วันศุกร์, สิงหาคม 26, 2559

อ่านเพื่อฟื้นอดีต .. “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” เกือบถูก “รื้อ” เพื่อสร้างอนุสาวรีย์ให้ “รัชกาลที่ 7”





“อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” เกือบถูก “รื้อ” เพื่อสร้างอนุสาวรีย์ให้ “รัชกาลที่ 7”

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถูกสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ. 2475 โดยกลุ่มคณะราษฎร แต่เมื่อกลุ่มคณะราษฎรแตกสลายและกลุ่มอำนาจเก่าเริ่มกลับมามีบทบาทมากขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อนุสาวรีย์แห่งนี้ก็เกือบสิ้นชื่อ เมื่อรัฐบาลในยุคนั้นเสนอให้มีการ “รื้อ” อนุสาวรีย์แห่งนี้ทิ้งเพื่อสร้าง อนุสาวรีย์ของรัชกาลที่ 7 ขึ้นมาแทนที่

บทความ “การเมืองว่าด้วยอนุสาวรีย์พระปกเกล้าฯ กับแนวคิดกษัตริย์นักประชาธิปไตยหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2494” โดย ศรัญญู เทพสงเคราะห์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ ธันวาคม 2556 กล่าวว่า กรมประชาสัมพันธ์ได้ประกาศในเดือนกรกฎาคม 2495 ว่า ทางคณะรัฐมนตรีได้มีมติจัดสร้างอนุสาวรีย์ให้กับ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่สี่แยกถนนราชดำเนินตัดกับถนนดินสอ ซึ่งก็ต้องรื้อถอนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยออก เพื่อก่อสร้างอนุสาวรีย์ของพระปกเกล้าฯ ขึ้นแทนที่

โดยคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งให้ พล.ต. บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา รมว.มหาดไทย พระยาราชภักดี ปลัดกระทรวงมหาดไทย พ.ท. หลวงบุรกรรมโกวิท อธิบดีกรมโยธาเทศบาล หม่อมทวีวงศ์ ถวัลย์ศักดิ์ ม.จ. สมัยเฉลิม กฤดากร ม.จ. ยาใจ จิตรพงศ์ ม.ร.ว. เทวธิราช ป. มาลากุล ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นกรรมการ และ ม.ล.ปุ่ม มาลากุล เป็นทั้งกรรมการและเลขานุการในการดำเนินการสร้างอนุสาวรีย์ดังกล่าว

ที่น่าแปลกใจก็คือ คณะรัฐมนตรีที่เสนอให้มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์ของรัชกาลที่ 7 เป็นคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เพิ่งก่อรัฐประหารในปี 2494 เพื่อลดบทบาทของกลุ่มอำนาจเก่าที่มีอิทธิพลมากขึ้นด้วยผลของรัฐธรรมนูญฉบับกษัตริย์นิยม พ.ศ. 2492 ซึ่งศรัญญูกล่าวว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ “เปิดโอกาสให้ฝ่ายนิยมเจ้าเข้ามามีบทบาทในวุฒิสภาและขัดขวางการทำงานของรัฐบาลอย่างสม่ำเสมอ”

การก่อรัฐประหารในปี 2494 คณะผู้ก่อการได้ประกาศให้นำรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2475 มาใช้แทนรัฐธรรมนูญฉบับกษัตริย์นิยมโดยอ้างถึงความสำคัญทางแบบพิธีในฐานะที่รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2475 เป็นรัฐธรรมนูญที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 7 และในบทบัญญัติก็ได้วางแนวทางการแก้ไขไว้แล้ว “ไม่เป็นการสมควรที่ใครจะยกเลิกและสร้างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ แต่เป็นที่น่าเสียใจว่าในชั่วเวลาไม่ถึง 20 ปี ก็ได้มีการแก้ไขและทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่หลายครั้ง”

ส่วนแนวคิดอันมาที่มาของการสร้างอนุสาวรีย์ของพระปกเกล้าฯ นั้น ศรัญญูอธิบายว่า “เพื่อลดกระแสต่อต้านจากราชสำนักหลังจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2494 ที่นำรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2475 กลับมาใช้แทน” พร้อมกับสดุดีพระปกเกล้าฯ ในฐานะผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว

แรกทีเดียวแผนโครงการต้องการให้สร้างอนุสาวรีย์ของพระปกเกล้าฯ บริเวณสนามหญ้าด้านหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมมุขตะวันออก แต่คณะกรรมการฯ มองว่า พื้นที่ดังกล่าวคับแคบไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะเข้าไปสักการะ พล.ต.บัญญัติ ประธานคณะกรรมการฯ จึงเสนอว่า

“ควรจะสร้างตรงอนุสสาวรีย์ประชาธิปตัยปัจจุบันนี้ เพราะเท่าที่เป็นอยู่ขณะนี้เป็นอนุสสาวรีย์ซึ่งเป็นของสิ่งหนึ่งคือรัฐธรรมนูญ ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทาน จึงมิใช่พระองค์ท่าน เป็นเพียงวัตถุส่งของเท่านั้น ฉะนั้นเหตุใดจึงไม่เอาพระบรมรูปของพระองค์ท่านตั้งแทน”

