วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 11, 2559

รวมข้อมูลการปิดกั้นกิจกรรมแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ



 .....

รวมข้อมูลการปิดกั้นกิจกรรมแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ


โดย ilaw-freedom
10 สิงหาคม 2016


คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นำเสนอร่างรัฐธรรมนูญ สู่สาธารณะครั้งแรกเมื่อ 29 มกราคม 2559 เพื่อเปิดรับความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ และแก้ไขปรับปรุงจนเสร็จ นำเสนอร่างสุดท้าย สู่สาธารณะ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ก่อนนำไปลงประชามติ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559

ตลอดระยะเวลากว่า 6 เดือน ตั้งแต่ประชาชนเข้าถึงร่างรัฐธรรมนูญได้ทางออนไลน์ ไปจนถึงวันลงประชามติ ควรจะเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย แสดงความคิดเห็น และถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน เพื่อการตัดสินใจลงประชามติอย่างมีคุณภาพ แต่กิจกรรมต่างๆ ที่จัดเพื่อแสดงออกเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ถูกตำรวจทหาร และกลไกต่างๆ ของรัฐ ปิดกั้น อย่างน้อย 18 ครั้ง ดังนี้

1) 4 กุมภาพันธ์ 2559 มติชนออนไลน์รายงานว่า คมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เฟซบุ๊กประกาศยกเลิกจัดการสัมมนา หัวข้อ "ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กรธ. … ปฎิรูปได้จริงหรือ?" ซึ่งมีนักวิชาการร่วมเสวนา เช่น ศ.ดร.บรรเจิด สิงคเนติ, ศ.ดร.อุดม ทุมโฆสิต, รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต, ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์, สุริยะใส กตะศิลา และสุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เนื่องจาก คสช.ไม่อนุญาตให้จัด

2) 13 กุมภาพันธ์ 2559 กลุ่มผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย หรือวีมูฟ จัดเวทีเสวนาวิพากษ์ “ร่างรัฐธรรมนูญ และการมีส่วนร่วมของประชาชน” ที่โรงเรียนอนุบาลอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ ช่วงบ่ายกลุ่มทหารแจ้งให้ผู้จัดงานยุติการจัดงานในทันที และให้เวลาเก็บของภายใน 5 นาที อ้างคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ คณะผู้จัดงานจึงย้ายเวทีอย่างเร่งด่วนมาจัดเสวนาต่อที่โรงแรมรูท 202 ในจังหวัดอำนาจเจริญ แต่กลุ่มนายทหารยังคงติดตามและสั่งยุติการจัดงานโดยอ้างคำสั่งเดิม

3) 14 กุมภาพันธ์ 2559 กลุ่มเส้นทางสีแดงจัดกิจกรรม ‘Valentine Vote No’ เชิญชวนผู้รักประชาธิปไตย ใส่เสื้อ ‘Vote No’ แจกสติ๊กเกอร์รณรงค์ ‘ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ’ ที่ร้านแมคโดนัลด์ สาขาอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หลังทำกิจกรรมได้ประมาณ 10 นาที ตำรวจในเครื่องแบบประมาณ 5 นาย และนอกเครื่องแบบประมาณ 7 นาย เข้ามาเจรจาขอให้ยุติกิจกรรม โดยอ้างคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมือง

4-5) 28 กุมภาพันธ์ 2559 เครือข่ายเว็บไซต์ประชามติ มีกำหนดจัดกิจกรรมเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญสองกิจกรรม คือ งานเสวนาสาธารณะหัวข้อ "รัฐธรรมนูญใหม่ เอาไงดีจ๊ะ?" และ งานประกวดการนำเสนอ PetchaKucha 20x20 หัวข้อ "รัฐธรรมนูญ" ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกดดันหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครให้ยกเลิกการใช้สถานที่ อ้างว่าการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเข้าข่ายการชุมนุมทางการเมือง ขัดต่อคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558

