วันพุธ, สิงหาคม 31, 2559

ตามหาลูก : จดจำและหวังด้วยความเงียบ (2) โดย ธงชัย วินิจจะกูล (รำลึก 40 ปี 6 ตุลาฯ)





ตามหาลูก : จดจำและหวังด้วยความเงียบ (2) โดย ธงชัย วินิจจะกูล

MATICHONWEEKLY - มติชนสุดสัปดาห์·
SATURDAY, AUGUST 27, 2016

บทความพิเศษ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26-1 ก.ย. 59 อ่านตอนแรก http://goo.gl/XUSyrJ


บางตอน "จากบันทึก 6 ตุลา พลิกแผ่นดินตามหาลูก" โดย จินดา ทองสินธุ์ (ต่อ) 

ที่นั่น เขาพบกับเจ้าของหอพักซึ่งพยายามปลุกปลอบใจจินดา 

เขามึนงงสับสน ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นหาลูกชายเขาที่ไหนดี ธรรมศาสตร์ปิดตาย 

"ข้าพเจ้าก็มืดเหมือนแปดด้าน พอดีเด็กหนังสือพิมพ์หอบหนังสือพิมพ์มาหอบเบ้อเร่อ ข้าพเจ้ารีบซื้อจะกี่ฉบับนับไม่ถ้วน... แล้วเปิดดูแต่ข่าวนักศึกษาที่บาดเจ็บกระจายอยู่โรงพยาบาลต่างๆ อ่านพลางภาวนาพลางอย่าให้มีชื่อลูกจารุพงษ์อยู่เลย เมื่ออ่านจบทุกฉบับ เจ้าของบ้านก็พูดว่า ไม่ต้องอ่านรายชื่อหรอก เพราะท่านให้เด็กในหอพักตระเวนไปดูตามโรงพยาบาลต่างๆ ที่มีนักศึกษาได้รับบาดเจ็บ ไม่มีลูกจารุพงษ์เลย..." 

เจ้าของหอพักเสนอแนะว่า จารุพงษ์อาจจะอยู่ในกลุ่มนักศึกษาที่ถูกจับและถูกขังอยู่ในเรือนจำต่างๆ จากนั้นจินดาจึงเร่งรุดไปยังสถานีตำรวจใกล้ธรรมศาสตร์เพื่อตรวจดูรายชื่อของคนที่ถูกจับในที่ต่างๆ สถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามคลาคล่ำไปด้วยผู้คน ส่วนมากเป็นพ่อแม่ที่ตื่นตระหนกและมีสีหน้าวิตกด้วยกันทั้งนั้น 

จินดาพบชื่อหลานของเขา คือ สุพจน์ หรือแจ้ง (ตามที่จินดาเรียก) ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ที่โรงเรียนพลตำรวจนครปฐม แต่จินดาไม่พบชื่อจารุพงษ์ในบรรดาผู้ถูกจับกุม เขากลับมายังหอพักของลูกชายอีกครั้งด้วยความหวังว่าบางทีจารุพงษ์อาจจะทิ้งโน้ตหรือร่องรอยบางอย่างของเขาไว้ที่ห้องก็เป็นได้
"รีบเข้าไปดูในห้อง เห็นผ้าผ่อนของลูกที่ใส่แล้วยังไม่ได้ซัก แขวนไว้ที่ราวและที่นอนปูผ้าคลุมอย่างเรียบร้อย บนโต๊ะหนังสือก็มีหนังสือปากกาและเครื่องใช้ทุกอย่างอยู่ครบครัน ค้นดูจดหมายก็ได้พบเพียงแค่ซองเปล่า แต่จ่าหน้าซองถึงข้าพเจ้าอยู่ 1 ซอง แต่ในซองจดหมายไม่มีจดหมายอยู่เลย ส่วนเอกสารต่างๆ ของเขาหลายชิ้นอยู่ในย่ามที่ใส่อยู่เป็นประจำ 

ข้าพเจ้ารีบคุ้ยขึ้นมาดูจนเกลื่อนทุกชิ้นก็ไม่มีร่องรอยทิ้งไว้เลย รีบดูบันทึกข้างในสมุดบันทึกเล่มเล็กๆ เห็นข้อความตอนหนึ่งไม่ลงวันที่ จะบันทึกไว้เมื่อไหร่ก็ไม่ทราบ แต่มันเข้ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพอดี จำได้ว่าในบันทึกนั้นเขา [จารุพงษ์] ได้บรรยายไว้ว่า ‘เขากราดปืนใส่เราผู้รักชาติ รักประชาธิปไตย จนล้มลุกคลุกคลานอย่างไร้ความปรานี เลือดของเพื่อนที่หยดลงพื้นดิน จะไม่มีวันสูญหาย เพื่อนเอ๋ย เราอยู่หลังจะพยายามแก้แค้นแทนเพื่อนให้จงได้ ’ ” 

