาว่าจะแต่งตั้งผู้พิพากษาที่จะกลับคำตัดสินคดีที่ใช้เป็นบรรทัดฐานว่าการทำแท้งไม่ผิดกฎหมายหรือไม่ ทรัมป์ไม่ยอมตอบคำถามตรงๆและเลี่ยงตอบว่าจะแต่งตั้งผู้พิพากษาที่
“สนับสนุนชีวิต” (Pro-life) เมื่อพิธีกรถามซ้ำว่าผู้พิพากษาคนนี้จะกลับคำตัดสินคดีที่เป็นพื้นฐานการทำแท้งเสรีหรือไม่ เขาก็ยังไม่ตอบชัดเจนและเลี่ยงโดยการพูดถึงนโยบายปืนหน้าตาเฉย พิธีกรจึงถามย้ำเป็นครั้งที่ 3 คราวนี้เขาเลี่ยงไม่ได้แล้วตอบว่าจะให้เป็นการตัดสินของมลรัฐ
[2]
ผู้หญิงที่ดูรายการนี้ในวันนั้นหรือดูคลิปทางอินเตอร์เน็ตภายหลังก็รู้แล้วว่าการเหยียดเพศที่ทรัมป์แสดงออกไม่ใช่แค่ลมปาก แต่วาจาเขาเป็นสัญญาณของนโยบายจำกัดสิทธิสตรีในอนาคต
คำว่า“สนับสนุนชีวีต”เป็นรหัสของคนสนับสนุนการยกเลิกสิทธิทำแท้งเสรี ส่วนคนสนับสนุนสิทธิทำแท้งเสรีใช้รหัส“สนับสนุนทางเลือก”
(Pro-choice) คำตอบของทรัมป์แสดงว่าเขาอยากแต่งตั้งผู้พิพากษาที่อยากกลับคำตัดสินคดีดังกล่าวและจะทำให้มลรัฐต่างๆออกกฎหมายห้ามทำแท้งได้ตามที่ทรัปม์ตอบหลังพิธีกรถามซ้ำเป็นครั้งที่
3 นอกจากผู้พิพากษาศาลฎีกาที่เสียชีวิตไป
1 คน ตอนนี้ในจำนวน 8
คน (หญิง 3 คน ชาย 5 คน)ที่ยังมีชีวิตอยู่มี 2 คนที่อายุเกิน 80 ปีแล้ว ถ้า 2 คนนี้เสียชีวิตภายใน 4 ปีข้างหน้าทรัมป์จะมีโอกาสแต่งตั้งผู้พิพากษาชายอนุรักษ์นิยมสุดขั้วเพื่อจำกัดสิทธิสตรีและสิทธิพลเมืองด้านอื่นอีกมากมาย
5.
สิทธิสตรีและสิทธิพลเมือง
สิทธิทำแท้งเสรีเป็นพื้นฐานของสิทธิสตรีเนื่องจากสิทธินี้หมายความว่า“กรรมสิทธิ์ร่างกายผู้หญิง”เป็นของเจ้าตัวไม่ใช่ของสามีหรือพ่อแม่
ดังนั้นผู้หญิงมีสิทธิตัดสินใจว่าอยากทำแท้งหรือไม่ ผู้หญิงอาจอยากทำแท้งด้วยเหตุผลทางสุขภาพ ทางสังคมหรือทางเศรษฐกิจ หรือเหตุผลอื่นๆ ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็มีสิทธิเลือกทำแท้ง
สิทธิทำแท้งเสรีมาจากการตัดสินคดีโดยศาลฎีกาในปีพศ. 2516 ว่าการทำแท้งไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญทำให้รัฐบาลทุกมลรัฐไม่สามารถออกกฎหมายห้ามทำแท้ง ก่อนหน้านั้นมีการเรียกร้องสิทธิพลเมืองอย่างกว้างขวาง
คนดำเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งตั้งแต่ปีพศ. 2497 จนได้สิทธิในปีพศ. 2508 ซึ่งเป็นปีที่สงครามเวียดนามปะทุ สงครามเวียดนามก็นำไปสู่การประท้วงให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารเนื่องจากชายอายุน้อยโดนเกณฑ์ไปเสียชีวิตมาก นักศึกษาทั้งชายทั้งหญิงจึงประท้วงจนรัฐบาลยอมยกเลิกการเกณฑ์ทหารในปีพศ.
