วันศุกร์, มกราคม 13, 2560

คณาจารย์นิติศาสตร์ มช. ร่อนแถลงการณ์ จี้คืนสิทธิประกันตัวแก่ ‘ไผ่ ดาวดิน’ + คลิปเยี่ยมไผ่ จาก อานนท์ นำภา





คณาจารย์นิติศาสตร์ มช. ร่อนแถลงการณ์ จี้คืนสิทธิประกันตัวแก่ ‘ไผ่ ดาวดิน’


13 ม.ค. 60
ที่มา มติชนออนไลน์

วันนี้ (13 มกราคม) คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้คืนสิทธิการประกันตัวให้กับนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกจับกุม มีรายละเอียดดังนี้


แถลงการณ์คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง คืนสิทธิประกันตัวตามกฎหมายแก่ไผ่ ดาวดินและสังคมไทย ระบุว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2559 เจ้าหน้าที่ตำรวจนำหมายจับศาลจังหวัดขอนแก่นเข้าจับกุมนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (หรือไผ่ ดาวดิน) ในข้อหากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพราะเหตุแชร์ข่าวจากสำนักข่าว BBC และต่อมาในวันที่ 4 ธันวาคม 2559 ศาลจังหวัดขอนแก่นได้อนุญาตให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวด้วยหลักประกันเป็นเงินสด 400,000 บาท อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 22 ธันวาคม 2559 ศาลจังหวัดขอนแก่นได้มีคำสั่งถอนประกันนายจตุภัทร์ตามคำร้องขอของพนักงานสอบสวน และต่อมาในวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้ยกอุทธรณ์ของนายจตุภัทร์ โดยยืนตามเหตุผลของศาลชั้นต้น ส่งผลให้นายจตุภัทร์ต้องถูกกักขังไว้ในเรือนจำตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดังมีรายชื่อแนบท้ายหนังสือฉบับนี้มีความเห็นต่อคำสั่งถอนประกันตัวนายจตุภัทร์ ของศาลจังหวัดขอนแก่นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ดังต่อไปนี

1.ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและรัฐธรรมนูญของประเทศไทย กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และรัฐธรรมนูญของประเทศไทย รับรองว่าผู้ต้องหาต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีการพิสูจน์โดยกระบวนการยุติธรรมจนถึงที่สุดว่าเขาได้กระทำความผิด

ระบบยุติธรรมทางอาญาของรัฐสมัยใหม่วางอยู่บนหลักการพื้นฐานที่ว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเขาเป็นผู้กระทำความผิด และรัฐจะปฏิบัติต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยอย่างกระทำความผิดแล้วไม่ได้ หลักการนี้ได้รับรองว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญามีฐานะเป็นประธานแห่งสิทธิที่มีศักดิ์ศรีให้รัฐต้องเคารพ ที่มาของหลักการนี้มาจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.1948 มาตรา 11 (1)[1] กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่งและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14.2 และประเทศไทยได้รับรองหลักการนี้ไว้ในหมวดสิทธิขั้นพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาตรา 33 และ พ.ศ. 2550 มาตรา 39[2] ดังนั้น การตีความกฎหมายอาญาหรือวิธีพิจารณาความอาญาของศาลที่จะมีผลไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งขัดหรือแย้งต่อหลักการข้างต้นต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ ระมัดระวังและเคร่งครัด เพราะภายใต้นิติรัฐกฎหมายได้ถูกสร้างขึ้นมิใช่แต่เพียงให้อำนาจศาลในการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะเท่านั้น แต่ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อจำกัดอำนาจของศาลเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่อาจถูกละเมิดจากศาลด้วย

2.การปฏิเสธสิทธิประกันตัวของผู้ต้องหาหรือจำเลย ศาลต้องมีเหตุผลทางกฎหมายที่หนักแน่น มีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักสนับสนุน เพราะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลยอย่างร้ายแรง และขัดต่อหลักการพื้นฐานทางกฎหมาย

จากหลักการในข้อ 1.นำไปสู่หลักการทั่วไปในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา ซึ่งมีสิทธิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดี การที่รัฐจะควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ได้นั้น ถือเป็นข้อยกเว้นและต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมายเท่านั้น[3] เมื่อพิจารณาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาประกอบกับรัฐธรรมนูญและพันธกรณีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศที่ผูกพันประเทศไทยในฐานะรัฐภาคี จะเห็นได้ว่าโดยหลักแล้วศาลมีหน้าที่ต้องให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย ในกรณีที่ศาลจะปฏิเสธไม่ให้สิทธิประกันตัวและต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ภายใต้อำนาจรัฐซึ่งเป็นข้อยกเว้น ศาลต้องมีเหตุผลทางกฎหมายและพยานหลักฐานที่หนักแน่นเพียงพอ

