https://www.facebook.com/VoiceTVonline/videos/10156038524184848/
ooo
https://www.facebook.com/VoiceTVonline/videos/10156043310554848/
เปิดใจ "หนุ่มเบียร์คราฟต์" เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ถึงข้อจำกัดกม.เบียร์ไทย ที่ทำให้เบียร์คราฟต์ไทยต้องสมองและเงินไหลไปยังต่างแดน เพื่อส่งกลับมาขายในประเทศไทย
ooo
ธุรกิจคราฟท์เบียร์ : ไทยจับ อังกฤษหนุน
NOPPATJAK ATTANON
ที่มา BBC ไทย
ช่วงไม่กี่ปีมานี้ คราฟท์เบียร์ (craft beer) หรือเบียร์ที่ผลิตโดยผู้ผลิตรายย่อยกลายเป็นที่นิยมในอังกฤษ ผับ บาร์หลายแห่งต่างขายคราฟท์เบียร์หลากยี่ห้อ ขณะที่จำนวนผู้ผลิตเบียร์รายย่อยก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นนับตั้งแต่รัฐบาลอังกฤษลดภาษีให้ผู้ผลิตเบียร์ในปริมาณไม่เกิน 5 แสนลิตรต่อปี หากผลิตถึง 6 ล้านลิตรต่อปี ถึงจะต้องจ่ายภาษีเต็มอัตรา
ในส่วนของไทยขณะนี้มีการรณรงค์เรียกร้องให้ทางการเปิดเสรีการหมักเบียร์ที่ปัจจุบันยังถือว่าผิดกฎหมาย เนื่องจากประกาศกระทรวงการคลังเรื่องวิธีการบริหารงานสุรา พ.ศ. 2543 กำหนดให้ผู้ขออนุญาตทำโรงงานสุราต้องเป็นบริษัทจำกัด มีเงินลงทุนที่ชำระแล้วไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท โดยในกรณีที่เป็นโรงงงานเบียร์ขนาดใหญ่จะต้องมีปริมาณการผลิต ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตรต่อปี หรือถ้าผู้ใดจะทำโรงงานเบียร์ขนาดเล็กก็ต้องเป็นโรงเบียร์ประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (brewpub) ต้องมีปริมาณการผลิตไม่ต่ำกว่า 100,000 ลิตร แต่ไม่เกิน 1ล้านลิตรต่อปี
NOPPATJAK ATTANON
ในอังกฤษเมื่อปีที่แล้วเครือข่ายนักบัญชีในชื่อ UHY Hacker Young ได้สำรวจจำนวนผู้ผลิตเบียร์รายย่อยในสหราชอาณาจักร และพบว่าเฉพาะปี 2014 (2557) เพียงปีเดียว มีจำนวนเพิ่มขึ้น 8% จาก 1,558 ราย เป็น 1,692 ราย ในปี 2015 และหากนับย้อนหลังไปราว 5 ปี จะพบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 65%
UHY Hacker Young ให้ข้อมูลด้วยว่าในช่วงไม่กี่ปีมานี้คราฟท์เบียร์กลายเป็นเครื่องดื่มหรูหา ที่ผู้บริโภคพร้อมควักกระเป๋าจ่ายมากกว่าเบียร์ยี่ห้อเดิม ๆ
ปีเตอร์ เดย์ ผู้สื่อข่าวสายธุรกิจของบีบีซี บอกว่าเหตุผลอย่างหนึ่งที่คนดื่มเบียร์ยอมจ่ายแพงกว่าก็เพราะการดื่มเบียร์เป็นเรื่องของรสนิยมความชอบส่วนบุคคล เป็นวัฒนธรรม และความต้องการค้นคว้าลิ้มลองรสชาติใหม่ ๆ ที่ต่างออกไป
NOPPATJAK ATTANON