2516
การเรียกร้องสิทธิสตรีที่สหรัฐฯเข้มข้นมากในช่วงปีพศ. 2503-2523
นอกจากชัยชนะด้านสิทธิทำแท้งเสรี
กลุ่มสตรีก็ผลักดันให้“การเลือกปฎิบัติด้วยเพศ”เป็นความผิดในบัญญัติสิทธิพลเมืองด้วย ทำให้สตรีได้รับการคุ้มครองสารพัดด้าน
อาทิ สิทธิลาคลอด สิทธิรับค่าจ้างเท่าเทียมกับชาย สิทธิคุ้มครองการล่วงละเมิดทางเพศ สิทธิฟ้องร้องสามีที่มีเมียน้อย สิทธิฟ้องร้องเมียน้อย ฯลฯ ชายอเมริกันที่มีเมียน้อยไม่กล้าเปิดเผยโจ่งแจ้งและหาทางหย่าก่อนโดนจับได้ เนื่องจากภรรยานำหลักฐานไปฟ้องร้องเรียกเงินชดเชยได้ไม่ยาก ในกรณีที่มีลูกก็ต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูลูกด้วย นอกจากนี้การเรียกร้องสิทธิสตรีก็นำไปสู่การเรียกร้องสิทธิของเลสเบี้ยน
เกย์ คนรักร่วมสองเพศ และทรานซ์เช่นกัน
6.
จุดยืนทางการเมืองของขบวนของผู้หญิง
เนื่องจากการสิทธิทำแท้งเสรีเป็นพื้นฐานของสิทธิสตรี แกนนำของ“ขบวนของผู้หญิง”จึงปฎิเสธไม่ให้กลุ่มผู้หญิงที่ต่อต้านการทำแท้งเสรีเข้าร่วมขบวนเมื่อได้รับการติดต่อขอร่วมขบวน
ผู้หญิงที่ต่อต้านการทำแท้งเสรีเปรียบเหมือน“ไส้ศึก”ในการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อสิทธิสตรี มีบทบาททางการเมืองเหมือนทาสที่ยืนยันว่าระบบทาสดีมีนายทาสคุ้มครอง และเหมือนคนอพยพที่สนับสนุนนโยบายกีดกันคนอพยพ แน่นอนผู้หญิงที่ต่อต้านการทำแท้งเสรีย่อมมีสิทธิต่อต้าน
แต่ในเมื่อจุดประสงค์ตรงข้ามกันราวขาวกะดำย่อมเดินด้วยกันไม่ได้
จุดยืนด้านสิทธิสตรีทำให้“ขบวนของผู้หญิง”แตกต่างจากการประท้วงของกลุ่มพันธมิตรและกปปส.มาก รวบรวมความแตกต่างระหว่าง
“ขบวนของผู้หญิง”และกลุ่มพันธมิตรและกปปส.ได้ดังต่อไปนี้
ก)
กลุ่มพันธมิตรและกปปส.มีแกนนำหลักเป็นผู้ชาย แม้กปปส..ให้ผู้หญิงบางคนมาเป็นแกนนำแต่แกนนำหญิงก็ไม่ใช่แกนนำหลัก แกนนำหญิงของกปปส.สวยและยิ้มหวานคล้ายนางเอกละครทีวีเพราะหน้าที่ของเธอคือการแข่งขันกับอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ซึ่งมีบุคลิกคล้ายนางเอกละครทีวี ที่สำคัญแกนนำหญิงของกปปส.เป็นสมาชิกพรรคการเมืองอนุรักษ์นิยมไม่ใช่พรรคก้าวหน้า
ข)
กปปส.ส่งเสริมการเหยียดเพศ มีผู้ปราศัยเป็นแพทย์ชายซี่งเสนอตัวให้บริการ“ทำรีแพร์”ให้อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์
เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ที่ครอบครัวของแพทย์ชายผู้นี้ได้รางวัล
