รายงาน: เกิดอะไรกับ 'อีสาน' บทสำรวจหลังรู้ผลประชามติ
Wed, 2016-08-24 22:14
ทีมข่าวการเมือง
ประชาไท
ชวนท่องเที่ยวสกลนคร อุดร ขอนแก่น คุยกับอดีตส.ส. ชาวบ้าน คนเสื้อแดง แกนนนำนปช. และนักศึกษา ถามไถ่สถานการณ์ประชามติที่ผ่านมา พวกเขาเจอกับมาตรการอะไรบ้างของรัฐ หาคำตอบว่าทำไมผลคะแนนภาคอีสานจึงออกมาผิดคาด
ผลคะแนนประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 สร้างความ ‘เซอร์ไพร์ส’ ให้ฝ่ายไม่รับร่างพอสมควร เนื่องจากคะแนนรวมนั้นไม่สูสีให้ได้ลุ้นกันดังคาด
"ผู้มีสิทธิทั้งหมด 50,071,589 คน มีผู้มาใช้สิทธิ 29,740,677 คน คิดเป็น 59.4%
1. เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฯ ทั้งฉบับหรือไม่
เห็นชอบ 16,820,402 เสียง (61.35%) ไม่เห็นชอบ 10,598,037 เสียง (38.65%)
2. คำถามพ่วง ให้ ส.ว.สรรหาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีกับ ส.ส.ในช่วง 5 ปีแรก
เห็นชอบ 15,132,050 (58.07%) ไม่เห็นชอบ 10,926,648 เสียง (41.93%)"
แม้สถานการณ์ก่อนการประชามติจะมีการจำกัดสิทธิ ข่มขู่ คุกคาม ดำเนินคดีกับผู้แสดงความเห็นต่างจากรัฐจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ลึกๆ ผู้คนก็ยังหวังกับพลัง NO ของผู้ไม่รับรัฐธรรมนูญและผู้ไม่ยอมรับรัฐประหารว่าจะยังสามารถแสดงผลได้แข็งแกร่งท่ามกลางการกดทับสารพัด โดยพิจารณาจากคะแนนโหวตโนของการลงประชามติปี 2550 และฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยกลุ่มใหญ่ในภาคอีสานและเหนือ
เมื่อพิจารณาผลคะแนนละเอียดก็ยิ่งเกิดข้อกังขาว่า เหตุใดภาคอีสานและเหนือจึงมีคะแนนเสียงรับและไม่รับใกล้เคียงกันมาก หลายจังหวัดคะแนน ‘ไม่รับ’ นั้นห่างจาก ‘รับ’ ไม่ถึง 10% ทั้งที่เมื่อปี 2550 ในพื้นที่อีสานและเหนือคะแนนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้นชนะทิ้งห่างถึง 2-3 เท่าตัว
เราลงพื้นที่อีสานเพื่อพูดคุยกับผู้คนในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น สกลนคร อุดรธานี ขอนแก่น เพื่อสุ่มสำรวจสถานการณ์จริงในพื้นที่อีสาน
การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ของ ‘ศูนย์ปราบโกง’ สู้ยิบตาขอแค่ขึ้นป้ายถ่ายรูป
แม้จะรู้ดีว่า ส.ส.ในพื้นที่ต่างโดนสกัดและจับตาอย่างหนัก แต่ ภริตพร หงส์ธนิธร หรือ ดีเจเก่ง แกนนำนปช.อุดรธานี ก็ยังแสดงความผิดหวังในบทบาท ส.ส.เพื่อไทย
