วันอังคาร, สิงหาคม 30, 2559

เรื่องท้าทายรัฐบาลทหาร คสช. ว่าจะ competent แค่ไหน



ได้เวลาพวกเห็บกอดขา คสช. ออกมาเสนอผลสำรวจกันใหม่ จากแหล่งตัวอย่างเดิมพันกว่าคน กับฐานข้อมูลเก่า บนสมมุติฐานที่ว่า

“กับการบริหารประเทศของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมุ่งหวังแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจให้กับประชาชนว่าสถานการณ์บ้านเมือง จะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น”

‘ดุสิตโพล’ กะ ‘โพลกรรณิกา’ เจ้าเก่า แนะทางทางออกแก้ปมติดปลัก ‘dilemma’ ความสง่างามให้บิ๊กตู่ เอาไงดีระหว่างตั้งพรรคเองกับเปรมโมเดล ที่จะเป็นนายกฯ หลังเลือกตั้ง

สวนดุสิตที่มักยกหางคณะรัฐประหารมาตั้งแต่อ้อนแต่ออกเสนอว่า ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลทหารของประยุทธ์ จันทร์โอชายังสูง

คือเมื่อเอาเชื่อ ‘มาก’ กับเชื่อ ‘มั่ง’ บวกกันแล้วจะได้ ๗๒ เปอร์เซ็นต์กว่าๆ ชี้แนะว่านักการเมืองพวกที่รอเลือกตั้งไม่มีทางวิเศษเท่า

(http://www.thairath.co.th/content/704279)

โดยอ้างเหตุจากผลงาน ๕ อันดับ ได้แก่ปราบทุจริตคอรัปชั่น (ยกเว้นราชภักดิ์ กับเรื่องระบบเสียงสำนักนายกฯ และเรื่องทหารผ่านศึกขุดลอกคลอง) มาตรการทวงคืนผืนป่า (เฉพาะทับเบิก) จัดระเบียบสังคม (สีลม ประตูน้ำ ป้อมพระกาฬ ฯลฯ) ปัญหาค้ามนุษย์ (เลื่อนจากขั้นต่ำสุดมาเป็นรองโหล่) และลดราคาพลังงาน (ได้ ๕๐ สตางค์ก็ยังดี)

ทั้งปวงเหล่านั้นคะแนนนิยมของทั่นผู้นั้มพ์อยู่ในระดับ ๗๕ เปอร์เซ็นต์ลงไปถึงต่ำสุดแค่ ๖๓

แล้วยังมีอีก ๕ อันดับสำหรับเร่งรัด (เป็นนัยแฝงเร้นว่าต้องให้ คสช. สานต่อไหมนี่) ได้แก่ เรื่องเศรษฐกิจ (ที่ยอมรับว่าบักโกรกมาก) เรื่องปากท้องค่าครองชีพ (อันนี้เขาอ้างว่าใช้นโยบาย ‘ประชารัฐ ๔.๐’ ที่จะต้องปรับปรุงคุณภาพประชาชนให้เป็น ‘พลเมือง ๔.๐’ เสียก่อน โดยอาศัยยุทธศาสตร์ ๒๐ ปี คสช.) เรื่องความสงบภาคใต้ (อันนี้ชัดเจน จะครบเดือนแล้วยังไม่ได้ตัวกลุ่มบึ้ม ๗ จังหวัด เพราะดันไปตั้งธงชี้หน้า ‘เสื้อแดง’ ไว้ก่อน)





และแก้ปัญหาเกษตร (ขายยางดาวอังคาร ปลูกหมามุ่ยแทนข้าว และปรับ ๑๐๐ บาทผักตบชวา นี่แค่แซมเปิ้ลสองสามอย่าง เบาะๆ)





ยังไม่พูดถึงสาธารณูปโภค งานหลักของการเป็นรัฐบาล ที่ตอนนี้หน้าฝน ที่ไหนที่ไหนก็น้ำท่วม น้ำบ่า น้ำป่าไหลเข้าเมือง น้ำล้นเข้าบ้านช่อง โรงเรียน แช่น้ำกันอยู่ (กรุงเทพฯ เรียกรอระบาย บ้านนอกเรียก ‘รอลด’ เรื่องเดียวกันคนละที่)

