วันเสาร์, มกราคม 14, 2560
จะแก้ “หนี้นอกระบบ” ให้ยั่งยืน ก่อนอื่นต้องเปลี่ยน “วิธีคิด”
ภาพจาก BangkokBiz
จะแก้ “หนี้นอกระบบ” ให้ยั่งยืน ก่อนอื่นต้องเปลี่ยน “วิธีคิด”
by สฤณี อาชวานันทกุล | Jan 12, 2017 |
ที่มา เวป ป่าสาระ
“หนี้นอกระบบ” ในความหมาย “หนี้ดอกโหด” หรือตรงกับคำว่า loan shark ในภาษาอังกฤษ วันนี้ได้รับความสนใจในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ และถูกมองว่าเป็น “ปัญหาใหญ่” ที่รัฐบาลต้องเข้ามาจัดการ หลายท่านบอกว่าเรื่องนี้เป็น “วาระระดับชาติ” เลยทีเดียว เนื่องจากคนที่เป็นหนี้นอกระบบนั้นนอกจากจะต้องเสียดอกเบี้ยมหาโหดรายวัน คิดเป็นหลายร้อยหรือพันเปอร์เซ็นต์ต่อปีแล้ว ยังสุ่มเสี่ยงที่ชีวิตจะจมอยู่ใต้กองหนี้ที่ท่วมทับขึ้นเรื่อยๆ จนสิ้นเนื้อประดาตัว และอาจทำให้ครอบครัว เพื่อนบ้าน ญาติโยม หรือคนอื่นในชุมชนต้องเดือดร้อนตามไปด้วย เพราะถูกรบเร้าให้ช่วยหาเงินมาใช้หนี้ ทั้งที่ตัวเองก็ใช่ว่าจะอยู่อย่างสุขสบาย
“เจ้าหนี้นอกระบบ” ในไทยมีหลายแบบหลายแนว หลายคนชาวบ้านเรียกว่า “แขก” หรือ “หัวปิงปอง” ความที่ส่งคนขับมอเตอร์ไซค์มาทวงหนี้ เจ้าหนี้หลายคนเป็น “เจ้าพ่อ” ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นหรือจังหวัดใกล้เคียงที่มีเครือข่ายระดับภูมิภาคหรือระดับประเทศ บางคนอาจเป็นคนรู้จักหรือเจ้านายของลูกหนี้ที่สบโอกาสหารายได้เสริม ฯลฯ
ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้แบบไหน จุดร่วมก็คือการปล่อยกู้ดอกโหดเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหลายเท่า ฉะนั้นการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบถ้ามองจากแว่นของกฎหมายก็ดูจะตรงไปตรงมา นั่นคือ บังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้น ส่งเจ้าหน้าที่ไปจับกุมเจ้าหนี้
อย่างไรก็ดี เมื่อมองจากแง่มุมการเงิน โดยเฉพาะความต้องการของลูกหนี้ เราก็จะพบว่าปัญหานี้ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะหนี้นอกระบบเติมเต็มช่องว่างในตลาดที่ผู้ให้บริการทางการเงินอื่นๆ ตอบสนองไม่ได้ นั่นคือ การปล่อยกู้อย่างรวดเร็วทันใจ ไม่ต้องใช้หลักประกัน ได้เงินตามต้องการทันทีที่ต้องการ
คนจำนวนมากเวลาพูดถึงลักษณะของ “ลูกหนี้นอกระบบ” มักจะตอบตามๆ กันว่า พวกเขาน่าจะเป็นหนี้นอกระบบเพราะ “ขาดวินัยทางการเงิน” “สุรุ่ยสุร่าย” บางคนอาจด่าหนักกว่านั้นว่า “ไม่มีศีลธรรม” เพราะเชื่อว่าลูกหนี้เอาเงินไปใช้กับอบายมุขแทนที่จะขมักเขม้นสร้างรายได้
ลงว่าเชื่อแบบนั้นแล้ว “วิธีแก้ปัญหา” วิธีเดียวที่คิดได้ หนีไม่พ้นการเรียกร้องให้รัฐหรือธนาคารสอน “ความรู้ทางการเงิน” ให้กับลูกหนี้ หรือไม่ก็ต้อง “ดัดนิสัย” ให้เลิกใช้เงินอย่างมือเติบ
แต่ลองมาฟังเสียงลูกหนี้นอกระบบตัวจริงกันบ้าง จากงานวิจัยที่ผู้เขียนกับทีมงานป่าสาละทำให้กับธนาคารรัฐแห่งหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา – เสียงของป้าแปงจากลำพูน พี่ปิยะนุชจากตราด และยายบุญรมจากสุรินทร์