“มันก็โดนกดกันทั้งนั้น แต่ก็ต้องพยายาม ไม่ใช่อยู่เฉยๆ เรามองว่าถึงไม่มีอะไรกดหัว คุณก็ไม่ทำอยู่แล้ว พอ คสช.คุมก็เข้าทางเลย ประชาชนก็ต้องช่วยเหลือตัวเอง เข้าไร่มันเข้านาคุยกันเอง”
ภริตพรและบรรดาป้าๆ ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดอุดรธานี คือ กลุ่มผู้พยายามเปิดศูนย์ปราบโกง ซึ่งเป็นแนวทางหลักที่ นปช.ส่วนกลางพยายามให้เกิดขึ้นทั่วประเทศเพื่อเป็นศูนย์รวมจับตาประชามติ แต่สุดท้ายกลับจบด้วยการที่ชาวบ้านถูกจับกุมแจ้งข้อกล่าวหา ทำให้ต้องเสียเงินค่าปรับหรือมีคดีติดตัวกันหลายพื้นที่
“จริงๆ นปช.ก็ส่งสัญญาณมาแล้วว่าจะไม่เปิดก็ได้ แต่เราคิดว่าเราต้องเปิด นปช.ไม่ดูแลเราก็ดูแลตัวเองได้ เพราะเราเลือกเอง หลายจังหวัดเขาแคนเซิลแล้ว แต่เราคิดว่ามันต้องทำ เพื่อแสดงให้เห็นว่าอุดรยังมีผู้รักประชาธิไตยที่จะต่อสู้ เรารู้ว่าอาจบาดเจ็บแต่ก็รับสภาพ” ภริตพรกล่าว
การเปิดศูนย์ปราบโกงโดยกลุ่มชาวบ้านกลายเป็นปัญหาความมั่นคงระดับต้นๆ ในพื้นที่ต่างจังหวัด แม่แตงอ่อน และ แม่หนูพิณ สองชาวบ้านวัย 60 ปีเป็นแกนนำในหมู่บ้านที่กระตือรือร้นอย่างยิ่ง พวกเธอร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มคนเสื้อแดงมาตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 เมื่อถึงศึกประชามติพวกเธอยังคงพยายามรณรงค์โหวตโนและเปิดศูนย์ปราบโกง แต่ทหารและตำรวจก็ทราบเรื่องและติดตามแบบใกล้ชิด
แม่แตงอ่อน เล่าว่า มีทหารและตำรวจเกือบสิบนายมาเฝ้าเธอที่บ้านเป็นเดือนก่อนประชามติ และช่วง 3 วันก่อนการเปิดศูนย์ปราบโกงทั่วประเทศที่มีกำหนดในวันที่ 19 มิ.ย.เจ้าหน้าที่แทบจะมานอนค้างที่บ้านเลยทีเดียว ก่อนหน้านี้พวกเธอใช้กลวิธีปากต่อปากบอกชาวบ้านให้โหวตโน แต่ไม่สามารถประชุมพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ เธออาศัยทำนาฟรีให้ชาวบ้าน “ดำนาไปก็คุยไปว่าอย่าไปรับ”
เธอเล่าว่า วันที่ 16-19 มิ.ย.นั้น ทหารตำรวจมาที่บ้าน 2-3 คันรถ เฝ้าตั้งแต่เที่ยงถึง 3 ทุ่ม ก่อนหน้านี้วันที่ 15-16 มิ.ย.แกนนำชาวบ้านในพื้นที่ถูกเรียกเข้าค่ายทหาร โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายปกครองและฝ่ายความมั่นคงพยายามพูดคุยขอไม่ให้เปิดศูนย์ปราบโกง แตงอ่อน หนูพิณ ภริตพร และอีกหลายคนถูกเรียกเข้าไปขอความร่วมมือ
“เราไม่ได้รับปากเขา ก็แค่บอกว่า ‘จะพยายามค่ะ’ จริงๆ คือ เราจะพยายามเปิดให้ได้น่ะ” ภริตพรพูดจบก็เรียกเสียงฮาครืนทั้งวงคุย