ณ ขณะนั้น จินดาคิดว่าจารุพงษ์อาจจะเล็ดลอดไปได้หลังการปราบปราม และอาจจะแวะกลับมาที่หอพักเพื่อเก็บรวบรวมข้าวของที่จำเป็นก่อนหลบหนีไปโดยไม่บอกกล่าวให้ใครรู้ จินดาเก็บบันทึกของลูกชายไว้กับตัว จากนั้นเขาเดินทางไปหาหลานชายของลิ้มผู้เป็นทหารเรือ (จินดาเรียกว่า "น้องชาย" ในบันทึกของเขา) เพื่อปรึกษาหารือว่าจะทำอย่างไรต่อไป ในขณะที่จินดานั่งฟังน้องชายเล่าให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้นที่ธรรมศาสตร์ เขากลับคิดไปถึงลิ้ม 

"คิดถึงแม่ของลูกจะเฝ้าคอยอยู่ทางบ้านซึ่งมีความทุกข์ใจยิ่งกว่าข้าพเจ้าเสียอีก เพราะข้าพเจ้าทราบอย่างชัดแจ้งว่า ลูกผู้ชายคนแรกนี้เป็นลูกหัวแก้วหัวแหวนของแม่ และแม่มีความภูมิใจอย่างยิ่งที่ลูกสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ เมื่อมากลับกลายเป็นอื่นไปเช่นนี้ เสมือนหนึ่งใครกระชากดวงใจให้หลุดไปจากอกนั่นเอง..." 

จินดาพักค้างที่บ้านของน้องชายคืนนั้น ตั้งแต่เย็นเขาดื่มจัดจนเมามายจำไม่ได้เลยว่าได้ทำอะไรลงไปหรือเกิดอะไรขึ้นในเย็นค่ำวันนั้น 

เช้าวันต่อมา จินดากับน้องชายขับรถไปเยี่ยมแจ้งด้วยความหวังว่าเขาอาจจะรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับจารุพงษ์ ผู้คนมากมายยืนเข้าแถวกลางแดดเปรี้ยง แถวยาวเหยียดของพ่อแม่ที่เฝ้าคอยอย่างกระวนกระวายเพื่อจะพบลูกของตน จินดายืนอยู่หลายชั่วโมง เป็นหนึ่งในบรรดาคนเหล่านั้น 

ระหว่างนั้นมีตำรวจคนหนึ่งก่นด่าคนที่ยืนเข้าแถวอย่างแรงๆ และหยาบคาย 

เขาเล่าว่า "...เจ้าหน้าที่เขามองพ่อแม่ของนักศึกษาว่าเป็นพวกของผู้ก่อการร้ายเท่านั้น...ไม่นึกว่าคำพูดและการกระทำนั้นจะเป็นการทิ่มตำเข้าขั้วหัวใจของใครสักเพียงใด ข้าพเจ้ายังได้ยินเสียงขู่ตะคอกว่า "ไม่ต้องแซงกัน พวกเอ็งเป็นพ่อแม่ของพวกจลาจล ผู้ก่อการร้ายทั้งนั้น ไม่สอนลูกสอนหลาน สมนํ้าหน้าไงล่ะ"..." 

หลายชั่วโมงต่อมามีตำรวจอีกคนมาบอกว่าให้พยายามกลับมาอีกครั้งในวันหลัง เพราะคงจะหมดเวลาเยี่ยมผู้ต้องหาเสียก่อนที่จะถึงคิวของเขา ก่อนที่จินดาจะกลับ เขาฝากข้อความแก่ตำรวจอีกคนไปถึงแจ้งว่าเขาจะกลับมาเยี่ยมใหม่อีกครั้งวันหลัง 

จินดาออกจากกรุงเทพฯ เย็นวันนั้น มุ่งตรงกลับบ้านที่พระแสง ทันทีที่เขาถึงบ้าน 

"พบลูกๆ กำลังนั่งอยู่ในห้องกับแม่และลูกคนเล็ก พอเห็นหน้าแม่ของลูกและลูกๆ อดจะนํ้าตาคลอเบ้าทีเดียว พูดได้คำเดียวว่าไม่พบลูกจารุพงษ์เท่านั้น แม่และน้องๆ ต่างนํ้าตาไหล ได้ยินแต่เสียงแม่พูดกับลูกๆ... แล้วดึงมากอดไว้ สั่งเสียอะไรต่างๆ นานาในทำนองอย่าให้ลูกทั้งสี่คนเป็นไปอย่างพี่ชายอีก... นํ้าตาของข้าพเจ้าดูกลับไหลท่วมหัวใจจนเต็มปรี่" 