“ครอบครัวประชาธิปไตย” ฉันเดาว่าเป็นประชาธิปไตยที่ชายที่ยึดมั่นในค่านิยม“ชายเป็นใหญ่”ใฝ่ฝันจะอนุรักษ์ไว้ชั่วกัลปาวสาน
ค)
“ขบวนของผู้หญิง”ไม่ได้ยึดพื้นที่สาธารณะตามอำเภอใจตามสไตล์อภิชน มีการขออนุญาตใช้พื้นที่สาธารณะและใช้ที่จอดรถบัสล่วงหน้าตามกฎหมาย
ง)
“ขบวนของผู้หญิง”แนะนำให้สมาชิกสื่อสารกับสมาชิกสภาคองเกรสที่ในแต่มลรัฐ
เช่น โทรศัพท์ ส่งไปรษียบัตร ส่งจดหมาย
ไม่เชื้อเชิญปูพรมให้กองทัพสหรัฐฯเข้ามาทำรัฐประหาร ไม่สนับสนุนทางลัดนอกกระบวนการประชาธิปไตยแบบกปปส.
จ)
“ขบวนของผู้หญิง”ไม่ต้องการล้มสภาคองเกรส แต่จะยินดีมากถ้าสภาคองเกรสใช้กระบวนการถอดถอน (Impeachment) ทรัมป์จากตำแหน่งประนาธิบดีด้วยเหตุผลที่อยู่ภายในกติกา “ขบวนของผู้หญิง”ทำให้สมาชิกสภาคองเกรสอุ่นใจว่ามีผู้หญิงจำนวนมากพร้อมจะให้รางวัลด้วยการเลือกพวกเขาเข้าสภาในการเลือกตั้งครั้งหน้าถ้าพวกเขาลงมติถอดถอนทรัมป์ออกจากตำแหน่ง
7.
ประชาธิปไตยคือกระบวนการไม่ใช่ทางลัดสั้นๆ
ทุกฝ่ายในการเมืองสหรัฐฯสำเหนียกดีว่ากระบวนการประชาธิปไตยไม่ได้สิ้นสุดที่การเลือกตั้ง ประชาธิปไตยเป็นกระบวนการหลายขั้นตอนและแข่งขันกันด้วยตัวเลขทุกขั้นตอน
ตัวเลขที่ใช้วัดพลังไม่ใช่แค่จำนวนคนเข้าชุมนุม นอกจากจำนวนคนก็มีจำนวนรถบัสที่ขออนุญาตจอดรถเพื่อร่วมขบวนและจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินในกรุงวอชิงตันดีซี จำนวนรถบัสที่ขออนุญาตจอดรถเพื่อร่วมขบวนของผู้หญิงสูงกว่าจำนวนรถบัสที่ขออนุญาตจอดรถเพื่อร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาบดีในวันก่อนถึง
5 เท่า จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินในกรุงวอชิงตันดีซีในวันนั้นก็สูงเกือบ
2 เท่าของจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินในวันก่อนซึ่งมีพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี
ทรัมป์ตอบโต้ขบวนของผู้หญิงทางทวิตเตอร์ในวันถัดไปว่า “ดูการประท้วงเมื่อวานแต่จำได้ว่าเพิ่งมีการเลือกตั้งไป ทำไมพวกเธอไม่ไปเลือกตั้ง?”เพื่ออ้างความชอบธรรมจากผลเลือกตั้ง
แต่ไม่นานก็เปลี่ยนมาเขียนทวิตเตอร์ว่า
“การชุมนุมโดนสงบเป็นลักษณะเด่นของประชาธิปไตย