จากนั้นชาวบ้านทั้งหมด 5-6 คนที่ล้อมวงอยู่ก็ช่วยกันเล่าถึงมาตรการหลอกล่อเจ้าหน้าที่เพื่อหลบหนีการเฝ้าติดตามเพื่อไปเปิดศูนย์ปราบโกงให้สำเร็จลุล่วง แม่แตงอ่อนออกจากบ้านแต่เช้าก่อนทหารตำรวจมาเฝ้า คนในหมู่บ้านแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งไปนั่งเล่นที่บ้านแกนนำคนหนึ่งที่ทหารคาดว่าจะเป็นแหล่งเปิดศูนย์ปราบโกง ขณะที่อีกขบวนไปอีกที่หนึ่ง ที่นั่นมีชาวบ้านจากหมู่บ้านต่างๆ มารวมกันราว 70-80 คน หลังการปราศรัยเล็กน้อยก็ “ขึ้นป้าย” ถ่ายรูปร่วมกันแล้วโพสต์ขึ้นเฟซบุ๊ก เป็นอันเสร็จพิธี แน่นอน เมื่อปรากฏภาพข่าว เธอโดนจับตาหนักจนกระทั่งวันลงประชามติล่วงพ้น
“ไปนาก็ไป ไปเลี้ยงวัวก็ไปนำ” (ไปนาก็ไป ไปเลี้ยงวัวก็ไปด้วย) แม่แตงอ่อนเล่าถึงสภาพที่เจ้าหน้าที่รัฐประกบเธออย่างใกล้ชิด
หลังการเปิดศูนย์ปราบโกงในครั้งนั้นแกนนำอุดรธานีโดนดำเนินคดี 4 คนรวมถึงภริตพรด้วย ทั้งหมดประกันตัวออกมาสู้คดี ขณะที่อีก 19 คนไม่มีคดีติดตัวเพราะยินยอมไปรับการปรับทัศนคติกับเจ้าหน้าที่ทหาร
ภริตพรบอกว่าในภาคอีสานนั้นมีชาวบ้านถูกแจ้งข้อหาผิดพ.ร.บ.ประชามติจนต้องต่อสู้คดีในหลายจังหวัด อาทิ หนองบัวลำภู 3 คน, สกลนคร 22 คน, สุรินทร์ 17 คน นครพนม 1 คน
สำหรับเรื่องครู ค.ที่ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชาวบ้านนั้น ชาวบ้านบอกว่าไม่ค่อยได้ลงพื้นที่มากนัก เพราะมักจะตอบคำถามชาวบ้านไม่ได้
“เขาอ่านจุลสาร กกต.ไม่เข้าใจ บางบ้านได้ บางบ้านไม่ได้ แต่ร่างรัฐธรรมนูญเล่มใหญ่นี่ไม่ได้เลย แล้วเวลาก็ไม่เพียงพอที่จะอ่าน ครู ค.เขาต้องเดินให้ความรู้ตามบ้าน แต่ก็ไม่ได้พูดอะไรมาก ชาวบ้านถามอะไรก็ตอบไม่ค่อยได้ หลังๆ เลยไม่ค่อยมา” ลุงคนหนึ่งในกลุ่มเล่า
“ที่คะแนนสูสีกันก็เพราะผู้นำหมู่บ้านเขาบอกว่าให้รับไปก่อน คสช.จะได้ไป รับแล้วสิ่งต่างๆ ที่เคยได้ก็ยังได้เหมือนเดิม แต่ถ้าเราไม่รับ คสช.จะคุมยาว แล้วยังมีข่าวเสนอขึ้นเงินเดือนผู้ใหญ่บ้านนายอำเภอในพื้นที่อีก” ลุงคนเดิมกล่าว และว่า “ผมไม่คิดว่าคะแนนชนะเยอะนะ ถ้าต่างฝ่ายต่างรณรงค์ได้ ทุกคนก็จะยอมรับความพ่ายแพ้ แต่นี่ขยับอะไรไม่ได้เลยยังได้คะแนนเยอะขนาดนี้”
สำหรับวันลงประชามติ ชาวบ้านกลุ่มนี้ก็ไปเฝ้าหน่วยลงคะแนนของตนเอง
“ลูกชายแม่แตงเป็นคณะกรรมการประจำหน่วย แม่แตงแกก็ไปเฝ้าหน่วย แกใส่เสื้อศูนย์ปราบโกงไปเฝ้าด้วย แล้วบอกลูกว่า ถ้ามึงมีอะไรตุกติกล่ะก็ มึงโดนนนนน” ภริตพรลากเสียงยาวในคำสุดท้ายเรียกเสียงฮาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนการเฝ้าสังเกตการณ์หน่วยลงคะแนนนั้นก็มีผู้คนร่วมอย่างจริงจังจำนวนน้อย และไม่มีรวบรวมข้อมูลเป็นกิจลักษณะ ต่างจากการเลือกตั้งทั่วไป
กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมยังพอขยับได้ รธน.ผ่านไม่ผ่านก็ต้องสู้คือเก่า
ขณะที่กลุ่มกิจกรรมทางการเมืองถูกบล็อคอย่างหนัก แต่แม่มณี บุญรอด แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ซึ่งต่อต้านโครงการเหมืองโปแตชมายาวนาน เล่าว่า หลังรัฐประหารเป็นต้นมาพวกเขายังคงพอเคลื่อนไหวจัดชุมนุมได้โดยไม่โดนคดี และยังคงสู้อย่างต่อเนื่องในการคัดค้านเหมือง อย่างไรก็ตาม สำหรับเรื่องประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ทางกลุ่มไม่ได้นำเรื่องนี้มาหารือในกลุ่ม เนื่องจากเห็นว่าไม่ว่าอำนาจรัฐจะอยู่ในมือใคร ประชาชนอย่างพวกเขาก็ต้องต่อสู้เพื่อสิทธิชุมนุมอย่างหนักเช่นเดิม
“เราไม่ได้เอาเรื่องนี้มาพูดคุยกันเลย แต่รู้ในสันดานหัวใจกลุ่มสีเขียวด้วยกันเอง การต่อสู้ของเราไม่ขึ้นตรงกับภาครัฐ และไม่เชื่อว่าใครจะดี แม่ไม่ไว้ในมนุษย์คนไหน สิทธิเราเอาไปไว้กับคนอื่นไม่ได้ เอาไว้กับเจ้านายไม่ได้”
“ผ่านก็เรื่องของเขา เฮาก็สู้คือเก่า ผู้ใด๋มาก็คือเก่า จะว่าดีก็บ่ได้เต็มปาก จะว่าบ่ดีก็บ่ได้เต็มปาก” แม่มณีว่า
อย่างไรก็ตาม ในฐานะสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล 5 สมัย เธอเล่าว่า สมาชิก อบต.ไม่ว่าที่ไหน ส่วนใหญ่นั้นอยากรับร่างรัฐธรรมนูญทั้งนั้น บางคนก็ชอบที่ได้อยู่ในตำแหน่งไปเรื่อยๆ บางคนก็ว่ารับเพราะสงบดี ไม่มีเสื้อแดงก่อความวุ่นวาย แต่เธอเล่าสั้นๆ ว่าเธอตอบโต้พวกเดียวกันเองไปว่า “กูบ่ออยากอยู่ กูขี้เดียด”
อย่างไรก็ตาม หน่วยออกเสียงในหมู่บ้านของเธอนั้นคะแนนไม่รับร่างชนะ แม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญเล่มใหญ่จะไม่ได้ส่งถึงบ้านใครเลยก็ตาม
“ไม่มีใครได้สักคน มีแม่แหละได้คนเดียว ทหารเอามาให้เองเลย คนเดียวในหมู่บ้าน นี่นั่งอ่านนั่งขีดทุกมาตรา สิทธิชุมชนนี่หายไปเลย” แม่มณีกล่าว
ลุงน้อยและคดีส่งไก่ย่าง “สนับสนุนการเปิดศูนย์ปราบโกง”
“แกนนำในพื้นที่โดนโทรตามเช้าเย็น ไปซื้อของก็โทรตาม รำคาญมาก เขาไม่ให้ลงพื้นที่ได้เลย จะไปชี้แจงกับประชาชนอะไรซักนิดก็ไม่ได้ ไม่อย่างนั้นผลก็คงไม่ออกมาแบบนี้” ลุงน้อย หัวคะแนน ส.ส.คนหนึ่งและแกนนำคนเสื้อแดงในจังหวัดสกลนครเล่า
ลุงน้อยเคลื่อนไหวมานาน ปี 2553 นั้นถึงกับเลิกขายไก่ไปชุมนุม 2 เดือนเต็มที่กรุงเทพฯ เขาเล่าว่าแต่ก่อนไม่ได้สนใจการเมืองมากนัก จนกระทั่งรู้สึกว่าการเคลื่อนไหวของอีกฝ่ายไม่น่าจะถูกต้อง พอเข้ากรุงเทพฯ ได้เห็นคนเสื้อแดงเลยเข้าร่วมตั้งแต่นั้นมา หลังการรัฐประหาร 2557 เขาโดนเรียกเข้าค่ายทหารหนึ่งครั้งแล้วก็ไม่เคลื่อนไหวอะไรอีก จนกระทั่งได้ข่าวว่าจะมีการตั้งศูนย์ปราบโกงจึงคิดเข้าร่วม