6) 1-6 มีนาคม 2559 ในงานปล่อยปีก ของโครงการ 'คนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม' ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับเสรีภาพ โดยทำบู๊ทเป็นลักษณะส้วมสาธารณะ ภายในติดโปสเตอร์ข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ และสิทธิมนุษยชน โดยมีทหารโทรศัพท์มาคุยกับคนจัดงานเป็นระยะ และมีทหารเฝ้าอยู่ตลอดงาน และต่อมาทหารสั่งให้รูปโปสเตอร์ที่เป็นข้อมูลทั้งหมดออก

7) 3 เมษายน 2559 ร้านหนังสือ Book Re:public ที่จ.เชียงใหม่ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ไม่สามารถจัดงาน “อ่านรัฐธรรมนูญในฐานะวรรณกรรมและศิลปะ” ได้เนื่องจาก ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 33 (ค่ายกาวิละ) ได้แจ้งกับผู้จัดงานว่าไม่สามารถอนุมัติให้จัดงาน

8) 6 เมษายน 2559 สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ประมาณ 15 คน ไปเดินแจกเอกสารรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต หลังเดินแจกได้ประมาณ 15 นาที ก็ถูกผู้จัดงานพาตัวไปพูดคุยและขอให้ยุติการแจก เพราะถูกทางทหารกดดันมา และไม่อยากให้กระทบกับผู้ค้าหนังสือคนอื่นๆ ในงาน

8) 7 เมษายน 2559 เครือข่าย พลเมืองเสวนา (citizen forum) จะจัดงานเสวนา "ร่วมพิจารณารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก่อนลงประชามติ" ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต แต่ก่อนการจัดงานเจ้าของสถานที่สั่งยกเลิกการจัดงาน เพราะเกรงว่าจะเข้าข่ายชุมนุมทางการเมือง จึงต้องย้ายไปจัดที่ ห้องประชุมมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมแทน

9) 25-27 เมษายน 2559 องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดนิทรรศการการเมือง ขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในงานมีกิจกรรมมากมายซึ่งสามารถดำเนินไปได้ แต่ส่วนที่เป็นบอร์ดนิทรรศการเรื่อง รัฐธรรมนูญกับป้ายปลาหยุดและปลาวิด ซึ่งทหารไม่พอใจในเนื้อหาเลยสั่งให้เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยดึงออกจากสถานที่จัดแสดง

10) 14 มิถุนายน 2559 กลุ่มนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ประมาณ 5 คน ออกเดินแจกจ่ายเอกสารรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ภายในบริเวณมหาวิทยาลัย จนเวลาประมาณ 11.30 มีบุคคลอ้างเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้ามาเจรจาให้ยุติกิจกรรม

11) 19 มิถุนายน 2559 ภาคีนักกิจกรรมนักศึกษาเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยรามคำแหงจัดกิจกรรม เสวนา ร่างรัฐธรรมนูญและการประชามติ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยเปิดฟังทรรศนะทั้งฝ่ายโหวตรับ ไม่รับ และฝ่ายไม่ไปลงคะแนน ต่อมาถูกห้ามจัดจึงต้องย้ายไปจัดที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา

12) 19 มิถุนายน 2559 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จัดแถลงข่าวเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติทั่วประเทศ ก่อนเริ่มแถลงข่าวมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสน.โชคชัย เข้าควบคุมพื้นที่เพื่อห้ามจัดกิจกรรมดังกล่าว เนื่องจากผิดตามประกาศ และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ และพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 พร้อมขอให้สถานีโทรทัศน์พีชทีวี ยุติการถ่ายถอดสดกิจกรรมดังกล่าว จากนั้นได้เชิญแกนนำนปช. สื่อมวลชน และประชาชนที่มาร่วมงานแถลงข่าวออกจากห้องแถลงข่าวทั้งหมด ก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจจะวางกำลังยืนขวางประตูไว้ ต่อมาแกนนำ นปช. 19 คน ถูกแจ้งข้อกล่าวหาฐานฝ่าฝืนประกาศคสช. ที่ 7/2558 กรณีชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน

จากกิจกรรมศูนย์ปราบโกงประชามติ ยังมีอีกหลายกรณีในต่างจังหวัดที่ทหารห้ามกลุ่มคนเสื้อแดงในจังหวัดต่างๆ ทำกิจกรรม เช่น ในจังหวัดพะเยา ศิริวัฒน์ จุปะมัดถาและทองอุ่น มะลิทอง ถูกทหารเรียกเข้าพุดคุยเพื่อแจ้งว่าไม่อนุญาตให้เปิดศูนย์ปราบโกงฯ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับและสร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง, จังหวัดราชบุรี ชาวบ้าน 10 รายซึ่งเข้าร่วมเปิดศูนย์ปราบโกง ถูกออกหมายเรียกฐานชุมนุมเกิน 5 คน เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน และมีการออกหมายเรียกเพิ่มเติมภายหลังอีกประมาณ 15 ราย จากกรณีเดียวกันนี้

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่ามีผู้ถูกตั้งข้อหาทางการเมือง จากการทำกิจกรรมศูนย์ปราบโกงประชามติอย่างน้อย 142 คน

13) 23 มิถุนายน 2559 สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ และสมาชิกสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ไปแจกเอกสารรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และข้อมูลการลงทะเบียนใช้สิทธินอกเขตพื้นที่ บริเวณตลาดการเคหะบางพลี จ.สมุทรปราการ และถูกทหารเข้าจับกุมนักกิจกรรมไปทั้งหมด 13 คน และตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรคสอง และฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน

14) 24 มิถุนายน 2559 นักกิจกรรม 7 คน จะไปทำกิจกรรมทำความสะอาดอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ที่วงเวียนหลักสี่ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ระหว่างเดินเท้าไปยังอนุสาวรีย์ได้แจกเอกสารรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญด้วย ทั้งเจ็ดถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวโดยรถตู้ไปที่สน.บางเขนและถูกตั้งข้อกล่าวหา ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ฐานไม่แจ้งการชุมนุมให้เจ้าหน้าที่ทราบล่วงหน้า 24 ชั่วโมง

15) 15 กรกฎาคม 2559 ที่บ้านเซเวียร์ มีการจัดงานให้ความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญในหมู่ชาวคาทอลิก แต่ก่อนการจัดงานมีตำรวจไปหาเจ้าของสถานที่แจ้งว่าต้องขออนุญาตก่อน มิเช่นนั้นจะไม่สามารถจัดงานได้ งานจึงถูกยกเลิกไป

16) 31 กรกฎาคม 2559 กลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ ร่วมกับขบวนการประชาธิปไตยใหม่อีสาน (NDM) จัดงาน “พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน?” ที่อาคารจตุรมุข คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยก่อนจัดงานหนึ่งวัน ขณะผู้จัดเตรียมงานในช่วงกลางคืน ดร.จิรวัฒน์ สนิทชน รองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ชุมชน รักษาการแทนคณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ได้เข้าแจ้งกลุ่มผู้จัดกิจกรรมว่า ไม่สามารถให้จัดงานได้ โดยระบุว่า สำนักนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งห้ามจัดกิจกรรมทางการเมือง และหากมีการจัดกิจกรรมจะทำให้ภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยไม่เป็นกลาง แต่ทางกลุ่มผู้จัดกิจกรรมยังยืนยันว่าจะจัดต่อ จึงถูกตัดน้ำ ตัดไฟ และมีตำรวจกดดันผู้ให้เช่าเก้าอี้ให้เก็บเก้าอี้กลับคืนในช่วงกลางดึก และในช่วงเช้ารถขนเครื่องเสียงก็ถูกตำรวจไล่ให้กลับไปเช่นกัน

เวลา 10.58 น. ดร.จิรวัฒน์ สนิทชน และ ดร.ยุพิน ผาสุข รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะเกษตรศาสตร์ นำกำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งทหาร ตำรวจ รวมประมาณ 30 นาย ยึดเอกสาร รวมทั้งรื้อฉากหลังเวทีที่กลุ่ผู้จัดงานเตรียมไว้ เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่า การจัดงานเข้าข่ายผิดพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แต่กลุ่มผู้จัดยังคงเดินหน้าจัดกิจกรรมต่อไปโดยใช้โทรโข่งพูดคุย และผู้เข้าร่วมงานนั่งพื้น โดยมีรายงานว่าในช่วงบ่าย ฝ่ายนิติกร กกต.ขอนแก่น พร้อมกับเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เข้าแจ้งความที่ สภ.เมืองขอนแก่น กล่าวหากลุ่มผู้จัดงานบุกรุกสถานที่ราชการและกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559