พ่อแม่ของแจ้งแวะมาเยี่ยมจินดา พวกเขาปรึกษาหารือกันว่าจะทำอย่างไรจึงจะประกันตัวแจ้งออกมาได้ ทั้งนี้เนื่องจากจินดาได้ยินมาว่า นักศึกษาบางคน โดยเฉพาะหากเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ก็จะโดนทำร้ายทุบตีในเรือนจำที่ถูกคุมขัง พวกเขารวบรวมทรัพย์สินเพื่อเป็นค่าประกันและมอบให้จินดาซึ่งเดินทางเข้ากรุงเทพฯ อีกครั้งทันที 

เมื่อถึงกรุงเทพฯ จินดาตรงไปหอพักของจารุพงษ์เป็นอันดับแรก แต่ไม่มีข่าวคราวใดๆ จากลูกชาย จากนั้นเขาจึงพยายามเอาตัวแจ้งออกมา จินดาต้องแวะไปสถานีตำรวจหลายแห่งในวันเดียวนั้นแต่ก็ยังไม่สำเร็จ 

วันต่อมาเขาต้องไปหาทางประกันตัวที่ศาล แต่กลับพบว่าโฉนดที่ดินซึ่งญาติของเขารวบรวมมาเพื่อประกันตัวแจ้งนั้นใช้ไม่ได้ จินดาจึงเดินทางไปหาแจ้งที่นครปฐมอีกครั้ง คราวนี้เขาโชคดีได้เข้าเยี่ยมพูดคุยกับแจ้ง 

ในเวลา 5 นาทีที่เขาได้รับอนุญาต คำถามแรกของเขาคือ จารุพงษ์อยู่ไหน จินดาเล่าในบันทึกของเขาว่า แจ้งได้พบกับจารุพงษ์ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายของเช้าวันนั้น ภายหลังจากบอกแจ้งให้ระวังรักษาตัวให้ดี จารุพงษ์ก็วิ่งออกไป ทันใดนั้น กระสุนหลายชุดก็สาดใส่เข้ามาโดนนักศึกษาตรงนั้นหลายคน แต่แจ้งไม่ทันเห็นว่าจารุพงษ์โดนกระสุนหรือไม่ จนกระทั่งนักศึกษาหญิงคนหนึ่งซึ่งเขาไม่รู้จักร้องลั่นออกมาท่ามกลางคนมากมายในที่นั้นว่า 

“ ‘จารุพงษ์ถูกยิงเสียแล้ว’ ข้าพเจ้าได้ยินคำนี้จากปากของหลาน ทำให้หัวใจเกือบหยุดเต้น” 

ทรัพย์สินที่จินดานำมาเพื่อประกันตัวแจ้งกลับถูกศาลปฏิเสธอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น 

"ข้าพเจ้าก็ออกเดินคอตกมาหน้าศาลอาญา [ณ อาคารเดิมข้างสนามหลวง] เห็นผู้คนบนสนามหลวงยืนกันเป็นหมู่ๆ...ได้ความว่าญาตินักศึกษามาดูที่นักศึกษาถูกเผาทั้งเป็นยังเป็นรอยไหม้อยู่ริมๆ กับที่นางธรณีบิดผมมวยนั้น ข้าพเจ้าไม่สามารถยืนดูได้ เพราะหัวใจมันแสนจะแปลบปลาบเสียกระไร พยายามเดินก้มหน้าไม่พูดจากับใคร แต่อดเหลียวมองไปที่ธรรมศาสตร์ไม่ได้ เห็นทหารยืนอยู่บนหอคอยกระโจมสูงมือถือปืน และประตูธรรมศาสตร์ถูกปิดตาย ไม่ให้คนเข้าออกเลยอดคิดถึงภาพลูกที่เดินเล่นและเล่าเรียนอยู่ก่อนเหตุการณ์ไม่ได้ เพราะข้าพเจ้าเคยเข้าไปหาลูกที่ในธรรมศาสตร์หลายครั้ง ข้าพเจ้าพูดในใจว่า ตั้งแต่นี้ต่อไปข้าพเจ้าไม่มีโอกาสไปดูเจ้าเสียแล้วสถาบันอันเป็นที่รักของลูกและอันเป็นที่หวังสุดท้ายของบิดามารดาทุกคน เจ้าธรรมศาสตร์ยืนถมึงทึงเหมือนจะบอกให้ข้าพเจ้าทราบว่า เขาเองก็อาการร่อแร่เต็มทนแล้ว ดูเป็นแผลรอยกระสุนแทบจะยืนอยู่ไม่ได้" 