“ผมก็ถือคติว่าสู้ด้วยสันติวิธี ไม่เคยคิดเรื่องความรุนแรงเลย นี่ก็เป็นทางสันติ คนรู้จักกันเขาก็บอกว่าหยุดเคลื่อนไหวก่อนเถอะไม่ใช่เวลา จะให้หยุดยังไง เหลือคนเดียวผมก็จะเคลื่อน” ลุงน้อยกล่าว
วันที่ 19 มิ.ย.ซึ่งเป็นกำหนดเปิดศูนย์ปราบโกงที่อำเภอสว่างแดนดิน ลุงน้อยตั้งใจจะไปร่วม แต่วันที่ 17 มิ.ย.ทหารประมาณ 50 กว่าคนบุกมาพูดคุยที่บ้าน วันต่อมาทางกรุงเทพฯ โทรมาแจ้งให้ยกเลิกกิจกรรมได้เลยหากมีปัญหา
เมื่อถึงวันที่ 19 มิ.ย.ทหารโทรเช็คแกแต่เช้า จึงได้แจ้งทหารไปว่าทางกรุงเทพฯ ให้ยุติกิจกรรมแล้ว แต่แล้ว “ตาภู” เพื่อนของแกก็โทรมาสั่งไก่ย่างให้ไปส่งที่อำเภอส่องดาว
“ผมก็คิดว่าเลิกล้มกันแล้วที่สว่างแดนดิน ผมก็เตรียมไปส่งไก่ให้ตาภู กอ.รมน.ก็โทรมาอีก ถามว่าลุงน้อยอยู่ไหน ผมก็บอกเขาว่ากำลังจะไปส่งไก่ที่ส่องดาวครับ เขาสั่งไก่ 10 ตัว ทีนี้ทหารก็ตามเลย ไปส่งที่สวนยาง เข้าไปก็มีผม ตาวีคนขับรถ แล้วก็ตาภู แพ็พเดียว ทหาร 5 คันรถเต็มสวนยางเลย โอ๊ย แล้วตั้งข้อหายังไงรู้มั้ย ผู้สนับสนุนการชุมนุมเกิน 5 คนในการเปิดศูนย์ปราบโก ผมโดนกันหมด 3 คน แล้วยังมีชาวบ้านอีก 21 คนด้วย คนพวกนี้คือเขาได้ยินข่าวเรื่องเปิดศูนย์เขาก็มา ทีนี้มันไม่มีการเปิดศูนย์แล้วแต่ยกเลิกกันกระทันหัน เขามากันแล้ว คนประสานก็เลยสั่งไก่ไปเลี้ยง มันจะไปเปิดศูนย์ยังไงป้ายเป้ยก็ไม่ได้ติดเลย พวกชาวบ้านนี่ตำรวจก็ไปตามจับเอาทีหลังใช้เวลาเกือบ 10 วัน ผมไปส่องดาวมาแล้ว 9 เที่ยวตำรวจให้ไปให้ข้อมูล” ลุงน้อยเล่า
เมื่อถามว่าทำไมคะแนนจึงออกมาเช่นนี้ ลุงน้อยเล่าว่า “ผมลงพื้นที่ ช่วงแรกๆ ที่หลบทหารได้ ไปสำรวจดู ชาวบ้านเขาบอกว่า พวกผู้ใหญ่บ้านกำนันลงเป็นบ้านๆ ไป ไม่ได้ไปทุกบ้านหรอก พวกนั้นบอกว่า เขาก็ไม่ชอบเหมือนกันรัฐบาลนี้ ถ้าเรารับมันจะไปเร็ว ไม่อย่างนั้นมันต้องอยู่กับเราไปอีก 20 ปี นี่แหละปัญหาที่มันเกิดขึ้น ชาวบ้านเขาไม่ชอบ คสช.ทั้งนั้น แต่โดนหลอกแบบนี้”
“วันใกล้ๆ ประชามติ เขาเอารถมารับกำนันผู้ใหญ่บ้าน 5 ตำบลเข้าค่ายทหารเลย ก็ไม่รู้ว่าเขาไปทำอะไร ตอนแรกคิดว่าจะสูสี แต่เห็นว่าโดนล็อคขนาดนี้คงพลิกแน่ๆ แล้วผลก็ออกมาอย่างนั้นจริงๆ ถ้าเราไม่ได้ลงพื้นที่เลยแบบนี้มันไม่มีทางสู้เขาได้ ตอนผลออก ผมนอนดูทีวีจนตีห้าจนทีวีบอกว่าวันนี้ขอยุติรายการก่อน”
