วันจันทร์, มกราคม 16, 2560

ประชาไท : รู้จัก ‘ปรวย’ ผู้ลี้ภัย-ผู้กำกับหนังลุงนวมทอง /Democracy After Death





รู้จัก ‘ปรวย’ ผู้ลี้ภัย-ผู้กำกับหนังลุงนวมทอง /Democracy After Death

Mon, 2017-01-16 15:04

ที่มาประชาไท
ทีมข่าวการเมือง

Democracy After Death ภาพยนตร์ที่แทบไม่มีการกล่าวถึง

ต้นเดือนตุลาคม 2559 มีข่าวเล็กๆ ว่า ในงานรำลึก 40 ปี 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งบังเอิญว่าเป็นการครบรอบ 10 ปี รัฐประหาร คมช. 2549 ด้วยนั้น มีการนำภาพยนตร์เรื่อง “Democracy After Death : A Tragedy of Uncle Nuamthong Praiwan” มาฉายในงานด้วยโดยไม่ได้มีการโปรโมทนัก หลังการฉายในครั้งนั้นก็ไม่ปรากฏว่ามีการฉายหรือเผยแพร่ภาพยนตร์เรื่องนี้ในที่ไหนอีก มีเพียงกระแสข่าวว่าคณะกรรมการผู้จัดงานถูกเตือนจากเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงว่าเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์อาจเข้าข่ายละเมิดกฎหมายอาญา ม.112

ล่าสุด ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกฉายอีกครั้งที่งาน Screening of THAI Political Film จัดโดย กลุ่ม ASEAN’s friend ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2559 ที่มหาวิทยาลัย Songkunghoe University ประเทศเกาหลีใต้ และไม่นานมานี้ก็มีการเผยแพร่หนังเรื่องนี้สู่สาธารณะในเวอร์ชั่น “เซ็นเซอร์” ปรากฏบนยูทูบ ซึ่งตัดบางฉากออกไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

รูปแบบการนำเสนอของภาพยนตร์เรื่องนี้รวมหลายๆ อย่างเข้าด้วยกัน ไม่ว่า อะนิเมชัน การแสดง กระทั่งฟุตเทจข่าวจริงๆ จำนวนมาก โดยรวมแล้วอาจเรียกได้ว่ามันเป็นภาพยนตร์สารคดีการเมืองที่มีสีสันและสมบูรณ์ที่สุดเรื่องหนึ่งของไทย เพราะนอกจากมีเนื้อหารำลึกถึงการต่อสู้และการตายของ ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ คนขับแท็กซี่สูงวัยที่ขับรถพุ่งชนรถถังเพื่อประท้วงการรัฐประหารปี 2549 และท้ายที่สุดผูกคอตายเพื่อยืนยันว่าผู้ยอมสละชีพเพื่อต่อต้านรัฐประหารมีจริงแล้ว มันยังได้ย้อนทวนไปถึงจุดเริ่มต้นความขัดแย้งในเหตุการณ์ปี 2549 ซึ่งเปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์การเมืองที่ยาวนานต่อเนื่องมาถึงสิบปีโดยที่ยังไม่มีแนวโน้มที่จะยุติ

ภาพความรุนแรง ความโหดร้าย ความเกรี้ยวกราด และความสิ้นหวังซึมเซา ถูกฉายยาวนานชั่วโมงครึ่ง ในตอนท้ายก็เหมือนภาพยนตร์ทั่วไปที่ต้องระบุเครดิตฝ่ายต่างๆ คำว่า “Anonymous” ปรากฏซ้ำแล้วซ้ำเล่า มีเพียงชื่อของผู้กำกับเท่านั้นที่โดดเด่น “เนติ วิเชียรแสน” เขาคือผู้กำกับหนังโฆษณาที่ต้องหลบหนีออกจากประเทศไทยเพราะการโพสต์ความเห็นในเว็บบอร์ดการเมืองแห่งหนึ่ง โดย DSI ได้จับกุมเขาและแจ้งว่าภาพและข้อความของเขานั้นเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ชื่อจริงผู้คนอาจไม่รู้จัก แต่หากเรียกเขาใหม่ในนามแฝงว่า “ปรวย” หรือ Pruay Saltihead ผู้เป็นคอการเมืองที่ชอบท่องโลกอินเทอร์เน็ตในช่วงปี 2549 เป็นต้นมาน่าจะรู้จักเขาเป็นอย่างดี

ใครคือปรวย

ตอนที่โพสต์ความเห็นบนเว็บบอร์ด ผมคิดว่าผมไม่ผิดนะ เราไม่ได้ด่าอะไรใครที่มันเกินเลย ไม่ได้โจมตีตัวบุคคล ไม่เคยคิดว่าประเทศนี้มันเป็นถึงขนาดนี้

จุดเริ่มต้นที่สนใจการเมือง คงเพราะพ่อเป็นทนายความ เคยเป็นผู้สมัครพรรคพลังใหม่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่บ้านมีหนังสือเยอะมากและไม่มีทีวีเลยพลอยได้อ่านหนังสือเยอะไปด้วย เหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นจุดเริ่มต้นความสงสัยเมื่อเห็นพ่อเอาหนังสือการเมืองไปเผาในเตา หนังสือกรณีสวรรคตของร.8 ก็อ่านตั้งแต่ในยุคนั้น