ป้าแปงมีอาชีพขายไก่ย่างกับห่อหมกหน้าบ้าน มีลูก 2 คน โตแล้วทั้งคู่ ลูกคนหนึ่งรับจ้างเย็บผ้าได้รายได้ประมาณวันละ 100 บาท อีกคนไปอาศัยอยู่กับสามี ตอนนี้มีหลาน 3 คน ป้าแปงบอกว่าได้กำไรจากการขายไก่ย่างมากสุดก็เดือนละประมาณ 4,500 บาท แต่หลายเดือนไม่ถึง ทำให้ชักหน้าไม่ถึงหลัง ระยะหลังสามีก็ล้มป่วยด้วย จึงต้องไปกู้นอกระบบ วันนี้มีหนี้นอกระบบสองก้อน ก้อนแรก 4,000 บาท ก้อนที่สอง 5,000 บาท ก้อนแรกผ่อนวันละ 200 บาท 24 วัน ก้อนหลังวันละ 200 บาท 30 วัน (คิดเป็นอัตราเท่ากับ 240% ต่อปี) และมีหนี้ 20,000 บาทกับกองทุนหมู่บ้าน
ป้าแปงบอกว่า เคยลงชื่อไว้กับโครงการช่วยเหลือหนี้นอกระบบที่ศาลากลางจังหวัดลำพูน แต่ยังไม่เคยได้รับการช่วยเหลือ ส่วนกองทุนหมู่บ้านในละแวกเคยเข้ามาช่วยเหลือป้าแปงหนึ่งครั้ง หลังจากที่ประธานกองทุนทราบว่าสามีของป้าป่วย จึงเรียกเข้าไปเพื่อหาทางช่วยเหลือ โดยเรียกเจ้าหนี้นอกระบบมาแล้วจ่ายคืนหนี้ให้ก่อน แล้วให้ป้าแปงมาผ่อนชำระกับกองทุนแทน ทำให้ลดภาระหนี้นอกระบบได้บางส่วน
ส่วนพี่ปิยะนุช ประกอบอาชีพธุรกิจก่อสร้าง สมาชิกในครอบครัว 8 คน อยู่ด้วยกัน รวมเด็กเล็กกำลังโต 2 คน มีรายได้ประมาณ 40,000 บาทต่อเดือน เฉพาะหนี้นอกระบบมียอดหนี้ประมาณ 2 ล้านบาท ผ่อนอยู่เดือนละ 30,000 บาท
สาเหตุที่ไปกู้นอกระบบ คือ ประสบปัญหาขาดทุนจากกธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เนื่องจากงานเสร็จไม่ทันตามกำหนดเพราะติดหน้าฝน เลยหันไปกู้จากคนรู้จักมา คิดว่าวิธีแก้ปัญหาคือ จะพยายามไปกู้ที่อื่นมาใช้หนี้เดิมก่อน ถ้าไม่ได้ก็จะเจรจากับเจ้าหนี้ สถานการณ์วันนี้คือ “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” คือยังอาศัยในชุมชน ไม่อพยพหนีไปไหน แต่ไม่จ่ายเพราะ “ไม่มีปัญญาจ่าย”
พี่ปิยะนุชเชื่อว่า ในอนาคตก็จะยังคงมีปัญหาในการชำระหนี้ต่อไป เนื่องจากยังคงไม่มีเงินทุนให้เริ่มต้นทำอะไรใหม่ หนี้เก่าก็ยังใช้ไม่หมด ยังหาทางออกไม่ได้ และดอกเบี้ยก็แพง ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนก็ไม่ลดลง
ลูกหนี้คนสุดท้ายที่อยากยกมาเป็นตัวอย่างคือยายบุญรม วันนี้ทำนา ทำไร่มันสำปะหลัง และรับจ้างทั่วไป ในบ้านมีสมาชิก 6 คน เป็นเด็กวัยเรียน 2 คน มีรายได้ประมาณ 5,000 บาทต่อเดือน วันนี้เป็นหนี้ ธ.ก.ส. 500,000 บาท (ดอกเบี้ย 7% ต่อปี) กู้นอกระบบจากคนในชุมชน และพี่น้องตัวเอง รวม 250,000 บาท (ดอกเบี้ย 3% ต่อเดือน) ที่ต้องบากหน้าไปกู้คนในชุมชนก็เพราะที่ผ่านมารายได้ไม่พอรายจ่าย เนื่องจากราคาข้าวตกต่ำ รายได้น้อยลงแต่รายจ่ายเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น การศึกษาของลูกเป็นเรื่องสำคัญ ถึงอย่างไรก็ต้องจ่ายให้ได้ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เช่น ค่าเทอม ค่าหนังสือ ค่าอุปกรณ์การเรียน จัดทำรายงาน รวมกันเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ จึงต้องกู้เงินมาใช้ในส่วนนี้ ลูกเคยไปกู้ กยศ. เพื่อชำระค่าเล่าเรียนแล้ว แต่ก็ยังไม่พอจึงต้องไปกู้ยืมเงินนอกระบบ ทั้งญาติพี่น้องและคนรู้จัก
ยายบุญรมเล่าว่า หนี้นอกระบบสามารถให้เงินได้ทันที ไม่ต้องมีกระบวนการขอสินเชื่อยุ่งยากเหมือนกับกู้ในระบบ คาดว่าอนาคตก็ต้องมีปัญหากับการชำระหนี้ต่อไป เนื่องจากรายได้ไม่สม่ำเสมอ ไม่พอกับค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะภาระเกี่ยวกับการศึกษา เนื่องจากอีกหลายปีกว่าที่ลูกจะเรียนจบ
