วันอาทิตย์, สิงหาคม 28, 2559

วิเคราะห์ต้นตอ-เหตุไฟใต้ปะทุ





ที่มา ข่าวสดออนไลน์
28 สิงหาคม พ.ศ. 2559


นับแต่เหตุระเบิด-วางเพลิง ใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน คาบเกี่ยวคืนวันที่ 11 ส.ค. ต่อเนื่องเช้าวันที่ 12 ส.ค. จนมาถึงเหตุระเบิดครั้งใหญ่อีกครั้งที่ จ.ปัตตานี

จนเกิดคำถามสถานการณ์ไฟใต้กลับมาปะทุอีกครั้งหรือ สาเหตุมาจากอะไร

มีความเห็นจากนักวิชาการ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และภาคประชาชน


ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ม.สงขลานครินทร์





สถานการณ์การก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดใช้แดนภาคใต้ จะพบว่าตลอดช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่เม.ย. เหตุการณ์มีจำนวนที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ยิ่งพอเข้าเดือนส.ค.ที่น่าจะเป็นครั้งแรกในรอบปีนี้ที่จำนวนเหตุการณ์เกิดขึ้นกว่า 100 ครั้ง แค่ 10 วันแรกของเดือนก็เกิดเหตุการณ์ไม่ต่ำกว่า 80 ครั้ง อัตราเหตุการณ์ที่เกิดแกว่งขึ้นแกว่งลง เดือนหน้าอาจมีจำนวนลดลงหรือไม่ก็ยังไม่ทราบได้

แน่นอนว่าการพูดคุยเจรจาสันติภาพซึ่งถือเป็นนโยบายของรัฐบาลยังมีการดำเนินการอยู่ ยังมีความต่อเนื่องและยังไม่น่าสะดุด เพียงแต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นอาจเกิดจากปัญหาในเชิงเทคนิคระหว่างที่มีการพูดคุยเจรจาสันติภาพ

อย่างเช่นการเรียกชื่อกลุ่มขบวนการมาราปาตานี ที่ในทีโออาร์หรือเอกสารประกอบการเจรจายังไม่มีการระบุชื่อกลุ่มขบวนการ มีแต่เพียงการเรียกปาร์ตี้เอ ปาร์ตี้บี

สิ่งเหล่านี้อาจทำให้เป็นประเด็นที่ติดขัด ในแง่ของการยอมรับที่ฝ่ายที่เห็นต่างกับรัฐมองว่ารัฐบาลไทยยังไม่ให้การยอมรับในการมีอยู่ของขบวนการนี้

ซึ่งถ้ามองในมุมของรัฐบาลการไม่ระบุชื่อกลุ่มให้ชัดนั้นกลัวว่าจะเป็นการขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ

แต่ปัญหาเหล่านี้มีวิธีการแก้ไขและมีทางออก เช่น การใส่ไว้ในเชิงอรรถ หรือความพยายามที่ทำให้เงื่อนไขการเจรจายืดหยุ่นมากขึ้น แม้อาจไม่ใช่การยอมรับโดยตรง ไม่ต้องทำในแง่ของกฎหมาย ก็จะมีส่วนช่วยในการทำให้ปัญหาคลี่คลายเพราะอีกฝ่ายต้องการให้ยอมรับในเรื่องของสถานภาพ

ต้องอย่าลืมว่าฝ่ายกระบวนการนั้นมีหลายกลุ่มมาเข้าร่วม ความละเอียดอ่อนจึงมีสูง เพียงแค่พยายามทำให้การเจรจามีรูปธรรมแสดงให้เห็นความตั้งใจและมีความยืดหยุ่นต่อเงื่อนไขบางประการก็อาจทำให้การก่อเหตุลดน้อยลง เพราะภาพรวมทุกฝ่ายก็ยังเห็นตรงกันว่าการเจรจาพูดคุยสันติภาพยังมีความต่อเนื่อง