ขณะที่ คริส เลอ โกเฮเบล ผู้จัดการร้านคราฟท์เบียร์ The Lyric ในย่านโซโห กรุงลอนดอน บอกกับบีบีซีไทยว่ากระแสคราฟท์เบียร์ในอังกฤษมาแรงในช่วง 5 ปีหลังนี้ โดยเป็นพัฒนาการต่อจากที่ตลาดคราฟท์เบียร์ในอเมริกาเติบโตอย่างมากในช่วง 10 ปีก่อน สำหรับเบียร์ที่ขายดีที่สุดในร้านขณะนี้คือ The Kernel และ Beavertown แต่ก็ยังมีอีกนับสิบยี่ห้อที่ขายได้สม่ำเสมอ ไม่มียี่ห้อไหนผูกขาดยอดขายเป็นพิเศษ
ด้านแครี่ สมิธ ชาวเวลส์ บอกบีบีซีไทยว่าครอบครัวของเธอผลิตเบียร์ขายเองที่เวลส์ เธอเองดื่มคราฟท์เบียร์มากว่า 10 ปีแล้ว "ทีเด็ดของมันคือรสชาติที่หลากหลาย ไม่น่าเบื่อเหมือนเบียร์ยี่ห้อดังๆ คราฟท์เบียร์มีทั้งเบียร์ดำ เบียร์เปรี้ยว ใส่ผลไม้ วันก่อนฉันเพิ่งได้ลองเบียร์ลิ้นจี่ไป มันสุดยอดมาก"
ในอดีตการผลิตเบียร์ของผู้ผลิตรายย่อยในอังกฤษนั้นส่วนหนึ่งมีจุดเริ่มต้นจากความกระตือรือร้นนของกลุ่มคนที่เคยหมักเบียร์ไว้ดื่มเอง หันมาลงขันซื้ออุปกรณ์หมักเบียร์และไปหาที่ทดลองผลิตกันตามทางลอดใต้รางรถไฟ กลุ่มคนเหล่านี้ดูจะลุ่มหลงชื่นชอบรสชาติเบียร์ที่ทำและไม่สนใจว่าตัวเองจะเป็นเพียงกลุ่มคนกลั่นเบียร์กลุ่มเล็ก ๆ ไม่ได้ต้องการการแข่งขัน แถมยังแบ่งปันส่วนผสมทั้งยีสต์และผลไม้ที่ใช้ในการหมักเบียร์กันอย่างไม่หวงแหน
NOPPATJAK ATTANON
อย่างไรก็ดี ในระยะหลังมานี้มีผู้ผลิตเบียร์รายย่อยในท้องถิ่นบางรายที่ประสบความสำเร็จสูง และยอมขายกิจการให้กับผู้ผลิตเบียร์ข้ามชาติอยู่บ้างเช่นกัน อย่าง Sharps Brewery in Rock จากคอร์น วอลล์ ก่อตั้งเมื่อปี 1994 ก็เป็นหนึ่งในนั้น ขณะนี้ Sharps Brewery in Rock เป็นส่วนหนึ่งของผู้ผลิตเบียร์ข้ามชาติ MolsonCoors ไปแล้ว
เมื่อปี 2015 SABMiller ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่อีกราย จ่ายเงิน 120 ล้านปอนด์ ซื้อ Meantime คราฟท์เบียร์ที่มีจุดเริ่มต้นเมื่อปี 1999 จากผู้ผลิต "สตาร์ทอัพ" ในย่านกรีนิช
ความสำเร็จของผู้ผลิตเบียร์รายย่อยยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น เมื่อปีที่แล้วสองเพื่อนซี้ เจมส์ วัตต์ และมาร์ติน ดิกคี ผู้ก่อตั้ง BrewDog ในเมืองเฟรเซอร์เบิร์ก มีรายชื่ออยู่ในบัญชีผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรรษาของสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2
GETTY IMAGES
เจมส์และมาร์ติน ก่อตั้ง BrewDog เมื่อปี 2007 ตอนนั้นทั้งคู่ยังอยู่ในวัยยี่สิบเศษ ๆ ทั้งสองแค่ต้องการหมักเบียร์ไว้ดื่มเอง แต่ปัจจุบัน BrewDog จ้างพนักงานหลายร้อยคน มีบาร์ที่เปิดสาขาอยู่รอบโลก และมีรายได้เมื่อปี 2015 เพิ่มขึ้นถึง 51% เป็น 44.7 ล้าน ปอนด์
ความสำเร็จของคราฟท์เบียร์นั้นคือรสชาติใหม่ๆ และความพร้อมของผู้ผลิตรายย่อยที่จะคิดสูตรพัฒนารสชาติไปเรื่อย ๆ เพราะคอเบียร์อาจอยากลองของใหม่ไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องการอยู่กับรสชาติอันจำเจ