ผมมีแอคเคาท์ชื่อ “ชอบหนัง” อยู่ในพันทิป ผมคอมเมนต์เรื่องหนังแล้วก็แต่งนวนิยายด้วย พอมีเหตุการณ์ปี 49 ผมไปโพสต์เรื่องการเมืองของเนปาลในห้องราชดำเนินเลยโดนยึดแอคเคาท์ บทความ ข้อเขียนเก่าหายหมด เลยต้องย้ายมาเล่นที่เว็บบอร์ดประชาไทกับเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน

ชื่อปรวยก็มาจากการรับรู้ทางการเมืองในช่วงที่มีการขับไล่ทักษิณ ช่วงนั้นผมเข้าใจว่าประธานองคมนตรีมีส่วนสนับสนุนการไล่ทักษิณ ก็เลยตั้งชื่อที่เป็นคำผวนล้อเลียนชื่อ พล.อ.เปรม แต่หลังรัฐประหารปี 49 ไม่นาน ผมก็รู้ว่ามีอะไรที่มากกว่านั้น



http://www.netishowreel.com/showreel/home.html


การจับกุม

ผมโดนจับวันที่ 31 พฤษภาคม 2553 ขณะที่กำลังขับรถออกจากหมู่บ้าน มีรถจอดนิ่งดูเหมือนว่าเสียอยู่ปากทางเข้าหมู่บ้าน ผมลงรถไปดู คนขับเป็นผู้หญิง จากนั้นก็มีรถและเจ้าหน้าที่ DSI เข้ามาล้อมและถามผมว่าใช่ปรวยหรือไม่ ผมยอมรับและเขาก็จับผมโดยแจ้งว่าโดนคดี 112

จากตอนนั้นถึงตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่ามีความผิดในข้อความไหน ตอนนั้นยังไม่มีเฟซบุ๊ก ผมเล่นอยู่ตามเว็บบอร์ดประชาไท ฟ้าเดียวกัน ตอนจับไปเขาก็มีแฟ้มหลักฐานหนาเป็นตั้ง ตอนที่โดนจับเขาเอาหลักฐานบางส่วนให้ดู เป็นภาพถ่ายคณะรัฐประหาร คมช.เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในคืนรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 พร้อมกับคำพูดประชดประชัน

จริงๆ แล้วก็ไม่รู้ว่าเขาจะเอาหลักฐานจากไหนบ้างมาเอาผิด เพราะมีหลักฐานเป็นตั้ง บางชิ้นระบุว่าตั้งแต่ปี 2551 ที่เขาเอามาให้ดู ผมก็จำไม่ได้ว่าได้โพสต์หรือไม่เพราะว่ามันนานมากแล้ว

เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ส่วนใหญ่ที่โพสต์ไม่ได้ระบุพระนามพระองค์ใด แต่จะใช้คำว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการวิพากษ์เชิงสถาบันไม่ใช่ตัวบุคคลในเรื่องบทบาททางการเมือง

เขาจับผมได้จากการติดตาม IP Address เพราะว่าผมไม่ได้ปิดบังอะไร ชื่อเจ้าบ้าน ชื่อเจ้าของรถและชื่อผู้ใช้โทรศัพท์ก็เป็นชื่อของผม

สังเกตได้เลยว่าเราโดนจับเพราะเรื่องผังล้มเจ้า พอจับเราแล้วเขาก็เอารายชื่อคนอื่นๆ มาให้ดูพร้อมกับซักถามว่ารู้จักใครบ้าง ไปชุมนุมกับใคร ที่บ้านมีเสื้อแดงไหม เราก็ตอบไปว่าผมไม่รู้จักใคร ไปชุมนุมคนเดียว เสื้อแดงก็ไม่ชอบใส่ ก็มันไม่รู้จักจริงๆ ไม่รู้จะว่ายังไง

เขาเอาผมไปสอบสวนอยู่ 5 ชม. แล้วปล่อยมา ตอนแรกผมบอกว่าจะเรียกทนายแต่หัวหน้าชุดจับกุมบอกว่าจะเอาแบบ formal ใช่ไหม ก็เลยตกลงว่าคุยกันก่อนยังไม่ต้องตามทนาย ไปคุยกันก่อน

เจ้าหน้าที่พากลับไปบ้าน ยึดฮาร์ดดิสก์ คอมพิวเตอร์ แล้วก็หนังสือพ็อคเก็ตบุ๊คการเมือง ดูเหมือนว่าเราได้อภิสิทธิ์นิดๆ เมื่อเขาดูฐานะเรา มีงานการทำ หมู่บ้านที่เราอยู่ ดูเป็นคนชั้นกลาง บางทีก็สงสารคนที่โดนจับ คนเสื้อแดงคนจนๆ อย่างอากงจับแล้วแม่งขังเลย

เขาคงงงๆ เหมือนกันว่าส่วนใหญ่คนที่โดนจับไปมักจะปฏิเสธว่าไม่ได้โพสต์ แต่ผมตอบไปว่ากูนี่แหละที่โพสต์ สาเหตุที่ยอมรับก็เพราะคิดว่าโดนจับแน่ๆ ถ้าปฏิเสธแล้วกลัวว่ามันจะสับสน แล้วก็คิดว่าเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้พูดสิ่งที่เราคิดต่อเจ้าหน้าที่รัฐตรงๆ เขาถามว่าคุณคิดยังไงกับสถาบัน ผมก็พูดไปตรงๆ