3.คำสั่งเพิกถอนการประกันตัวนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ของศาลจังหวัดขอนแก่นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงเหตุผลทางกฎหมายและพยานหลักฐานที่หนักแน่นเพียงพอในการควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ภายใต้อำนาจรัฐ


สาระสำคัญของคำสั่งเพิกถอนประกันของศาลจังหวัดขอนแก่นมีดังนี้


“ตามคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลได้มีคำสั่งกำชับให้นายประกันผู้ต้องหาให้มาศาลตามนัด ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ พยานหลักฐานในคดี หรือก่อความเสียหายใดๆ หลังปล่อยชั่วคราว หากผิดนัด ผิดเงื่อนไข ศาลอาจถอนประกันและอาจไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวอีก และภายหลังปล่อยชั่วคราว ได้ความจากทางไต่สวนว่าผู้ต้องหาไม่ได้ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีนี้ในสื่อสังคมออนไลน์บนเฟซบุ๊กของผู้ต้องหา กับทั้งผู้ต้องหาได้แสดงออกถึงพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ ทั้งผู้ต้องหายังมีแนวโน้มที่จะกระทำการในลักษณะเช่นนี้ต่อไปอีก ผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มีอายุ 25 ปี ย่อมรู้ดีว่าการกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวข้างต้นเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาล จึงฟังได้ความตามคำร้องว่า ผู้ต้องหาได้กระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหายภายหลังการปล่อยตัวชั่วคราว ประกอบกับนายประกันผู้ต้องหาไม่ได้กำชับหรือดูแลให้ผู้ต้องหาปฏิบัติตามเงื่อนไขศาลที่มีคำสั่งจนก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าว”

เมื่อพิจารณาคำสั่งเพิกถอนประกันของศาลจังหวัดขอนแก่น จะเห็นได้ว่าเหตุผลหลักที่ศาลใช้เป็นฐานในการเพิกถอนประกันคือ

1) ไม่ได้ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีนี้ในสื่อสังคมออนไลน์บนเฟซบุ๊ก

2) แสดงออกถึงพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง

3) ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ

โดยเหตุผลทั้งสามข้อที่ศาลใช้สนับสนุนคำสั่งเพิกถอนการประกันตัว มีแง่มุมทางกฎหมายและข้อเท็จจริงที่ล้วนถูกโต้แย้งได้ ดังนี้

1) การไม่ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาออกจากสื่อสังคมออนไลน์บนเฟซบุ๊ก ไม่อาจอ้างเป็นเหตุในการเพิกถอนประกันได้ เพราะศาลไม่ได้กำหนดในเงื่อนไขในการให้ประกันว่า นายจตุภัทร์ต้องลบข้อมูลดังกล่าว นอกจากนี้ ศาลยังสั่งไว้ในคำสั่งให้ประกันตัวนั้นเองว่า ห้ามนายจตุภัทร์ไปข้องเกี่ยวกับพยานหลักฐานในคดี หากนายจตุภัทร์ไปลบข้อความดังกล่าวซึ่งถือเป็นพยานหลักฐานในคดีก็อาจเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขการให้ประกันตัวของศาล การที่เขาไม่ลบข้อความจึงไม่อาจใช้เป็นเหตุผลเพิกถอนประกันของเขาได้

2) การแสดงออกถึงพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ไม่อาจอ้างเป็นเหตุผลในการเพิกถอนประกันตัวได้ เพราะรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศได้รับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนไว้ ประชาชนจึงมีเสรีภาพในการแสดงออกได้ตราบเท่าที่ไม่มีกฎหมายห้าม การที่รัฐจะจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนได้ต้องมีฐานทางกฎหมายให้อำนาจไว้อย่างชัดเจน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยไม่มีกฎหมายฉบับใดบัญญัติห้ามประชาชนแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐ ตรงกันข้าม รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาตรา 39 และรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 43[4] ได้รับรองเสรีภาพในการแสดงออกของประชนชนไว้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1 ก็ไม่พบว่าการแสดงออกถึงพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง เป็นหนึ่งในเหตุของการไม่ให้ประกันตัวแต่อย่างใด

