9 ส.ค. 2559
โดย iLaw
เมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ก็เปรียบเสมือนการ "เซ็นเช็คเปล่า" ให้กับรัฐบาล คสช. และ กรธ. ที่จะไปเขียนกฎกติกาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ อย่างเช่น กฎหมายพรรคการเมือง ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ยุทธศาสตร์ชาติ กฎหมายการปฏิรูป ฯลฯ ดังนั้น ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจตัวจริงควรต้องจับตาและมีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ ให้ได้มากที่สุด
หลังจากการลงประชามติ เมื่อ 7 สิงหาคม 2559 ผลออกมาว่าเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบกับทั้งร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วง หลังจากนี้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะต้องแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้เข้ากับคำถามพ่วงก่อนนำไปทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้ ซึ่งใช้เวลาอีกไม่เกิน 90 วัน
เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศ รัฐบาล คสช. และ กรธ. ยังมีภารกิจต้องทำอะไรอีกหลายอย่างตามที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ โดยขั้นตอนหลังจากนี้จะไม่ต้องถามประชาชนอีกแล้ว ดังนั้น ประชาชนจึงต้องจับตากฎกติกาต่างๆ ที่จะออกตามมา และพยายามหาช่องทางแสดงความคิดเห็น เข้าไปมีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุด ซึ่งประเด็นจะประกอบไปด้วย
หนึ่ง ยุทธศาสตร์ชาติ
"ยุทธศาสตร์ชาติ" เป็นกลไกใหม่ที่ไม่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญของไทยฉบับใดมาก่อน ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ มาตรา 65 กำหนดให้จัดทำยุทธศาสตร์ชาติขึ้นเพื่อเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศ โดยยังไม่ได้กำหนดกรอบว่ายุทธศาสตร์ชาติจะต้องมีเนื้อหาครอบคลุมประเด็นใดบ้าง กำหนดเพียงให้จัดทำกฎหมายเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติขึ้น ภายใน 120 วัน และจัดทำยุทธศาสตร์ชาติให้เสร็จภายในหนึ่งปี นับจากที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ โดย ครม. ชุดปัจจุบันจะเป็นผู้เขียนขึ้นเอง
ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 142 กำหนดว่า การเสนองบประมาณของรัฐบาลชุดต่อๆ ไปจะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และมาตรา 162 กำหนดว่า เมื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่แถลงนโยบายตอนเข้ารับตำแหน่ง นโยบายก็ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้วย
อ่านเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4202
สอง มาตรฐานจริยธรรม
"มาตราฐานจริยธรรม" เป็นกลไกใหม่อีกชิ้นหนึ่งที่ร่างรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้มีขึ้น
มาตรา 219 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญกับองค์กรอิสระ เป็นผู้กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นบังคับใช้ ภายใน 1 ปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เมื่อเขียนขึ้นแล้วจะบังคับใช้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ ฯลฯ รวมทั้ง ส.ส. ส.ว. และ ครม.ด้วย ผู้ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมต้องพ้นจากตำแหน่ง และอาจถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี
แม้ร่างรัฐธรรมนูญจะกำหนดไว้ว่า ในการจัดทำมาตรฐานจริยธรรมต้องรับฟังความคิดเห็นของสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ในช่วงเวลา 1 ปีแรกที่ต้องจัดทำนั้น ส.ส. และส.ว. ยังไม่มี มีเพียงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ คสช. แต่งตั้งขึ้นทำหน้าที่ให้ความเห็นแทน
อ่านเรื่อง มาตรฐานจริยธรรม ต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4204
สาม กฎหมายลูก 10 ฉบับ
ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 267 กำหนดว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการทำประชามติแล้ว ให้ กรธ. อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อ เพื่อจัดทําพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ "กฎหมายลูก" 10 ฉบับ ให้เสร็จภายในระยะเวลา 240 วัน หรือ 8 เดือนนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญถูกประกาศใช้
กฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับ ได้แก่
(1) พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(2) พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