แม้ไม่เห็นด้วยแต่ก็ยอมรับว่าประชาชนมีสิทธิแสดงความคิดเห็น” ฉันเดาว่าทรัมป์ยอมถอยหลัง 1 ก้าวเพราะสื่อมวลชนตีแผ่การเปรียบเทียบตัวเลขรถบัสและตัวเลขจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินในกรุงวอชิงตันดีซีอย่างชัดเจนและแสดงให้เห็นว่าฝ่ายทรัมป์แพ้หลุดลุ่ย
นอกจากตัวเลขจาก“ขบวนของผู้หญิง”ก็มีตัวเลขอีกมากมายมาประกวดแข่งขันกันไปเรื่อยๆ อาทิ
โพลล์สอบถามความพึงพอใจประธานาธิบดี
โพลล์สอบถามความต้องการให้ทรัมป์เปิดเผยหลักฐานการเสียภาษี
ตัวเลขเกี่ยวกับธุรกรรมของธุรกิจในเครือทรัมป์ ตัวเลขผลงานเศรษฐกิจในอนาคต ฯลฯ ตัวเลขไหนจะทำให้สภาคองเกรสตัดสินอภิปรายเพื่อลงมติถอดถอนทรัมป์ก็ยากจะคาดการณ์ได้
ถ้าทรัมป์ไม่โดนถอดถอนและไม่โดนลอบสังหารหรือเสียชีวิตโดยอุบัติเหตุหรือโรคภัยเขาก็จะเป็นประธานาธิบดีถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไปใน
4 ปีข้างหน้า
8.
การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ในไทย
“การเมื่องเรื่องอัตลักษณ์”ในไทยในทศวรรษที่ผ่านมาอ้างอิงภูมิศาสตร์
(เมือง vs ชนบท) วุฒิการศึกษา
(ปริญญา vs ไม่มีปริญญา)
เชื้อชาติและอุดมการณ์ชาตินิยม
(ลูกจีนรักชาติ vs ลูกจีนไม่รักชาติและลูกคนไม่จีน) แต่อัตลักษณ์ด้านเพศในการเมืองไทยเป็นอัตลักษณ์เชิงลบเสมอ กล่าวคือ เพศอื่นโดนกดให้ต่ำกว่าเพศชาย อาทิ หญิงที่โดนโจมตีได้รับสมญานามว่า"กะหรี่" ส่วนเกย์หรือทรานซ์ที่โดนโจมตีได้รับสมญานามว่า"อีตุ๊ด"หรือ"ตุ๊ดเฒ่า" เกย์หรือทรานซ์ที่ต้องการพื้นที่ในสังคมจำนวนมากก็ยอมรับการเมืองเรื่องอัตลักษณ์แบบไทยๆเพื่ออ้อนวอนขอทางลัดไปสู่สิทธิสมรสตามกฎหมาย
ไม่พยายามต่อสู้ด้วยกระบวนการประชาธิปไตยแบบประเทศตะวันตก
ฉันคิดว่าถ้านักกิจกรรมไทยไม่นำเสนอการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ด้านเพศในเชิงบวก ก็ยากจะปฎิรูปองค์กรการเมือง องค์กรที่อิงค่านิยม"ชายเป็นใหญ่"ที่สุดคือกองทัพ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซี่งทำหน้าที่คล้ายศาลฎีกาสหรัฐฯก็เคยมีผู้หญิงเพียงคนเดียวและเป็นผู้ทรงคุณวุฒิไม่ใช่ผู้พิพากษา (ศาลรัฐธรรมนูญมีปัญหาเชิงโครงสร้างหลายด้านไม่ใช่แค่ด้านเพศของตุลาการ)
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมีผู้หญิงแต่ก็เป็นเพียงเสือกระดาษราคาแพง มหาวิทยาลัยไทยมีอธิการบดีผู้หญิงบ้างแล้วแต่ไม่ชัดเจนว่าอธิการบดีหญิงมีบิดาหรือสามีหรือพี่ชายหรือน้องชายที่มีเครือข่ายอำนาจมากน้อยแค่ไหน
9.