จินดากลับบ้าน ที่นั่นเขาพบปลัดอำเภอคนหนึ่งผู้บอกกับเขาว่า "ลูกชายของข้าพเจ้าได้กลับมาสุราษฎร์ฯ แล้ว ข่าวกรองจากทางราชการแจ้งว่า นักศึกษาจำนวนหนึ่งประมาณ 5-10 คน ได้เข้าไปในท้องที่อำเภอบ้านนาสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จารุพงษ์ ทองสินธุ์ บุตรของข้าพเจ้าคนหนึ่งละ" 

ทีแรกจินดาไม่ค่อยเชื่อ เจ้าหน้าที่คนนั้นจึงยืนยันคำพูดของตน อ้างว่าสามารถแสดงหลักฐานจากหน่วยข่าวของทางทหารได้ 

จินดาใจชื้นมาทันทีและนำข่าวน่าตื่นเต้นชิ้นนี้กลับมาบอกครอบครัว เขามีความหวังและฟื้นความพยายามตามหาลูกชายอีกครั้ง 

จินดาเดินทางไปยังถิ่นที่เจ้าหน้าที่คนนั้นเอ่ยถึง เขาพบเพื่อนเก่าของจารุพงษ์คนหนึ่งซึ่งเป็นทหารประจำถิ่นที่นั่น เพื่อนคนนั้นบอกจินดาว่า เขาเห็นจารุพงษ์เมื่อไม่กี่วันก่อน เดินอยู่ในตลาดกับกลุ่มเพื่อนนักศึกษากลุ่มหนึ่ง เขาจำได้แม่นว่าเป็นจารุพงษ์แน่ๆ แม้ว่าจะไม่ได้เข้าไปทักทายก็ตาม เพราะว่าเขาเป็นทหาร อาจทำให้จารุพงษ์กับเพื่อนตกใจกลัว 

จินดาถามญาติของเขาที่อาศัยอยู่แถวนั้นให้ช่วยหาข่าวคราวข้อมูลเพิ่มเติม 

สองวันต่อมาญาติของเขาแจ้งข่าวมาว่า จารุพงษ์อยู่ไหนไม่ชัดเจน เพียงแต่รับรู้มาว่ามีนักศึกษาจำนวนหนึ่งเดินทางเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ตรงป่าใกล้บ้านของญาติคนนั้น 

สามวันต่อมา จินดาได้ข่าวว่าตำรวจดักจับรถบรรทุกของบริษัทเหมืองแร่คันหนึ่ง ซึ่งบรรทุกนักศึกษาจำนวนหนึ่งจากสถานีรถไฟเข้าสู่เขตป่าเขา ในช่วงนั้นมีการปะทะกันระหว่างทหารคอมมิวนิสต์กับเจ้าหน้าทหารตำรวจของรัฐบาล การปะทะรุนแรงถึงขนาดมีคนบาดเจ็บล้มตายมากขึ้น โดยเฉพาะในตำบลที่จินดาอาศัยอยู่และตำบลใกล้เคียง ทหารเพิ่มกำลังและจุดปฏิบัติการอีกสามแห่งที่บ้านส้อง ทั้งเพิ่มอาวุธและปืนใหญ่ด้วย หน่วยปฏิบัติการจิตวิทยาปรากฏตัวอยู่ทุกหนแห่ง ทว่า การโจมตีของคอมมิวนิสต์กลับไม่ลดลงเลย 

หลายเดือนผ่านไป ลูกๆ คนอื่นของจินดากับลิ้มหมดความใส่ใจกับโรงเรียน พวกเขาคงคิดถึงพี่ชายที่จู่ๆ ก็หายไปฉับพลันอย่างไม่มีร่องรอย 

"ครั้งใดที่น้องๆ เขาบ่นถึงพี่ชาย เหมือนมีเข็มที่แหลมเสียบแทงเข้าที่หัวใจข้าพเจ้าทุกครั้ง แต่ข้าพเจ้าพยายามเก็บอารมณ์นั้นไว้ภายในด้วยความขื่นขมระทมทุกข์ ไม่อาจจะบรรยายออกมาเป็นภาษาได้"