วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 25, 2559

วาทะแห่งปี : “ประชาธิปไตยคือความเห็นต่างโดยไม่เอาปืนมาไล่ยิงคน” แต่ประชาชนสงสัยว่าใครคือ “ไอ้ลูกหมา” ที่เอาปืนยิงประชาชนไม่มีปืน?




ที่มาภาพ Chaoprayanews.com

"สังคมไบโพลาร์" คอลัมน์ ใบตองแห้ง


25 สิงหาคม พ.ศ. 2559




“ประชาธิปไตยคือความเห็นต่างโดยไม่เอาปืนมาไล่ยิงคน” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวกับนักศึกษาที่ร้อยเอ็ด

โอ้ นี่มัน“วาทะแห่งปี” ชัดๆ หัวหน้า คสช. ผู้นำรัฐประหาร สอนคนไทยว่าประชาธิปไตยต้องเคารพความเห็นต่าง ไม่ใช้ความรุนแรงกับคนคัดค้าน เอพี รอยเตอร์ เอเอฟพี บีบีซี อัลจาซีร่า ฯลฯ ควรตีข่าวไปทั่วโลก ให้เป็นแบบอย่าง UNHCR, Human Rights Watch ต้องชื่นชมบ้าง ไม่ใช่วิจารณ์ลูกเดียว

เพียงแต่ประชาชนฟังแล้วสงสัย ท่านว่าใคร “ไอ้ลูกหมา” ที่เอาปืนไล่ยิงคน ประชาชนไม่มีปืนนะครับ

ในภาพรวม ท่านนายกฯ พูดดี ท่านบอกว่าต้องสร้างคนให้รู้จักคิด เข้าใจเหตุผลและหลักการ แต่ผมยังไม่แน่ใจ คนที่เกิดยุคนี้สมัยนี้จะเข้าใจเหตุผลหลักการได้อย่างไร เมื่อเห็น ผู้หลักผู้ใหญ่ระดับ “วีรบุรุษประชาธิปไตย” ไม่เอาเลือกตั้ง แถมยังสร้างปรากฏการณ์แฮชแท็ก #ทักษิณคือภาคใต้

คนรุ่นลูกรุ่นหลานจะงงไหม เมื่อ 25 ปีก่อน “ม็อบมือถือ” ไม่เอานายกฯ คนนอก แต่วันนี้กลับดีใจ “นายกฯมาจากไหนไม่สำคัญ ขอให้มาอย่างสง่างาม” เมื่อสิบปีก่อน คนชั้นกลางในเมือง สื่อ นักวิชาการ ด่า ส.ว.เลือกตั้ง “สภาทาส” แต่วันนี้กลับเชียร์ ส.ว.แต่งตั้งเลือกนายกฯ “สง่างาม”

อย่างน้อย พล.อ.สุจินดา คราประยูร ก็ยังมาจาก ส.ส.ยกมือในสภา ไม่ได้มาจาก ส.ว.เสนอชื่อซักหน่อย

คนรุ่นหลังจะเข้าใจเหตุผลหลักการอย่างไร เมื่อโตในยุค คสช.ใช้ ม.44 แต่บอกว่าเป็นประชาธิปไตย 99.99% ไม่ได้เป็นเผด็จการ อ้าว งั้นเผด็จการคืออะไร ต้องเปลี่ยนตำราเรียนใหม่ คือรัฐบาลที่ได้เสียงข้างมากจากเลือกตั้ง พอถูกไล่ พอยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ก็ถูกขัดขวาง แล้วดันทุรังไม่ยอมลาออก ไม่ยอมเปิดทางให้นายกฯ คนนอก นั่นใช่ไหมเผด็จการ

ประชาธิปไตยต้องยอมรับเสียงข้างมาก เคารพหลัก “หนึ่งคนหนึ่งเสียง” ใช่ครับ เราต้องยอมรับ 17 ล้านเสียง อย่าโวยวายว่าประชามติปิดกั้น อยู่ใต้ ม.44 ไม่เหมือนเลือกตั้งเสรี ชนะ 19 ล้านเสียง 15 ล้านเสียง มีคนไปใช้สิทธิ 20 ล้านเสียง ก็ว่าถูกซื้อ คะแนนเสียงคน ตจว.ไม่มีคุณภาพเหมือนคนกรุง