ค่าเสียโอกาสของสังคมชายเป็นใหญ่
ผู้อ่านบางท่านอาจแย้งว่า “ค่านิยมชายเป็นใหญ่ไม่เป็นปัญหา ญี่ปุ่นเป็นสังคมจารีตนิยมให้ชายเป็นใหญ่ยังพัฒนาได้”
สังคมชายเป็นใหญ่ที่ญี่ปุ่นและไทยแตกต่างกันมาก ในด้านการทหาร ทหารญี่ปุ่นพยายามทำรัฐประหารครั้งสุดท้ายเมื่อ 72 ปีที่แล้วแต่ไม่สำเร็จหลังจากนั้นไม่เคยมีความพยายามทำรัฐประหารอีกเลย นอกจากนี้กระบวนการคัดสรรชายที่เป็นใหญ่ในญี่ปุ่นต่างจากไทยมาก คนญี่ปุ่นไม่คัดสรรชายผู้เป็นใหญ่ในองค์กรด้วยชาติกำเนิดและเส้นสายครอบครัวแต่แข่งขันกันด้วยความสามารถ
(ยกเว้นตำแหน่งจักรพรรดิและมกุฎราชกุมาร) แม้แต่ธุรกิจครอบครัวก็ไม่ให้ความสำคัญกับชาติกำเนิดเท่าความสามารถ ถ้าลูกชายไม่มีความสามารถก็รับคนนอกสกุลเข้ามาเป็นลูกบุญธรรมในสกุลเพื่อรับช่วงบริหารกิจการ
ค่านิยมชายเป็นใหญ่ได้สร้างปัญหาโครงสร้างให้ญี่ปุ่นและบรรดาชายญี่ปุ่นยังแก้ไขปัญหานี้ไม่ได้ นั่นคือปัญหาประชากรลดลงทำให้ขาดแคลนแรงงาน การผลักภาระดูแลลูกให้ผู้หญิงในยุคที่เทคโนโลยีคุมกำเนิดก้าวหน้ามากก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงไม่อยากมีลูก
อัตราการเกิดของญี่ปุ่นอยู่ที่ 1.4%
เท่านั้น แม้รัฐบาลอาเบะใช้นโยบายส่งเสริมให้ผู้หญิงญี่ปุ่นเลิกเป็นแม่บ้านและหันมาทำงานนอกบ้าน
ผู้หญิงญี่ปุ่นก็ยังไม่เลิกเป็นแม่บ้านกันเท่าไรนัก ค่าแรงผู้หญิงในหลายวิชาชีพยังต่ำกว่าผู้ชาย สถานดูแลเด็กอ่อนและพี่เลี้ยงเด็กอ่อนก็ราคาแพง และการทำงานกับผู้ชายที่เคยชินกับการเหยียดเพศก็ไม่น่าพิศมัย
[3]
อัตราการเกิดของไทยสูงกว่าญี่ปุ่นนิดหน่อยคือ 1.5% ส่วนสหรัฐฯและแคนาดามีอัตราการเกิด 1.8% และ 1.6% [3] สูงกว่าไทยแต่ก็ไม่ได้สูงกว่ามาก อัตราการเกิดต่ำทำให้จำเป็นต้องนำเข้าแรงงานอพยพ
แคนาดาและเยอรมันรับผู้ลี้ภัยสงครามมากเพราะขาดแคลนแรงงานด้วยไม่ใช่ว่าทำเพื่อมนุษยธรรมล้วนๆ ญี่ปุ่นพยายามเปิดรับผู้อพยพแต่ค่านิยมเหยียดชาติพันธุ์และเหยียดเพศก็ทำให้ผู้อพยพที่มีทักษะสูงจำนวนมากเลือกไปประเทศตะวันตกแทน
ค่าเสียโอกาสอีกอย่างคือการไหลออกของแรงงานทักษะสูงเพศหญิง
เลสเบี้ยน เกย์ คนรักร่วมสองเพศและทรานซ์ ไปสู่ประเทศตะวันตกที่คุ้มครองสิทธิพลเมือง ฉันเป็นหนึ่งในแรงงานอพยพดังกล่าว ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฉันเลือกทำงานในสหรัฐฯคือการคุ้มครองสิทธิสตรีทั้งในและนอกที่ทำงาน จากประสบการณ์ตรงฉันก็เคยโดนเลือกปฏิบัติแต่ฉันเรียกร้องสิทธิได้ไม่ยาก