วันที่โดนจับ เขาจับเอาแม่กับน้องสาวของผมไปสอบสวนด้วย นั่งในห้องประชุมเดียวกันแต่สอบคนละมุม แม่ผมเป็นเสื้อเหลือง เป็นอดีตครูโรงเรียนเอกชน ผมแอบได้ยินเขาถามแม่ของผมว่าทำไมไม่เตือนลูก แม่ของผมตอบไปว่าคนมันโตกันแล้ว ความคิดเห็นมันจะไปตรงกันหมดได้ยังไง ผมฟังแล้วคิดว่าถ้าเสื้อเหลืองเป็นอย่างนี้ทุกคน บ้านเรามันคงน่าอยู่

เหตุผลที่หนี

คืนนั้นเขาปล่อยมา บอกว่ากำลังรวบรวมหลักฐานเพื่อส่งฟ้อง แต่เจ้าหน้าที่ก็โทรมาเช็คตลอดว่ายังเล่นเน็ตอยู่รึเปล่า ก็ปฏิเสธไปและทุกวันจันทร์เขาก็จะเรียกไปรับของคืนทีละอย่าง เข้าใจว่าเป็นการเรียกไปเช็คว่าเรายังอยู่หรือไม่ อาทิตย์ที่สาม(สุดท้าย) เขาเรียกเราไปรับฮาร์ดดิสก์ เขาบอกว่าดูดข้อมูลออกแล้ว เราเลยคิดว่ามันอันตรายที่เขาทำโดยที่ไม่มีเราอยู่ด้วย ผมจึงตัดสินใจเดินทาง

ผมไม่สามารถยอมรับหรือยอมที่จะอยู่ในสภาพการจับกุมคุมขังได้

ตอนนั้นเป็นช่วงสลายการชุมนุม เสื้อแดงที่ถูกไล่ล่า หนีออกไปหลบที่ประเทศเพื่อนบ้านกันเยอะ มีข่าวว่าบางคนถูกยิงตาย ประกอบกับเราไม่รู้จักใครเลย เราเลยตัดสินใจเดินทางออก ขึ้นรถไฟที่สามเสนลุ้นตอนผ่าน ตม. ทีเดียว

พอรถไฟมันเคลื่อนออกจากชายแดนไทย เรารู้ตัวว่าเรารอดแล้ว มันมีความรู้สึกระคนกัน ผูกพันเป็นห่วงแม่ เป็นห่วงน้อง ห่วงบ้าน แต่เมื่อหลุดออกมาได้ แม่งก็เป็นความรู้สึกที่สุดยอดมาก....

ผมเป็นคนทำหนัง ก่อนจะออกวันหนึ่งผมเอากล้อง SLR ของผมไปเทิร์นกล้องรุ่นใหม่กว่าที่สามารถถ่ายวิดีโอได้มา มันเป็นเหมือนอาวุธของผม ฟุตเทจจำนวนหนึ่งที่ผมใช้ในหนังลุงนวมทองนี้ก็มาจากการถ่ายภาพ-วิดีโอเก็บเอาไว้ตั้งแต่ตอนผมหนีออกมาพร้อมกับกล้องตัวนั้น

ก่อนที่จะต้องหลบหนีออกนอกประเทศ ผมมีรายได้จากการกำกับหนังโฆษณา 1-2 ล้าน รายได้ไม่แน่นอนนัก คิดซะว่าไม่ได้มีหนังทำทุกเดือน ทำเรื่องละ 150,000 ก็คงประมาณนั้น ตอนออกนอกประเทศผมมีเงินติดตัวออกไปประมาณ 4-5 แสนบาท ใช้อยู่ได้แค่ 2 ปีก็หมด

ตอนจะออกจากบ้าน บอกแม่ว่าอีก 5 ปีก็ได้กลับแล้ว ตอนนั้นคิดว่ามันมีเลือกตั้งทุกอย่างมันคงเข้ารูปเข้ารอยแล้ว แต่ถึงตอนนี้ 6-7 ปีแล้วก็ยังไม่เห็นอนาคต

ผมไม่รู้จักใครเลย ตอนโดนจับ โดนสอบ เจ้าหน้าที่บอกว่าอย่าไปโพสต์ในเว็บบอร์ด ให้ไปพูดคุยกับเพื่อนแทน แต่ผมไม่มีใครเลย เพื่อนแม่งเป็นเสื้อเหลืองกันหมด

ไม่มีใครรู้จักผม จนเริ่มมีข่าวและผมออกนอกประเทศได้ผมถึงเริ่มใช้อินเทอร์เน็ตติดต่อค้นหาข้อมูลเรื่องการลี้ภัย และโพสต์ในเฟซบุ๊กอีกครั้ง คนถึงเริ่มติดต่อหลังไมค์เข้ามา หมายเรียกจาก DSI ถึงได้ตามมาที่บ้านผมโดยระบุว่าเป็นข้อหา 112

การขอสถานะผู้ลี้ภัย

ผมไปเนปาลต่อเพราะค้นในกูเกิ้ลว่าที่เนปาลให้วีซ่ากับนักท่องเที่ยวปีละ 5 เดือน แล้วก็มีสำนักงาน UNHCR ด้วย ก่อนหน้านี้ผมเคยไปเที่ยวมาแล้วเป็นเดือน ผมก็เลยตัดสินใจไปที่นั่น หาที่พักในเนปาลได้แล้วถึงค่อยหาทางติดต่อแม่ บอกให้แกสบายใจว่าผมยังปลอดภัยดี