(3) พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
(4) พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
(5) พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
(6) พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง
(7) พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน
(8) พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(9) พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน
(10) พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
อ่านเรื่อง การออกกฎหมายลูก ต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4197
สี่ กฎหมายว่าด้วยการปฏิรูป และคณะกรรมการปฏิรูปสองชุด
กลไกการปฏิรูปที่ร่างรัฐธรรมนูญวางเอาไว้ อยู่ในหมวดที่ 16 มาตรา 257-261 กำหนดให้รัฐบาลปัจจุบันจัดทำกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการปฏิรูปภายใน 120 วัน และให้เริ่มดำเนินการตามแผนภายใน 1 ปี นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้ โดยต้องต้องคาดหวังว่าจะเห็นผลในระยะเวลา 5 ปี
สำหรับการปรับปรุงกฎหมายด้านกระบวนการยุติธรรม ร่างรัฐธรรมนูญยังกำหนดให้มีคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาชุดหนึ่งด้วย โดยมีทั้งคนที่เคยเป็นตำรวจและไม่เคยเป็นตำรวจมาทำงานด้วยกัน ซึ่งต้องทำงานให้เสร็จภายใน 1 ปี ส่วนการปฏิรูปการศึกษาก็ให้มีคณะกรรมการอิสระขึ้นมาอีกคณะหนึ่งเช่นกัน ซึ่งต้องแต่งตั้งภายใน 60 วัน คณะกรรมการทั้งสองชุดมาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลปัจจุบัน
อ่านเรื่อง การปฏิรูปต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4202
ห้า กฎหมายปฏิรูปสามฉบับ
ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 278 กล่าวถึงกฎหมายอีกสามฉบับที่ต้องเร่งรัดให้ออกให้ได้โดยเร็ว หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ได้แก่ กฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนและการรับฟังความคิดเห็นก่อนการดำเนินโครงการใด ตามมาตรา 58 กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ตามมาตรา 62 และกฎหมายที่คุ้มครองประชาชนที่ชี้เบาะแสการทุจริตคอร์รัปชั่น ตามมาตรา 63
ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 278 ให้ความสำคัญกับกฎหมายสามฉบับนี้เป็นพิเศษ โดยกำหนดว่าหากร่างรัฐธรรมนูญผ่าน ให้ดำเนินการร่างทั้งสามฉบับให้เสร็จภายใน 240 วัน และให้สนช.พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้รัฐบาล คสช. และที่สำคัญ คือ กำหนดไว้ด้วยว่าหากหน่วยงานใดไม่ดำเนินการภายในเวลาที่กำหนดให้คณะรัฐมนตรีสั่งให้หัวหน้าหน่วยงานนั้นพ้นจากตำแหน่ง
อ่านเรื่อง การปฏิรูปต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4202
หก จัดเลือกตั้งอย่างช้าภายใน 18 เดือน
เมื่อร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงผ่านประชามติแล้ว รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว มาตรา 37/1 กำหนดให้ กรธ.แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง ภายใน 30 วัน และส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอีกภายใน 30 วัน มาตรา 37 กำหนดให้นายกรัฐมนตรี นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 30 วัน และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา
เมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้แล้ว กรธ. ต้องจัดทำกฎหมายลูก ภายใน 240 วัน และส่งให้ สนช. พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน หลังจากนั้นก็ดำเนินการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรภายใน 150 วัน
รวมความแล้ว หลังวันออกเสียงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 ภายในไม่เกิน 30+30+30+240+60+150 = 540 วัน หรือประมาณ 18 เดือน ก็จะต้องจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้น ซึ่งหากขั้นตอนทุกอย่างใช้เวลาเต็มที่ จะมีการเลือกตั้งขึ้นประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2561
อย่างไรก็ดี ตัวเลข 18 เดือน เป็นตัวเลขอย่างช้า กล่าวคือ มีความเป็นไปได้ที่การเลือกตั้งอาจจะเร็วขึ้น เพราะมีการกำหนดว่าไม่จำเป็นต้องรอให้ร่างกฎหมายประกอบเสร็จทุกฉบับก่อน แต่เอาแค่ 4 ฉบับก็พอ หรือขั้นตอนต่างๆ อาจทำได้เสร็จเร็วกว่าเวลาที่กำหนดไว้ หรือในอีกทางหนึ่งอาจจะนานกว่า 18 เดือน หากพระมหากษัตริย์มิได้ลงพระปรมาภิไธย หรือในกรณีที่สนช. ลงมติไม่เห็นชอบกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง