วันศุกร์, สิงหาคม 26, 2559
สัญญานอเวจี คณะรัฐประหารคสช.
อ๊ะนี่ เขาเริ่มเดินตรอกออกประตูกันแระ ใช้ ม. ๔๔ ให้ผู้นั้มพ์ดูสง่างาม ตามด้วยศาลฎีกาไล่เช็คบิล-ยกบิลการเมือง
ประชามติผ่าน ยังไม่ทันผนวกคำถามพ่วงเป็นรัฐธรรมนูญถาวร อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ก็เบ่งฤทธิ์ต่อ ด้วยคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๕๐/๒๕๕๙...อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)
“ข้อ ๑ ให้หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระงับการปฏิบัติราชการ...
ข้อ ๒ ให้นายเปรมศักดิ์ เพียยุระ นายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น
ระงับการปฏิบัติราชการ”
“แม้ผลการตรวจสอบหรือการสอบข้อเท็จจริงในขณะนี้ยังไม่อาจสรุปความผิดได้ แต่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอยู่ในความสนใจของประชาชน”
สดร้อนไล่หลังอุบัติการณ์น้ำรอระบายบนถนนประเทศกรุงเทพฯ เมื่อวาน วิจารณ์กันขรมว่าสลิ่มชั้นกลาง สะใจ แม้ผู้ว่าฯ คนนี้เลือกมากับมือ ก็ได้อารมณ์ซาดิสต์ฟาสซิสต์ “ประชาธิปไตยกินไม่ได้” ในเมื่อทีมงาน กทม. ที่เหลือยังกินกันได้
ด้วยเหตุนั้นสมีการเมืองบุรุษห่มเหลืองอย่างสุวิทย์อิสระที่ตามกัดธรรมกายไม่ปล่อย จึงออกมาสร้างความสนใจของประชาชนให้ คสช.เอาไปตามเก็บอีกเรื่อง
“เรียกร้องให้รัฐบาลใช้มาตรา ๔๔ ดำเนินการแก่ธัมมชโย หรือพระเทพญาณมหามุนีเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และกรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะปกครองหนกลาง เจ้าคณะปกครองภาค ๑ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เจ้าคณะอำเภอคลองหลวง เจ้าคณะตำบลคลองสี่ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ”
(http://www.matichon.co.th/news/262997)
แถมถ้อยกระหวัดลิ้น “เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งพระธรรมวินัยอันบริสุทธิ์บริบูรณ์และกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ที่บังคับใช้อย่างเท่าเทียมเป็นธรรมทั่วถึงแก่ทุกคนในประเทศอย่างไม่เลือกปฏิบัติ”
ปิดเกมด้วยคำเด่นให้จดจารและจดจำกันไว้นานๆ “ตนขอยืนยันตรงนี้เลยว่าแม้ต้องตายก็จะไม่ปรองดองแน่นอน” สมพรปาก
ทีเด็ดกว่า เป็นผลงานศาลฎีกาพิพากษาคดี “นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) นางสโรชา พรอุดมศักดิ์ อดีตผู้ดำเนินรายการทางสถานีโทรทัศน์ ASTV เป็นจำเลยที่ ๑-๒ ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา...
แม้จำเลยที่ ๑ จะผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ แต่การบันทึกเทปดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันที่โจทก์ระบุไว้ในคำฟ้อง จึงให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๑ ส่วนจำเลยที่ ๒ มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ลงโทษจำคุก ๖ เดือน ปรับ ๒ หมื่นบาท รอลงอาญา ๒ ปี”
(http://www.matichon.co.th/news/262107)
เป็นที่รู้กันว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้แล้วว่าจำเลยทั้งสองมีความผิด สั่งจำคุกคนละ ๖ เดือน ปรับคนละ ๖ หมื่นบาท แต่ให้รอจองจำ ๒ ปี จากนั้นศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง พอมาถึงศาลฎีกา ทั่นสลับใหม่ให้คนหนึ่งหลุด อีกคนกลับไปโดนใหม่
ข้อพิลึกอยู่ที่ศาลใช้ตรรกะไรหว่า ยกฟ้องเพราะโจทก์ระบุวันกระทำผิดไม่ตรงกับวันจริง เสียงซุบซิบเห็นว่าเจ้าตัว คนที่ได้ยกฟ้องเองยังหัวเราะ หึหึ
อีกคดี ศาลฎีกาเหมือนกัน อันนี้แผนกคดีอาญาการเมืองโดยตรง ตัดสินสิ้นสุดคดีที่องค์กรอิสระ ปปช. ฟ้องอดีต รมว. และสองอดีตปลัดกระทรวงไอซีที ข้อหาแก้ไขสัมปทานเอื้อประโยชน์ชินคอร์ปของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร
“ศาลฎีกาตรวจสำนวนและปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า องค์คณะทั้ง ๙ มีเสียงเอกฉันท์ เห็นว่า นพ.สุรพงษ์” สืบวงษ์ลี หรือ ‘หมอเลี้ยบ’ “มีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา ๑๕๗ ทำให้รัฐเสียหายจากกรณีที่อนุมัติให้มีการแก้ไขสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียม”
“แม้จำเลยที่ ๑ อ้างว่าได้ส่งหนังสือหารือถึงอัยการสูงสุด แต่ก็ปกปิดความจริงที่เลขาธิการ ครม.ปฏิเสธการรับเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุม เนื่องจากนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้นเป็นคู่สัญญา ทำให้มีผลประโยชน์ทับซ้อน
การกระทำของจำเลยไม่ได้ทำให้รัฐได้ผลประโยชน์เพิ่มขึ้น แต่กลับได้รับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จึงพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ ๑ เป็นเวลา ๑ ปี โดยไม่รอลงอาญา”
(http://www.matichon.co.th/news/262665)
หมอเลี้ยบท่านนี้มีบทบาทดีเด่นในสมัยรัฐบาลทักษิณไม่ใช่เฉพาะจากกระทรวงไอซีที ที่ Tawan Ten แห่งว้อยซ์ทีวีเขียนถึงผลงาน “ผลักดันการขยายโครงข่ายอินเตอร์เน็ตให้ลงไปถึงระดับตำบล...ผลักดันให้บริษัทไปรษณีย์ไทย เปลี่ยนแปลงวิธีคิดและการทำงาน จนเติบใหญ่และแข่งขันได้กับบริษัทข้ามชาติ”
แล้วยังมีผลงานที่ได้รับยกย่องระดับโลกด้วยการ “ทำงานหนักร่วมกับหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ต้นคิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ถูกไทยรักไทยแปลงเป็น ๓๐ บาทรักษาทุกโรค...”
ซึ่ง “ยูเอ็น และอมาตยา เซ็น นักวิชาการรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ถึงกับยกให้โครงการนี้เป็นต้นแบบการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชน ที่โลกควรเอาเป็นแบบอย่าง”
“ไม่น่าเชื่อว่านักการเมืองน้ำดี นักบริหารประเทศที่มีวิสัยทัศน์ และนักขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะที่มากความสามารถเช่นหมอเลี๊ยบ จะต้องมาตกสถานะที่ถูกพิพากษาในวันนี้”
ก็จะต้องเชื่อเพราะมันเกิดขึ้นแล้วในยุคผู้นั้มพ์สง่างามเดินตามตรอก และต้องเชื่อเพราะมันเป็นสัญญานอเวจีที่ไม่เฉพาะเครือข่ายทักษิณจะถูกเด็ดสอยกำจัดต่อไปอีกหลายยก ดังชื่อที่ปรากฏให้เห็นอย่างฉับไว เช่น จาตุรนต์ ฉายแสง และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
หากแต่คนที่มีคุณูปการต่อชาติและประชาชนในสายประชาธิปไตย แม้จะไม่ใช่ค่ายทักษิณอย่างนักกฎหมายมหาชนสำนักธรรมศาสตร์ เช่น วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ซึ่งมีคุณสมบัติพร้อมสำหรับสถานะศาสตราจารย์มาตั้งแต่ปลายปี ๒๕๕๗ ที่ปรากฏในลายชื่อนักวิชาการเหมาะสมได้รับการสถาปนาเป็นศาสตราจารย์ในปีนี้
แต่รายนามศาสตราจารย์ ๒๑ คนออกมาไม่มี อจ.วรเจตน์ เพราะชื่อของเขาถูกตัดออกไปในขั้นตอนสุดท้าย ด้วยเหตุผลที่ อจ. ปิยบุตร แสงกนกกุล เพื่อนนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ คิดว่า
“จนวันนี้ คณะรัฐประหารก็ยังคง ‘จองจำ’ แกไม่เลิก”
“รัฐประหารเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และสิ่งที่รัฐประหารทำกับแกก็ยิ่งไม่ถูกต้องเข้าไปอีก คนแบบแกไม่มีมวลชน ไม่มีพรรคการเมือง ไม่มีใครหนุนหลัง แกว่าตามเหตุผลและหลักวิชาที่แกเรียนมา...
ตอนอาจารย์วรเจตน์กลับมาเมืองไทยใหม่ๆ แกวิจารณ์การทำงานของ กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ คดีซุกหุ้น จนกองเชียร์คุณทักษิณเกลียดแกไปตามๆ กัน (ไม่ต้องบอกก็ได้ว่าเนติบริกรที่ไปรับใช้คุณทักษิณเวลานั้นก็ไม่ชอบแกด้วย)
ต่อมามีเรื่อง มาตรา ๗ มี ‘ตลก. ภิวัตน์’ คราวนี้อีกข้างหนึ่งที่เคยวี้ดบึ้มๆๆ แก ก็หันมาด่าแกว่ารับเงินทักษิณ ในขณะที่คนที่เชียร์ทักษิณก็กลับมาเชียร์แก
เปลี่ยนรัฐบาลกี่ครั้ง จะมาจากขั้วใดแกก็ไม่รับตำแหน่งทั้งสิ้น ผมเข้าใจดีว่า ฝ่าย ‘อำมาตย์’ คงผิดหวังกับแกมาก ที่แกเป็นแบบนี้”
“การกักขังจองจำความคิด ไม่มีทางทำให้คนเปลี่ยนความคิด
อัยการในระบอบฟาสซิสต์ที่สั่งฟ้อง อันโตนิโอ กรัมชี่ แถลงว่า ‘เราต้องหยุดสมองก้อนนี้ที่ทำงานต่อเนื่องมา ๒๐ ปี’
แต่ ‘สมอง’ ของกรัมชี่ก็ไม่เคยหยุด เขาเขียนสมุดบันทึกจากคุก ความคิดของเขายังเป็น ‘หมุดหมาย’ สำคัญที่ให้อนุชนรุ่นหลังศึกษา
ผมทราบดีว่าถ้าอาจารย์วรเจตน์มาอ่านที่ผมเขียนนี้ แกคงตำหนิผม และถ้ามีการกระจายข่าวแชร์กันไป คนก็คง ‘หมั่นไส้’ แกอีกมาก แต่...ผมอดไม่ได้จริงๆ
ผมคิดว่าเรื่องดีๆ ที่ผมจะเขียนถึงใคร มันไม่ควรจะเขียนเฉพาะตอนคนคนนั้นตาย แล้วเราไปเขียนในงานศพ เราควรเขียนตอนที่เขามีชีวิตอยู่
ให้เขาได้รู้ ให้คนที่รักเขาได้รู้ ให้คนที่เกลียดเขาได้เข้าใจ”