ไปแล้วก็ยังต้องทำความเข้าใจกับทาง UNHCR ก็ต้องอธิบายว่าปัญหา 112 คืออะไร พวกเขาไม่เข้าใจ เคยเจอแต่ผู้ลี้ภัยจากประเทศที่มีสงคราม ประกอบกับพวกเขามีทัศนคติไม่ดีกับผู้ลี้ภัย เพราะคนส่วนหนึ่งก็ลี้ภัยทางเศรษฐกิจ มันมาคลี่คลายตอนที่ DSI ออกหมายเรียกแจ้งข้อกล่าวหากับผม ผมได้สำเนามาแล้วก็เลยแปลให้เขาฟัง เขาถึงเข้าใจ

ตอนที่ไปติดต่อ UNHCR เจ้าหน้าที่องค์กรได้ให้ผู้ติดต่อขอลี้ภัยที่อยู่มานานพาผมไปหาเช่าที่พัก พอไปเห็นเข้าก็รู้ตัวเลยว่าอยู่ไม่ได้ หลังจากนั้นเขาพาผมไปดูโรงพยาบาล เห็นสภาพโรงพยาบาลแล้วได้แต่นึกในใจว่า ตายแน่! กูจะต้องไม่ป่วยที่นี่เด็ดขาด

ความจริงเขาสัมภาษณ์ผมเสร็จตั้งแต่ 4 เดือนแรกแล้ว ในระยะต่อมาก็คือช่วงของการรออนุมัติสถานะผู้ลี้ภัยเพื่อติดต่อหาประเทศที่ 3 รอจนวีซ่าหมดก็ยังไม่ได้ ตอนนั้นปี 2011 ต้องออกนอกประเทศเพื่อรอที่จะเข้ามาอยู่ใหม่ในปี 2012 ผมก็เลยตัดสินใจไม่รอต่อ ถามพวกซูดาน โซมาเลีย อัฟกานิสถานที่มาขอลี้ภัยบางคนก็อยู่มา 3 ปี 4 ปี 7 ปี แล้ว มันก็เหมือนกับอยู่ในคุกใหญ่ๆ

ข้อจำกัดของผู้ขอลี้ภัยนอกประเทศที่ต้องการลี้ภัยก็คือมันสามารถ pending ไปเรื่อยๆ อยู่รอไป 6 เดือน ก็เลยขอ UNHCR ย้ายไปอีกที่หนึ่งใกล้ไทย

ตอนที่มาอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน เคยมีคนเสนอให้กลับเข้าไทยแต่ต้องอยู่นิ่งๆ ไม่เคลื่อนไหว แต่ผมไม่เอาเพราะไม่มีหลักประกันอะไรเลย บ้านช่องชีวิตก็ชิบหายไปแล้ว แล้วก็คิดว่าตัวเองคิดถูกเพราะว่าหลังรัฐประหาร ไอ้เคสที่อยู่เงียบๆ โดนเรียกตัวไปหมดเลย

ตอนนั้นก็พยายามติดต่อขอลี้ภัยจากสถานทูตแห่งหนึ่งเอาไว้อีกที เขารับว่าจะส่งเรื่องไปที่รัฐบาลและรับว่าจะนัดสัมภาษณ์ ทาง UNHCR ก็บอกว่าจะให้สถานะเพราะกระบวนการสัมภาษณ์ทั้งหมดแล้วเสร็จมาจากที่เนปาลแล้ว แต่ก็ไม่เห็นให้เสียที มีคนตั้งข้อสังเกตว่า เขาอาจเห็นว่าเรายังเดินทางไปมา ดูน่าจะยังไม่ลำบาก ไม่ดูเหมือนว่าเป็น “เหยื่อ” ก็เลยยังไม่ให้

ปัญหาของผู้ขอลี้ภัยก็คือวีซ่าหมดอายุ แต่ก็มีคนแย้งว่ามันเป็นเรื่องปกติแล้วก็เป็นข้อบ่งชี้ว่าตัวผู้ขอลี้ภัยหมดทางที่จะดิ้นรนไปต่อได้จริง มาอยู่มาเลเซียก็ต้องข้ามแดนไปต่อวีซ่าที่สิงคโปร์ การต่อวีซ่าครั้งที่ 2 ก็มีปัญหาถูก ตม. ของมาเลเซียเรียกสอบเนื่องจากสงสัยว่ามาทำอะไร เข้ามาขายแรงงานรึเปล่า ทำไมไม่ได้กลับไทยเลย ชี้แจงไปว่าเป็นคนทำหนังสารคดี เอาเว็บที่ใช้รวบรวมผลงานให้ดูก็เลยผ่านมาได้ แต่พอออกมาได้ก็ตัดสินใจไม่กลับไปอีกแล้ว

ตอนออกนอกประเทศผมมีเงินติดตัวออกไปประมาณ 4-5 แสนบาท ใช้อยู่ได้แค่ 2 ปีก็หมด ยังดีที่มีทักษะ ความรู้ และมีเพื่อน ก็เลยยังพอหางานทำได้