อีกเรื่อง ‘รถไฟฟ้า’ จะเร็วพอประมาณ เร็วปานกลาง หรือเร็วไม่สูงเท่าไหร่ก็ตาม จะสายหัวเมืองหรือในมหานคร ล้วนรอให้รัฐบาลแบบ คสช. เร่งรัดทั้งนั้น ไล่ไม่ทันความสูงของตึกมหานคร





ล่าสุดสายสีม่วงเส้นทางบางใหญ่ถึงบางซื่อเปิดบริการได้แค่ครึ่งเดือนกว่า ร้องจ้าแล้วว่าขาดทุนบรม ผู้โดยสารไม่มาตามเป้า ๘ หมื่นถึง ๑ แสน เอาจริงมีเพียง ๒ หมื่น รายได้วันละ ๖ แสนบาท รายจ่ายค่ารับจ้างบริหารวันละ ๓.๖ ล้านบาท

ทั่นผู้นั้มพ์ทำงานหนัก น่าจะคิดได้ตอนตีสอง ให้ลดราคาค่าโดยสารลง ๓๐ เปอร์เซ็นต์จาก ๔๒ บาทเหลือ ๒๙ บาท เริ่ม ๑ กันยานี้ดูซิว่าจะเพิ่มผู้โดยสารได้ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ไหม

แต่ก็นั่นแหละปัญหาไม่ได้อยู่เฉพาะที่ราคา เหตุใหญ่เป็นเพราะเส้นทางสั้นไป ยังไม่ต่อติดกับสายบางซื่อ-เตาปูน ซึ่งเชื่อมต่อกับสานสีน้ำเงินได้

“ทำให้ผู้โดยสารยุ่งยากเสียเวลา แถมต้องเสียค่าใช้จ่ายแพงขึ้น ประกอบกับรถตู้ยังเป็นคู่แข่งน่ากลัว ราคาใกล้เคียงกันแต่สะดวกกว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วงจึงไม่เป็นที่นิยม”

(http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php…)

ก็ช่วงเชื่อมต่อระหว่างสายบางใหญ่-บางซื่อกับบางซื่อ-เตาปูนแค่กิโลเดียว ไม่ยักทำให้เสร็จเสียแต่แรกก่อนเปิดเดินสายสีม่วง วิธีบริหารจัดการแบบเอาแต่สั่งลิ่วล้อ ‘ไปทำมา’ มันถึงได้ตะกุกตะกัก ‘hick up’ อย่างนี้

ยังมีเรื่องท้าทายสมรรถนะรัฐบาลทหาร คสช. อีกอย่าง ว่าจะ competent แค่ไหน





อยู่ที่ด้านสาธารณสุข เรื่องการติดต่อและแพร่ระบาดของไวรัสซิก้า ซึ่งศูนย์ป้องกันโรคติดต่อ หรือ ซีดีซี ของยุโรประบุแล้วว่าประเทศไทยอยู่ในเขตสีแดง มีกรณีการติดเชื้อแผ่ขยายเพิ่มขึ้น (นับได้ราว ๑๐๐ ราย)

ที่เชียงใหม่ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแจ้งว่า “พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสซิกา จำนวน ๗ ราย โดยรายแรกพบเมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน และล่าสุดพบเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคมที่ผ่านมา”

นางชลลิสา จริยาเลิศศักดิ์ ชี้แจงว่า “ได้ดำเนินการตามมาตรฐานการควบคุมโรคอย่างเข้มข้น ทั้งการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย การคัดกรองกลุ่มเสี่ยง”

(http://www.brighttv.co.th/…/news/เชียงใหม่ติดเชื้อไวรัสซิก้า ๗ ราย)

ตรงนี้แหละที่ท้าทาย การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย คงทำไม่ได้เต็มที่ในสภาพน้ำท่วมเช่นนี้ ใช่ว่าน้ำท่วมแล้วจะกวาดแหล่งเพาะพันธุ์หมดไป สภาพน้ำขังหลังน้ำท่วมจะทำให้แหล่งเพาะพันธุ์ยุงกลับมาใหม่ได้อย่างรวดเร็ว

แล้วถ้าซิก้าเกิดระบาดแพร่หลายมากขึ้นยิ่งกว่านี้ คสช. จะทำอย่างไร ใช้วิธีงัด ม.๔๔ สั่งพักงานผู้ว่าฯ จังหวัดที่มีน้ำท่วม น้ำบ่า อีกไหม