“พรรคเคลื่อนไหวช้ามาก นปช.เร็วกว่า แต่พวกเราแกนชาวบ้านน่ะพยายามเคลื่อนตลอดอยู่แล้ว แล้วพรรคก็แถลงสื่อออกมาตามทีวี คิดว่าชาวบ้านเขาจะรู้ ไม่ เขาไม่ได้ดูข่าวทีวีกัน รู้ก็นิดเดียว มันต้องอาศัยแกนพื้นที่เป็นหลักเหมือนหาเสียง ส.ส. แต่ทีนี้ผมจะทำอะไรมันก็ทำไม่ได้ ทหารเขาโทรมาตลอดทุกวัน มาหาที่บ้านด้วย บางทีไปไหนผมยังต้องถ่ายรูปส่งให้เจ้าหน้าที่เขาเลยว่าไปไหน ทำอะไร มันขนาดนั้น” ลุงน้อยว่า และดูเหมือนการแสดงออกเดียวที่แกต่อรองกับฝ่ายความมั่นคงและรักษาไว้ได้ก็คือ ผ้ากันเปื้อนตาสว่างและเสื้อสีแดงของแก
ส.ส.ขยับไม่ได้ กลไลมหาดไทยทำงานได้ผล
อดีต ส.ส.ใหม่หมาดของสกลนครคนหนึ่งที่ถูกพรากตำแหน่งไปโดยการรัฐประหาร พ.ค. 2557 วิเคราะห์ว่า ความพ่ายแพ้ครั้งนี้มาจาก 1.“ความไม่ชัดเจน” ต่างๆ ที่คสช.สร้างขึ้น เช่น พ.ร.บ.ประชามติที่ถูกใช้ดำเนินคดีแบบตีความกว้างขวาง ความไม่ชัดเจนว่าหากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะไปในทางใดต่อ รวมถึงความไม่ชัดเจนเพียงพอของพรรคเพื่อไทย 2. กลไกมหาดไทย เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีอิทธิพลสูงในช่วงเวลาที่ไม่ชัดเจนนี้ 3.สภาพความอ่อนล้า เบื่อหน่าย อยากพ้นสภาพปัจจุบันให้เร็วที่สุดของมวลชน
เขาเล่าสถานการณ์ว่า ส.ส.ในพื้นที่ “ขยับไม่ได้” และค่อนข้างหวาดกลัวผลกระทบ กลัวโดนดำเนินคดี กลัวโดนตัดสิทธิทางการเมือง ที่สำคัญก่อนหน้าวันลงประชามติ มีการเรียกส.ส.ในพื้นที่ทั้งหมดเข้าค่ายทหารเพื่อขอความร่วมมือไม่ให้เคลื่อนไหวใดๆ ขณะที่พรรคเพื่อไทยขยับค่อนข้างช้ามาก กว่าจะเรียกประชุมถึงทิศทางหรือยุทธศาสตร์เกี่ยวกับประชามติ
“ปัจจัยสำคัญอีกอย่างคือ งบประมาณสารพัดที่ลงมาในพื้นที่ ทั้ง SMEs OTOP อะไรต่างๆ ครั้นส.ส.จะไปพูดขัด ชาวบ้านก็จะมองไม่ดี เหมือนไปขวางการได้งบเขา มีบางพื้นที่ที่มีรายงานกระทั่งว่ามีข่าวว่าเงินหมู่บ้านสองแสนอาจจะไม่ได้ ถ้าคนไปใช้สิทธิน้อยและคะแนนรับร่างออกมาน้อย หลายคนต้องไปการับโดยตัวเองก็ไม่อยากรับ แต่เป็นญาติผู้ใหญ่บ้านอยู่ครึ่งหมู่บ้าน มันก็ต้องช่วยๆ กัน”
อดีตส.ส.ยังอธิบายเพิ่มว่า ว่า ขณะที่ฝ่ายการเมืองไม่กล้าขยับ กลไกของมหาดไทยอย่าง ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน กลับทำหน้าที่อย่างได้ผล
“กลไกมหาดไทยที่เขาใช้ก็ได้ผล คิดว่าครั้งนี้มันเป็นการทดลองการใช้เครื่องมือของเขา เขามีสิทธิลอง ไม่มีอะไรเสียหาย ถ้าผิดก็ลองใหม่ ไม่ผ่านเขาก็ร่างใหม่ แต่ตอนนี้เขารู้แล้วล่ะว่าเครื่องมือนี้ใช้ได้ เขาได้สูตรแล้ว”
“สภาพของชาวบ้านคือแทบไม่รู้ข้อมูลอะไรเลยเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญนี้ แล้วเขาก็อยากพ้นสภาพนี้ไปเร็วๆ พวกผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ทหารที่ลงพื้นที่ก็บอกชาวบ้านว่า ถ้ารับร่างนี้เขาจะได้ไปเสียที”
ข้อวิเคราะห์เรื่องกลไกของกระทรวงมหาดไทยนั้นน่าจะมีน้ำนหนักอยู่ไม่น้อย เนื่องจากหลังรัฐประหาร คสช.ได้ออกคำสั่งหลายฉบับแช่แข็งองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นต่างๆ ต่ออายุให้รักษาการไปเรื่อยๆ ขณะที่กลไกระดับจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดมีบทบาทสูงในช่วงก่อนประชามติ ทั้งการจัดตั้ง ครู ก ข ค การร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงตั้งคณะรักษาความสงบในพื้นที่เป็นการเฉพาะสำหรับประชามติ
อดีตส.ส.สรุปว่า ตอนนี้อยู่ในภาวะที่ตัวเขาอึดอัดมากเพราะทำอะไรไม่ได้ ถูกตัดขาดจากชาวบ้าน อาศัยเพียงงานบุญ งานศพที่ยังได้พบเจอพูดคุยกัน และผลักดันเรื่องการส่งเสริมอาชีพให้ชาวบ้าน สำหรับเขาแล้วยังอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งหน้าหรือไม่ เพราะรู้สึกว่ากติกาต่างๆ ถูกล็อคไว้หมดจนอำนาจแท้จริงของ “ผู้แทนราษฎร” แทบไม่หลงเหลือ แม้กระทั่งการเชื่อมต่อระหว่าง ส.ส.กับท้องถิ่นก็ถูกทำลาย
“ความไม่ชัดเจนคือ หัวใจสำคัญ คนไม่รู้ว่าสู้กับอะไร สู้แล้วจะได้อะไร ตอนประชามติปี 50 มันชัด นปช.ก็รณรงค์ พันธมิตรฯ ก็รณรงค์ ตอนนั้นส.ส.ในพื้นที่ขยับไม่ได้ก็จริง โดนบล็อคเหมือนกัน แต่มันชัดเจนว่าเราสู้กับอะไรและจะไปทางไหน ตอนนี้ต่อให้เลือกตั้งครั้งหน้าก็ไม่เชื่อว่าจะมีอิสระ คงมีการสร้างความสับสน ผูกปมไปเรื่อยๆ จนชาวบ้านหาต้นตอไม่เจอ ตอนนี้ยังคิดอยู่ว่าจะลงสมัครไหม ยิ่งทำไปยิ่งไม่ดี ได้รับเลือกตั้งไปก็ต้องถูกคอนโทรล กลายเป็นเครื่องมือเขาอีก”
ความไม่ชอบมาพากลในหน่วยเลือกตั้ง
ในจังหวัดขอนแก่น เราได้คุยกับกรรมการหน่วยเลือกตั้งแห่งหนึ่ง เขาสะท้อนความอึดอัดในวันนับคะแนนประชามติไว้หลายประเด็น รวมถึงกระบวนการต่างๆ ก่อนถึงวันลงประชามติ พอสรุปได้ดังนี้
วันประชามติ
1.การนับคะแนนไม่ได้กางใบลงคะแนนให้ประชาชนดู เพียงขานคะแนนกันเองระหว่างเจ้าหน้าที่ประจำกล่องและผู้บันทึก
2.เจ้าหน้าที่บันทึกคะแนนบนกระดาษใบใหญ่ที่ติดบอร์ดโชว์ประชาชน ขณะเดียวกันจะมีเจ้าหน้าที่อีกคนบันทึกคะแนนบนโต๊ะตามไปด้วยโดยไม่มีใครรู้ว่าการบันทึกตรงกันหรือไม่ เป็นชุดสำรอง และใช้ชุดสำรองนั้นในการนำส่งจังหวัด