ตอนนี้มาอยู่ที่นี่ก็เรียกได้ว่าเริ่มต้นค่อนข้างดี ขอวีซ่าหรือกระบวนการอื่นๆ ค่อนข้างง่าย ก็เลยได้เริ่มต้นทำงาน ดีไปอย่างที่ยังมีพาสปอร์ตทำให้เดินทางได้ งานที่ทำก็มีตั้งแต่ออกแบบโลโก้ ปกหนังสือ สารพัด (หัวเราะ) ก็พอมีรายได้ เพื่อนๆ จากหลายประเทศก็ช่วยๆ กันหางานมาให้ เรามีอุปกรณ์ พอที่มาเลย์หรือสิงคโปร์มีงานเราก็บินไปถ่าย ออกแบบงานรีโนเวทอพาร์ทเมนต์ก็ทำ ทำสไลด์โชว์ก็ทำ ทำตั้งแต่สากกระเบือยันเรือรบ (หัวเราะ)

อนาคต

ผมไม่ได้คิดจะปักหลักที่นี่ ก็ยังมีหวังว่าจะได้ลี้ภัย สถานทูตที่เราเคยติดต่อไว้แล้วตั้งแต่ ปี 2011 เดือนมิถุนา
มีการตอบรับมา ผ่านมาถึงกันยายน 2013 เขาก็ติดต่อมาให้ไปสัมภาษณ์ที่ประเทศหนึ่งที่ผมไปได้ สัมภาษณ์เสร็จกลับมารอฟังผล ผ่านมาประมาณ 6 เดือน ปี 2014 เขาแจ้งมาว่าไม่รับเคสเราโดยให้เหตุผลว่า 1.ไม่มีคนรู้จักอยู่ที่ที่จะไป และ 2.ชีวิตไม่ได้วิกฤติอะไรยังเดินทางไปโน่นไปนี่ได้ เราก็อุทธรณ์ไป เผอิญว่าเป็นช่วงหลังรัฐประหาร 2557 ก็เลยอธิบายว่าสถานการณ์มันเปลี่ยนไปในทางที่เลวร้ายลง และสาเหตุที่ขอลี้ภัยที่นั่นโดยที่ไม่มีคนรู้จักก็เพราะว่าที่นั่นเปิดให้ขอลี้ภัยจากนอกประเทศได้

ส่วนเรื่องที่บอกว่าเรายังไม่เดือดร้อนอะไร ผมอุทธรณ์กลับไปว่า การมีชีวิตที่ต้องอยู่อย่างเงียบๆ ซ่อนตัว ไม่สามารถเปิดเผยที่อยู่เป็นชีวิตปกติมันไม่เดือดร้อนยังไง ถึงแม้ผมจะเป็นผู้ลี้ภัยจากประเทศโลกที่สาม แต่ผมก็ยังอยากที่จะมีชีวิตเหมือนกับคนที่อยู่ในโลกที่ศิวิไลซ์แล้ว เปิดเผยตัวเอง แสดงความคิดเห็นได้ เหมือนคนปกติ สุดท้ายเขาก็ปฏิเสธเราเหมือนเดิม

จะว่าไปแล้วตอนอุทธรณ์เราก็กวนตีนเขาด้วย เราสู้เรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนควรมีเท่ากัน แล้วก็ไม่ได้ทำตัวให้พวกเขาสงสาร

เอาจริงๆ ตอนออกมานอกประเทศ เจอเพื่อนเอ็นจีโอเขาบอกว่าถ้าเป็นสื่อ เป็นแอคติวิสต์จะได้รับการคุ้มครอง ผมก็เลยคิดว่า ทำไมเป็นประชาชนธรรมดาถึงไม่ได้รับการปกป้องให้เท่าเทียมกัน

กระบวนการลี้ภัยมากระจ่างเอาในปี 57 ว่าการขอลี้ภัยจากภายนอกประเทศนี่มันคงจะไม่ได้แล้ว มันยากมาก ประจวบกับสถานการณ์ในบ้านเรามันรุนแรงขึ้นด้วย คงไม่ได้กลับบ้านง่ายๆ

ความลำบาก

บ้านที่ผมอยู่กับแม่และน้อง ผมซื้อเงินผ่อน ผมผ่อนไปแล้วประมาณสองล้าน ออกไปตอนแรกผมก็ยังพยายามที่จะผ่อนอยู่ แต่ที่สุดแล้วก็ผ่อนไม่ไหว ตัดสินใจขายเพื่ออย่างน้อยก็ให้ได้เงินที่ใช้ผ่อนไปคืนมาไว้ใช้สอย แต่ปรากฏว่าเป็นช่วงน้ำท่วมปลายปี 2554 ขายไม่ได้ สุดท้ายโดนธนาคารยึดไม่ได้เงินคืนมาเลยซักบาท

อีกช่วงที่แย่มากๆ ก็คือช่วงที่ไม่มีพาสปอร์ต จะอยู่ได้มันต้องมีงานทำ ต้องเดินทางได้ เดินทางไม่ได้มันก็มีงานน้อยลง ผมทำอาชีพนี้มา 20 ปี สนุกกับการทำงานกองถ่าย ได้ทำหนัง

ผมเริ่มหมดความหวังที่จะได้กลับบ้านตามที่เคยคาดการณ์ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ การเปลี่ยนแปลงสังคมหรือแก้กฎหมายในปัจจุบันมันหมดยุคที่จะเกิดการปฏิวัติของประชาชนแล้ว ผู้แทนราษฎรจึงเป็นความหวังของเรา แต่ก็ไม่มี ส.ส. สักคนที่กล้าที่จะลุกขึ้นมาเสนอแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ ผมถึงได้คิดว่าที่ผ่านมาเรามองโลกในแง่ดีเกินไป

มันไม่มีอนาคต....