แม้คณะกรรมการฯ จะประกอบด้วยบุคคลที่มีส่วนในการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอยู่ด้วย แต่การคัดค้านการสร้างอนุสาวรีย์ของพระปกเกล้าขึ้นแทนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นเรื่องยาก ซึ่งศรัญญูกล่าวว่าเนื่องมาจาก “กรรมการฯ ส่วนใหญ่มีแนวคิดและอุดมการณ์โน้มเอียงไปทางอนุรักษ์นิยม”

ด้านจอมพล ป. เมื่อได้ทราบว่าคณะกรรมการฯ ต้องการรื้ออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อสร้างอนุสาวรีย์พระปกเกล้า ก็มิได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน แต่เป็น พล.ต.ประยูร ภมรมนตรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น และหนึ่งในสมาชิกแรกเริ่มของคณะราษฎรที่ทำหนังสือถึงจอมพล ป. ขอให้หาทำเลใหม่ในการจัดสร้างแทน แต่การคัดค้านไม่เป็นผล

ส่วนเหตุที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยยังคงอยู่รอดมาได้ถึงปัจจุบัน ศรัญญูกล่าวว่า เป็นเพราะโครงการประสบปัญหาขาดงบประมาณ แม้ฝ่ายราชสำนักจะพยายามผลักดันให้มีการสร้างอย่างเร่งด่วน แต่ กระทรวงการคลังที่พล.ต.ประยูร นั่งเก้าอี้เป็นรัฐมนตรีอยู่ด้วยนั้นไม่อาจจัดหาเงินมาได้ และเสนอให้ใช้งบในปี พ.ศ. 2496 แทน คณะกรรมการฯ จึงไปขอให้จอมพล ป. นำงบจากกองสลากมาใช้ แต่จอมพล ป. อ้างว่า เงินสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ใช้ไปหมดแล้ว

สุดท้าย พล.ต.บัญญัติจึงทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 ให้ระงับการจัดสร้างไว้ก่อนเนื่องจากติดขัดเรื่องงบประมาณ ซึ่งจอมพล ป. รับทราบ พร้อมแสดงความเห็นว่า “เมื่อยังไม่มีเงินก็ให้รอไปก่อน ส่วนการสร้างที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลางนั้น ดูจะไม่เหมาะสม”

ศรัญญูกล่าวว่า โครงการก่อสร้างอนุสาวรีย์ของพระปกเกล้าฯ ได้เงียบหายไป จนกระทั่งถึงสมัยรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร ในปี พ.ศ. 2512 ซึ่งมีการเสนอให้สร้างรัฐสภาแห่งใหม่พร้อมกับให้สร้างอนุสาวรีย์ของพระปกเกล้าฯ ร่วมอยู่ด้วย แต่คณะรัฐมนตรีกลับมีมติให้รื้ออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตามแนวทางเดิมอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี โครงการรื้อถอนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของรัฐบาลถนอมก็มิได้เกิดขึ้น และเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ประชาชนออกมาขับไล่รัฐบาลถนอมก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การก่อสร้างอนุสาวรีย์ของพระปกเกล้าฯ ประสบผลสำเร็จ (แล้วเสร็จในปี 2523 หลังรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ อนุมัติในปี 2517) ซึ่งศรัญญูกล่าวว่า เป็นเพราะอุดมการณ์กษัตริย์ประชาธิปไตยของพระปกเกล้าคือพลังสำคัญในการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการทหาร

ภาพประกอบ: โครงการสร้างอนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อปี พ.ศ. 2495 แบบร่างนี้คือหนึ่งในสามแบบ ที่ออกแบบโดยหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล


ศิลปวัฒนธรรม

ลิงค์ บทความ “การเมืองว่าด้วยอนุสาวรีย์พระปกเกล้าฯ กับแนวคิดกษัตริย์นักประชาธิปไตยหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2494”

ความเห็นจากผู้อ่าน...

วันก่อนพาฝรั่งนั่งรถแท๊กซี่ผ่านครับ
ฝรั่งถามคนขับแท็กซี่ว่านี้อะไร แท๊กซี่บอกว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ฝรังถามต่ออีกว่าทำไมต้องสร้างอนุสาวรีย์ให้ด้วย
แท๊กซี่ตอบฝรั่งว่า ประชาธิปไตยตายแล้ว เค้าเลยสร้างอนุสาวรีย์ไว้ให้
.....

เปนต้นตอทางประวัติศาสตร์ ที่ชี้ให้เห็นว่าสลิ่มไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อสิบกว่าปีมานี้ เเต่สลิ่มมีมาตั้งเเต่ประมาณยุกต์ พศ 2500 เเล้ว