ในด้านครอบครัวก็ไม่ต้องกังวลว่าสามีอาจแอบมีเมียน้อยเพราะกฎหมายคุ้มครองสิทธิภรรยาจริงๆ ถ้าสามีขอหย่าก็จ้างนักสืบให้หาหลักฐานว่าสามีมีเมียน้อยหรือไม่ ถ้ามีก็ใช้หลักฐานเรียกเงินชดเชยได้ไม่ยาก
ในไทยค่านิยมชายเป็นใหญ่นำไปสู่ปัญหาเมียน้อยซึ่งมีผลเชิงลบต่อการพัฒนาทรัพยากรบุคคล แม้ปัจจุบันกฎหมายไทยไม่ยอมรับการจดทะเบียนซ้อนแต่กฎหมายนี้ก็อายุไม่ถึงศตวรรษ เมียน้อยก็ยังเป็นเรื่องสามัญในสังคมไทย (กรณี“เมียบุญธรรม”ที่โด่งดังไม่นานนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน) ในสังคมเช่นนี้ภรรยาอาจไม่ใช้ทักษะเพื่อความก้าวหน้าทางวิชาชีพด้วยความกลัวว่าสามีจะมีเมียน้อย
ทำให้ระบบเศรษฐกิจเสียโอกาสใช้ทรัพยากรบุคคล ความหึงหวงจนทำให้เกิดการฆาตกรรมก็ยิ่งทำให้เสียทรัพยากรบุคคลยิ่งขึ้นไปอีก
ผู้อ่านบางท่านอาจแย้งว่าค่านิยมพหุภรรยาช่วยเพิ่มอัตราการเกิด แต่อย่าลืมว่าค่านิยมพหุภรรยาทำให้ผู้หญิงไทยบางกลุ่มเบื่อหน่ายชายไทยจนหันไปแต่งงานกับชายต่างชาติ โลกาภิวัฒน์ทำให้ค่าใช้จ่ายเพื่อรู้จักและคบหาชาวต่างชาติถูกลงมาก หญิงไทยก็มีโอกาสอพยพไปต่างประเทศโดยการแต่งงานกับชายต่างชาติมากขึ้น ลูกของพวกเธอก็เพิ่มอัตราการเกิดของประเทศอื่น ดังนั้นก็ยากที่จะสรุปว่าค่านิยมพหุภรรยาทำให้อัตราการเกิดสูงขึ้นหรือต่ำลง
บทสรุป
ชายไทยที่ยึดมั่นค่านิยม“ชายเป็นใหญ่”เป็นสรณะอาจยินดีที่แรงงานต่างเพศที่อยากได้สิทธิพลเมืองในด้านต่างๆอพยพไปอยู่ประเทศอื่นเพราะทำให้พวกเขาอนุรักษ์ระเบียบสังคมได้ง่าย แต่ สังคมไทยก็จะจ่ายค่าเสียโอกาสต่อไป ส่วนหญิงไทยที่อยากจัดตั้งเพื่อเรียกร้องสิทธิก็อาจเรียนรู้ได้จากกลยุทธต่างๆของ“ขบวนของผู้หญิง”ซึ่งจะมีการเคลื่อนไหวต่อไปในอนาคต
หมายเหตุ:
เผยแพร่ครั้งแรกที่มติชนออนไลน์: http://www.matichon.co.th/news/440948
ที่มา:
[1] รวบรวมวาจาเหยียดเพศโดยทรัมป์:
http://www.telegraph.co.uk/women/politics/donald-trump-sexism-tracker-every-offensive-comment-in-one-place/
[2] บทสัมภาษณ์โดนัลด์
ทรัมป์ในรายการ “60 นาที”: http://www.cbsnews.com/news/60-minutes-donald-trump-family-melania-ivanka-lesley-stahl/