เรื่องของหนังนวมทอง

อย่างแรกต้องชี้แจงก่อนเพื่อป้องกันการเข้าใจผิดว่า สารคดีเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโปรเจกต์ทำหนังนวมทองที่ล้มไป สารคดีชิ้นนี้ไม่ได้ใช้ต้นทุนมากมายนัก มีทีมงานแค่ 3-4 คน ถ่ายทำใน 2 ประเทศ ใช้ฟุตเทจเป็นส่วนใหญ่ซึ่งก็ใช้วิธีการขออนุญาตหรือบางชิ้นก็ต้องจ่ายเงินซื้อเอาถ้าไม่แพงมากนัก

ดูเหมือนว่าเหตุการณ์ที่เป็นหมุดหมายสำคัญไม่ครบถ้วน ยอมรับว่ามันเป็นข้อจำกัด ระยะเวลา 10 ปีเราเอามาย่นย่อเหลือชั่วโมงกว่าๆ มันเป็นการยาก ผมคิดว่าให้หนังทำหน้าที่ปลุกความสนใจของคนดูเพื่อไปสืบค้นต่อก็น่าจะพอแล้ว

เมื่อไม่มีใครกล้าฉายหนัง

จริงๆ ก็ไม่ได้คิดอะไร ไม่อยากสร้างความเดือดร้อนให้ใคร เบื้องต้นผมถือว่าผมทำหน้าที่เสร็จสิ้นแล้ว แต่ก็มีนักศึกษาติดต่อเข้ามา เหมือนกันบอกว่าอยากจะนำไปฉายเป็นการภายในในสถาบันการศึกษา มันก็คงจะเป็นไปในลักษณะนี้ แอบฉายดูกันในกลุ่มเล็กๆ

หนังอะไร เปิดเผยเฉพาะชื่อผู้กำกับ

ในส่วนผมที่เป็นผู้กำกับ มันไม่มีอะไรจะเสียแล้ว มีหมายจาก DSI มา ข่าวก็แพร่ไป แต่ก็หนีออกมาได้ ก็เลยคิดว่าเปิดเผยได้ไม่เป็นไร

ในส่วนของทีมงานคนอื่นๆ พวกเขาอยู่ในวงการด้านนี้ ถ้าเปิดเผยชื่อก็อาจมีปัญหากับการประกอบชื่อของพวกเขาในอนาคต ก็เลยต้องให้เป็น anonymous ไว้

Thais in Exile สารคดีเรื่องต่อไป

เริ่มแรก ผมอยากทำสารคดีเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยการเมืองและจากคดี 112 ทั่วโลกเพื่อบันทึกเรื่องราวอย่างนี้เก็บไว้ นำเสนอมุมมองข้อเท็จจริงกับคนดู ส่วนจะต่อสู้รูปแบบไหนจะสาธารณรัฐหรือประชาธิปไตยแบบญี่ปุ่นก็แล้วแต่พวกเขา แต่พอรัฐประหารครั้งล่าสุดในเมืองไทย มีคนลี้ภัยออกมาเยอะมาก ก็ถือว่าเป็นโอกาสอันดี มีดารามาให้เราถ่ายได้สะดวก โปรเจกต์ก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ตอนนี้มันไม่ใช่ 112 เท่านั้นแล้ว แต่เป็นเรื่องของคนที่ลี้ภัยทางการเมืองจากการรัฐประหารด้วย

ผมพยายามเที่ยวนำเสนอโปรเจกต์กับนักธุรกิจที่สนใจการเมือง ก็พยายามขายไป พอสัมภาษณ์ได้แล้วส่วนหนึ่งก็ตัดทำหนังตัวอย่างส่งไปขอทุนทำสารคดีจากสถาบันที่สนับสนุนทุนตามที่ต่างๆ ส่งไป 6-7 ที่ เผื่อว่าจะได้ค่าเดินทางไปถ่ายทำเรื่องของผู้ลี้ภัยที่อยู่ไกลๆ แต่ก็ยังไม่ได้ทุนจากที่ไหนเลย มันก็เหมือนกับการแทงหวยน่ะ (หัวเราะ)






ความต้องการสื่อสาร

เราต้องการให้เห็นความแปลกประหลาดของสังคมไทย ในภาพยนตร์โฆษณาของไทยที่นำเสนอต่อชาวต่างประเทศ พวกเขาจะได้เห็นความสงบ ร่มเย็น มีพระ มีวัด มีอาหารอร่อย มีมวยไทย มีกษัตริย์ที่คนรัก มีพัฒน์พงศ์ แต่สิ่งที่คนพวกนี้เขาไม่รู้ก็คือประเทศเรามีผู้ลี้ภัย และเหตุผลที่พวกเราต้องลี้ภัยแม่งเป็นเรื่องตลกมาก ประเทศอื่นมีสงคราม มีผู้ลี้ภัยเพราะมันฆ่ากันตาย ต้องหอบลูกเมียหนีตาย แต่บ้านเรามันมีผู้ลี้ภัยเพราะเพียงแค่การแสดงความคิดเห็น บางคนเป็นนักแสดงละคร บางคนนักดนตรีก็มี ต้องลี้ภัยเพราะเพียงแค่พูดในเรื่องที่คนส่วนหนึ่งไม่อยากฟัง แม่งเป็นเรื่องตลกร้ายมาก (หัวเราะ)