ประชาธิปไตยต้องยอมรับความเห็นต่าง ใช่เลย เราต้องยอมรับม็อบปิดเมือง ตั้งกรวย บุกพังประตูกองบัญชาการกองทัพบก บุกทำลายป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฯลฯ ว่าใช้สิทธิชุมนุมโดยสงบตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

แต่พอ “ไผ่ ดาวดิน” แจกเอกสารไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จัดรณรงค์ในมหาวิทยาลัย ก็ถูกจับกุมคุมขังนับต่อเนื่อง 18 วัน เพราะ “กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย” ครั้นอดข้าวไม่ประกันตัวเพราะถือว่าไม่ได้ทำผิด ก็ถูกพวกคนดีหาว่า “ดราม่า” เจตนาล้มรัฐบาล

84 ปีประชาธิปไตยมีรัฐประหาร 13 ครั้ง ทหารยึดอำนาจไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับคนไทย แต่รัฐประหาร 2 ครั้งหลังต่างจากอดีต ที่ตัวแทนคนชั้นกลางในเมือง สื่อ นักคิด นักวิชาการ ซึ่งเคลื่อนไหวประชาธิปไตยมา 30-40 ปี ทิ้งหลักการเข้าไปสนับสนุนรัฐประหาร แล้วช่วยกันบิดเบือนตรรกะเหตุผลจนวิปริต

คือถ้าเราจะปกครองระบบทหาร ใช้อำนาจเต็มใบ บอกประชาชนว่าเพื่อชาติบ้านเมืองต้องอยู่ใต้คำสั่ง 2-3 ปี ก็ไม่แปลกอะไร รัฐประหารคือการงดใช้หลักการเหตุผล งดใช้ระบอบ ใช้อำนาจคณะบุคคล “เว้ากันซื่อๆ” แบบนี้ดีกว่า ไม่ใช่อ้างประชาธิปไตยจนตรรกะวิบัติ

เพราะมันจะทำให้สังคมสับสน กลายเป็นสังคมไบโพลาร์ ไม่สามารถแยกแยะถูกผิด ไม่มีหลักยึด ว่าไปตามปัญหาเฉพาะหน้า ตามกระแส ตามดราม่า ซึ่งบางครั้งก็ไร้สติไร้สาระ

10 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยสร้างนวัตกรรมไบโพลาร์ กลบหลักจนแทบหาไม่เจอ อ้างนักการเมืองโกงชั่วเลว ต้อง “ปราบโกง” แต่ตีเช็คเปล่าให้การยึดอำนาจ ทหารสมัยก่อนทำรัฐประหารร่างรัฐธรรมนูญเสร็จประกาศใช้ทันที สมัยนี้ยืมรูปแบบประชาธิปไตย ลงประชามติ อ้างความชอบธรรม สมัยก่อนรัฐประหารยุบพรรค จับนักการเมือง แต่สมัยนี้ฉีกรัฐธรรมนูญแล้วยังใช้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญถอดถอนเอาผิดนักการเมือง โดยกลไกที่รัฐประหารตั้ง ฯลฯ

ความถูกต้องชอบธรรมในสังคมกำลังเบลอไปหมด การอ้างคุณธรรมความดีงามทำเพื่อชาติก็กำลังเบลอไปหมด แน่ละ ดร.โกร่งบอกว่าสังคมไทยอยู่ใต้ “วัฒนธรรมอ่อนละมุน” ไม่ยึดมั่นหลักการ ไม่ยึดมั่นตรรกะและเหตุผล แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นตรรกะวิปริตขนาดนี้

สังคมแบบนี้ทำนายไม่ได้จริงๆ ว่าจะเกิดอะไร รู้แต่ว่า 1 ปีกว่าข้างหน้า 5-6 ปีข้างหน้า อาการไบโพลาร์จะยิ่งกำเริบหนัก แต่ก็จะลากถูกันไปอย่างนี้แหละ วิถีไทย คนโง่ก็ต่อต้าน คนฉลาดก็รู้จักปรับตัวให้เป็นประโยชน์

.....