ส่วนผลประชามติรัฐธรรมนูญที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เห็นชอบ เป็นคนละประเด็นกับการก่อเหตุ รัฐธรรมนูญที่ถูกวิจารณ์คือเรื่องของศาสนา การที่คสช.ใช้มาตรา 44 คุ้มครองทุกศาสนาถือว่าส่งผลบวก คำสั่งนี้ออกมาช่วยได้มากเพราะสร้างความเข้าใจต่อผู้นำศาสนาในพื้นที่

ดังนั้น ประเด็นหลักที่ควรคำนึงคือการพูดคุยเจรจาว่าอะไรที่ยังเป็นปัญหาก็ต้องแก้ไข ส่วนประเด็นอื่นๆ หรือสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญก็อาจเป็นประเด็นรองในการพูดคุยหลังจากที่ทั้งสองฝ่ายทำเรื่องหลักให้เกิดความชัดเจนแล้ว


ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ
อดีตประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้





จากการติดตามข้อมูลเชื่อว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นมีบทบาทกับเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เพราะกลุ่มนี้เป็นองค์กรลับที่แสดงบทบาท ทั้งทางการเมืองและทางการทหาร ซึ่งในทางการทหารเป็นการแสดงออกเพื่อให้เปิดเงื่อนไขทางการเมือง

ที่ช่วงนี้เหตุการณ์ปะทุขึ้นมาอีกหลังจากที่ก่อนหน้านี้ดูเหมือนจะซาลงบ้างแล้วนั้น ประเมินว่าเป็นการวางเกมทางการเมือง เพื่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่มผู้ยึดอำนาจ

วิเคราะห์จากจังหวะเวลาหลังทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ก็มีเหตุระเบิดตามพื้นที่ต่างๆ ขึ้น ทำให้ดูเหมือนว่ากลุ่มการเมืองเป็นฝ่ายกระทำ เพื่อต้องการให้เกิดความระแวงระหว่างกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่มผู้ยึดอำนาจ หวังให้ทะเลาะกัน ทำให้เกิดความอ่อนแอในสังคม เกิดความขัดแย้งกันทางการเมือง

การลงมือลักษณะดังกล่าว กลุ่มก่อเหตุได้ประโยชน์ตรงที่เขาทำให้เห็นว่าเครือข่ายของเขาไปที่ไหนพื้นที่ไหนก็ได้ หากรัฐยังไม่นำพากระบวนการสร้างสันติสุขก็จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้เรื่อยๆ และเขาจะขยายวงได้อีก

ทั้งนี้ กรณีพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญกับเหตุรุนแรงต่างๆ ไม่เกี่ยวข้องกัน แต่อย่างที่บอกว่าเป็นเรื่องของการชิงจังหวะเวลาในการก่อเหตุ

แนวทางเจรจาซึ่งเป็นกระบวนการที่ควรต้องทำนั้น ส่วนตัวเห็นว่ารัฐไม่ได้ให้ความสำคัญในกระบวนการเจรจาอย่างที่ควรจะเป็น ไม่เห็นถึงความก้าวหน้าใดๆ ซึ่งช่วงแรกเหมือนจะให้ความสำคัญมีเรื่องของการวางโครงสร้าง แต่สุดท้ายก็ไม่ได้จริงจังในการปฏิบัติ

ปัญหาสำคัญอีกประการ คือ การที่แต่ละฝ่ายทั้งฝ่ายปกครอง คสช. และฝ่ายปฏิบัติการถือข้อมูลกันคนละชุดและไม่มีการแชร์กัน ซึ่งต้องเร่งสร้างเอกภาพทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร
อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)





เค้าลางเริ่มต้นจากการเจรจาสันติภาพต้องชะงักลงเมื่อปลายเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา จนนำไปสู่เหตุเผาและระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ ระหว่างวันที่ 10-12 ส.ค. ก่อนจะเจอเหตุล่าสุดที่ จ.ปัตตานี ทั้งหมดเป็นภาพต่อเนื่อง เป็นรูปการณ์เดียวกัน

การใช้ระเบิดที่รุนแรงที่สุดในรอบ 12 ปี สะท้อนถึงพัฒนาการของกลุ่มก่อเหตุ ในแง่กระบวนการ ตลอดจนเทคโนโลยี ที่น่าจะเป็นฝีมือของคนรุ่นใหม่