สภาพปัญหาการเมืองจนต้องเกิดผู้ลี้ภัยการเมืองของไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นแล้วอาจถูกมองว่ามันเล็กน้อยมาก แต่ผมต้องการบอกว่าปัญหาผู้ลี้ภัยการเมืองชาวไทยมันเป็นปัญหาที่ควรสนใจให้ความสำคัญเหมือนกัน

ถ้าถามว่าสิ่งที่ผมทำจะเรียกว่าการต่อสู้หรือไม่ มันก็ดูยิ่งใหญ่เกินไป อาจจะเรียกว่าเราทำไปตามความถนัดในฐานะหน่วยหนึ่งของสังคม ที่รู้สึกอยากเห็นความเป็นธรรม ตอนอยู่เมืองไทย ผมทำหนังโฆษณามาก่อน ผมมีทักษะด้านนั้น ในประเทศเพื่อนบ้านนี่ผมก็ถ่ายไว้ได้หมดแล้ว ที่เหลือผมก็ให้เพื่อนที่เป็นคนทำหนังในประเทศนั้นๆ ช่วยถ่ายให้ ตอนนี้ก็เหลือแค่ผู้ลี้ภัยในประเทศไกลๆ ที่ยังหาทางอยู่

ความฝันซ้ำๆ ที่ตามมาหลอน

ผมอาจเป็นคนโชคดี ในชีวิตผมได้ทำสิ่งที่ผมชอบ (ภาพยนต์) แถมสิ่งที่ทำยังได้ตังค์เยอะอีกด้วย เหมือนกับคนจ้างไปทำสิ่งที่อยากทำอยู่แล้ว ผมคิดถึงมันอยู่ตลอด เข้าใจว่าจากสาเหตุนี้มันก็เลยเป็นความฝันที่มาซ้ำๆ มาเรื่อยๆ ทุกวันนี้ก็ยังฝันซ้ำๆ กันอยู่เดือนละ 3-4 ครั้ง แพทเทิร์นเดิมๆ ฝันว่าได้รับงาน ถ่ายหนัง ไปตัดต่อ ทำงานทางเทคนิค โลเคชั่นที่เมืองไทย แต่ทุกครั้งจะทำไม่สำเร็จเพราะตำรวจมาจับก่อนทุกครั้ง บางครั้งก็ฝันซ้อนฝัน เถียงกับตัวเองอยู่ว่าเฮ้ยนี่มึงกำลังฝันไป

ถึงจุดนี้ผมก็ยังพยายามทำในสิ่งที่เราถนัด เราชอบแล้วเราก็อินกับมัน เช่นสารคดีผู้ลี้ภัยนี่ก็ดับเบิ้ลเลย ได้เล่าเรื่องที่มันไม่เป็นธรรมในวิธีที่เราชอบ มันสุดยอดเลย



คิดอย่างไรหลังดูหนัง Democracy After Death

ภัทรภร ภู่ทอง - หนึ่งในทีมทำหนังเรื่อง”ความทรงจำ | ไร้เสียง” กับหนังเรื่อง “ด้วยความนับถือ” ซึ่งมีโอกาสชมภาพยนตร์ Democracy After Death ที่นำไปฉายในประเทศเกาหลีใต้บอกเล่าบรรยากาศในงานว่า

“ต้องบอกก่อนว่า ตัวเองไม่ได้เป็นนักดูหนัง ไม่ได้เป็นคนทำหนัง ไม่ได้เป็นคนเชี่ยวชาญเรื่องหนังหรืออะไรเลย ตัวเองขอให้ความเห็นในฐานะคนดูหนังธรรมดา และในฐานะที่ทนไม่ไหวกับความรุนแรงทางการเมือง และความรุนแรงทางโครงสร้าง และเป็นคนที่เลือกข้าง

เราคิดว่า ด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่าง การเล่าเรื่องด้วยฟุตเทจและภาพข่าวเป็นทางเลือกที่เจ๋งมาก มันทำให้เราเห็นที่มาที่ไป การลำดับเหตุการณ์อย่างดี และการเล่าเรื่องแบบนี้มันพาเราไปสู่ความจริง แม้ว่ามันจะขมขื่นและสยองขวัญมากก็ตาม ตอนที่เรานั่งดู เราไม่กล้าดูภาพหลายภาพ เรากลัวเลือด เรากลัวอะไรแบบนั้น แต่ขณะเดียวกัน เราก็ตระหนักว่า หากเราไม่กล้าเผชิญความจริงแบบนี้ เราก็คงคิดไปเองหรือแกล้งหลอกตัวเองว่า ทุกอย่างไม่ได้เลวร้าย

ความดีอีกอย่างของหนังเรื่องนี้ ทำให้เราเห็นว่า “ใจ” และ “อุดมการณ์” “ความหวัง” มันมีอยู่จริง แม้ว่าเรื่องเล่ามันจบเศร้า แต่มันไม่ได้ทำให้คนดูอย่างเรารู้สึกโดดเดี่ยว (สิ่งที่เราไม่ชอบคือ ผู้ชายคนเล่าเรื่อง เรารู้สึกว่า เขาแปลกแยกกับเรื่องเล่ามาก และทำไมต้องอัดบุหรี่แบบนั้นด้วย (วะ) ทำไมต้องกินเบียร์ด้วยท่าแบบนั้นด้วย เรารู้สึกว่ามันจงใจไป ทำให้เราไม่อยากสูบบุหรี่ไปเลย และหลายตอนก็โผล่มาแบบไม่จำเป็น)