3) การก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติที่ศาลกล่าวอ้างก็ไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุนที่มีน้ำหนักให้คู่กรณีหรือสาธารณชนคล้อยตามแต่อย่างใด กล่าวคือ เมื่อเหตุในข้อ 1 และข้อ 2 ที่ศาลให้อ้างเป็นเหตุผลหลักในการสั่งเพิกถอนประกัน ไม่มีฐานทางกฎหมายรองรับดังเหตุผลที่กล่าวมา การที่ศาลกล่าวอ้างว่าการกระทำของนายจตุภัทร์ซึ่งไม่ได้ฝ่าฝืนเงื่อนไขการประกันตัว ไม่ได้กระทำการผิดกฎหมาย และไม่ปรากฏเหตุอื่นใดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1 ว่าเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐนั้น ย่อมเป็นการตีความและบังคับใช้กฎหมาย ทั้งที่ไม่มีข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักสนับสนุน อันเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หลักการพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ กฎหมายระหว่างประเทศ

การที่ศาลจังหวัดขอนแก่นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ปฏิเสธสิทธิประกันตัวของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของเขาอย่างรุนแรง โดยที่ยังมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายและข้อเท็จจริงหลายประการ จึงต้องถือว่ายังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่รัฐจำต้องละเมิดหลักการพื้นฐานในรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศที่สันนิษฐานว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ตราบเท่าที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเขากระทำความผิดเพื่อควบคุมตัวเขาไว้ใต้อำนาจรัฐ

รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 4[5] ประกอบกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 26[6] และมาตรา 27[7] ได้บัญญัติขึ้นมาเพื่อควบคุมการใช้อำนาจขององค์กรรัฐทุกองค์กรรวมถึงองค์กรศาลว่า ในการใช้อำนาจหน้าที่ซึ่งกฎหมายมอบให้นั้นต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน และสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันศาลในการใช้และตีความกฎหมาย เมื่อรัฐธรรมนูญรับรองว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาได้รับข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ พวกเขาย่อมมีสิทธิที่จะได้รับอิสรภาพระหว่างการพิจารณาโดยการปล่อยตัวชั่วคราว เมื่อยังมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายและข้อเท็จจริงดังที่กล่าวมาข้างต้น ศาลจึงต้องตีความกฎหมายไปในทางคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนยิ่งกว่าจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน

คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความเห็นว่า แม้ในห้วงเวลาที่สังคมไทยต้องอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ปกติและได้มีการคุกคามต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญซึ่งจะต้องได้รับการปกป้องไว้ โดยศาลเป็นองค์กรหนึ่งที่มีบทบาทต่อการยืนยันถึงความสำคัญของหลักนิติรัฐและกระบวนการทางกฎหมายที่ชอบธรรม การพิจารณาคืนสิทธิประกันตัวให้เป็นไปตามหลักการและบทบัญญัติของกฎหมายให้กับนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา จะเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าสถาบันและระบบกฎหมายของไทยยังคงยืนหยัดอยู่บนหลักการที่ให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมของระบบกฎหมาย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล
นัทมน คงเจริญ
ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล
อุษณีย์ เอมศิรานันท์
ปีดิเทพ อยู่ยืนยง
กฤษณ์พชร โสมณวัตร
สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์


[1] Universal Declaration of Human Rights 1948 Article 11 (1) “Everyone charged with a penal offense has the right to be presumed innocent until proved guilty according to law in public trial at which he has had all the guarantee necessary for his defense.”

International Covenant on Civil and Political Rights Article 14.2 Everyone charged with a criminal offence shall have the right to be presumed innocent until proved guilty according to law.

[2] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 33 และ พ.ศ.2550 มาตรา 39 วรรคสอง และวรรคสาม

“ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้”

[3] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 “การสั่งไม่ปล่อยตัวชั่วคราว จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี

(2) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

(3) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น

(4) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ

(5) การปล่อยตัวชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล

คำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวต้องแสดงเหตุผล และต้องแจ้งเหตุดังกล่าวให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยและผู้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว”


[4] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง และ พ.ศ.2550 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง

“บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน”

[5] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 4

“ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้”

[6] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 26

“การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”

[7] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 27

“สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยาย หรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง”


ooo