กลุ่มก่อเหตุที่มีศักยภาพมากที่สุดคือ บีอาร์เอ็น มีลักษณะเวลาทำแล้วจะไม่ออกมาเคลม เป้าหมายจะอยู่ที่สร้างความพร่ามัวให้กับแก่ภาครัฐมากที่สุด ให้เกิดความหวาดระแวงกันเองสำหรับการเมืองภายใน เพื่ออำนาจรัฐจะได้อ่อนแอ

เช่น การเลือกวันลงมือ ระหว่างวันที่ 10-12 ส.ค. ก็เพื่อทำให้เกิดความปั่นป่วนว่าฝีมือใคร เนื่องจากมันเกิดหลังวันออกเสียงประชามติ และคาบเกี่ยววันสำคัญของชาติ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุไม่สงบต่อเนื่องเกิดจากปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาตรการเจรจาเพื่อสันติภาพต้องดำเนินต่อไป เห็นจากสัญญาณที่เริ่มมาจากข่าวทางฝั่งของมาเลเซียปูดมาก่อนว่า วันที่ 2 ก.ย. รัฐบาลไทยจะกลับมาสู่โต๊ะเจรจาอีกครั้ง

ทว่าฝ่ายความมั่นคงของเรากลับไม่แสดงท่าทีชัดเจน ทั้งยังระบุว่าถ้าไม่เลิกระเบิดก็จะไม่คุย ก็นำมาสู่เหตุระเบิดปัตตานีครั้งใหญ่

ระหว่างเหตุรุนแรงกับการเจรจา รัฐบาลต้องแยกสิ่งเหล่านี้ออกจากกัน ในการศึกสงครามกองทัพก็เผชิญหน้ากันไป ส่วนทีมเจรจาก็จะต้องเจรจากันไป ต้นแบบการแก้ปัญหาความไม่สงบทั่วโลก เหตุรุนแรงก็ไม่ได้ยุติทันทีแต่มันจะค่อยคลี่คลายลงก็ต่อเมื่อทั้ง 2 ฝ่าย เริ่มหาเงื่อนไขข้อตกลงร่วมกันได้จนเป็นที่พอใจ ซึ่งต้องใช้เวลาสักระยะไม่ใช่หยุดทันที

ยิ่งความซับซ้อนปัญหาชายแดนใต้ตอนนี้ ก็บ่งชี้ว่ามีความหลากหลาย เกิดกลุ่มใหม่แตกออกมาเพิ่มขึ้น มาตรการทางการทหารและการเจรจาจึงต้องทำคู่ขนานกันไป

ที่สำคัญคือ ทัศนคติก่อนการพูดคุยต้องเลิกตั้งแง่ว่านี่ตัวจริงหรือตัวปลอม โจรหรือไม่ใช่โจร ให้สนใจแต่เพียงว่าคุยกับใคร ข้อเสนอเพื่อนำไปการคลี่คลายปัญหา พาประเทศสู่สันติสุขคืออะไร

ข้อห่วงกังวลอีกอย่างหนึ่งของเราคือเราจะเสียหน้าหรือเสียเหลี่ยมอะไรไม่ได้เลย จึงไม่สื่อสารความจริงออกมาให้ประชาชนตระหนักและรับรู้ ปัญหามันก็จะตกไปอยู่ที่ประชาชนเอง โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ส่วนกรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญไม่เกี่ยวกับเหตุรุนแรง แต่เรื่องนี้สะท้อนว่าคนที่อยู่ซีกกลาง มีอุดมการณ์และองค์ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชาติพันธุ์และศาสนาที่ถูกกดทับมาอย่างยาวนาน ด้วยความเข้มแข็งของประชาสังคมทำให้ผลออกมาว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และมีแถลงการณ์ต่อเนื่อง

การใช้มาตรา 44 เพื่อปรับเปลี่ยนเนื้อหาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับศาสนาจะใช้ได้ระดับหนึ่ง แต่ปัญหามันจะเกิดขึ้นอีกเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้ และไม่มีคสช.อยู่