เราคิดว่า มันไม่ได้เป็นหนังที่ดูสนุกหรือเป็นหนังที่ดูได้คนเดียว ในฐานะคนดู เราเลือกที่จะดูเป็นกลุ่มมากกว่า หนังบางเรื่องไม่เหมาะจะดูคนเดียว ที่เป็นแบบนี้เพราะหนังมันทิ้งอะไรให้เราต้องแลกเปลี่ยนและถามกันไปมาระหว่างคนดูด้วยกันต่อ หากอยู่คนเดียว คำถามต่างๆ มันคงวนเวียนขังอยู่ในหัวจนปวดหัวได้

ตอนแรก เรากับผู้จัดงานที่เกาหลีชั่งใจและคุยกันไปมาหลายครั้งมากว่า เราจะยังจัดงานและนำหนังเรื่องนี้ไปฉายไหม เราซึ่งต้องเดินทางกลับเมืองไทยและไม่มีแผนการไปใช้ชีวิตต่างประเทศในช่วงนี้ มีความกังวล ซึ่งไม่ใช่ความรู้สึกที่เราชอบเลย สำหรับเรามันคือความกลัวเงียบๆ การถูกคุกคามเงียบๆ และความอึดอัดอย่างที่สุดกับการที่เราต้องถูกทำให้กลัวทั้งที่เรื่องที่เราพูดหรือสนทนากับคนอื่นเป็นเรื่องที่ไม่ได้มีอะไรผิดเลย และเป็นเรื่องที่ต้องนำออกมาสู่ที่แจ้งด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม หากไม่จัดงานหรือไม่เข้าร่วม เราจะรู้สึกผิดไปตลอดชีวิต เพราะมันผิดไปจากหลักการที่เราเชื่อ และเราไม่อยากรู้สึกผิดที่ต้องก้มหัวให้กับความงี่เง่า เมื่อถึงเวลาจัดงานเรากับน้องคนไทยคุยกันว่า เราควรจะบอกผู้เข้าร่วมกิจกรรมไหมว่า ต้องขอความร่วมมือที่จะไม่ถามหรือพูดประเด็นที่รัฐไทยถือว่าเป็นความละเอียดอ่อน และขอร้องไม่ให้บันทึกเทปหรือภาพงานสัมมนา เพราะอาจเป็นอันตรายต่อเราและน้องคนไทยที่ต้องกลับประเทศเมื่อเรียนจบ

พอหนังของคุณปรวยจบ ห้องทั้งห้องเงียบไปขณะหนึ่งเลย พูดไม่ออกกันหมด

แต่เมื่อถึงเวลาแลกเปลี่ยนหลังดูหนังจบ เราเห็นพ้องกันว่า ใครอยากพูดอะไรก็พูด ไม่บ่อยครั้งหรอกที่เราจะมีพื้นที่ที่มีเสรีภาพ ดังนั้น อยากพูดอยากถามอะไรก็ตามสบาย คนที่เข้าร่วมส่วนใหญ่ตกใจ ประหลาดใจกับหนังของคุณปรวย พวกเขา (แม้เราเอง) ก็ไม่เคยคิดจะได้เห็นภาพความรุนแรง เห็นความอำมหิต โหดเหี้ยม เห็นการมองคนไม่ใช่คนในจอ พวกเขาได้เห็นประจักษ์พยานของความไม่เป็นธรรม ได้เห็นปรากฏการณ์ “ตาสว่าง” ได้เห็นเรื่องราวหลายอย่างที่ทำให้พอเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในเมืองไทยในช่วงสิบปีที่ผ่านมาภายในเวลาเพียงชั่วโมงนิดๆ

พวกเขาตั้งคำถามกับคุณปรวยถึงอนาคตของประเทศ ถึงความเห็นของเขาต่อสถานการณ์ ถึงความคาดหวังของเขาต่อประชาธิปไตย และต่อเหตุการณ์ที่ทำให้เขาไม่ได้อยู่ในเมืองไทยขณะนี้ ส่วนเราเองตื่นเต้นที่ได้เห็นหน้าคุณปรวยชัดๆ หลังจากตามเฟซบุ๊กมานาน เท่าที่เราฟังคุณปรวยตอบคำถาม เหมือนเราจะไม่ได้เห็นความหวังจากคุณปรวยเท่าไหร่ แต่เราคิดว่า หากเขาไม่มีความหวัง เขาก็คงไม่มีแรงทำ Democracy after Death ออกมาหรอก

หมายเหตุ

กลุ่ม ASEAN’s friend เป็นกลุ่มนักศึกษาและผู้สนใจสถานการณ์ สังคม วัฒนธรรมและการเมืองในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในวันที่ 5 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ทางกลุ่มได้จัดกิจกรรมฉายหนัง Screening of THAI Political Film ซึ่งมีหนังฉายสี่เรื่องคือ Democracy after Death, ความทรงจำ | ไร้เสียง, ด้วยความนับถือ และ Missa Marjat โดยจัดที่มหาวิทยาลัย Songkunghoe University ภายในงานได้มีการ skype พูดคุยกับผู้กำกับหนังที่ไม่ได้มาในงานซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงปรวยด้วย