3.การนำส่งกล่องใบลงคะแนนไปยังอำเภอ ไม่มีการนับเพื่อตรวจสอบอีกครั้ง ส่งแล้วนำเข้าห้องล็อคเก็บอย่างดี ทั้งที่การเลือกตั้งปกติจะมีการนับใหม่ที่อำเภอหรือจังหวัดเพื่อเป็นการตรวจสอบ
4.อปพร.และตำรวจประจำหน่วยออกเสียงต้องรายงานผลคะแนนให้ สน.ในพื้นที่ทราบในเวลา 11.00 น.และ 15.00 น.ซึ่งเป็นเรื่องแปลกและใหม่
5.ชาวบ้านไม่เข้าใจเรื่องช่องลงคะแนนจำนวนมาก และมาสอบถามเอาในคูหาซึ่งกรรมการประจำหน่วยไม่สามารถอธิบายได้เนื่องจากจะผิดกฎระเบียบ
ก่อนวันประชามติ
6. ครู ก. ได้รับการอบรมในค่ายทหาร และครู ก.ต้องมาถ่ายทอดข้อมูล ให้ ครูข. ครู ค. อย่างไรก็ตาม บรรดาบุคลากรในกลไกเหล่านี้หลายคนมีความรู้สึกหวาดกลัวกันเองว่า หากผลออกมาแล้วคะแนนไม่รับชนะจำนวนมากจะส่งผลให้ถูกโยกย้าย
7.การอบรมคณะกรรมการประจำหน่วยออกเสียงในจังหวัด ไม่มีความชัดเจนแม้กระทั่งว่าการถ่ายรูปนอกคูหาทำได้หรือไม่ สร้างความสับสนแม้แต่ในหมู่กรรมการด้วยกัน
8. จังหวัดเป็นเจ้าภาพจัดเวทีดีเบต1 ครั้ง เวทีดีเบตมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยกับร่างและไม่เห็นด้วยกับร่าง ผู้เข้าร่วมมีประมาณ 400-500 คน ไม่มีประชาชนทั่วไปแต่เป็นโควตาของแต่ละอำเภอที่จะให้กลุ่มวิชาชีพ กลุ่มโอท็อป อสม. อปพร.เข้าร่วม โดยได้ค่ารถคนละ 200 บาท
9. ชาวบ้านไม่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญเล่มใหญ่ฉบับเต็ม มีจำนวนน้อยมากที่ได้ฉบับสรุปเล่มเล็ก
“กระบวนการตรวจสอบรอบนี้แย่มาก แทบไม่มีเลย เอาเป็นว่าจะทำอะไรก็ไม่มีใครรู้ก็แล้วกัน แล้วแต่ว่ากรรมการคนของใคร ในเขตเมืองนี่แพ้ทุกหน่วย เราเห็นแล้วก็ยังตะลึง ประชาชนที่มาสังเกตการณ์ก็แทบไม่มี” กรรมการประจำหน่วยคนเดิมกล่าว
มหาวิทยาลัยขอนแก่น สมรภูมิคนรุ่นใหม่
กลุ่มนักศึกษาก็เป็นอีกกลุ่มที่น่าสนใจ โดยเฉพาะพื้นที่อย่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ไม่เพียงเพราะเป็นมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ในภาคอีสาน แต่มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีระบบให้นักศึกษาโอนย้ายทะเบียนบ้านมาอยู่ที่มหาวิทยาลัยได้เพื่อสะดวกในการรับสิทธิต่างๆ เช่น การรักษาพยาบาล การเลือกตั้ง โดยจากการบอกเล่าของนักศึกษาระบุว่า ระบบนี้เริ่มใช้มาแล้ว 4-5 ปี นั่นทำให้หน่วยออกเสียงประชามติใน มข.มีมากถึง 9 หน่วย โดยแบ่งเป็นของอาจารย์พนักงานมหาวิทยาลัย 1 หน่วย และของนักศึกษา 8 หน่วย