พร้อมทั้งพูดถึงประสบการณ์การทำบันทึกรายรับ-รายจ่ายของตัวเองว่า “เคยทำ แต่พอทำแล้วรายจ่ายมันมากกว่าก็ไม่ทำแล้ว มันท้อใจ”
ประสบการณ์ของลูกหนี้ทั้งสามรายข้างต้นสอดคล้องกับผลการวิจัยของทีมป่าสาละว่า สาเหตุที่ต้องกู้นอกระบบสามอันดับแรก คือ เพื่อใช้เป็นค่าครองชีพ (รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย) ใช้จ่ายค่าการศึกษาของบุตรหลาน (เรียนฟรีไม่ฟรีจริง) และเพื่อนำไปชำระหนี้ก้อนอื่น (กู้มา “หมุนหนี้” เพราะมีรายได้ไม่พอจ่ายหนี้) ตามลำดับ
คนที่กู้นอกระบบเพื่อมาใช้สุรุ่ยสุร่าย ใช้ซื้อของใช้ฟุ่มเฟือยอาจมีบ้าง แต่เป็นส่วนที่น้อยมากๆ
“หนี้นอกระบบ” จึงไม่ใช่ “ปัญหา” ในตัวของมันเอง และลูกหนี้นอกระบบก็ไม่ควรถูกเหมารวมว่า “ไร้ศีลธรรม” เพราะคนส่วนใหญ่กู้นอกระบบเพราะเกิดความจำเป็นเร่งด่วน (ขาดรายได้ ล้มป่วย ต้องจ่ายค่าเทอมลูก ฯลฯ) และใช่ว่ากู้ไปแล้วจะล่มจมล้มเหลวทุกคน
“ปัญหา” ของหนี้นอกระบบเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมันพอกพูน (พร้อมกับหนี้ในระบบต่างๆ) จนถึงจุดที่ลูกหนี้เป็น “หนี้เกินตัว” ใช้คืนไม่ได้ กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเองและครอบครัว หรือไม่อีกที ลูกหนี้คนนั้นก็อาจไม่มีรายได้พอยังชีพ ไม่มีทางได้รับอนุมัติสินเชื่อจากแหล่งเงินกู้อื่นๆ (เพราะเจ้าหนี้ประเมินอย่างถูกต้องว่า ไม่มีทางใช้หนี้ได้) จึงต้องหันไปกู้นอกระบบ
นอกจากนี้ ลำพังการขยายการเข้าถึงบริการทางการเงินก็แก้หนี้นอกระบบไม่ได้ เพราะต่อให้มีสาขาธนาคาร กลุ่มออมทรัพย์ กองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ ไปเปิดให้ชาวบ้านเข้าถึงสะดวก แหล่งเงินกู้เหล่านี้ก็สู้หนี้นอกระบบไม่ได้ในแง่ความรวดเร็ว กู้ง่าย และได้เงินตามจำนวนที่ต้องการ (แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ต้องแลกมาด้วยดอกเบี้ยแพงลิบ แต่ก็อย่างที่ลูกหนี้หลายคนพูด “เมื่อไหร่ที่ต้องใช้เงินจริงๆ ดอกเบี้ยเท่าไรก็ต้องเอา”)
ในแง่นี้ ชัดเจนว่าหนี้นอกระบบมีลักษณะที่หนี้ประเภทอื่นๆ ทดแทนไม่ได้
ด้วยเหตุนี้ ผู้ดำเนินนโยบายภาครัฐจึงต้องเปลี่ยน “วิธีคิด” เสียใหม่ แทนที่จะมุ่ง “แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ” เปลี่ยนเป็น “การแก้ปัญหาหนี้เกินตัว” และ “การแก้ปัญหาผู้มีรายได้น้อยหรือไม่มีรายได้”
การเปลี่ยนแปลงนี้น่าจะเป็นจุดตั้งต้นของการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดกว่านโยบายที่ผ่านมา ซึ่งเน้นไปที่การขยายบริการทางการเงิน เชื้อเชิญให้คน “เป็นหนี้มากขึ้น” โดยไม่สนใจที่จะหาวิธีช่วยลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน (ซึ่งจะต้องไปไกลกว่าการ “ให้ความรู้ทางการเงิน” เพราะถ้าคนมีรายได้ไม่พอ ต่อให้มีวินัยการออม ทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายเก่งเพียงใด ก็ไม่ได้แปลว่าจะมีรายได้เพิ่มจนพอจ่ายหนี้)
การแก้ปัญหาผู้มีรายได้น้อยหรือขาดรายได้ ไม่ใช่หน้าที่ของธนาคาร เท่ากับเป็นหน้าที่ของรัฐ ในฐานะผู้ดูแลประชาชน
แต่การช่วยแก้ปัญหาหนี้เกินตัว เป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่ธนาคารได้ โดยเฉพาะถ้าหากเข้าใจคำว่า “ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค” อย่างถ่องแท้