ไผ่ ดาวดิน กับเดิมพันหมดหน้าตักของรัฐและสังคมไทย
Wed, 2017-01-25
โดย นักปรัชญาชายขอบ
ที่มา ประชาไท
การจับกุมไผ่ ดาวดิน (จตุภัทร บุญภัทรรักษา) ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และการเพิกถอนสิทธิประกันตัวด้วยข้ออ้าง “เย้ยหยันอำนาจรัฐ” ได้ก่อปัญหาพื้นฐานตามมาที่สำคัญคือ ปัญหาความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย เนื่องจากไม่สามารถอธิบายได้ว่า การแชร์ข่าวพระราชประวัติของรัชกาลที่ 10 จากสำนักข่าวบีบีซีที่มีคนแชร์กว่า 2,000 คน และสำนักข่าวต้นเรื่องก็ไม่มีความผิด เหตุใดจึงมุ่งเอาผิดเฉพาะไผ่เพียงผู้เดียว และการเย้ยหยันอำนาจรัฐก็ไม่มีกฎหมายใดระบุเป็นความผิดไว้ ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ทำไมกระบวนการยุติธรรมจึงไม่ได้ตีความและบังคับใช้กฎหมายบนหลักการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดตามที่รัฐธรรมนูญรับรอง
การตีความและบังคับใช้กฎหมายในกรณีไผ่ ในทางปรัชญาเราสามารถประเมินค่าการกระทำดังกล่าว ด้วยเกณฑ์การประเมิน 2 เกณฑ์หลักๆ คือ
1. เกณฑ์เสรีนิยมสายอรรถประโยชน์ (utilitarian liberalism) คือ เกณฑ์ที่ถือว่า ผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นสิ่งตัดสินความถูกต้องของการกระทำ แต่การจะบอกได้ว่าอะไรคือผลประโยชน์ส่วนรวม รัฐจะต้องให้หลักประกัน “เสรีภาพ” เพื่อให้ประชาชนถกเถียงด้วยเหตุผลกันได้อย่างเต็มที่ว่าอะไรคือประโยชน์ส่วนรวมที่พวกเขาต้องการอย่างแท้จริง หากการถกเถียงด้วยเหตุผลไม่สามารถหาข้อสรุปได้ วิธีการโหวตและยอมรับเสียงข้างมากโดยยังเคารพสิทธิของเสียข้างน้อย คือทางออกที่ดี
เมื่อใช้เกณฑ์นี้มาประเมินการตีความและบังคับใช้กฎหมายกับไผ่ ถ้าอ้างว่าเป็นการตีความและบังคับใช้กฎหมายโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ก็ต้องอธิบายได้ว่ารัฐได้ประกัน “เสรีภาพ” ในกรณีดังกล่าวอย่างไร ซึ่งจะอธิบายได้ก็ต่อเมื่อเป็นการตีความและบังคับใช้กฎหมายบนหลักความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมายและคำนึงถึงการปกป้องสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนเท่านั้น
2. เกณฑ์เสรีนิยมสายค้านท์ (Kantian liberalism) ถือว่าสิทธิเป็นสิ่งที่มีค่าในตัวมันเอง คุณค่าของสิทธิไม่ได้ขึ้นกับว่ามันก่อให้เกิดประโยชน์อะไร ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ส่วนตัวหรือส่วนรวม เพราะถ้าอ้างเรื่องความมีประโยชน์เป็นสิ่งตัดสินคุณค่าของสิทธิ ย่อมทำให้คุณค่าของสิทธิผันแปรไปตามเงื่อนไขของผลประโยชน์ที่นิยามแตกต่างกันไป (เสรีนิยมบางสำนักอาจนิยามผลประโยชน์ส่วนรวมแบบหนึ่ง ขณะที่เผด็จการนิยามอีกแบบหนึ่ง) ฉะนั้น เพื่อให้คุณค่าของสิทธิเป็นสิ่งที่แน่นอน เราต้องถือว่าคุณค่าของสิทธิต้องไม่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของผลประโยชน์หรือผลลัพธ์อื่นใด แต่คุณค่าของสิทธิต้องวางอยู่บนฐานของ “ความเป็นมนุษย์ที่มีอิสระและศักดิ์ศรีในตัวเอง” ต้องถือว่ามนุษย์ทุกคนมีอิสระและศักดิ์ศรีในตัวเองเสมอภาคกัน
สิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นมนุษย์ที่มีอิสระและมีศักดิ์ศรีในตัวเอง ก็คือการที่เราทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพที่จะเลือกการมีชีวิตที่ดีตามแนวทางของตนเอง ตราบที่ยังเคารพสิทธิของบุคคลอื่น และมีสิทธิในการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างสังคมการเมืองที่ดี ด้วยเหตุนี้รัฐจึงมีหน้าที่รักษาสิทธิของประชาชน การรักษาสิทธิของประชาชนก็คือการเคารพความเป็นมนุษย์ของประชาชน ขณะเดียวกันการไม่เคารพหรือละเมิดสิทธิของประชาชนก็คือการไม่เคารพความเป็นมนุษย์ของประชาชน หรือเป็นการใช้ความเป็นมนุษย์ของประชาชนเป็น “เครื่องมือ” ไปสู่สิ่งที่ผู้มีอำนาจรัฐต้องการ