17) 1 สิงหาคม 2559 นักวิชาการกลุ่มมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดงานแถลงข่าวเรื่อง “การลงประชามติแบบสามไม่รับ” ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อนการจัดงานหนึ่งวัน เฟซบุ๊กมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนแจ้งยกเลิกการแถลงข่าวดังกล่าว เนื่องจากคณบดีคณะนิติศาสตร์แจ้งด้วยวาจาไม่ให้จัดงาน โดยอ้างถึงคำสั่งห้ามจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติห่งชาติ (สนช.)

18) 2 สิงหาคม 2559 ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดเวทีเสวนา “การลงประชามติที่เสรีและเป็นธรรมและนัยต่อประชาธิปไตยไทย" ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมีวิทยากร คือ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ผศ.ตรีเนตร สาระพงศ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ช่วงเที่ยงวันที่ 1 สิงหาคม 2559 ดร.ฐิติพลแจ้งข่าวการยกเลิกงานเสวนาดังกล่าวบนเฟซบุ๊ก เนื่องจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและผู้ว่าราชการจังหวัดกังวลต่อความเป็นกลางของงานเสวนา ผู้ว่าราชการจังหวัดให้เหตุผลว่า ทางจังหวัดอุบลราชธานีได้จัดเวทีลักษณะนี้แล้ว งานเสวนาที่ ดร.ฐิติพลจะจัดจึงไม่มีความจำเป็น แม้ก่อนหน้านี้ผู้จัดงานจะได้รับอนุญาตจาก พล.ต.อชิร์ฉัตร โรจนะภิรมย์ ผบ.มทบ.22 ให้จัดงานได้

18) จตุภัทร์ และวศิน นักกิจกรรม เดินแจกใบปลิวรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ในพื้นที่อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ และถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร เข้าจับกุมนำตัวไปที่ สภ.ภูเขียว แจ้งข้อกล่าวหาว่า เผยแพร่ข้อความที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงโดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิไปออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรคสอง

ข้อมูลการปิดกั้นกิจกรรมทั้ง 19 ครั้ง เป็นข้อมูลอย่างน้อยเท่าที่สามารถรวบรวมและยืนยันได้เท่านั้น ยังมีการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญอีกหลายครั้งที่เกิดขึ้นก่อนร่างรัฐธรรมนูญ ของกรธ. จะเผยโฉมให้เห็น และยังเป็นไปได้ว่ายังมีการปิดกั้นกิจกรรมการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญมากกว่านี้อีก ขณะที่กิจกรรมบางกิจกรรมก็สามารถจัดได้โดยไม่ถูกห้ามเช่นกัน

ตัวเลขกิจกรรมที่ถูกปิดกั้น 19 ครั้ง อาจเป็นจำนวนไม่มากเทียบกับประชากาผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนกว่า 40 ล้านคนทั่วประเทศ แต่เมื่อมีการปิดกั้นกิจกรรมเกิดขึ้นหลายครั้ง รวมทั้งมีการตั้งข้อหาดำเนินคดีกับผู้จัดกิจกรรม ก็ย่อมสร้างบรรยากาศความกลัวขึ้นในสังคม ให้การวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญเป็นประเด็นอ่อนไหวที่ไม่อาจพูดได้อย่างเสรี กลุ่มกิจกรรมอื่นๆ ที่อยากจจะพูดคุยแลกเปลี่ยนกันจึงจำเป็นต้องเลี่ยงเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาและเพื่อความปลอดภัย ส่งผลให้บรรยากาศการพูดคุยเรื่องร่างรัฐธรรมนูญก่อนการลงประชามติ เป็นไปอย่างยากลำบาก ข้อมูลส่วนใหญ่มีแค่ข้อมูลที่ กรธ. จัดทำขึ้น และข้อมูลที่แชร์ต่อกันบนโลกออนไลน์ ซึ่งยากที่จะตรวจสอบความถูกต้องได้