ฉะนั้น การตีความและการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่อยู่บนหลักความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย และไม่อยู่บนหลักการคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด ย่อมเป็นการใช้ความเป็นมนุษย์ของประชาชนเป็นเครื่องมือ หรือเป็นการไม่เคารพอิสรภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน
เมื่อประเมินจากเกณฑ์เสรีนิยมสายอรรถประโยชน์และเกณฑ์เสรีนิยมสายค้านท์ การตีความและการบังคับใช้กฎหมายในกรณีไผ่ ย่อมไม่สามารถอธิบายได้ว่าก่อให้เกิดประโยชน์ส่วนรวมใดๆ และไม่สามารถอธิบายได้ว่าเป็นการเคารพอิสรภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน
ยิ่งถ้ายืนยันว่า การดำเนินการกับไผ่เป็นเหตุผลเรื่อง “ความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์” หลักการสำคัญที่ต้องคำนึงถึงก็คือ ความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ย่อมอยู่บนฐานของความเป็นสถาบันสัญลักษณ์ในทางวัฒนธรรมที่อิงความชอบธรรมอยู่กับ “หลักทศพิธราชธรรม” ฉะนั้น หน้าที่ในการปกป้องความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์โดยรัฐบาล กระบวนการยุติธรรม และประชาชนชาวไทยทั้งมวล จำเป็นต้องปกป้องโดยเคารพหลักทศพิธราชธรรม และหลักกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา
หมายความว่า ในระบอบการปกครองที่สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้น หลักทศพิธราชธรรมและหลักกฎหมายจำเป็นต้องตีความอย่างสอดคล้องกัน หรือตีความอย่างยึดหลักกฎหมายเป็นตัวตั้ง นั่นคือยึดหลักความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย และการคำถึงถึงสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนเป็นตัวตั้ง แล้วจะเห็นว่าคุณธรรมสำคัญหลายประการในหลักทศพิธราชธรรมสามารถตีความอย่างสอดคล้องกับหลักกฎหมายดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
เช่น ถ้าปกป้องความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์อย่างเคารพหลักทศพิธราชธรรม ก็ย่อมจะต้องตีความหลักทศพิธราชธรรมอย่างเช่น หลักความไม่โกรธ มีเมตตา (อักโกธ) หลักความไม่เบียดเบียน (อวิหิงสา) หลักความอดทนอดกลั้น (ขันติ) และหลักความเที่ยงธรรม การให้ความยุติธรรม (อวิโรธน) เป็นต้น ให้มีความหมายในทางสนับสนุนให้เกิดการตีความและบังคับใช้กฎหมายบนพื้นฐานของหลักความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย และการคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน
คำถามสำคัญก็คือ กรณีไผ่ ดาวดิน รัฐและกระบวนการยุติธรรมได้ปกป้องสถาบันกษัตริย์บนหลักการอะไร?
ถ้าบนหลักการคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม ก็จำเป็นต้องตีความและบังคับใช้กฎหมายบนหลักความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย และคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน
ถ้าบนหลักการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน ก็ต้องตีความและบังคับใช้กฎหมายบนหลักความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย และคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพขึ้นพื้นฐานของประชาชน
และถ้าบนหลักการเคารพทศพิธราชธรรม ก็ต้องตีความและบังคับใช้กฎหมายบนหลักความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย และคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน
ถ้าการดำเนินการกับไผ่ ไม่สามารถอธิบายได้ว่าเป็นไปตามหลักการพื้นฐานดังกล่าว ก็เท่ากับว่ารัฐ, กระบวนการยุติธรรม และสังคมไทยได้เท “เดิมพันหมดหน้าตัก” ด้วยคุณค่าที่สังคมนี้พึงจะมี และด้วยคุณค่าที่เชื่อว่าสังคมเราเคยมี เราต้องเดิมพันหมดหน้าตักเพื่ออะไร?
สังคมเราจะอยู่กันอย่างปกติสุขบนการทำลายอิสรภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่ลุกขึ้นมายืนยันคุณค่าที่สังคมเราพึงมีได้อย่างไร เราจะโยนคุณค่าที่ไผ่สู้เพื่อจะให้เรามีทิ้งไปหน้าตาเฉย และมีชีวิตปกติสุขอยู่บนความทุกข์ทนหน่วงหนักของเขาเช่นนั้นหรือ